สุมาวสี

ผู้เขียน : สุมาวสี

อัพเดท: 27 พ.ย. 2006 16.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 23989 ครั้ง

ทางเลือกในการประหยัดพลังงาน


เทคโนโลยีที่ใช้กับ E-working (2)

- เทคโนโลยีบรอดแบรนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง    สามารถเชื่อมต่อโดยใช้ช่องทางการสื่อสารได้หลายรูปแบบ  อาทิ

การสื่อสารทางสาย (Wired Communication) 

-                          การเชื่อมต่อผ่านวงจรเช่า (leased line) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในองค์กรและบริษัทใหญ่ ๆ     เนื่องจากมีข้อดีคือสามารถรับส่งข้อมูลด้วยประสิทธิภาพความเร็วสูง  ซึ่งจะมีความเร็วตั้งแต่ 1 Mbps ขึ้นไป

-                          การเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Network)  เป็นบริการที่สามารถรับส่งข้อมูล  เสียง  ภาพและวิดีโอด้วยความเร็วสูงหลายร้อยล้านบิตต่อวินาที (Mbps) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   แต่ส่วนใหญ่การใช้งานจะจำกัดอยู่ภายในองค์กรขนาดใหญ่   เนื่องจากต้นทุนการสร้างโครงข่ายมีมูลค่าที่สูงมาก

-                          การเชื่อมต่อผ่านคู่สายโทรศัพท์ (Digital Subscriber Line : x DSL)  เป็นบริการเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายโทรศัพท์  ซึ่งการให้บริการรูปแบบนี้มีหลายประเภท  ยกตัวอย่างเช่น  ADSL, SDSL, IDSL, RADSL, HDSL และ VDSL   ซึ่งความแตกต่างของแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับลักษณะของการให้บริการและความเร็วในการรับส่งข้อมูล  ซึ่งค่าใช้จ่ายในการให้บริการก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย   อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางคู่สายโทรศัพท์นี้ได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนทั่ว ๆ ไป   เนื่องจากราคาค่าบริการต่ำ  ประกอบกับปัจจุบันมีการวางโครงข่ายโทรศัพท์อย่างทั่วถึงและครอบคลุม 

-                          การเชื่อมต่อผ่านเคเบิลโมเด็ม (Cable Modem)  เป็นบริการเชื่อมต่อผ่านทางโครงข่ายเคเบิลทีวี (Cable TV Network)   โดยความเร็วในการรับส่งข้อมูลสามารถปรับได้สูงสุดถึง 10 Mbps[1]   อย่างไรก็ตามการให้บริการในรูปแบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยทั้งในระดับองค์กรและประชาชนทั่วไปเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา  และประเทศในกลุ่มยุโรป  ทั้งนี้เนื่องจากโครงข่ายเคเบิลทีวีมีการจำกัดพื้นที่การให้บริการ

 

 

การสื่อสารไร้สาย(Wireless Communication)              

                ระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless LAN : WLAN)  หมายถึง  เทคโนโลยีที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์สองเครื่องหรือกลุ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันได้   รวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์  โดยปราศจากการใช้สัญญาณในการเชื่อมต่อ   แต่จะใช้คลื่นวิทยุ (Radio Frequency) เป็นช่องทางการสื่อสารแทน    การรับส่งข้อมูลระหว่างกันจะผ่านอากาศทำให้ไม่ต้องเดินสายสัญญาณ  และติดตั้งใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น       ระบบเครือข่ายไร้สายใช้แม่เหล็กไฟฟ้าผ่านอากาศ เพื่อรับส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ และระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์เครือข่าย โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้อาจเป็นคลื่นวิทยุ (Radio) หรืออินฟาเรด (Infrared) ก็ได้  โครงสร้างของระบบไร้สาย มีลักษณะเหมือนเครือข่ายแลนทั่วไป กล่าวคือ มีระบบแลนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็น DHCP - Dynamic Host Configuration Protocol เป็นตัวกลางที่ทำให้คอมพิวเตอร์ ไคลแอนต์ต่าง ๆ ติดต่อได้ DHCP เซิร์ฟเวอร์จึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางของเซลที่ทำหน้าที่ติดต่อกับเครื่องลูกคล้ายระบบพีซีที DHCP จะจ่ายหมายเลข IP ให้กับเครื่องลูก และติดต่อสื่อสารกันได้ โดยเครื่องลูกจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่าน DHCP เข้าสู่อินเทอร์เน็ต     ระบบไร้สายเป็นระบบสร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้ เพราะผู้ใช้สามารถเคลื่อนที่และยังสามารถใช้งานที่ใดก็ได้ โดยต้องอยู่ในเซลที่ DHCP ส่งสัญญาณไปถึง ลักษณะนี้จึงทำให้สร้างเซล ในองค์กร และให้บุคลากรในองค์กรใช้ผ่านระบบไร้สายนี้ได้ ซึ่งแยกออกเป็นประเภททางกายภาพได้ 4 ประเภทคือ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่  อินเทอร์เน็ต และดาวเทียม 

                การสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สายปัจจุบันมีหลายประเภทขึ้นกับมาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers : IEEE)[2]   บริการที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ  บริการ WiFi HotSpot  ซึ่งเป็นบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายโดยใช้มาตรฐาน  IEEE 802.11  (WiFi)  ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลประมาณ 2-11 Mbps  (ตามมาตรฐาน IEEE 802.11b)  หรือสูงสุดถึงกว่า 50 Mbps (ตามมาตรฐาน IEEE 802.11a) และมีขอบเขตของสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100 เมตร ในพื้นที่โปร่ง และประมาณ 30 เมตร ในอาคารจากที่ตั้งของอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ซึ่งระยะทางของสัญญาณมีผลกระทบจากสิ่งรอบข้างหลายๆ อย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ ความหนาของกำแพง เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ รวมถึงร่างกายมนุษย์ด้วยเช่นกัน  สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการใช้งานเครือข่ายไร้สายทั้งสิ้น เทคโนโลยีบรอดแบรนด์ไร้สายอีกมาตรฐานหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มาตรฐาน IEEE 802.16 หรือ WiMax   ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงถึงเกินกว่า 100 Mbps ในรัศมีบริการหลายสิบกิโลเมตร

                บริการบรอดแบรนด์ผ่านดาวเทียม (Broadband Satellite) คือ บริการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางโครงข่ายดาวเทียม  ซึ่งความเร็วในการรับส่งข้อมูลของบริการดังกล่าวสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของการใช้งานและกำลังเงิน  บริการผ่านดาวเทียมนี้มีรัศมีครอบคลุมทั่วพื้นที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเซียแปซิฟิก   ทำให้สามารถให้บริการในพื้นที่ห่างไกลที่ยากต่อการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมแบบอื่น ๆ

                การเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายสามารถทำได้สองรูปแบบ คือ การเชื่อมต่อแบบส่วนตัว (Ad Hoc)  และการเชื่อมต่อแบบกลุ่มโครงสร้าง (Infrastructure) การใช้งานเครือข่ายไร้สายของผู้ใช้บริการทั่วไปจะเป็นแบบ Infrastructure คือมีอุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Access Point) ของผู้ให้บริการเป็นผู้ติดตั้งและกระจายสัญญาณ ให้ผู้ใช้ทำการเชื่อมต่อ โดยผู้ใช้บริการจะต้องมีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณซึ่งเรียกว่า "การ์ดแลนไร้สาย" เป็นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณจากเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ใช้ไป Access Pointของผู้ให้บริการ

 

                โดยสรุปแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วนี้   ได้เอื้อประโยชน์และสร้างความสะดวกอย่างมากให้กับการทำงานในยุคสังคมสารสนเทศเช่นปัจจุบัน     ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการรับส่งข้อมูล  การประชุมทางไกลแบบมองเห็นภาพและเสียง (Teleconference and Videoconference)   และโทรศัพท์แบบมองเห็นภาพ (Videophone)

สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป  มีการเสนอให้สร้างเครือข่ายรวมของยุโรป (EURO-ISDN) ขึ้นในปี ค.ศ. 1993   โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการวางมาตรฐานเพื่อประกันความสามารถในการเชื่อมต่อของเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน   สำหรับแผนปฏิบัตินั้น   มีการตั้งเป้าหมายว่า  ภายในปี ค.ศ. 1997  จะเชื่อมเมืองใหญ่ 5 เมือง  และเชื่อมมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย  ห้องสมุดอย่างน้อยร้อยละ 30  เข้าด้วยกัน  และภายในปีค.ศ. 2000 จะมีคนทำงานที่บ้านผ่านเครือข่ายอย่างน้อยจำนวน 10 ล้านคน  



[1] The International Engineering Consortium – Web ProForum Tutorials, “Delivering Technology Solutions for Broadband Communications”, http://www.iec.org

[2] เป็นสถาบันที่กำหนดมาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์   ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับเครือข่ายไร้สายขึ้น  คือ  มาตรฐาน IEEE802.11 a, b, และ g  ตามลำดับ   ซึ่งแต่ละมาตรฐานมีความเร็วและคลื่นความถี่สัญญาณที่แตกต่างกันในการสื่อสารข้อมูล


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที