khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 22 ม.ค. 2017 06.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 54891 ครั้ง

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จอยู่ที่ไหน ค้นหาคำตอบดีๆได้ที่นี่

Website เจ้าของผลงาน www.2b2train.com
Facebook: https://www.facebook.com/ebook4ookbee/
Storylog: https://storylog.co/khwanjai/book/581a5bfd9d526ab1781f27ba


มุมมองความคิดที่แตกต่าง

       ภาพความมืดในมุมหนึ่งของห้องสี่เหลี่ยมแคบๆภาพใต้แสงไปสลัวๆ เป็นภาพของชายผู้คนหนึ่งที่นั่งบนเก้าอี้โยก พร้อมกับใช้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆที่กำลังขบคิดเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ หลายครั้งที่เขาต้องการใช้ความคิดเขามักจะมานั่งที่มุมห้องนี้เป็นประจำ เขาคนนั้นคือ อัจฉริยะของโลก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

        ภาพของมุมห้องที่ไอน์สไตน์นั่ง ก็ไม่แตกต่างจากมุมมองความคิดของใครหลายๆคน เรามีมุมมองความคิดหนึ่ง คนอื่นก็มีมุมมองอีกความคิดหนึ่ง ถ้าทุกคนคิดในมุมมองเดียวกัน ความสวยงามด้านความแตกต่างคงไม่เกิดขึ้น ถ้าใครคนใดคนหนึ่งคิดว่าสนามกีฬาสามารถสร้างได้บนพื้นดินเท่านั้นและทุกคนก็เห็นด้วย เราก็คงไม่เห็นสนามฟุตบอลลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในประเทศสิงคโปร์ หรือสนามกีฬาที่ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าชื่อดังในเขตชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เป็นฉากส่วนหนึ่งหนังเรื่อง The Fast and the Furious: Tokyo Drift 

บางครั้งมุมมองที่แตกต่างก็ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลด้วยเช่นกัน อย่างเรื่องเล็กๆ เรื่องนี้ที่เกิดในบ้านแห่งหนึ่งที่อาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คนพ่อแม่ลูก

น้องภูนั่งร้องไห้ เนื่องจากโดนพ่อต่อว่า ว่าถูพื้นไม่สะอาดไม่เป็นไปตามแบบที่พ่อสอน

“ถูแบบนี้ก็สะอาดเหมือนกัน” น้องภูมาพูดให้แม่ฟัง พร้อมกับทำท่าถือไม้ถูพื้นที่ถูกไปด้านซ้ายและด้านขวาให้แม่ดู

“แล้วทำไม พ่อถึงบอกว่าลูกถูกพื้นไม่สะอาด” แม่ถามด้วยความสงสัยเพราะเห็นน้องภูถูพื้นได้สะอาดดีเหมือนที่บอก

“พ่อบอกว่าต้องถูขึ้นลงไปมาเป็นส่วนๆ ถึงจะสะอาด แต่มันไม่สะอาด เห็นมั้ยยังมีช่องว่างอยู่เลย” น้องภูพูดพร้อมกับทำท่าถูพื้นตามที่พ่อสอนให้ดู

“ไม่มีใครผิดหรอกลูก น้องภูไม่ผิด พ่อก็ไม่ผิด” เพียงแต่เรามองมุมที่ต่างกันเท่านั้นเอง น้องภูทำแบบนี้ก็ถูกแล้ว พ่อบอกให้ทำแบบนั้นก็ถูกเหมือนกัน เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาไม่แตกต่างกันเลยคือ พื้นสะอาดทั้งคู่ เรื่องทะเลาะจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าน้องภูเปิดใจรับฟังพ่อ และพ่อก็เปิดใจรับฟังน้องภู ทีหลังน้องภูบอกเหตุผลพ่อดีๆนะค่ะ ว่าทำแบบนี้ก็ถูกเหมือนกัน

“ครับ” น้องภูหยุดร้องพร้อมกับเริ่มมีรอยยิ้มบนใบหน้า

คนแต่ละคนมักมีมุมมองความคิดของตนเอง บางครั้งก็สอดคล้องกับคนหมู่มาก บางครั้งก็แตกต่างจากคนหมู่มากด้วยเช่นกัน และมุมมองที่แตกต่างนี้เองทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม เพียงแค่พลิกมุมมองความคิดไปอีกมุมหนึ่งเท่านั้นเอง

“ ทำไมต้องฉีดยาชาเพื่อให้หายปวด? ยาชาแบบครีมทาไม่มีเหรอ” จากคำถามหนึ่งคำถาม ทำให้เกิดความคิดในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ยาชาแบบครีม Emla 5% เป็นยาชา แบบครีมเพื่อให้หายปวดเล็กน้อยๆ เช่น ทางก่อนให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด

“ จำเป็นมั้ยจะต้องซื้อสินค้ามาเพื่อขายให้คนอื่น” ไม่จำเป็นเลย การขายสินค้าอาจจะใช้ระบบ Dropship เพียงแค่มี website แล้วนำสินค้าคนอื่นมาลงหน้า web เมื่อมีคนสั่งก็ไปเอาจากร้านที่ขาย

            นอกจากนี้มุมมองความคิดที่แตกต่าง สามารถนำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มาจากจินตนาการที่อยู่ในตัวบุคคลก็ได้ เช่น หนังเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ นวนิยายแฟนตาซี ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอังกฤษ เจ. เค. โรว์ลิง หรือ ภาพยนตร์มหากาพย์ สตาร์ วอร์ส ที่สร้างโดย จอร์จ ลูคัส เป็นต้น

            บางครั้งมุมมองที่แตกต่างอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารงานได้เช่นกัน

            ”หมอห้องฉุกเฉิน มาบอกผอ.ว่าระบบงานในห้องฉุกเฉินไม่ดีใช่มั้ยค่ะ” รองหัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินพูดกับผู้กับผู้อำนวยการด้วยความเบื่อหน่าย กับข้อร้องเรียนของแพทย์

            “ใช่ครับ ระบบงานที่ทำ ไม่ได้เดินตามแนวทางที่วางไว้” ผู้อำนวยการแพทย์ตอบคำถามอย่างใจเย็น

            “ทำไมหมอไม่มองว่า ระบบงานต้องมีความยืดหยุ่น ไม่สามารถทำตามระบบได้หรอก” รองหัวหน้าห้องฉุกเฉินเริ่มพูดด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัว

            “ระบบงานที่วางไว้ เราทำแค่ 10% เองนะ อีก 90% เรายังไม่ได้ทำเลย น้องอย่าลืมซิ การที่เรามาพูดว่าระบบต้องมีความยืดหยุ่นกว่านี้ ทั้งที่เราเองก็ทำแค่ 10% คงไม่สมเหตุสมผล” หัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินพูดเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม

            “เราลองมาทำ 90% ของระบบงานก่อนมั้ย ก่อนที่เราจะมาพูดถึงความยืดหยุ่นของงาน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ใน 10% ที่เหลือ” หัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินพูด พร้อมกับทีมงานที่พยักหน้ารับฟังอย่างเห็นด้วย

            ความคิดที่แตกต่างยังเกิดขึ้นได้ในทุกจังหวะของชีวิต หรือเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างที่หลากหลาย ความคิดที่แตกต่างบางครั้งก็นำมาสู่การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างด้วยเช่นกัน เช่น กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (blue ocean strategy) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเอาชนะคู่แข่งขันทางการตลาดด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับผลิตภัณฑ์ หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (white ocean strategy) ของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เจ้าของสำนักพิมพ์ DMG ที่ใช้กลยุทธ์การตอบแทนสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร

            เราในฐานะคนๆหนึ่งของสังคมที่มุมมองของความคิดที่เป็นตัวของเราเอง แม้บางครั้งหลายๆคนก็ไม่สามารถคิดเองได้ต้องคอยถามคนอื่นอยู่เรื่อยว่าต้องทำแบบไหน ต้องเรียนต่ออะไรดี กลุ่มคนพวกนี้เราเรียกว่าคนที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนในตัวเอง เพราะไม่สามารถแสดงถึงมุมมองความคิดของตัวเองออกให้คนอื่นรับทราบได้ ถ้าเป้าหมายชัดมุมมองความคิดของตัวเองก็จะยิ่งชัดขึ้น การกำหนดเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนก็เหมือนกับการวาง Positioning ให้กับตัวเองบนโลกใบนี้ Positioning ในภาษาทางการตลาดหมายถึง ตำแหน่งของสินค้าในตลาดนั้นๆ เช่น สายการบิน แอร์เอเชีย มีการวางตำแหน่งทางการตลาดภายในสโลกแกนที่ว่า “Everyone Can Fly” หรือ “ใครๆ ก็บินได้” คำขวัญดังกล่าวให้เกิดการตื่นตัวไปทั่วประเทศ เพราะหมายถึง ทุกคนในสังคมไทย สามารถเลือกวิธีการเดินทางด้วยเครื่องบินไป ณ ที่แห่งใดในประเทศไทย ด้วยราคาที่ถูก สะดวกและรวดเร็วได้ เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตของคนเราก็จำเป็นต้องวาง Positioning ให้กับตัวเองเหมือนกัน ดังเช่น คุณบัณฑิต อึ้งรังสี ได้วางตำแหน่งให้กับตัวเองโดยเป็น วาทยกรระดับโลก  เมื่อมีเป้าหมายให้กับตัวเองชัด มุมมองของความคิดก็จะมีการพุ่งเป้าไปยังจุดมุ่งหมายเดียว และส่งผลให้เกิดการกระทำที่ตามมาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที