GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 ม.ค. 2015 08.58 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3357 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประัดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดัีบ (องค์การมหาชน) ขอนำเสนอบทความเรื่อง "ธนาคารกลางสวิสเลิกพยุงค่าเงินยูโร นัยยะต่อแนวโน้มราคาทองคำ และการส่งออกเครื่องประดับไทยไปยังยุโรป" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.git.or.th/Gem


ธนาคารกลางสวิสเลิกพยุงค่าเงินยูโร นัยยะต่อแนวโน้มราคาทองคำ และการส่งออกเครื่องประดับไทยไปยังยุโรป

โดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

จากการที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ได้ประกาศยกเลิกเพดานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์ต่อเงินยูโรเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยกำหนดให้แข็งค่าไม่เกิน 1.2 ฟรังก์ต่อยูโรนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 การยกเลิกการกำหนดเพดานค่าเงินฟรังก์ดังกล่าวส่งผลกดดันให้ค่าเงินยูโรลดลงต่ำสุดเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเงินฟรังก์ สร้างความตกตะลึงแก่นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นสวิสร่วงลงเกือบ 10% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการแข็งค่าของเงินฟรังก์จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกรวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มาจากยุโรป พร้อมกันนี้ ธนาคารกลางสวิสยังได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม -0.25% เป็น -0.75% เพื่อลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติที่วางแผนจะนำเงินมาพักไว้ในสกุลฟรังก์ รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศ

สำหรับสาเหตุที่ธนาคารกลางสวิสยุติการผูกเงินฟรังก์ไว้กับเงินยูโรเนื่องด้วยมีแนวโน้มสูงที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในไม่ช้านี้ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลงอีกจากระดับปัจจุบัน อันส่งผลให้เงินยูโรที่อยู่ในทุนสำรองของสวิสกำลังเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ และเป็นเรื่องยากสำหรับธนาคารกลางสวิสที่จะตรึงค่าเงินฟรังก์ไว้ต่อไปเนื่องจากจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในการซื้อเงินยูโรเพื่อรักษาระดับค่าเงินฟรังก์

มุมมองจากนักวิเคราะห์ของธนาคารหลายแห่งในไทยได้ให้ความเห็นว่า กรณีที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยนฟรังก์สวิสกับเงินยูโรนั้น จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนใหม่สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง แต่ในระยะแรกๆ ค่าเงินสวิสอาจผันผวนบ้าง แต่เชื่อว่าจะกลับมาอยู่ที่ประมาณ 1 ฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนก่อนที่จะมีการนำอัตรา 1.2 ฟรังก์ต่อยูโรมาใช้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว อีกทั้งประเด็นดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อตลาดเงินในภูมิภาคไม่มาก เนื่องจากเงินฟรังก์ไม่ใช่เงินสกุลที่ใช้กันแพร่หลาย แต่อาจเป็นความกังวลของนักลงทุนในระยะสั้น
ทำให้นักลงทุนโยกเงินจากตลาดหุ้นเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดพันธบัตร ทองคำ เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินเยนแทน จนส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินสกุลหลักของโลก โดยเฉพาะค่าเงินเยนของญี่ปุ่นและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมทั้งส่งผลให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของเงินสกุลหลักด้วย ขณะเดียวกันกลับมีผลให้ค่าเงินยูโรนั้นอ่อนค่าลงมาก ฉะนั้น ความผันผวนของค่าเงินสกุลเงินหลักๆ ของโลกเริ่มมีมากขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มผันผวนเช่นกัน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปีนี้

ด้วยเหตุนี้ การประกาศยกเลิกผูกค่าเงินฟรังก์ไว้กับค่าเงินยูโรของธนาคารกลางสวิสจึงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคา 1,235 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 จนกระทั่งในวันที่ 21 มกราคม 2558 มาอยู่ที่ระดับ 1,293.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com) ทำสถิติที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา โดยมีราคาพุ่งขึ้นกว่า 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว จนทำให้นักลงทุนต่างนำทองคำมาขายกันอย่างคึกคักเพื่อทำกำไรในระยะสั้น

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกปี 2558 จากมุมมองของกูรูผู้คร่ำหวอดในแวดวงทองคำไทยอย่าง นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ราคาทองคำในช่วงสัปดาห์นี้จะปรับขึ้นมาถึง 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ราคาทองคำอาจปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,320 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อีกทั้งหากราคาขยับขึ้นมาสูงเกินระดับ 1,320 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์แล้วก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแตะที่ระดับ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องด้วยปัจจุบันตลาดการเงินของโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของหลายประเทศยังคงมีปัญหายืดเยื้อ กอปรกับสหรัฐก็อาจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตามที่คาดการณ์กันไว้ก็เป็นได้ ส่งผลให้ราคาทองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้

ขณะที่ คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า จากการติดตามการซื้อสะสมทองคำของกองทุนขนาดใหญ่ทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2557 ถึงเดือนมกราคม 2558 พบว่า กองทุนขนาดใหญ่ทั่วโลกทยอยซื้อสัญญาทองคำสะสมหลังราคาทองคำลดลงมาก เป็นสัญญาณว่าราคาทองคำในช่วง 1-3 เดือนแรกของปีนี้จะอยู่ในช่วงขาขึ้นจากแรงเก็งกำไรของกองทุน รวมถึงมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากเทศกาลแต่งงานของชาวอินเดียในช่วงต้นปี อีกทั้งความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศกรีซ ธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มดำเนินนโยบายคิวอี ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และอาจมีผลให้นักลงทุนโยกเงินบางส่วนมาลงทุนในทองคำแทน หากแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ราคาทองคำจะอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันหลักจากที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายหลังที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีการฟื้นตัว จึงคาดว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงไตรมาสที่ 1 ถึงครึ่งปีแรกนี้จะอยู่ที่ราว 1,050-1,350 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

สำหรับทิศทางราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างผันผวนในปี 2558 นี้ อาจส่งผลให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปประเภทเครื่องประดับทอง เพื่อประเมินแนวโน้มราคาทองคำซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนสินค้าและอุปสงค์ในตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมวางแผนการบริหารต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงปรับกลยุทธ์การผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อสินค้าในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีผลให้กำลังซื้อที่แท้จริงของชาวยุโรปลดลง อีกทั้งมาตรการของธนาคารกลางสวิสที่ยกเลิกพยุงค่าเงินยูโรนั้น ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทจึงเป็นผลลบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญในอันดับ 2 ของไทยรองจากฮ่องกง ด้วยมูลค่าถึง 50,386 ล้านบาท ระหว่างช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2557 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดนี้ก็คือ เครื่องประดับแท้ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 61 โดยแบ่งเป็นเครื่องประดับเงินที่มีมูลค่าส่งออกสูงถึงกว่า 17,000 ล้านบาท และเครื่องประดับทองที่ส่งออกราว 10,000 ล้านบาท เพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าเร็วขึ้นกว่าที่คาด ซึ่งทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดยุโรปมีราคาแพงมากขึ้น จึงอาจมีผลต่อการกำหนดราคาซื้อขายสินค้าระหว่างกัน เนื่องด้วยอาจถูกต่อรองราคาจากผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อในยุโรปมากขึ้น หรืออาจส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อหรือยกเลิกคำสั่งซื้อเลย
ก็เป็นได้ ซึ่งในประเด็นนี้สอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับยอดส่งออกไปยังตลาดยุโรปของผู้ประกอบการเครื่องประดับไทยหลายราย

จากการสอบถามผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทย คุณวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท ปิยภูมิ จิวเวลรี่ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเครื่องประดับเงินซึ่งส่งออกไปยังยุโรปมายาวนาน ได้ให้มุมมองถึงสภาพตลาดผู้ซื้อในยุโรปว่าตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ตลาดยุโรปมีกำลังซื้อลดน้อยลงค่อนข้างมาก ทำให้อุปสงค์การบริโภคสินค้าเครื่องประดับของผู้ซื้อในยุโรปลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบให้ยอด
คำสั่งซื้อสินค้าจากผู้นำเข้า/ผู้ซื้อลดน้อยลงตามไปด้วย เฉกเช่นเดียวกับความคิดเห็นของ นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ที่ได้กล่าวถึงความกังวลต่อกำลังซื้อเครื่องประดับทองในตลาดนี้ที่ลดน้อยลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับคู่ค้าเดิมในตลาดยุโรป ด้วยการหาลู่ทางเจรจาต่อรองกับคู่ค้าในกรณีที่ผู้นำเข้ายุโรปอาจชะลอการนำเข้าสินค้า ขอลดราคาสินค้าหรือขอเลื่อนการชำระเงินเพื่อรักษาฐานการส่งออกในตลาดเดิมไว้ ขณะเดียวกันก็ควรแสวงหาโอกาสเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้น ก็น่าจะชดเชยยอดการส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้

----------------------------------------------- 

ข้อมูลอ้างอิง:

1)  “สวิตฯ ปลดล็อกฟรังก์ป่วนโลก สศค.หวั่นสงครามค่าเงินยุโรป”, ประชาชาติธุรกิจ (19-21 มกราคม 2558)
2)  “ทองคำส่อแววฟื้น”, สยามธุรกิจ (17-23 มกราคม 2558)
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที