GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 07 เม.ย. 2015 06.01 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5486 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ ขอนำเสนอบทความเรื่อง "โอกาสและความท้าทายในตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2558" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.git.or.th/Gem


โอกาสและความท้าทายในตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2558

    

ภาพประกอบจากแบรนด์ DiamondGroup GmbH, Thyreos Vassiliki Art and Fine Jewellery House และ VictorMayer

การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2558 ยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศ คู่ค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น หรือการชะลอตัวของตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างจีน และรัสเซีย ล้วนแล้วแต่มีผลต่ออุปสงค์การบริโภคสินค้านี้ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ จึงมีทั้งโอกาสและความท้าทายในแต่ละตลาดสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์และแนวทางการตลาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาดและแต่ละประเภทสินค้า เพื่อผลักดันยอดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถขยายตัวได้ต่อไป

 โอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจ

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญที่สุดของไทย จากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ร้อยละ 3.6 ในปี 2558 และร้อยละ 3.3 ในปี 2559 ซึ่งถือว่าสูงมากตามมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้ความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับเยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของสหภาพยุโรปที่เติบโตได้ดี และมีอุปสงค์การบริโภคสินค้าโดยเฉพาะเครื่องประดับเงินอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศอื่นๆ อย่างกรีซจะยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่จากการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 19 เดือน น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจยุโรปในภาพรวมให้ปรับตัวดีขึ้น โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.2 และร้อยละ 1.4 ในปี 2558 และปี 2559 ตามลำดับ

ส่วนตลาดญี่ปุ่นเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ ซึ่ง IMF คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.8 ในปี 2558 และปี 2559 ตามลำดับ แม้การเลื่อนกำหนดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มระยะที่สองจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 จะเริ่มมีผลในเดือนตุลาคม 2560 จากเดิมในปีนี้ กอปรกับราคาน้ำมันที่ลดลง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและมีผลให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือสำหรับจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น หากแต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังลังเลที่จะใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย และมีโอกาสที่คนญี่ปุ่นจะเก็บออมเงินเพื่อรองรับการปรับขึ้นภาษีอีกรอบก็เป็นได้ จึงอาจมีผลกระทบต่ออุปสงค์การบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดนี้

ขณะที่จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีแนวโน้มที่กำลังซื้อจะแผ่วลง เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอการเติบโตต่อเนื่องเหลือเพียงราวร้อยละ 7 ในปีนี้ตามการคาดการณ์ของรัฐบาลจีน จากนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากเดิมที่เน้นการเติบโตจากการส่งออกและการลงทุนมาเป็นเน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างยั่งยืน กอปรกับมาตรการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเข้มงวด ก็มีผลให้คนจีนจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยน้อยลง ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนหรือการส่งออกผ่านไปยังฮ่องกงเพื่อเข้าจีนอีกทอดหนึ่ง

นอกจากจีนแล้ว รัสเซียซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกดาวรุ่งของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็กำลังประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อันมีปัจจัยมาจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศลดลงจนกดดันให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงมากตั้งแต่ปลายปี 2557 จนมีผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียได้คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2558 จะหดตัวลงราวร้อยละ 3.5 - 4 กอปรกับในปีนี้ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและค่าเงินรูเบิลที่ลดลง ทำให้รายได้ของชาวรัสเซียลดลง ผู้บริโภคจึงระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยและลดการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าไทยโดยเฉพาะเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซียในปีนี้มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี สำหรับอาเซียนซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่ภาคเอกชนบางส่วนเริ่มให้ความสนใจนั้น ยังคงรักษาแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยหากพิจารณาในรายประเทศ IMF คาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจกลุ่มอาเซียนเดิมได้แก่ สิงคโปร์และบรูไนจะขยายตัวร้อยละ 3.0 มาเลเซียร้อยละ 4.7 อินโดนีเซียร้อยละ 5.2 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 6.5 ส่วนกลุ่มอาเซียนใหม่ (CLMV) อย่างกัมพูชาเติบโตได้ร้อยละ 7.5 ลาวร้อยละ 6.4 เมียนมาร์ ร้อยละ 8.5 และเวียดนามร้อยละ 5.6 อีกทั้งจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้กลายเป็นฐานตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่ประชากรกำลังมีรายได้สูงขึ้น เกิดกลุ่มชนชั้นกลางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นซึ่งต่างมีความต้องการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น IMF ยังคาดว่ารายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น จึงมีผลให้การส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

 ตลาดส่งออกดาวรุ่ง

จากมุมมองของกูรูในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับหลายท่าน (ข้อมูลบางส่วนจากการเสวนาหัวข้อ “ผ่ามุมมองกูรูอัญมณีและเครื่องประดับ ฟันธงตลาดดาวรุ่ง ตลาดดาวร่วง” ในงานสัมมนาเรื่อง “เจาะลึกเศรษฐกิจการค้าโลกปี 58 กูรูอัญมณีและเครื่องประดับฟันธง ตลาดดาวรุ่ง ตลาดดาวร่วง” จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558) เห็นว่า ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในปีนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอาเซียน สำหรับสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้ามากขึ้น ด้วยพฤติกรรมของคนสหรัฐฯ โดยมากมักชอบซื้อสินค้าเครื่องประดับเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นและนิยมปรับเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงมีแนวโน้มที่อุปสงค์การบริโภคสินค้าเครื่องประดับจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าสูงอย่างเครื่องประดับทองเพื่อเก็บสะสมเป็นสินทรัพย์และเป็นการลงทุนมีแนวโน้มส่งออกได้ดีขึ้นในแนวบวก จากเดิมที่ตลาดนี้เคยนิยมเครื่องประดับเงินอย่างมากในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 ไทยสามารถส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ไปยังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.47 คิดเป็นมูลค่าราว 7,107 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2557 แม้สินค้าส่งออกหลักอย่างเครื่องประดับเงินจะปรับตัวลดลง หากแต่การส่งออกเครื่องประดับทองสินค้าสำคัญรองลงมานั้นขยายตัวได้เป็นอย่างดี

ส่วนตลาดยุโรปนั้นในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัว โดยมีเยอรมนีเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มประเทศนี้ เยอรมนีจึงเป็นตลาดผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับรายสำคัญที่สุดในสหภาพยุโรป จากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ผู้บริโภคชาวเยอรมันมีกำลังซื้อสูง หากแต่ด้วยพื้นฐานของชาวเยอรมนีซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยม มีความมัธยัสถ์อดออม ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และไม่นิยมซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิต จึงมีรสนิยมในการเลือกซื้อเครื่องประดับดีไซน์หรูทันสมัยในสนนราคาที่ไม่สูงนัก มีความคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไป เครื่องประดับเงินซึ่งมีราคาย่อมเยาจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดนี้ เห็นได้จากยอดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ของไทยไปยังเยอรมนีในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 ที่มีมูลค่าขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 42.90 หรือมีมูลค่า 3,028 ล้านบาท จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินที่ขยายตัวได้สูงมาก


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที