GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 26 ก.ค. 2016 04.01 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2141 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "อินโดนีเซียสร้างความโดดเด่นในแวดวงไข่มุกเซาท์ซี" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


อินโดนีเซียสร้างความโดดเด่นในแวดวงไข่มุกเซาท์ซี

 

อินโดนีเซียกำลังแสวงหาหนทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตและจัดหาไข่มุกเซาท์ซีชั้นนำในตลาดสากล ตามความเห็นจากผู้เพาะเลี้ยงและผู้ค้าในอินโดนีเซีย ประเทศนี้นับได้ว่าเป็นผู้ผลิตไข่มุกเซาท์ซีรายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก แต่ยังคงเผชิญอุปสรรคในก้าวย่างสำคัญสู่ตลาดโลก โดยความท้าทายสำคัญ ได้แก่ การที่ผู้ซื้อไม่ได้รับรู้ถึงขีดความสามารถของอินโดนีเซียในด้านนี้ การแข่งขันจากตลาดขายต่อ และอุปสรรคในการไต่ระดับตามห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ

ตัวเลขจากสมาคม Indonesia Pearl Culture Association (ASBUMI) ระบุว่า อินโดนีเซียผลิตไข่มุกเซาท์ซี 7,505 กิโลกรัมในปี 2015 จากเดิม 5,437 กิโลกรัมในปี 2013 โดยจากผลผลิตรวมในปี 2015 นั้น มีผลผลิตที่ขายได้ร้อยละ 60 และขายจริงไปร้อยละ 70 ของจำนวนดังกล่าว สมาคม ASBUMI อ้างข้อมูลในอุตสาหกรรมว่าอินโดนีเซียผลิตไข่มุกเซาท์ซีคิดเป็นร้อยละ 41.2 และร้อยละ 43.9 ของปริมาณผลผลิตทั่วโลกในปี 2005 และ 2013 ตามลำดับ

อินโดนีเซียผลิตไข่มุกเซาท์ซีสีขาวและสีทอง รวมถึงสีอื่นๆ อีก 26 สี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 มม. - 10 มม. ไปจนถึงมากกว่า 16 มม. ทางสมาคมระบุด้วยว่า อินโดนีเซียมีสภาพภูมิอากาศคงที่ ช่วยให้หอยมุกผลิตชั้นเคลือบไข่มุก (Nacre) ได้อย่างสม่ำเสมอ

Mulyanto เลขาธิการใหญ่ของสมาคม ASBUMI กล่าวว่า บริษัทจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำการลงทุนในภาคการผลิตไข่มุกเซาท์ซีของอินโดนีเซีย

นอกเหนือจากการจัดงานเพื่อส่งเสริมไข่มุกเซาท์ซีของอินโดนีเซียอยู่เป็นประจำแล้ว ทางสมาคมยังได้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี และได้นำสมาชิก รวมถึงชุมชนบริเวณชายฝั่ง มาเข้าร่วมโครงการแปรรูปไข่มุก สมาคมยังได้ออกประกาศนียบัตรรับรองความสามารถ และออกใบรับรองระดับของไข่มุกเซาท์ซีตามระเบียบของ National Standardisation of Indonesia (SNI)

อย่างไรก็ดี สมาคม ASBUMI ยอมรับว่าไข่มุกเซาท์ซีจากอินโดนีเซียควรจะสร้างกระแสในตลาดโลกได้มากกว่านี้ Mulyanto กล่าวว่า ประการแรก ส่วนใหญ่แล้วอินโดนีเซียส่งออกไข่มุกเม็ดร่วงซึ่งไม่ได้ผ่านการเพิ่มมูลค่ามากนัก เขาระบุว่ามูลค่าของไข่มุกจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ตกแต่งเครื่องประดับและส่งออกในรูปแบบเครื่องประดับสำเร็จรูป “ยิ่งไปกว่านั้น ไข่มุกเซาท์ซีจากอินโดนีเซียซึ่งมีสีและความแวววาวตามธรรมชาติ ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างหนักกับไข่มุกที่ผ่านการย้อมหรือการปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคนิค ‘Maeshori’” เขาเสริม

การสร้างแบรนด์

สมาคม ASBUMI และผู้เล่นในอุตสาหกรรมกำลังพยายามผลักดันแบรนด์ Made in Indonesia สำหรับไข่มุกเซาท์ซี นับตั้งแต่ปี 2010 ทางสมาคมได้จัดงาน Indonesian Pearl Festival เป็นประจำทุกปีเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้ากลุ่มนี้ นอกจากนี้ ทางสมาคมยังประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้รัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเฉพาะกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมง (Ministry of Maritime Affairs and Fisheries) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมต่างๆ โดยปีนี้สมาคม ASBUMI และทางกระทรวงได้ร่วมออกบูธจัดแสดงไข่มุกเซาท์ซีอินโดนีเซียที่งาน Hong Kong International Jewellery Show โดยมีผู้เลี้ยงมุก ผู้ค้า และผู้ผลิตเครื่องประดับเข้าร่วมเกือบ 10 ราย

“เราได้ขอให้ทางรัฐบาลออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมของเรามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอบรมและให้คำแนะนำด้านการผลิตเครื่องประดับ ไปจนถึงมาตรการผ่อนผันทางภาษีและการให้สินเชื่อจากธนาคาร ทั้งนี้เพื่อให้อินโดนีเซียสามารถส่งออกเครื่องประดับมุกได้เป็นจำนวนมาก” Mulyanto กล่าว พร้อมเผยว่า สมาคม ASBUMI ยังได้ร่วมงานกับช่างไข่มุกและผู้เพาะเลี้ยงหอยมุกเพื่อจัดหาไข่มุกเม็ดร่วงเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

Eric Tenggara ผู้จัดการฝ่ายขายของ C.V. Rosario Mutiara กล่าวว่า การสร้างแบรนด์ไข่มุกเซาท์ซีจากอินโดนีเซียให้เข้มแข็ง รวมถึงนำเสนอข้อได้เปรียบในแง่ราคาที่ไม่สูงและความงามตามธรรมชาติ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมนี้

โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อไข่มุกเซาท์ซีของอินโดนีเซียไปถึงมือผู้บริโภคปลายทางหรือแม้กระทั่งไปถึงผู้จัดซื้อ สินค้านั้นมักถูกเปลี่ยนมือมาแล้วหลายทอดจนกระทั่งแบรนด์อินโดนีเซียหล่นหายไประหว่างทาง Tenggara กล่าวว่า “เราเพาะเลี้ยงมุกในอินโดนีเซียและขายให้ลูกค้า ลูกค้าหลายรายก็จะนำไข่มุกไปขายต่อในตลาด อาจมีการเปลี่ยนมืออีกหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้นโดยเป็นการขายต่อหรือการนำไปปรับปรุงคุณภาพ สุดท้ายผู้บริโภคปลายทางหรือแม้กระทั่งผู้ค้าปลีกหรือผู้ค้าส่งก็จะซื้อสินค้าโดยรู้เพียงว่าเป็นไข่มุกที่มีคุณภาพเทียบเท่าไข่มุกออสเตรเลียหรือไข่มุกญี่ปุ่น” เขาอธิบาย

ตามข้อมูลจาก Tenggara ไข่มุกเซาท์ซีทั่วโลกนั้นมาจากอินโดนีเซียกว่าครึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่หายไปกับผู้จัดซื้อส่วนใหญ่ในตลาดสากล “หลายประเทศซื้อมุกจากอินโดนีเซียแล้วนำไปขายต่อ เราไม่มีเทคนิคในการตกแต่งและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้เพิ่มคุณภาพของไข่มุก ดังนั้นสินค้าและจุดแข็งของเราก็คือไข่มุกเซาท์ซีธรรมชาติในราคาที่ไม่สูงนัก” เขาชี้

Tenggara กล่าวว่า ราคาของไข่มุกเซาท์ซีสีทองจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในการประมูลครั้งล่าสุดแต่ก็ยังคงถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ไข่มุกคุณภาพระดับล่างขนาด 9 มม. มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ไข่มุกสีทองเข้มไร้ตำหนิคุณภาพสูง ขนาด 15 มม. อาจมีราคาสูงถึง 3,000 เหรียญสหรัฐ

C.V. Rosario Mutiara ผลิตไข่มุก 30,000 - 60,000 เม็ดต่อปีที่ฟาร์มบนเกาะฟลอเรสและมาลูคู ทางบริษัทนำเสนอไข่มุกทุกขนาด ตั้งแต่ไข่มุกขนาดเล็กที่ 8 มม. - 9 มม. ไปจนถึงไข่มุกขนาดใหญ่ที่ 18 มม. โดยผลผลิตราวร้อยละ 90 เป็นไข่มุกสีทอง

ความต้องการของตลาด

ตามข้อมูลจาก Tenggara สินค้าคุณภาพสูงของบริษัทมักถูกส่งไปยังจีน ไข่มุกคุณภาพทั่วไปมักไปยังญี่ปุ่น ขณะที่ไข่มุกคุณภาพระดับล่างเป็นที่ต้องการในตลาดอินเดีย ไข่มุกขนาดเล็กเป็นที่ต้องการสูงมากเมื่อปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันผู้จัดซื้อมักมองหาขนาดเฉพาะ เช่น 12 มม. - 13 มม. ไปจนถึง 16 มม. เขากล่าว

“ตลาดจีนยังคงทำยอดขายให้เราได้ดี จีนยังคงซื้อสินค้าจากเราอย่างต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่ากิจการหลายแห่งกำลังจัดหาสินค้าเข้าร้าน ผู้ซื้อจีนต้องการไข่มุกคุณภาพสูงเสมอ ซึ่งยากแก่การจัดหาเพราะสินค้าของเราเป็นไข่มุกธรรมชาติทั้งหมด” ผู้บริหารบริษัทกล่าว

C.V. Rosario Mutiara จึงหวังว่าจะผลักดันธุรกิจให้เติบโตในจีนโดยเน้นความได้เปรียบในการแข่งขันของไข่มุกเซาท์ซีจากอินโดนีเซีย “ถ้าผู้ซื้อชาวจีนต้องการไข่มุกเซาท์ซีธรรมชาติสีทองคุณภาพดี ก็ควรซื้อจากอินโดนีเซีย ฟาร์มเลี้ยงหอยมุกในเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ต่างมีสินค้าคุณภาพสูงเป็นสัดส่วนพอๆ กัน ในการเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติ มีผลผลิตเพียงร้อยละ 3 ถึง 5 จากผลผลิตทั้งหมดที่เป็นไข่มุกสีทองเข้มไร้ตำหนิ ดังนั้นแหล่งที่มาจึงไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญมากนัก ถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมไม่ซื้อจากอินโดนีเซียล่ะ ในเมื่อเรานำเสนอไข่มุกเซาท์ซีธรรมชาติที่ถูกที่สุด” Tenggara กล่าวย้ำ

Aaron Preman จาก Primo Pearls ในจาการ์ตาเห็นด้วยในเรื่องนี้ บริษัทที่เขาดำเนินงานร่วมกับภรรยา Aily Kusmanto จัดหาไข่มุกเซาท์ซีจากฟาร์มหลายแห่งในอินโดนีเซีย บริษัทขายไข่มุกเหล่านี้ให้ลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ โดยหลักๆ เป็นนักออกแบบเครื่องประดับและแบรนด์ระดับสูง ผู้ขายปลีก ตลอดจนกิจการด้านการท่องเที่ยว Kusmanto ยังได้ขายเครื่องประดับไข่มุกเซาท์ซีให้ลูกค้ารายบุคคลในจาการ์ตาภายใต้ชื่อแบรนด์ Aily Diamond Boutique อีกด้วย

“อินโดนีเซียเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของบริษัทเรา ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตไข่มุกเซาท์ซีรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก แต่อุตสาหกรรมออสเตรเลียทำการตลาดได้เก่งมาก ส่วนญี่ปุ่นก็มีอุตสาหกรรมมุกที่แข็งแกร่งมานานแล้ว แต่ถึงอย่างไรไข่มุกเม็ดงามก็ยังคงเป็นไข่มุกเม็ดงามวันยังค่ำไม่ว่าจะมาจากไหน ถ้าดูจากคุณภาพสินค้าของเรา ก็จะเห็นว่าไม่ได้มีความแตกต่างเลย เวลาที่ขายรวมกันเป็นล็อตคละขนาด สินค้าเกรดทั่วไป (Commercial Grade) จะมีราคาสูงต่ำตามแหล่งที่มา ขณะที่เมื่อแบ่งกลุ่มขนาดตามความต้องการของผู้ซื้อ สินค้าทั้งหมดจะสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม” Preman ระบุ

Primo Pearls ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อจีนในงาน Hong Kong International Diamond, Gem & Pearl Show เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Preman กล่าวว่า “ความต้องการไข่มุกเซาท์ซีสีทองมีค่อนข้างสูง คราวนี้เราลงทุนกับไข่มุกขนาดใหญ่และไข่มุกกลุ่มนี้ก็เป็นที่ต้องการมาก แต่เราก็ยังขายไข่มุกขนาด 9 มม. ถึง 12 มม. ได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ทุกขนาดทำผลงานได้ดีในงานนี้” เขากล่าว

Permata Bunda เพาะเลี้ยงไข่มุกเซาท์ซีที่ฟาร์มบนเกาะซัมบาวา จังหวัดเวสต์ นูซา เทงการา ตั้งแต่ปี 1994 บริษัทผลิตไข่มุกสีขาว สีแชมเปญ และสีทอง ขนาด 9 มม. ถึง 16 มม. โดยขายให้ผู้ค้าส่งในญี่ปุ่น ฮ่องกง และบางประเทศในยุโรป

Ratna Zhuhry เจ้าของบริษัทกล่าวว่า สินค้าขายดีในปัจจุบันคือไข่มุกเซาท์ซีสีทองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 มม. นอกจากนี้ไข่มุกขนาด 14 มม. ก็เป็นที่ต้องการมากเช่นกัน

“ญี่ปุ่นเป็นผู้จัดจำหน่ายไข่มุกเซาท์ซีจากอินโดนีเซียรายใหญ่ที่สุด รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังร่วมงานกับสมาคม ASBUMI เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างแบรนด์ไข่มุกเซาท์ซีอินโดนีเซียอย่างมีประสิทธิภาพ เราอาจสู้ไม่ได้ในแง่การปรับปรุงคุณภาพหรือเทคโนโลยี แต่ถ้าใครกำลังมองหาไข่มุกธรรมชาติ การซื้อจากแหล่งผลิตย่อมดีกว่าและถูกกว่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไข่มุกเซาท์ซีกำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูงอยู่ในขณะนี้” เธอกล่าว

โอกาสในธุรกิจเครื่องประดับ

นอกจากสินค้าไข่มุกเม็ดร่วง อินโดนีเซียก็พยายามสร้างชื่อในแวดวงเครื่องประดับมุกด้วยเช่นเดียวกัน Julie Pearl Jewellery ทำงานทั้งในธุรกิจไข่มุกเซาท์ซีเม็ดร่วงและธุรกิจเครื่องประดับ บริษัทจัดหาไข่มุกเม็ดร่วงหลายระดับจากฟาร์มและผู้ค้าในอินโดนีเซีย จากนั้นก็ขายต่อให้ตลาดต่างประเทศ ขณะที่เครื่องประดับสำเร็จรูปของทางบริษัทก็ได้นำเสนอความโดดเด่นของไข่มุกเซาท์ซีสีขาวและสีทอง

ตามข้อมูลจาก Yulita Andriani จาก Julie Pearl Jewellery แหวนไข่มุกและเพชรในตัวเรือนทอง 18 กะรัตมีราคาขายส่งอยู่ที่ราว 1,400 เหรียญสหรัฐ ขณะที่สร้อยคอยาวจากไข่มุกเซาท์ซีอาจขายส่งอยู่ที่ราว 2,000 เหรียญสหรัฐ

Julie Pearl Jewellery จัดหาสินค้าให้ผู้ค้าปลีกและผู้จัดจำหน่ายในเกาหลี มาเลเซีย และอิตาลี Andriani กล่าวว่า ที่งาน Hong Kong Fair เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทได้รับการติดต่อสอบถามจากอิสราเอล ไทย สหรัฐอเมริกา และจีน โดยแหวนไข่มุกเซาท์ซีสีทองคุณภาพระดับ “AAA” ได้รับความสนใจมากที่สุด “ผลลัพธ์จากการเข้าร่วมงาน Hong Kong Fair  เป็นครั้งแรกค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เพราะตลาดเหล่านี้ล้วนเป็นตลาดใหม่สำหรับเรา” เธอกล่าวเสริม

Maisya Jewellery กลับสู่ตลาดต่างประเทศหลังจากหยุดพักไปเน้นการขายภายในประเทศอยู่นานสามปี บริษัทซึ่งก่อตั้งมานาน 15 ปีแห่งนี้ ผลิตเครื่องประดับไข่มุกเซาท์ซีตกแต่งด้วยเพชรบนตัวเรือนทอง 18 กะรัตหรือเงิน

กรรมการบริษัท H. Moh. Irfan กล่าวว่า เครื่องประดับทั้งหมดผลิตด้วยมือเป็นหลักที่โรงงานในจาการ์ตาซึ่งมีคนงาน 80 คน ต่างหูไข่มุกบนตัวเรือนทองมีราคาขายปลีกที่ 300 ถึง 400 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต่างหูประดับเพชรซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าขายปลีกอยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐ สำหรับเครื่องประดับเงินนั้น ราคาขายปลีกเริ่มต้นที่ 20 เหรียญสหรัฐสำหรับต่างหูไข่มุกแบบเรียบ และไต่ขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐสำหรับชิ้นงานที่ประดับด้วยอัญมณีธรรมชาติ

เขากล่าวว่า ที่งาน Hong Kong Fair เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ซื้อชาวจีนแสดงความสนใจต่างหูเพชรและไข่มุกของทางบริษัท และบางส่วนก็ได้ซื้อสินค้าตัวอย่างเพื่อไปลองตลาด “ตลาดอินโดนีเซียเริ่มชะลอตัว เราจึงกลับมาหาตลาดส่งออกอีกครั้ง ยุโรปเคยเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุดของเรา และเราหวังว่าจะได้ฐานที่มั่นในตลาดยุโรปกลับมาอีกครั้ง พร้อมทั้งสำรวจโอกาสในสหรัฐอเมริกาและจีนด้วย” Irfan อธิบาย

------------------------------------------

ที่มา: “Indonesia seeks greater prominence in South Sea pearl scene.” by Olivia Quiniquini. JNA. (April 2016: pp. 66-69).

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที