GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 15 ส.ค. 2016 08.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1895 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "โอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดฟิลิปปินส์" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


โอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควรจับตามองในกลุ่มของประเทศอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรกว่า 102 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม (รองเพียงอินโดนีเซีย) ในภาพรวมถือว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าร้อยละ 6 จากปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ และการเติบโตของภาคธุรกิจบริการ ทำให้แนวโน้มของประชากรที่มีกำลังซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ถือว่าฟิลิปปินส์มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีปริมาณสำรองของวัตถุดิบและแร่ธาตุมากมาย เช่น ทองคำ เงิน รวมถึงแร่อัญมณีมีค่า ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มักเน้นการผลิตตามคำสั่งซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับฟิลิปปินส์จึงมีช่องว่างที่เปิดรออยู่สำหรับผู้ประกอบการไทย

ทำความรู้จักฟิลิปปินส์

ด้วยจำนวนประชากรที่มีกว่า 102 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ฟิลิปปินส์จึงจัดเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจ โดยโครงสร้างประชากรส่วนมากของประเทศอยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ถึงราวร้อยละ 62 อายุเฉลี่ยของประชากรเพียง 23 ปีเท่านั้น แม้รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีจะยังไม่สูงนัก เพียง 7,250 เหรียญสหรัฐ แต่ด้วยอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน จึงทำให้ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินไว้ว่าภายในปี 2020 ประชากรฟิลิปปินส์จะเพิ่มจำนวนเป็น 113 ล้านคน

ฟิลิปปินส์ยังมีจุดเด่นด้วยการเป็นประเทศผู้ก่อตั้งแรกเริ่ม 5 ประเทศของกลุ่มอาเซียนเพียงแห่งเดียวที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่สูงต่อเนื่องกว่าร้อยละ 6 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน สวนกระแสเศรษฐกิจโลกซึ่งมีแนวโน้มเติบโตลดลง โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักของฟิลิปปินส์มาจากการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเงินโอนจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศส่งกลับมายังครอบครัวเพื่อใช้จ่าย ซึ่ง Central Intelligence Agency (CIA) ของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า แรงงานดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน หรือ ราวร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรฟิลิปปินส์ทั้งหมด

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีความโดดเด่นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ หรือ Business Process Outsourcing (BPO) ซึ่งเป็นการรับช่วงระบบงานหรือบริการภายในองค์กรใหญ่ๆ ระดับโลก โดย BPO ในฟิลิปปินส์มักจะอยู่ในรูปแบบของการบริหารงานสนับสนุนภายในองค์กรและการบริการลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งธุรกิจ BPO นี้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 15-20 ต่อปี ทำให้ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจดังกล่าวมีขนาดใกล้เคียงกับเงินโอนหรือรายได้จากการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศซึ่งเคยเป็นเสมือนกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมานานกว่าทศวรรษ ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2016 รายได้จากทั้งสองแหล่งดังกล่าวของฟิลิปปินส์จะมีระดับใกล้เคียงกันราว 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตมากขึ้น ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์จัดเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะแหล่งแร่ทองคำ เงิน และแร่อัญมณีมีค่าเป็นจำนวนมาก อาทิ หยก โกเมน และโอปอ เป็นต้น รวมถึงยังเป็นแหล่งไข่มุกทะเลใต้ที่มีชื่อเสียง ส่วนผู้ประกอบการภายในประเทศฟิลิปปินส์นั้นส่วนใหญ่มักดำเนินการในลักษณะของธุรกิจในครัวเรือนขนาดเล็ก ซึ่งชาวฟิลิปปินส์รู้จักกันในนาม “Mom and Pop” หรือ “Micro Entreprises” โดยอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาเพียง 1-2 คน สามีและภรรยาร่วมกันบริหารธุรกิจ จึงทำให้ธุรกิจนี้อยู่นอกระบบเป็นส่วนใหญ่ ยากต่อการตรวจสอบและคาดการณ์จำนวนผู้ประกอบการที่แท้จริง ส่วนกระบวนการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องจักรกับงานฝีมือเชิงช่าง และมักจะเป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อหรือเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนบริษัทผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเพื่อส่งออกเป็นหลักมีจำนวนไม่มากนัก

 

ในด้านการนำเข้าและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับนั้น พบว่าในปี 2015 ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการนำเข้าเพียง 73.54 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญในหมวดนี้ คือ เหรียญกษาปณ์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.27 ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปร้อยละ 22.90 เครื่องประดับเทียมร้อยละ 10.08 เครื่องประดับทองร้อยละ 5.90 และอื่นๆ
ร้อยละ 5.46 โดยคู่ค้าที่สำคัญที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 19.32 รองมาคือ แคนาดาร้อยละ 14.94 โดยสินค้าที่นำเข้าจากทั้งสองประเทศเกือบทั้งหมด คือ เหรียญกษาปณ์ ส่วนสิงคโปร์เป็นแหล่งนำเข้าอยู่ในอันดับที่ 3 สัดส่วนร้อยละ 13.56 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป ส่วนเยอรมนีและตุรกีเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 4 และ 5 ซึ่งการนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นเหรียญกษาปณ์เช่นเดียวกับกรณีของสหรัฐฯ และแคนาดา ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 17 มีสัดส่วนในตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.12 โดยสินค้าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากไทยเกือบทั้งหมดเป็นอัญมณีสังเคราะห์

ในขณะที่มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 529.14 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ ทองคำฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.33 รองมาคือเครื่องประดับทองร้อยละ 8.23 เครื่องประดับเทียมร้อยละ 4.43 ไข่มุกร้อยละ 3.83 โลหะเงินร้อยละ 2.43 และอื่นๆ ร้อยละ 2.75 โดยแหล่งส่งออกที่สำคัญที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 39.97 รองมา คือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และอิตาลี ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกทองคำฯ ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 13 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.30 ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกวัตถุดิบประเภทโลหะเงิน

โอกาสการค้าในตลาดฟิลิปปินส์

แม้ว่ามูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดของฟิลิปปินส์ยังไม่สูงนัก โดยการนำเข้ามักเป็นเพียงสินค้าเฉพาะอย่างเหรียญกษาปณ์ ส่วนสินค้าสำเร็จรูปอย่างเครื่องประดับแท้ โดยเฉพาะเครื่องประดับทอง รวมถึงเครื่องประดับเทียมยังมีมูลค่าไม่มากนัก ในขณะที่ตลาดภายในประเทศกำลังเติบโต ประชากรที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ที่เห็นโอกาสในตลาดฟิลิปปินส์ควรพิจารณาถึงแง่มุมต่างๆ ดังต่อไปนี้

จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับฟิลิปปินส์ ระบุว่า ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ที่มีศักยภาพในการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในชีวิตประจำวันมีจำนวนราวร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นอาจจะแยกได้เป็น กลุ่มคนรุ่นใหม่ในธุรกิจ BPO โดยสินค้าที่นำเสนอกลุ่มนี้ ควรเริ่มจากเครื่องประดับเงินทันสมัย เครื่องประดับเทียมที่มีดีไซน์เฉพาะเป็นหลัก และในอนาคตอาจเสริมด้วยเครื่องประดับทองที่ชิ้นงานไม่ใหญ่มากนัก แต่มีรูปแบบที่ทันสมัย ส่วนผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะดี กลุ่มดังกล่าวมักชื่นชอบเครื่องประดับ
แบรนด์เนมหรือเครื่องประดับที่มีดีไซน์เฉพาะ งดงาม ดังนั้น สินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มดังกล่าวควรเป็นเครื่องประดับทองในรูปแบบทันสมัย สไตล์ตะวันตก ทั้งนี้ ด้วยบุคลิกลักษณะเฉพาะของฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ชอบความสนุกสนาน งานสังสรรค์ และมีความกล้าที่จะแต่งตัว ดังนั้น บางครั้งเครื่องประดับเทียมหรือเครื่องประดับเงินตกแต่งพลอยเนื้ออ่อนแฟนซีชิ้นงามเพื่อเพิ่มสีสันและรสนิยมการแต่งกาย ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ ให้ความสนใจ

ผู้ประกอบการควรพิจารณาใช้ช่องทางการจำหน่ายหลัก หรือ การเริ่มต้นที่กรุงมะนิลาซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและกลุ่มคนที่มีฐานะดีในอันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าทั้งขนาดเล็กใหญ่ที่มีจำนวนมากมาย อาทิ Shangri-La Plaza, Glorietta, Greenbelt และ Greenhills Shopping Center ฯลฯ ซึ่งบางแห่งได้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยไปวางจำหน่ายแล้ว นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปทดลองตลาดและสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านงานแสดงสินค้า อาจพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Top Thai Brands ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจัดในช่วงราวเดือนมีนาคมของทุกปี แม้ภายในงานจะเป็นการนำเสนอสินค้าไทยที่หลากหลายชนิด แต่สินค้าประเภทไลฟ์สไตล์รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับก็ได้การตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อชาวฟิลิปปินส์อยู่ไม่น้อย

      

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที