GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 24 ส.ค. 2016 05.04 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1747 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย: ความท้าทายจาก TPP" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย: ความท้าทายจาก TPP

รศ. (พิเศษ) ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา

อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สำหรับผู้อยู่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศที่ต้องมีการติดต่อค้าขายกับประเทศในเอเชียแปซิฟิกต่างล้วนให้ความสำคัญกับข่าวเรื่องการลงนามความตกลงการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิกภายใต้ชื่อ "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP"

TPP ความตกลงการค้าเสรีที่ใช้เวลาเจรจากันนานเกือบ 8 ปี เริ่มนับตั้งแต่ปี 2551 การเจรจาปกปิดเป็นความลับ เอกสารการประชุมไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำออกไปเผยแพร่ ผู้แทนภาครัฐแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้แต่รายงานความคืบหน้าว่าประชุมกันมีกี่รอบ สถานที่ประชุมอยู่ที่ใด มีหัวข้อใดที่หยิบยกนำมาเจรจากัน ส่วนสาระสำคัญและรายละเอียดลึกๆ ไม่สามารถนำมาเล่าให้ฟังได้ ปล่อยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักธุรกิจ นักวิชาการ NGO                            นักวิพากษ์วิจารณ์ข่าวเศรษฐกิจคาดเดากันไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา จนในที่สุดผู้นำประเทศสมาชิกในเอเชียแปซิฟิกที่เข้าร่วมจำนวน 12 ประเทศได้มาลงนามความตกลง TPP ร่วมกันเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ณ นิวซีแลนด์ (ลงนามแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ) โดยจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกประเทศให้สัตยาบัน หรือภายใน 2 ปีนับจากวันลงนาม โดย TPP มีขอบเขตครอบคลุมการลด/ยกเลิกอากรขาเข้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน การเปิดตลาดการค้า/บริการ บริการการเงิน การลดการคุ้มครองสิทธิของรัฐวิสาหกิจบางประเภท การเปิดเสรีการจัดซื้อภาครัฐ การให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในสะดวกขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง การคุ้มครองแรงงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในระดับสูง การต่อต้านคอรัปชั่น และการสร้างความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ

สมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน (บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม) 2 ประเทศในโอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) 1 ประเทศในเอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น) 5 ประเทศในทวีปอเมริกา (สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี) โดยประเทศที่รอความหวังอยากจะเข้าร่วม TPP ด้วยในอนาคต เช่น อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน รัสเซีย แต่ก็ยังกลัวๆ กล้าๆ เนื่องจากมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อภาคเศรษฐกิจบางสาขา รวมถึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม ทำให้ต้องชะลอการตัดสินใจเข้าร่วม

ในส่วนแวดวงการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เป็นกระแสที่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าร่วม TPP เนื่องจากตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่ของไทย โดยประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ มีมูลค่าตลาดการส่งออกในปี 2558 มูลค่ารวม 1,930.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปตลาดโลก แบ่งเป็นการส่งออกเพชรมูลค่า 197 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการส่งออกเพชรทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) พลอยสีมูลค่า 167.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 16.1 ของมูลค่าการส่งออกพลอยสีทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) เครื่องประดับเงินมูลค่า 750.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 47.3 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) เครื่องประดับทองมูลค่า 680.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับทองทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) และเครื่องประดับเทียมมูลค่า 134.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเทียมทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก)

กลุ่มใน TPP ตลาดใหญ่ที่สุดของอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกของไทยคงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา เจ้าเก่า ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 67 รองลงมา คือ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.0 สิงคโปร์ ร้อยละ 5.8 และหากจำแนกเป็นรายสินค้าก็พบว่า (1) เพชร ตลาด TPP ที่ไทยส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 55.3 และ ญี่ปุ่น 39.3  (2) พลอยสี ตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 77.5 และญี่ปุ่น ร้อยละ 11.9 (3) เครื่องประดับเงิน ตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 76.4 และออสเตรเลีย ร้อยละ 12.8 (4) เครื่องประดับทอง คือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 60.6 และญี่ปุ่น ร้อยละ 18.1 และ (5) เครื่องประดับเทียม คือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 52.5 และสิงคโปร์ ร้อยละ 38.1

ความลำบากของไทยน่าจะอยู่ที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่เหลือ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอาเซียน ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ เช่น ATIGA, TAFTA, JTEPA, AJCEP ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนค่าภาษีอากรขาเข้าไปได้ ส่วนตลาดอื่นๆ ในทวีปอเมริกา เช่น เม็กซิโก เปรู ชิลี ก็มีการค้าอัญมณีและเครื่องประดับกับไทยไม่มาก

หากพิจารณาตัวเลขนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 2558 พบว่า มีการนำเข้า

§  เพชร มูลค่า 23,956 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 18 ขณะที่นำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับที่ 15 ออสเตรเลียเป็นอันดับที่ 17 และสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 22)

§  พลอยสี 1,814 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่นำเข้าจากออสเตรเลียมากเป็นอันดับที่ 14)

§  เครื่องประดับเงินและทอง 8,017 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่นำเข้าจากสิงคโปร์มากเป็นอันดับที่ 18 และเวียดนาม เป็นอันดับที่ 24)

§  เครื่องประดับเทียม 1,741 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่นำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 6)

หากความตกลง TPP มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าเป็นผู้ค้าเพชรและพลอยสีคงไม่รู้สึกหนักใจมากเพราะปกติการส่งออกไปตลาดอเมริกาเหนือก็ไม่มีอากรขาเข้าอยู่แล้ว (แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่หากเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองอาจไม่รู้สึกหนักใจกับ TPP มากเนื่องจากอันดับการนำเข้าของสหรัฐฯ จากประเทศ TPP ยังมีไม่มาก (คู่แข่งตัวจริงของไทย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย และยุโรป) ขณะที่เครื่องประดับเทียม อันดับการนำเข้าของเวียดนามกับไทยไม่หนีกันมากนัก ผู้ประกอบการไทยต้องปรับกลยุทธ์การตลาด การผลิต และการค้าระหว่างใหม่บ้าง เนื่องจากการส่งออกจากไทยจะเสียเปรียบด้านต้นทุนค่าภาษีเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ส่งออกจากประเทศสมาชิก TPP ที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่จะเกิดความได้เปรียบด้านราคามากกว่าไทยอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญน่าจะอยู่ที่การสร้างแบรนด์ ขยันออกงานแฟร์ การออกแบบและเลือกใช้วัสดุการผลิตให้ถูกใจลูกค้า และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น เอาเป็นว่าเป็น Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จนอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที