GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 15 ก.ย. 2016 07.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2918 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอ "เจาะตลาดเครื่องประดับเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


เจาะตลาดเครื่องประดับเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน

 
ด้วยไทยมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และมาเลเซีย (CLMM) จึงทำให้บริเวณชายแดนเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันบริเวณชายแดนมีความคึกคักมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูง เส้นทางคมนาคมที่พัฒนาจนทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กัน ตลอดจนการขนส่งสินค้าระหว่างกันมีความสะดวกมากขึ้น หลากหลายกิจการต่างเห็นโอกาสและได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในบริเวณชายแดนเป็นจำนวนมาก ผลักดันให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ขยับสูงขึ้นหลายเท่าตัว เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นของทั้งสองฝั่งประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาการค้าของไทยชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก แต่การค้าชายแดนกลับมีอัตราเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้ต่อไป 
 
เมื่อพิจารณาการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวข้างต้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของการค้าทั้งหมดระหว่างไทยกับทั้งสี่ประเทศ และจากสถิติกรมการค้าต่างประเทศในปี 2558 พบว่า การค้าชายแดนของไทยกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และมาเลเซีย มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งไทยได้ดุลการค้า 174,970.30 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่าสูงที่สุด รองลงมาเป็นเมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ
 
 
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไปมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่นำไปแปรรูปเป็นสินค้าเพื่ออุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ส่วนเมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่วนมากเป็นการซื้อใส่ติดตัวกลับออกไป จึงไม่ปรากฏสถิติส่งออกบริเวณด่านชายแดน
 
นอกจากชายแดนจะมีความสำคัญในการเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังเป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและชอปปิงสินค้าในจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองหน้าด่านของไทย เนื่องจากการเดินทางสะดวก มีสถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารให้เลือกหลากหลาย รวมถึงสินค้าคุณภาพดีราคาไม่แพง นอกจากนี้ หลายฝ่ายคาดว่าหลังการเปิดเสรีอาเซียนเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมาจะยิ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น การค้าสินค้าต่างๆ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในเมืองหน้าด่านของไทย ในที่นี้ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับจึงขอนำเสนอสถานการณ์ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมแนะนำกลยุทธ์การสร้างความเติบโตให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยบริเวณชายแดน
 
ชายแดนไทย-มาเลเซีย
 
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองที่มีเขตแดนติดกับมาเลเซียที่อำเภอด่านสะเดา และด่านปาร์ดังเบซาร์ เครื่องประดับที่จำหน่ายในจังหวัดสงขลากว่าร้อยละ 90 เป็นทองรูปพรรณ 96.5% หรือทองเยาวราช มีร้านค้าทองรูปพรรณทั้งอำเภอราว 200 ราย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แถวถนนธรรมนูญวิถี ถนนมนตรี 1 และถนนมนตรี 2 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อยู่ในจังหวัดสงขลา และมาจากจังหวัดใกล้เคียง อาทิ พัทลุง สตูล รวมถึงชาวยะลา นราธิวาส และปัตตานี ที่มักไปเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ในส่วนของทองคำแท่งมีผู้ซื้อบ้างแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก บรรยากาศการค้าทองรูปพรรณในปัจจุบันค่อนข้างซบเซา เนื่องจากลูกค้าส่วนมากเป็นเกษตรกร ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา จึงทำให้กำลังซื้อลดลง ส่วนร้านค้าเครื่องประดับเพชรมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ละร้านจะมีลูกค้าประจำของตนเอง โดยมากเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ และพนักงานออฟฟิศที่ออมเงินมาซื้อเครื่องประดับเพชรเพื่อเก็บสะสมไว้ ทั้งนี้ ทั้งทองรูปพรรณและเครื่องประดับเพชร ส่วนใหญ่นำมาจากโรงงานในกรุงเทพฯ จึงทำให้รูปแบบหรือดีไซน์ของแต่ละร้านไม่แตกต่างกัน
         
สำหรับชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เดินทางข้ามชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อมาเที่ยวพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะมาทานอาหาร ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และซื้อสินค้าเป็นเสื้อผ้าหรือของใช้ ส่วนเครื่องประดับก็มีซื้อบ้าง แต่ส่วนมากจะเป็นลักษณะชายหนุ่มมาเลเซียซื้อทองรูปพรรณให้แฟนสาวชาวไทยที่อยู่ในหาดใหญ่ แต่ไม่นิยมซื้อทองรูปพรรณกลับประเทศ เนื่องจากกะรัตเครื่องประดับทองแตกต่างกัน และชาวมาเลเซียมั่นใจเครื่องประดับทองที่ผลิตในมาเลเซียมากกว่าของไทย อย่างไรก็ดี ชาวพุทธมาเลเซียนิยมมาเลือกซื้อกรอบพระเลี่ยมทอง รวมถึงนักท่องเที่ยวมาเลเซียบางส่วนก็ซื้อเครื่องประดับจากไทยใส่ติดตัวกลับไปบ้าง ส่วนมากจะเป็นเครื่องประดับมีแบรนด์ที่เปิดร้านหรือเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าอย่างเช่นเซ็นทรัล โดยซื้อเครื่องประดับเพชรและเครื่องประดับเงิน ซึ่งในไทยมีราคาถูกกว่าในสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอำเภอหาดใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 คาดประมาณว่าปัจจุบันการค้าเครื่องประดับในอำเภอหาดใหญ่มีมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นชาวมาเลเซียที่ซื้อเครื่องประดับไทยราวร้อยละ 1 หรือคิดเป็นมูลค่า 48 ล้านบาท
 
ชายแดนไทย-เมียนมา
 
นักธุรกิจ และพ่อค้าเร่หรือคนเดินพลอยชาวเมียนมามักข้ามด่านแม่สอด-เมียวดี นำอัญมณีมาจำหน่ายในร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับบริเวณตลาดริมเมย และตลาดพลอยแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ตลาดริมเมย จะเป็นลักษณะการขายอัญมณีและเครื่องประดับในราคาย่อมเยาให้กับนักท่องเที่ยว ขณะที่ตลาดพลอยแม่สอด จะมีสินค้าพลอยสีและหยกหลากหลายราคาจำหน่ายตามคุณภาพ ลูกค้ามีทั้งชาวไทยและชาวยุโรป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดทั้งสองแห่งค่อนข้างซบเซา
 
ส่วนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองหน้าด่านที่มีอัญมณีจากเมียนมาไหลเข้ามาจากด่านท่าขี้เหล็ก โดยอัญมณีเกรดดีจะถูกส่งไปจำหน่ายในร้านค้าเครื่องประดับที่อยู่ใกล้บริเวณชายแดนและในตัวเมืองแม่สาย ขณะที่ตลาดติดชายแดนจะจำหน่ายอัญมณีเมียนมาคุณภาพต่ำ บรรยากาศการค้าบริเวณชายแดนและร้านค้าเครื่องประดับต่างๆ ในอำเภอแม่สายไม่ค่อยคึกคัก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังไม่ดีนัก จึงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในอำเภอแม่สายที่ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง
 
แม้ว่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีทั้งในอำเภอแม่สายและอำเภอแม่สอดค่อนข้างซบเซาลงมาก แต่ตลาดทองรูปพรรณ 96.5% และเครื่องประดับเพชรยังมีกำลังซื้อจากลูกค้าชาวไทยและชาวเมียนมาพอสมควร โดยชาวเมียนมาทั่วไปที่เดินทางเข้ามาทำงานในฝั่งไทยมักจะซื้อทองรูปพรรณของไทยกลับไป สังเกตได้ว่าร้านทองรูปพรรณไทยบริเวณชายแดนจะมีภาษาเมียนมาติดที่ป้ายหน้าร้าน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการทองรูปพรรณไทยของชาวเมียนมา ส่วนนักธุรกิจและเศรษฐีชาวเมียนมา เมื่อเข้ามาติดต่อธุรกิจหรือมาเที่ยวในฝั่งไทยก็มักจะซื้อเครื่องประดับเพชรของไทยใส่ติดตัวกลับไป เนื่องจากชื่นชอบในคุณภาพ และดีไซน์ที่สวยงาม ทันสมัย ทั้งนี้ จากรายงานวิจัย “การศึกษาโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในพื้นที่การค้าชายแดน” ของ ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา และคณะ ปี 2557 ระบุว่า การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอำเภอแม่สายและแม่สอดมีมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าชาวเมียนมาซื้อทองรูปพรรณ รวมถึงเครื่องประดับทองตกแต่งเพชรและทับทิมในฝั่งไทยปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
 
ชายแดนไทย-ลาว
       
จังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี ถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในอีสานตอนบน โดยชาวลาวจะข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว มาเที่ยวในจังหวัดหนองคายและอุดรธานี ซึ่งอยู่ห่างจากหนองคายเพียง 50 กิโลเมตร ตลาดค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัดหนองคายมีขนาดเล็กและไม่ค่อยคึกคักมากนัก เนื่องจากลูกค้าที่มีฐานะดีหรือร่ำรวยมักเดินทางไปซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในกรุงเทพฯ และจังหวัดอุดรธานี ส่วนตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในตัวเมืองอุดรธานีมีขนาดค่อนข้างใหญ่และคึกคัก ลูกค้ามีทั้งชาวอุดร ชาวลาวและชาวไทยในจังหวัดใกล้เคียง ร้านค้าทองรูปพรรณ 96.5% และเครื่องประดับเพชรที่ได้รับความนิยมตั้งอยู่บริเวณย่านวงเวียนน้ำพุ โดยลูกค้าชาวอุดรนิยมซื้อทองรูปพรรณ ส่วนผู้มีฐานะดีมักซื้อเครื่องประดับทองขาวตกแต่งด้วยเพชร ชาวลาวที่มีฐานะร่ำรวยและชาวต่างชาติในลาวส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมตามเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะเครื่องประดับทองขาวและทองสีเหลืองตกแต่งด้วยเพชรเป็นเซตขนาดใหญ่ครบชุดทั้งต่างหู สร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ทั้งนี้ จากรายงานวิจัย “การศึกษาโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในพื้นที่การค้าชายแดน” โดย ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา และคณะ ปี 2557 ระบุไว้ว่า การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัดอุดรธานีคาดว่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยชาวลาวข้ามมาซื้อทองรูปพรรณ และเครื่องประดับเพชรของไทยราวปีละประมาณ 700 ล้านบาท
 
ส่วนอีสานตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองหน้าด่านที่ชาวลาวเดินทางผ่านทางช่องเม็ก (อำเภอสิริธร) เข้ามาในตัวเมืองจังหวัด โดยร้านค้าเครื่องประดับส่วนมากตั้งอยู่ย่านตลาดเก่า เน้นจำหน่ายทองรูปพรรณ 96.5% มีร้านเครื่องประดับเพชรไม่กี่ร้าน ซึ่งปัจจุบันตลาดซบเซามาก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่มักจะนำทองคำมาขายฝาก และนำทองคำมาขายให้กับร้านในช่วงราคาทองคำขึ้น แม้ว่าในช่วงราคาทองคำลงก็ไม่ค่อยมีคนมาซื้อทองรูปพรรณมากนัก ส่วนเครื่องประดับเพชร ยังพอมีลูกค้าซึ่งเป็นลูกค้าประจำและเจ้าของร้านจะต้องจัดโปรโมชั่นลดราคาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 รวมถึงการหารูปแบบดีไซน์สินค้าใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่พอมีกำลังซื้อให้มาซื้อสินค้าที่ร้าน ส่วนร้านทองรูปพรรณย่านห้างบิ๊กซีซึ่งตั้งอยู่ในซอยธรรมวิถี 4 (อำเภอเมือง) คึกคักพอสมควร มีลูกค้าเข้าออกร้านตลอดเวลา สำหรับลูกค้าชาวลาวส่วนใหญ่จะซื้อเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเพชรที่เป็นแบรนด์เนมตามเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งปัจจุบันก็ลดจำนวนลงไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอำเภอเมืองหลายรายพบว่า มียอดขายต่อเดือนลดลงมาก ในแต่ละเดือนมีลูกค้าเข้าร้านประมาณ 10 – 20 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาเปลี่ยนแบบสินค้า มีจำนวนน้อยรายมากที่จะซื้อสินค้าใหม่ จึงทำให้ยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนเหลือไม่เกินหนึ่งแสนบาท ฉะนั้น คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันบันน่าจะอยู่ที่หลักร้อยล้านบาทต่อปี
 
ชายแดนไทย-กัมพูชา
 
อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่ติดอยู่กับชายแดนกัมพูชา และเป็นเส้นทางที่มีการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชามากที่สุด บริเวณชายแดนมีตลาดโรงเกลือซึ่งจำหน่ายสินค้าหลากชนิดทั้งเสื้อผ้า สินค้าแบรนด์เนมมือสอง สินค้าเลียนแบบ รวมถึงเครื่องประดับเทียม เครื่องประดับเงิน ซึ่งเน้นจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวตลาดโรงเกลือ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักท่องเที่ยวลดจำนวนลงกว่าครึ่งหนึ่ง หลังจากทางการได้กวาดล้างร้านค้าสินค้าเลียนแบบ ทำให้การค้าบริเวณนี้ซบเซาลงมาก บริเวณไม่ไกลจากชายแดนมีร้านทองรูปพรรณหลายสิบรายตั้งอยู่ โดยทองรูปพรรณ 96.5% นำมาจากโรงงานในกรุงเทพฯ บรรยากาศการค้าค่อนข้างดี มีลูกค้าทั้งคนในพื้นที่และชาวกัมพูชาที่ข้ามมาทำงานหรือมาท่องเที่ยวในฝั่งไทยซื้อทองรูปพรรณใส่ติดตัวกลับไป เนื่องจากสินค้าไทยมีรูปแบบดีไซน์ให้เลือกหลากหลาย ส่วนร้านเครื่องประดับเพชรมีไม่กี่ราย ปกติชาวจังหวัดสระแก้วฐานะดีนิยมเดินทางเข้ามาซื้อเครื่องประดับในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ จากรายงานวิจัย “การศึกษาโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในพื้นที่การค้าชายแดน” ของ ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา และคณะ ปี 2557 ระบุว่า การค้าอัญมณีและเครื่องประดับบริเวณชายแดนนี้มีมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี
 
กลยุทธ์เพิ่มยอดขายเครื่องประดับในเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-CLMM
 
 
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว ไทยจะหวังพึ่งพาเฉพาะการส่งออกไปยังคู่ค้าหลักอย่างเดิมคงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรหันมาให้ความสำคัญในการทำตลาดอาเซียนและเน้นทำตลาดบริเวณชายแดนมากขึ้น ซึ่งเครื่องประดับไทยยังมีโอกาสเติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา สำหรับกลยุทธ์เพิ่มยอดขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคจาก CLMM มีดังนี้
 
เน้นตลาดเชิงรุก เจาะตลาดผู้มีกำลังซื้อ หากไม่นับรวมมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง โดยในปี 2558 ชาวมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวราว 10,876 เหรียญสหรัฐต่อปี และมีศักยภาพในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยแล้ว ประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา นับเป็นตลาดที่ผู้มีกำลังซื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น แม้ว่าจะยังมีรายได้ต่อหัวไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (เฉลี่ยร้อยละ 6-8 ต่อปี) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นตลาดสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเจาะเข้าไปให้ถึง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในเมืองหลวงและหัวเมืองสำคัญที่อยู่ติดกับชายแดนไทย อย่างเช่นผู้บริโภคในกรุงเวียงจันทน์ของลาวซึ่งอยู่ติดชายแดนไทยบริเวณจังหวัดหนองคายมีผู้มีกำลังซื้อสูงอยู่ราวร้อยละ 20 หรือราวหนึ่งแสนคน เป็นต้น โดยจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดจากเดิมที่เป็นเชิงรับรอลูกค้าจากประเทศเหล่านี้เดินทางมาซื้อสินค้าในไทย เป็นการทำตลาดเชิงรุกด้วยการหาตัวแทนจำหน่ายที่ไว้ใจได้ หรือหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ดี ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการในประเทศเหล่านี้เพื่อที่จะได้นำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้โดยตรงมากขึ้น
 
รู้พฤติกรรมผู้บริโภคมีชัยไปกว่าครึ่ง ทองรูปพรรณทั้ง 96.5% และ 99.99% รวมถึงเครื่องประดับเพชรมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดศักยภาพนี้ ผู้ประกอบการจะต้องทำความรู้จักและเข้าใจผู้บริโภค โดยการศึกษาถึงรสนิยม และความชอบ เพื่อจะได้พัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาด ตัวอย่างเช่นชาวลาวจะชอบทองรูปพรรณลายดอกไม้ และลายฉลุที่มีความสวยงามเหมือนทองสุโขทัยแบบครบชุดที่ประกอบด้วยสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ เป็นต้น รวมถึงกระเป๋าถือที่ทำจากทองล้วน ส่วนเครื่องประดับเพชรก็ควรเป็นแบบที่สวยงามทันสมัย และประณีต
         
เร่งสร้างแบรนด์ เพิ่มยอดขายได้ไม่ยาก เนื่องจากชาวกัมพูชา ลาว เมียนมา และมาเลเซีย มีแนวโน้มซื้อสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรเร่งสร้างแบรนด์สินค้า ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญในยุคเออีซีที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง สินค้ามีให้เลือกหลากหลาย การสร้างแบรนด์จะทำให้สินค้าแตกต่างจากคู่แข่งและเป็นที่รู้จักอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การจะสร้างแบรนด์ให้สำเร็จได้นั้น จะต้องวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะตลาดอย่างชัดเจน กำหนดกลุ่มลูกค้าว่าจะเป็นกลุ่มไหน และลูกค้าเป้าหมายในประเทศที่เลือกทำตลาดต้องการสินค้าอะไร อีกทั้งควรเรียนรู้วัฒนธรมของประเทศนั้นๆ ด้วย เพื่อจะได้ผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการโดยไม่ขัดกับวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคชายแดนไทยยังชื่นชอบสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าราวร้อยละ 20-50 ในบางช่วงเวลาหรือเทศกาลต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้ามากขึ้น
         
เร่งประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาว่าประเทศไหนเหมาะกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์รูปแบบใด เช่น กัมพูชา สื่อทางโทรทัศน์และดาราดังมีผลต่อการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมาก ผู้ประกอบการจึงควรโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์โดยใช้ดาราดังเป็นแบบ และการจัดโชว์ตัวดาราสวมใส่เครื่องประดับในงานอีเวนต์ตามห้างสรรพสินค้าในเมืองหน้าด่าน ซึ่งจะช่วยให้ชาวกัมพูชาตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยดาราดังของไทยหลายคนได้รับความนิยมในกัมพูชา อาทิ อั้ม พัชราภา และเวียร์ ศุกลวัฒน์ เป็นต้น และสามารถนำวิธีนี้ไปใช้กับเมียนมาและลาวได้ด้วยเช่นกัน เพราะทั้งชาวลาวและชาวเมียนมาบริเวณชายแดนส่วนใหญ่รับชมรายการโทรทัศน์ของไทยและชื่นชอบดาราไทยเฉกเช่นเดียวกับชาวกัมพูชา ส่วนชาวมาเลเซียไม่นิยมดูรายการโทรทัศน์ไทยและไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะดารา โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเป็นหลัก จึงชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนม การทำตลาดในมาเลเซียจึงควรเน้นขายสินค้ามีแบรนด์ หรือสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน
         
โดยสรุปคือ ผู้ผลิตไทยจะต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และออกแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงสร้างแบรนด์และประชาสัมพันธ์สินค้าให้ผู้บริโภคจดจำและยอมรับ อย่างไรก็ดี การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยบริษัทเอกชนเพียงลำพังนั้นยากที่จะทำให้สำเร็จได้ อีกทั้งยังต้องใช้เวลารวมถึงงบประมาณค่อนข้างมากที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับ ซึ่งธุรกิจไทยส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและเล็กไม่มีงบประมาณมากพอที่จะทำโฆษณาในระยะยาวได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคเอกชนในภาพรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการช่วยประชาสัมพันธ์มาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดอาเซียน ซึ่งตลาดค้าอัญมณีและเครื่องประดับเมืองหน้าด่านติดชายแดนก็จะได้รับอานิสงส์นี้ด้วยอย่างแน่นอน
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที