GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 ก.พ. 2017 04.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1702 ครั้ง

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับของเวียดนามมีการดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายได้เข้ามาลงทุนทำการผลิตแบบโรงงานขนาดใหญ่ มีการทำตลาดทั้งในประเทศและเริ่มรุกตลาดส่งออกมากขึ้น แม้ปัจจุบันเวียดนามจะยังมีมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับไปยังต่างประเทศไม่มากนัก แต่จากการเร่งพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าให้ก้าวไปสู่ระดับสากลมากขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับของเวียดนามสามารถยกระดับขึ้นไปได้อีกขั้น และมีแนวโน้มที่เครื่องประดับเวียดนามจะเข้ามารุกตลาดส่งออกเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดโลกได้ในระยะอันใกล้นี้ ติดตามบทความ "ก้าวย่างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับเวียดนามในรอบทศวรรษ" ได้ที่ https://goo.gl/HIyixj หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ก้าวย่างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับเวียดนามในรอบทศวรรษ

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับของเวียดนามมีการดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายได้เข้ามาลงทุนทำการผลิตแบบโรงงานขนาดใหญ่ มีการทำตลาดทั้งในประเทศและเริ่มรุกตลาดส่งออกมากขึ้น แม้ปัจจุบันเวียดนามจะยังมีมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับไปยังต่างประเทศไม่มากนัก แต่จากการเร่งพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าให้ก้าวไปสู่ระดับสากลมากขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับของเวียดนามสามารถยกระดับขึ้นไปได้อีกขั้น และมีแนวโน้มที่เครื่องประดับเวียดนามจะเข้ามารุกตลาดส่งออกเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดโลกได้ในระยะอันใกล้นี้
 
การผลิตมีพัฒนาการต่อเนื่อง... แต่ติดอุปสรรคสำคัญจากการแทรกแซงของภาครัฐ
 
การผลิตเครื่องประดับของผู้ประกอบการท้องถิ่นเวียดนามนั้น แต่เดิมมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งดำเนินธุรกิจครอบครัวขนาดย่อม ทำการผลิตเครื่องประดับทองและเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคภายในท้องถิ่นของตน รูปแบบของเครื่องประดับมีทั้งแบบธรรมดาเรียบง่าย ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวเวียดนามที่มีวัตถุประสงค์ในการออมและเก็งกำไร เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้จะไม่ให้ความสำคัญกับดีไซน์มากนัก
 
อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องประดับลวดลายดั้งเดิมในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น อาทิ ลายดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกทานตะวัน ใบไม้ ผลไม้ และอาจประดับด้วยพลอยสีเม็ดใหญ่ สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่มีขนาดปานกลางถึงเล็ก ลวดลายบนตัวเรือนไม่มีความประณีตอ่อนช้อยเท่าใดนัก
 
ต่อมาผู้ประกอบการหลายรายเริ่มพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีรูปแบบทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ได้รับวัฒนธรรมการแต่งกายตามสไตล์ตะวันตก และมีกระแสความนิยมสินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศมากขึ้น หากแต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สินค้ามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอหรือต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงยังขาดความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ และไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรเริ่มมีระดับรายได้สูงขึ้น และมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งปริมาณการบริโภคเครื่องประดับของชาวเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ในเวลาต่อมามีผู้ประกอบการรายใหญ่มองเห็นช่องทางการตลาดและเข้ามาทุ่มทุนก้อนใหญ่ลงทุนในด้านการผลิตด้วยการตั้งโรงงานผลิตในระดับอุตสาหกรรม จนสามารถสร้างความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาดในการผลิต บางรายก่อตั้งกิจการร่วมทุน (Joint venture) กับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับต่างชาติ ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า บางรายดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งการทำเหมืองพลอยสี การเจียระไนพลอย การผลิตเครื่องประดับ ไปจนถึงการค้าในประเทศและส่งออก อีกทั้งยังมีการออกแบบและผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเอง ทำให้สินค้าเป็นที่จดจำและเกิดความภักดีในแบรนด์ขึ้นในหมู่ผู้บริโภคได้ ตลอดจนมีกลยุทธ์ขยายตลาดเพื่อให้สินค้ากระจายครอบคลุมไปทั่วทุกจังหวัด ด้วยการปูพรมขยายสาขาร้านค้าปลีกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเวียดนามได้ในสัดส่วนสูงมาจนถึงปัจจุบันได้แก่ Doji Gold and Gems Group และ Phu Nhuan Jewelry Joint-Stock Company (PNJ) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน รวมทั้ง Saigon Jewelry Company Limited (SJC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทองคำแท่งและเครื่องประดับ ปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีสิทธิผูกขาดในธุรกิจทองคำแท่งในเวียดนาม
 
ในส่วนของปริมาณการผลิตเครื่องประดับในเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จากข้อมูลของ GFMS Limited แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการผลิตเครื่องประดับทองช่วงปี 2549-2558 ค่อนข้างผันผวน โดยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ปริมาณการผลิตเครื่องประดับทองของเวียดนามลดลงอย่างชัดเจน ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเวียดนามตามภาวะเศรษฐกิจโลก กอรปกับราคาทองคำในตลาดโลกที่ผันผวนในระดับสูง ส่งผลต่ออุปสงค์เครื่องประดับทองในประเทศ และทำให้ผู้ผลิตต่างปรับลดกำลังการผลิตลงตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ความต้องการทองคำแท่งในหมู่ชาวเวียดนามกลับเพิ่มขึ้นมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาวะเงินด่องอ่อนค่าและเพื่อเก็งกำไรในเวลาที่ราคาทองอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจากกระแสการแห่กักตุนทองคำแท่งจนทำให้มีการนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นมากนี้ เมื่อประกอบกับค่านิยมของชาวเวียดนามที่สะสมทองคำไว้ที่บ้านมากกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคาร ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของเวียดนามอย่างมาก ดังนั้น ในปี 2555 รัฐบาลจึงได้ออกบทบัญญัติ Decree 24/2012/ND-CP ว่าด้วยการควบคุมการผลิตทองคำแท่ง การนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบทองคำ ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราการผลิตและซื้อขายเครื่องประดับทองและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทอง กฎระเบียบดังกล่าวได้เพิ่มข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิตเครื่องประดับทองในเวียดนาม และยังทำให้อำนาจต่อรองด้านต้นทุนการผลิตต่ำลงอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องประดับทองเวียดนามรายย่อยทยอยเลิกกิจการไปอย่างต่อเนื่อง1
 
ต่อมา ในปี 2556 ปริมาณการผลิตเครื่องประดับทองของเวียดนามเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2558 ผลจากราคาทองคำที่เริ่มปรับตัวลดลง กระตุ้นความต้องการซื้อเครื่องประดับทองในหมู่ชาวเวียดนามให้กลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคเวียดนามยังเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่นิยมซื้อทองคำแท่งเพื่อเก็บสะสมความมั่งคั่ง ก็เริ่มหันมานิยมซื้อในรูปของทองรูปพรรณกันมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ World Gold Council ที่ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในตลาดเวียดนามลดลงร้อยละ 33.5 ในปี 2557 และร้อยละ 15.3 ในปี 2558 ตามลำดับ ขณะที่ความต้องการเครื่องประดับทองเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในปี 2557 และร้อยละ 23.1 ในปี 2558 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการผลิตเครื่องประดับทองของเวียดนามตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมายังมีปริมาณไม่มากเท่ากับช่วงก่อนหน้าที่เคยอยู่ในระดับ 20-25 ตัน อันเป็นผลจากการเข้ามาควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบทองเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวดของภาครัฐ ภายใต้ Decree 24/2012/ND-CP ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องประดับทองเวียดนามต้องขอใบอนุญาตและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบทองจาก State Bank of Vietnam นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจของผู้ผลิตเครื่องประดับทองเวียดนามในปัจจุบัน
 
ด้านการผลิตเครื่องประดับเงินของเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการซื้อของผู้บริโภคชาวเวียดนาม อีกทั้งได้รับปัจจัยหนุนจากราคาทองคำที่ทรงตัวในระดับสูง เครื่องประดับเงินซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าจึงตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความไม่แน่นอน 
 
มูลค่าการส่งออกยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน
 
เวียดนามส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณี โลหะมีค่าและส่วนประกอบ2 เป็นมูลค่าราวปีละ 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐ ยกเว้นในปี 2552-2554 ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ขยายตัวสูงขึ้นมาก อันเป็นผลจากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นผลักดันให้มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับทองเพิ่มสูงขึ้นตาม ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณี โลหะมีค่าและส่วนประกอบของเวียดนามยังมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น เช่น ไทยและสิงคโปร์ เนื่องจากผู้ประกอบการท้องถิ่นเน้นการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้สัดส่วนการผลิตเพื่อการส่งออกยังมีไม่มาก ผนวกกับผู้ประกอบการเวียดนามเผชิญอุปสรรคในการส่งออกหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งมาตรการควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบทองของภาครัฐที่ทำให้ผู้ผลิตมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ซึ่งยังมีผลผลักดันให้ราคาทองในตลาดเวียดนามสูงกว่าตลาดโลก รวมถึงการที่ภาครัฐจัดเก็บภาษีส่งออกสูงถึงร้อยละ 10
 
สำหรับตลาดส่งออกอัญมณี โลหะมีค่าและส่วนประกอบที่สำคัญของเวียดนาม 2 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 74 โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ สินค้าที่เวียดนามส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องประดับทอง และเครื่องทอง เครื่องเงิน และส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ มีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เพชรเจียระไน ซึ่งเป็นการส่งออกจากผู้ประกอบการของสหรัฐฯ ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม เช่น Tiffany&Co. รองลงมา คือ เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับทอง (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโรงงานของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยเข้าไปยังเวียดนาม) ส่วนตลาดส่งออกในอันดับรองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเบลเยียม ในสัดส่วนร้อยละ 6, 5 และ 4 ตามลำดับ ขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 12 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.3
 
อนาคตสดใส...จากหลากหลายความได้เปรียบ 
           
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องประดับเวียดนามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใหญ่เป็นหลัก อีกทั้งผู้ประกอบการเหล่านี้ยังมีความต้องการที่จะก้าวไปสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเครื่องประดับเวียดนามเข้ามารุกตลาดส่งออกเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใหญ่ๆ อย่างฮ่องกงแฟร์ โดยนำเสนอรูปแบบสินค้าที่สวยงามและสื่อถึงเอกลักษณ์ของประเทศเวียดนาม เช่น เครื่องประดับลวดลายดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติเวียดนาม ตลอดจนการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้เครื่องประดับเวียดนามเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งยังสามารถเข้ามาครองพื้นที่ในตลาดโลกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเวียดนามยังเร่งเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิต ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยจากประเทศชั้นนำ เช่น อิตาลีและเยอรมนี ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และทำให้สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพทัดเทียมกับเครื่องประดับนำเข้าจากต่างประเทศ อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามจะยังไม่สามารถแข่งขันในระดับสินค้าคุณภาพสูงได้เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นๆ รวมถึงไทย แต่จากการที่ผู้ประกอบการเวียดนามเริ่มเข้ามารุกตลาดโลกอย่างจริงจัง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบและคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ตลาดโลกได้ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรนิ่งนอนใจและจำเป็นต้องตั้งรับปรับตัวให้พร้อมกับการเข้ามาแข่งขันของเครื่องประดับเวียดนามในตลาดโลก ด้วยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจตนเองอยู่เสมอ พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตนเองรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้กับสินค้าตนเอง อันจะทำให้เครื่องประดับของไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้
 
นอกจากนี้ จากความได้เปรียบหลากหลายประการของเวียดนาม อาทิ การมีวัตถุดิบพลอยสีหลายชนิดกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพลอยเนื้ออ่อนซึ่งมีคุณภาพยอมรับได้และมีระดับราคาไม่สูงนัก การมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงต่ำ รัฐบาลมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงกฏหมายการลงทุนให้เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ประกอบกับเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP จากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับไปยังประเทศดังกล่าวเหลือร้อยละ 0 อีกทั้งเวียดนามยังมีแนวโน้มที่จะเปิดเสรีการค้ากับกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวต่ำลง อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP กับประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจา) ดังนั้น เวียดนามจึงจัดเป็นแหล่งลงทุนแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการเครื่องประดับไทยควรแสวงหาโอกาสในการเข้าไปขยายการลงทุน เพื่อทำการผลิตและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานช่างเจียระไนและช่างผลิตเครื่องประดับ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของการร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือการเข้าไปตั้งโรงงานโดยตรงในเขต Special Economic Zone หรือ Industrial Zone อันจะก่อให้เกิดรายได้จากการส่งออกและนำเงินกลับเข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเวียดนามยังเป็นตลาดศักยภาพที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยจำนวนชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เวียดนามเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดีและมีศักยภาพสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจหาช่องทางเข้าไปเจาะตลาดเวียดนาม เพื่อเป็นการกระจายฐานลูกค้าและเพิ่มการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ในระยะยาว
 
---------------------------------------------------
1 ผู้ผลิตต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม รัฐบาลอนุญาตให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบทองเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องประดับเท่านั้น และต้องส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยผู้ประกอบการต่างชาติต้องขอใบรับรองการลงทุนและหนังสือรับรองการจดทะเบียนธุรกิจจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบุธุรกิจซื้อขายเครื่องประดับทอง แล้วจึงส่งเอกสารทั้งชุดเพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจและใบรับรองจาก State Bank of Vietnam
 
2 ตามคำนิยามของกรมศุลกากรเวียดนามที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลสถิติการส่งออกของเวียดนาม

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที