GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 ก.พ. 2017 04.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1398 ครั้ง

แต่เดิมไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 21.7 ในปี 2007 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 844 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนั้นอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องประดับเงินในอับดับที่ 8 ด้วยมูลค่าการส่งออกเพียง 95 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2015 อินเดียกลายเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกถึง 2,612 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 30 ขณะที่ไทยเหลือส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 17.1 และมีแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่อินเดียอย่างต่อเนื่อง ติดตามบทความ "ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินในอินเดีย" ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/ZQhYmL หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินในอินเดีย

แต่เดิมไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 21.7 ในปี 2007 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 844 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนั้นอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องประดับเงินในอับดับที่ 8 ด้วยมูลค่าการส่งออกเพียง 95 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2015 อินเดียกลายเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกถึง 2,612 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 30 ขณะที่ไทยเหลือส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 17.1 และมีแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่อินเดียอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกเครื่องประดับเงินเปรียบเทียบระหว่างไทยและอินเดียในตารางข้างล่างนี้ 

  
ปัจจุบันอินเดียส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมูลค่าการส่งออกแซงไทยไปตั้งแต่ปี 2014 อย่างไรก็ตาม การที่ไทยส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังตลาดโลกในอันดับต้นๆ นั้นเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยซึ่งครอบครองยอดการส่งออกสูงถึงครึ่งหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีบริษัทต่างชาติดังกล่าวมาตั้งฐานการผลิตแล้ว ไทยจะไม่ใช่คู่แข่งในการส่งออกเครื่องประดับเงินของอินเดียเลย
 
ตลาดส่งออกเครื่องประดับเงินของอินเดีย
 
ปัจจุบันฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของอินเดีย (แทนที่สหรัฐอเมริกา) ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 57 คิดเป็นมูลค่าถึง 1,515.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 598.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐอเมริกา 435.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ฮ่องกงเคยเป็นผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินรายใหญ่จากจีนโดยในปี 2010 คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 66.7 แต่ปัจจุบันฮ่องกงหันไปนำเข้าเครื่องประดับเงินจากอินเดียแทน โดยตัวเลขในเดือนกันยายน 2016 ปรากฏสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 77.7
 
ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกเครื่องประดับเงินของอินเดีย 
 
แม้ในระยะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองของอินเดียจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงจากข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึงวัตถุดิบทองคำ แต่ในทางตรงข้ามการส่งออกเครื่องประดับเงินของอินเดียนั้นกลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 56 ต่อปี โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการอินเดียเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทต่างชาติหลายแห่ง เช่น Frederick Goldman และ Sandberg & Sikorski ในสหรัฐอเมริกา ทำให้อินเดียได้เปรียบในด้านช่องทางการตลาด รวมทั้งอินเดียยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในการส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดของโลก* และที่สำคัญมากก็คือ การที่หน่วยงานหลักด้านอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียอย่าง Gem and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) มักนำบริษัทชั้นนำครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 ราย ไปออกบูธจัดแสดงสินค้าภายใต้ India Pavilion ในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรายการสำคัญของโลกอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอินเดียยังได้ผ่อนปรนกฎระเบียบให้นักธุรกิจกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับสามารถนำสินค้าติดตัวเข้าไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติหรือเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมอนุญาตให้ไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
นอกจากนี้ ในด้านการเงินก็ยังได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากธนาคารพาณิชย์ 50 แห่งที่ให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเป็นจำนวนเงินราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับ 1 ขณะที่ในด้านภาคเอกชนเอง (ผู้ผลิตเครื่องประดับเงินรายใหญ่ในมุมไบ โกลกาตา เดลลี และสุรัต) ก็ไม่ละเลยที่จะช่วยเหลือตนเองด้วยการลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากในเทคโนโลยีการผลิต ทำให้สามารถผลิตได้คราวละจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตยิ่งลดลง (Economy of Scale) ทั้งนี้ จากข้อมูลของ GJEPC รายงานไว้ว่า ต้นทุนการผลิตเครื่องประดับเงินของอินเดียคิดเป็นเพียงร้อยละ 40 ซึ่งยิ่งทำให้อินเดียมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
 
---------------------------------------------------
 
*บางส่วนจากบทสัมภาษณ์คุณวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทยเรื่อง “ผ่าทางตัน...อนาคตเครื่องประดับเงินในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” เมื่อเดือนสิงหาคม 2559
 
 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที