GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 13 มี.ค. 2017 07.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1818 ครั้ง

ทับทิมได้รับการยกย่องจากสีสันอันลึกลับและเสน่ห์อันเลอค่า สีแดงเพลิงของทับทิมมักสื่อถึงอารมณ์รุนแรง เช่น ความรักและความลุ่มหลง หรือแม้กระทั่งสื่อถึงชีวิต ทำให้อัญมณีชนิดนี้ได้รับการขนานนามมากมาย ชื่อที่เรียกกันมานานที่สุดคือ “ราชาแห่งอัญมณี” หรือ “รัตนราช” ในภาษาสันสกฤต ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/oG9HJN หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


แวดวงอัญมณีเห็นโอกาสหลังสหรัฐยกเลิกการแบนทับทิมเมียนมา

ทับทิมได้รับการยกย่องจากสีสันอันลึกลับและเสน่ห์อันเลอค่า สีแดงเพลิงของทับทิมมักสื่อถึงอารมณ์รุนแรง เช่น ความรักและความลุ่มหลง หรือแม้กระทั่งสื่อถึงชีวิต ทำให้อัญมณีชนิดนี้ได้รับการขนานนามมากมาย ชื่อที่เรียกกันมานานที่สุดคือ “ราชาแห่งอัญมณี” หรือ “รัตนราช” ในภาษาสันสกฤต

Burmese rubies from Veerasak Gems Co., Ltd.

ทับทิมที่มีต้นกำเนิดจากเมียนมาได้รับการยกย่องว่ามีมูลค่าสูงและงดงามที่สุด ดังจะเห็นได้จากเครื่องประดับทับทิมที่ทำราคาสูงในงานประมูลทั่วโลก ดังเช่นในเดือนพฤษภาคม 2015 Sotheby’s ได้จัดประมูลทับทิมเมียนมา “Sunrise Ruby” ขนาด 25.59 กะรัต โดยมีราคาประมูลสุดท้ายอยู่ที่ 30.3 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นราคาสูงสุดเท่าที่เคยมีการประมูลทับทิมมา
 
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2015 Christie’s ได้จัดประมูลทับทิมเมียนมา “Crimson Flame” ขนาด 15.04 กะรัต ซึ่งขายได้ที่ราคา 18 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทับทิมเมียนมา “Ratnaraj” ขนาด 10.05 กะรัตก็ขายได้ที่ราคา 10 ล้านเหรียญสหรัฐในงานประมูล Hong Kong Magnificent Jewels ประจำฤดูใบไม้ร่วงของ Christie’s นับเป็นทับทิมซึ่งมีราคาต่อกะรัตสูงเป็นอันดับสามที่ 1.02 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกะรัต
 
การที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดในการซื้อขายทับทิมและหยกจากเมียนมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2016 น่าจะช่วยผลักดันความต้องการทับทิมเมียนมาจากทั่วโลก ตามความเห็นจากผู้ค้าอัญมณีหลายรายที่ให้สัมภาษณ์กับ JNA
 
การตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นการยุติมาตรการการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย Tom Lantos Block Burmese JADE (Junta’s Anti-Demotratic Efforts) Act เมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นกฎหมายของสหรัฐที่ห้ามไม่ให้อัญมณีจากเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิมและหยกเข้ามาในสหรัฐ
 
ผู้จัดหาทับทิมหลายรายระบุว่าตนได้รับการสอบถามจากลูกค้าสหรัฐหลังจากข้อห้ามดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป ทว่าความท้าทายอยู่ที่ปริมาณทับทิมจากเมียนมา ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่แน่นอนและสร้างแรงกดดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
 
ทับทิมเมียนมา: ความหายากและความงาม
 
ธัญญา ตรีโรจน์อนันต์ รองประธานบริษัท Veerasak Gems Co., Ltd. ในประเทศไทย กล่าวว่า ทับทิมเมียนมามีชื่อเสียงในแง่การเป็นทับทิมที่ “หายากที่สุด งดงามที่สุด และมีราคาสูงที่สุดในบรรดาทับทิมทั้งหมด” จึงทำให้ทับทิมเมียนมาเป็นพลอยสีที่ผู้คนต่างพากันเสาะหา
 
ธัญญากล่าวเสริมว่าการที่สหรัฐห้ามการนำเข้าทับทิมเมียนมาในปี 2008 ไม่เพียงขัดขวางการค้าทับทิมเมียนมา และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการทำเหมืองในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ค้าทับทิมเมียนมาในสหรัฐต้องหาทับทิมจากแหล่งอื่นมาทดแทน
 
“ตลาดตอบสนองต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐอย่างรวดเร็ว ลูกค้าชาวสหรัฐหลายรายติดต่อสอบถามเราเรื่องทับทิมเมียนมาทันที” เจ้าหน้าที่บริษัทรายนี้กล่าว “ทับทิมเมียนมาเป็นที่ต้องการมาตลอดและความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ยิ่งกระตุ้นความต้องการให้เพิ่มขึ้น”
 
พัฒนาการครั้งนี้ยังส่งผลกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในเมียนมาด้วย เนื่องจากผู้ค้าทับทิมสามารถเริ่มขายสินค้าให้สหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
Burmese ruby ring from Veerasak Gems Co., Ltd.
 
Aung Kyaw Zin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SP Gems Co., Ltd. ในเมียนมา สะท้อนถึงความหวังเช่นเดียวกัน “เราคาดว่าตลาดอัญมณีเมียนมาและแวดวงอัญมณีโลกจะได้รับผลกระทบทางบวก คนกว่า 200,000 คนในโมกกพึ่งพาธุรกิจอัญมณีอยู่ และคนเหล่านี้เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้” Aung Kyaw Zin กล่าว
 
บริษัทของเขาได้รับการสอบถามจากผู้ซื้อในนิวยอร์กและลูกค้าในภูมิภาคเดียวกันที่ทำธุรกิจกับบริษัทในสหรัฐ “เท่าที่ผ่านมาเราสังเกตเห็นว่าความต้องการทับทิมเมียนมาเพิ่มสูงกว่าปกติ” ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีรายนี้กล่าว
 
ภูเก็ต คุณประภากร ประธานบริษัทผู้ค้าอัญมณีในไทย Gemburi Co Ltd กล่าวว่า มีลูกค้าจากสหรัฐถามถึงทับทิมเมียนมาเช่นกัน บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งในสหรัฐนิยมทับทิมขนาดไม่เกิน 2 กะรัตแต่มีคุณภาพสูง เนื่องจากทับทิมขนาด 3 กะรัตขึ้นไปนั้น “หายากมาก หายากกว่าเพชรแล้วด้วยซ้ำ” ภูเก็ตกล่าว
 
Umesh Khandelwal จากบริษัท Saboo Fine Jewels ในฮ่องกง มองว่า การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลดีต่อแวดวงอัญมณีทั่วโลกเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณการปรับตัวอย่างชัดเจนมาตลอด
 
เขาเผยว่า ระหว่างที่มีการสั่งห้ามในสหรัฐ Saboo ขายทับทิมให้ตลาดเพียงบางแห่ง เช่น ฮ่องกง จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น หากธุรกิจในสหรัฐกระเตื้องขึ้นก็อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ธุรกิจการค้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดเอเชียยังคงผันผวนตามความท้าทายทางเศรษฐกิจ
 
Khandelwal เผยว่า ตลาดสหรัฐกำลังสนใจทับทิมเมียนมาคุณภาพระดับล่างถึงปานกลาง ขนาด 1 ถึง 2 กะรัต “ทับทิมกลุ่มนี้ขายได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภค บริษัทในสหรัฐเน้นอัญมณีเชิงพาณิชย์เนื่องจากต้องการนำไปผลิตเป็นจำนวนมาก” Khandelwal กล่าวต่อ “ถ้ามีความต้องการอัญมณีคุณภาพสูง เราก็สามารถจัดหาให้ได้เช่นกัน” เขาเสริมว่า บริษัทเตรียมพร้อมรับความต้องการทับทิมเมียนมาที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
 
ความหายากของวัตถุดิบ
 
เนื่องจากมีผู้สอบถามถึงทับทิมเมียนมากันมากขึ้น ภูเก็ตกล่าวว่าเราควรพิจารณาประเด็นที่ว่ามีทับทิมเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ “ผมได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับปริมาณทับทิม ปริมาณทับทิมเมียนมาในตลาดนั้นมีอยู่จำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณทับทิมก่อนสั่งซื้อ” เขากล่าว
 
ผู้ค้าและผู้ซื้ออาจต้องการเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อกลับมาติดต่อธุรกิจกันอีกครั้ง รวมถึงวางแผนการซื้อขายและกลยุทธ์ในการจัดหาสินค้าอย่างรัดกุม “เวลาผ่านไปแปดปีนับตั้งแต่มีมาตรการคว่ำบาตรจากทางสหรัฐ และถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าสินค้าคงคลังในตลาดมีไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้กำลังศึกษาสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่บรรยากาศโดยรวมดูจะเป็นไปในเชิงบวก ลูกค้ากำลังพิจารณาตัดสินใจซื้อ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี” ภูเก็ตกล่าวต่อ
 
นอกจากทับทิมจากเมียนมาจะมีปริมาณจำกัดแล้ว ผู้ค้าอัญมณีก็ยังต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งอาจไม่ดีนักในปี 2017 “ถ้าเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น คนก็จะอยากซื้อสินค้า แต่เรื่องนี้เรายังต้องดูกันต่อไป แต่จากประสบการณ์ของเรา ความต้องการอัญมณีในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด เราจึงยังคงคาดหวังว่าปีนี้จะยังคงมีแนวโน้มในทางที่ดี” เขาเสริม
 
แม้ในช่วงที่มีการสั่งห้ามจากทางสหรัฐ ราคาทับทิมเมียนมาก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแรงขับเคลื่อนจากความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นในจีน ภูเก็ตกล่าวว่าราคาทับทิมเม็ดเดี่ยวคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ขณะที่ทับทิมที่ไม่ผ่านความร้อนมีราคาสูงขึ้นห้าเท่า
 
Khandelwal Sait เจ้าของบริษัท Diastar Jewellery Co., Ltd. กล่าวว่า ทับทิมธรรมชาติจากเมียนมาที่มีคุณภาพสูงและมีขนาด 5 กะรัตขึ้นไปนั้นหายากมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน “ถ้าคุณพบสินค้ากลุ่มนี้ในตลาด ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจมีราคาแพงมาก” เขากล่าว
 
Sait เน้นย้ำว่า ตลาดอัญมณีโลกกำลังอยู่ในภาวะขาลง ดังนั้นการที่สหรัฐอนุญาตการนำเข้าทับทิมเมียนมาจึงไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมนี้ทันที “ในขณะนี้มีแต่ลูกค้ารายบุคคลที่จะซื้ออัญมณีพิเศษอย่างทับทิมเมียนมาที่ไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากทับทิมเมียนมากลุ่มนี้หายากในตลาด ผมจึงมองไม่เห็นผลกระทบต่อธุรกิจของเรา” เขากล่าว “สำหรับเราแล้ว ธุรกิจควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงการส่งคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องและมีสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
 
ธัญญาจาก Veerasak Gems ยอมรับว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณทับทิมที่ได้จากเหมืองในเมียนมา แต่เน้นย้ำว่าทางบริษัทพร้อมตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐ พร้อมเสริมว่าปัจจุบันบริษัทมีสินค้าคงคลังในกลุ่มทับทิมเมียนมามากเพียงพอ
 
ตลาดเปิดกว้าง
 
Niveet Nagpal ประธานของบริษัท Omi Gems Inc. ในแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “ตลาดเปิดส่งผลดีต่อทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้ทำเหมือง ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงตลาดผู้ซื้อทับทิมขนาดใหญ่ได้โดยตรง ไปจนถึงนักออกแบบและผู้ค้าปลีกในสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงวัตถุดิบใหม่จากแหล่งผลิตได้โดยตรงเช่นเดียวกัน”
 
“นอกจากนี้เรายังสามารถนำเข้าทับทิมเมียนมาจากผู้ค้าในตลาดรองทั่วโลก โดยรวมแล้วมองว่าทุกคนได้รับประโยชน์” Nagpal กล่าว “ธุรกิจอัญมณีสหรัฐยินดีอย่างยิ่งและรู้สึกโล่งใจที่การแบนครั้งนี้ถูกยกเลิก ภาคการค้าสหรัฐต่อต้านการแบนนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่ความไม่จริงใจจากการพุ่งเป้าไปยังทับทิมและหยกขณะที่ยังปล่อยให้น้ำมันเข้ามาได้ ไปจนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ทำเหมืองรายย่อยแทนที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศ”
 
Omi Gems มีสินค้าทับทิมเมียนมาครบทุกขนาดและทุกระดับคุณภาพ โดยทับทิมขนาด 3 กะรัตขึ้นไปจะหายากกว่า เนื่องจากทับทิมเมียนมามีปริมาณจำกัด จึงคาดกันว่าระดับราคาจะยังคงสูงอยู่ “ผมเชื่อว่าในระยะยาวราคาทับทิมเมียนมาจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัตถุดิบคุณภาพดีที่อยู่ในตลาดหรือที่ขุดขึ้นมานั้นมีปริมาณไม่มากนัก จนถึงตอนนี้ราคาก็เพิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว ดังนั้นผมจึงมองว่าราคาจะคงตัวในระยะสั้นและจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว” Nagpal กล่าว
 
Ron Rahmanan จาก Sara Gem Corporation ในนิวยอร์กก็ชื่นชมการยกเลิกการห้ามนำเข้าครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมของเราในหลายระดับ ตั้งแต่ผู้ค้าและผู้ผลิตในสหรัฐซึ่งสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณและตัวเลือกสินค้าให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น”
 
“ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นธุรกิจให้ผู้จัดหาทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะไทยเป็นแหล่งที่ทับทิมจะถูกส่งมารับการปรับปรุงด้วยความร้อน ตัดแต่ง และเจียระไน ซึ่งเป็นการสร้างงานเพิ่มขึ้นให้คนในพื้นที่ จากนั้นผู้จัดหาก็ต้องกลับไปเมียนมาเพื่อซื้อพลอยก้อนเพิ่ม ซึ่งจะช่วยนำธุรกิจกลับไปยังคนท้องถิ่นในโมกกและมองซู ซึ่งประสบปัญหาจากยอดการค้าที่ต่ำในระหว่างการสั่งห้าม แต่ในตอนนี้กำลังตื่นเต้นและมีความหวังกับอนาคต” Rahmanan กล่าว
 
ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าเมื่อการสั่งห้ามถูกยกเลิกแล้วจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าหรือไม่ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีรายนี้กล่าวว่า “ยังไม่เห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นทันที”
 
“อย่างไรก็ตาม เราสามารถเสนอทางเลือกมากขึ้น รวมถึงสามารถหาอัญมณีให้ลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะวัดผลกระทบเพราะผู้ค้าหลายรายรวมถึงบริษัทของเรายังไม่ได้เดินทางไปซื้อสินค้านับตั้งแต่มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร [สัมภาษณ์ในเดือนตุลาคม 2016]” เขากล่าวต่อ
 
“เมื่อเราเริ่มซื้อสินค้าอีกครั้งและนำสินค้ากลับมา เราจะสามารถให้ลูกค้าดูสินค้าคงคลังใหม่และนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ผมแน่ใจว่าแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มความต้องการได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือลูกค้าอาจตกใจเมื่อได้เห็นราคาทับทิมเมียนมา เพราะราคาเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่เริ่มมีการสั่งห้าม” Rahmanan กล่าว
 
ธุรกิจทับทิม
 
ทับทิมจากแหล่งทางเลือกอื่นๆ เช่น โมซัมบิกและมาดากัสการ์ ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และส่งผลเปลี่ยนแปลงธุรกิจทับทิมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิมโมซัมบิกนั้นค่อยๆ สร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะขึ้นมาในตลาดพลอยสี และเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นทางเลือกที่ใช้การได้และในหลายๆ ครั้งก็งดงามไม่แพ้ทับทิมเมียนมา
 
ภูเก็ตเผยว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงซื้อทับทิมจากโมซัมบิก แม้เมื่อยกเลิกการห้ามนำเข้าแล้ว “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ยังไม่มีแหล่งทับทิมคุณภาพสูงแหล่งอื่นๆ จนกระทั่งทับทิมชนิดใหม่จากโมซัมบิกปรากฏขึ้นมาในตลาด ผู้ซื้อสหรัฐจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปซื้อทับทิมโมซัมบิก แม้ว่าทับทิมจากเมียนมาก็ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในตลาด” เขาระบุ
 
ตามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีของไทย มีทับทิมโมซัมบิกเป็นปริมาณมากในตลาด ตั้งแต่เกรดเชิงพาณิชย์ไปจนถึงทับทิมคุณภาพสูงซึ่งเทียบได้กับทับทิมเมียนมา “ทั้งทับทิมโมซัมบิกและทับทิมเมียนมามีตลาดที่มั่นคงอยู่แล้ว เราไม่เห็นว่าความต้องการทับทิมโมซัมบิกจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทับทิมโมซัมบิกที่ไม่ผ่านความร้อนก็ยังคงแพร่หลายในตลาด แตกต่างจากทับทิมเมียนมาคุณภาพเดียวกัน” เขาระบุ
 
Sait จาก Diastar Jewellery เห็นด้วยกับภูเก็ต พร้อมเสริมว่าทับทิมโมซัมบิกและทับทิมเมียนมานั้นดึงดูดลูกค้าต่างกลุ่มกัน บริษัทแห่งนี้จัดหาทับทิมไปยังจีนและไทย
 
Sait กล่าวว่า แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ยังคงนิยมทับทิมเมียนมา แต่ก็มีทับทิมคุณภาพดีที่ใสสะอาดจากโมซัมบิกซึ่งราคาเป็นมิตรกว่า จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ซื้อ “ถ้าให้เลือกระหว่างทับทิมเมียนมาที่ผ่านความร้อนกับทับทิมโมซัมบิกที่ไม่ผ่านความร้อน ผมขอเลือกอย่างหลังดีกว่าเพราะเป็นอัญมณีธรรมชาติ ในเวลานี้อัญมณีจากทั้งสองแหล่งต่างก็ขายได้ โดยมีตลาดจีนช่วยผลักดันการเติบโต” เขาเสริม
 
Sanjay Kumar Jain กรรมการบริษัท Poonam Gems Co., Ltd. ของไทย กล่าวว่า ลูกค้าของเขาเริ่มคุ้นเคยกับทับทิมโมซัมบิกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยลูกค้าจากฮ่องกงและจีนช่วยขับเคลื่อนความต้องการในส่วนนี้
 
“ผมไม่ได้ขายสินค้าให้ผู้บริโภคสหรัฐ แต่ผมรู้ดีว่าผู้ซื้ออเมริกันสั่งซื้อสินค้ากันเต็มไปหมดเมื่อทับทิมเมียนมาสามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้แล้ว ปี 2017 นี้เราคาดว่าจีนและสหรัฐจะช่วยผลักดันการเติบโตในธุรกิจเครื่องประดับพลอยสี” Jain กล่าวต่อ
 
Burmese rubies ring from Omi Prive
 
ผู้ซื้อทับทิมมักถามหาทับทิมเมียนมาก่อน เนื่องจากทับทิมกลุ่มนี้ยังคงได้รับความสำคัญสูงสุดในหมู่นักสะสม Nagpal จาก Omi Gems กล่าว “ตอนที่สินค้าขาดแคลนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราได้ขายทับทิมจากโมซัมบิก มาดากัสการ์ และไทย เราสามารถหาทับทิมคุณภาพดีจากแหล่งเหล่านี้ได้ แต่เราก็ยินดีถ้าสามารถเข้าถึงทับทิมเมียนมาได้มากขึ้น” เขากล่าว
 
Rahmanan จาก Sara Gem กล่าวว่า ทับทิมที่ไม่ได้มาจากเมียนมาได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การผลิตที่เพิ่มขึ้นและการตั้งราคาที่สมเหตุสมผลช่วยให้อัญมณีเหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่นักออกแบบและผู้ผลิต “ผมคิดว่าแนวโน้มนี้จะยังคงเติบโตแม้ว่ามีการนำเข้าทับทิมเมียนมาแล้วก็ตาม” เขากล่าว
 
ทับทิมโมซัมบิก
 
Ian Harebottle ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Gemfields มองว่าการยกเลิกคำสั่งห้ามเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเนื่องจากจะช่วย “ส่งเสริมความโปร่งใสภายในภาคอุตสาหกรรมนี้และน่าจะช่วยให้อัญมณีกลุ่มนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในตลาดสหรัฐ”
 
“อันที่จริง Gemfields ภูมิใจที่ได้มีบทบาทในการยกเลิกคำสั่งห้าม โดยทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมนี้ เช่น สมาคม American Gem Trade Association และสมาคม International Coloured Gemstone Association เพื่อให้บรรลุสิ่งซึ่งเราเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง” Harebottle กล่าว
 
“เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดสหรัฐชอบทับทิมกันมานานแล้ว เมื่อไม่นานมานี้เราได้ศึกษาความนิยมพลอยสีภายในตลาดสหรัฐอย่างกว้างขวาง และพบว่าคำที่สัมพันธ์กับทับทิมมากที่สุด ได้แก่ งดงาม (ร้อยละ 50) อมตะ (ร้อยละ 42) และคลาสสิก (ร้อยละ 40) ในหมู่ผู้บริโภคซึ่งมีเครื่องประดับทับทิมอยู่แล้ว มีร้อยละ 43 ที่ใส่เป็นประจำทุกวัน เรามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นตลาดสำคัญที่คอยติดตามอย่างเหนียวแน่นและมีศักยภาพในการเติบโตสูง”
 
ทับทิมถือเป็นหนึ่งในอัญมณีที่หายากและมีค่ามากที่สุด “แน่นอนว่าหายากกว่าเพชรหลายเท่า” เขากล่าวต่อ “ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทับทิมกลายเป็นทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภควงกว้างด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่การมีศักยภาพในการลงทุนสูง ไปจนถึงความสามารถพิเศษในการนำเสนอสไตล์เฉพาะตัว บุคลิก และความมีรสนิยมของผู้บริโภคแต่ละคน เป็นแนวโน้มที่เราเชื่อว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน” Harebottle กล่าว
 
เขาเสริมว่าแม้มีโอกาสอยู่บ้างที่การยกเลิกการห้ามนำเข้าอาจส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการตั้งราคา แต่ก็เป็นไปได้มากกว่าว่าการที่มีสินค้าเข้ามาอย่างลื่นไหลต่อเนื่อง บวกกับการค้นพบแหล่งทับทิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อไม่นานมานี้ที่เหมือง MRM ของ Gemfields ในโมซัมบิก ตลอดจนการเติบโตในแง่การจัดจำหน่าย การสื่อสาร และการตลาดทับทิมทั่วโลก จะช่วยผลักดันความต้องการและระดับราคาให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
“ก่อนหน้านี้ ด้วยความที่ทับทิมเป็นอัญมณีที่หายากมาก บวกกับมีปริมาณสินค้าที่ขึ้นลงไม่แน่นอน จึงเป็นการจำกัดความสามารถของธุรกิจปลายน้ำที่จะออกแบบ จัดจำหน่าย และส่งเสริมการขายชิ้นงานทับทิม อย่างไรก็ดี ด้วยคุณภาพและปริมาณที่ได้มาจากแหล่งทับทิมในโมซัมบิก ร่วมกับการที่ทับทิมจากเมียนมาเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้จึงเริ่มเล็งเห็นความนิยมที่ฟื้นคืนมาอีกครั้ง ความต้องการของผู้บริโภคได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นอีกจากโครงการของ Gemfields ที่มุ่งเป้าหมายด้านการสื่อสาร การตลาด และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก” Harebottle ระบุ
 
ความงามแบบเมียนมา
 
Aung Kyaw Zin จาก SP Gems มองว่า แม้มีความท้าทายจากปริมาณทับทิมเมียนมาที่ไม่เพียงพอในตลาด ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ก็ควรหาทางปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก
 
“มีตลาดสำหรับทับทิมเมียนมาอยู่เสมอไม่ว่ามันจะหายากแค่ไหนก็ตาม ผู้ซื้อที่ใส่ใจจะยังคงมองหาทับทิมเมียนมาเพราะต้องการความงดงามและคุณค่าของมัน” เขากล่าว
 
ขณะเดียวกัน Khandelwal จาก Saboo Fine Jewels เผยว่า ผู้บริโภคกลุ่มดั้งเดิมบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ก็ยังคงเน้นให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอัญมณี
 
“ลูกค้าชาวจีนจำนวนหนึ่งอาจยอมลดคุณภาพของอัญมณีลงมาตราบใดที่เป็นทับทิมเมียนมา เช่นเดียวกันกับในตลาดไต้หวัน มีตลาดใหญ่ที่ยังคงไม่เปิดรับทับทิมโมซัมบิกในเวลานี้ และทับทิมเมียนมาก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอยู่” เขากล่าว
 
ธัญญาจาก Veerasak Gems กล่าวว่า เท่าที่เธอเห็น ตลาดมีความเข้าใจและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยผู้ซื้อจำนวนมากหันมายอมรับทับทิมโมซัมบิก เธอเสริมว่า แม้ทับทิมจากโมซัมบิกจะเข้ามาช่วยเพิ่มความหลากหลายในตลาด แต่เสน่ห์ความงดงามของทับทิมเมียนมาก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้
 
“ทับทิมเมียนมาเป็นความงามที่หาได้ยากและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มและมอบอภิสิทธิ์ให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ” ธัญญาอธิบาย
 
------------------------------------------
ที่มา: “Lifting of US ban on Burmese rubies injects optimism into gemstone trade.” by Bernardette Sto. Domingo and Marie Feliciano. JNA. (January 2017: pp. 21-25).
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที