GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 04 พ.ค. 2017 02.55 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1494 ครั้ง

ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP ได้ทำให้สถานะของกลุ่มเกิดความสั่นคลอน เพราะการไม่มีสหรัฐอเมริกาก็ทำให้ TPP เหมือนขาดหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนบทบาทของกลุ่ม จนนานาประเทศต่างหันมาจับตาดูการพัฒนาบทบาททางเศรษฐกิจของกลุ่มความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ติดตามบทความฉบับเต็มที่ https://goo.gl/McgnX2 หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


บทบาทที่กำลังพัฒนาของ RCEP นัยยะต่ออนาคตของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย

 
http://www.thansettakij.com/


ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP ได้ทำให้สถานะของกลุ่มเกิดความสั่นคลอน เพราะการไม่มีสหรัฐอเมริกาก็ทำให้ TPP เหมือนขาดหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนบทบาทของกลุ่ม จนนานาประเทศต่างหันมาจับตาดูการพัฒนาบทบาททางเศรษฐกิจของกลุ่มความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดเสรีขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญของโลก สมาชิกของกลุ่ม RCEP ประกอบด้วยประเทศในภูมิภาคอาเซียน และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยสมาชิกของ RCEP บางประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ต่างก็เคยเป็นสมาชิกของ TPP ด้วย แต่จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทำให้ประเทศเหล่านี้หันมาเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันภายในกลุ่ม RCEP มากยิ่งขึ้น เพราะมองว่าการค้ากับสหรัฐฯ มีความซับซ้อนและยากลำบากมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมความร่วมมือใน RCEP น่าจะเกิดเป็นลู่ทางการค้าที่สะดวก ผ่อนคลายและเป็นเกราะคุ้มกันที่ดีมากกว่าการหวังพึ่งพาสหรัฐฯ    


http://aseanwatch.org/


ความตกลง RCEP ถือเป็นความตกลงขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจต่อการค้าและการลงทุน เนื่องจากประเทศสมาชิกมีมูลค่า GDP รวมกันสูงถึง 24.87 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.89 ของ GDP รวมจากทุกประเทศทั่วโลก โดย RCEP ก่อตั้งขึ้นภายใต้หลักการที่จะบูรณาการให้เกิดความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเป็นกฎระเบียบเดียวกันที่มีความชัดเจน ครอบคลุม และไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันจะช่วยลดการกีดกันทางการค้า และช่วยให้มูลค่าทางการค้าขยายตัวมากขึ้น จากบทบาทในปัจจุบันของ RCEP พบว่ายังคงมีการดำเนินงานและพัฒนาข้อตกลงทางการค้าเสรีต่างๆ ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่ง มีการหารือระหว่างประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการจัดประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จนถึง 3 มีนาคม 2560 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกยื่นข้อเสนอเปิดตลาดเพิ่มเติมสำหรับการเจรจาที่ยังตกลงกันไม่ได้ เพื่อนำเอาข้อเสนอต่างๆ ไปประเมินระดับการเปิดเสรีทางการค้า โดยมุ่งหวังว่าจะให้เกิดข้อสรุปโดยเร็ว ทั้งนี้ ได้มีการเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการประชุมครั้งที่ 18 ซึ่งกำหนดจะให้มีขึ้นในวันที่ 2-12 พฤษภาคม 2560 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ โดยสำหรับประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ RCEP พบว่าปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าประมาณ 247,301 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.3 ของการค้าไทยในภาพรวม ถ้าหากมีการเปิดตลาดเสรีทางการค้าอย่างสมบูรณ์ย่อมส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศสมาชิกที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้น อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางการค้าที่ลดความซับซ้อนลง

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ พบว่าไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 3,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 27.05 ของการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด โดยประเทศสมาชิก RCEP ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอยู่แล้ว และจากสถิติการค้าในปี 2559 ทำให้พบว่าบางประเทศมีมูลค่าการค้าเติบโตขึ้นจากปีผ่านๆ มา ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งออกสำหรับไทย แต่ถึงกระนั้นพบว่าสภาพการณ์การนำเข้า-ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกใน RCEP ยังคงมีข้อกีดกัน หรือกฎระเบียบที่เข้มงวดและซับซ้อนกับบางประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ที่มีอุปสรรคจากมาตรการทางการค้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้าไว้สูงโดยอ้างวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จนเกิดเป็นปัญหาขั้นตอนทางการค้าที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น หรืออุปสรรคทางการค้ากับกัมพูชาในด้านการละเมิดกฎหมาย มีการลักลอบนำเข้าและส่งออกอัญมณี อีกทั้งอุปสรรคทางการค้ากับเวียดนามซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นต้น ดังนั้น หากบทบาทของ RCEP มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะสามารถเปิดประเด็นการเจรจาผ่านทางกลุ่ม RCEP ในด้านปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยมุ่งหวังให้เกิดเป็นมาตรฐานระดับเดียวกันในระหว่างประเทศสมาชิก และเป็นแนวทางในการขจัดอุปสรรคด้านขั้นตอนในการนำเข้า-ส่งออกให้ลดลง การทำให้เกิดสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนการลดข้อกีดกันสินค้าจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) นอกจากนี้ หากบทบาทของกลุ่ม RCEP ในภาพรวมมีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันจนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยความที่ไทยมีข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่มีฝีมือดี และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ จึงเป็นไปได้ว่านอกเหนือไปจากมูลค่าทางการค้าที่คาดว่าจะสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อความน่าดึงดูดในการเป็นฐานลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
---------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:     
1. การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าของประเทศสมาชิก RCEP ครั้งที่ 17, ประชาชาติ (24 มีนาคม 2560)
2. การผลักดัน RCEP แทนที่ TPP, กรุงเทพธุรกิจ (18 มีนาคม 2560)
3. RCEP จุดเปลี่ยนการค้าโลก 16 ประเทศลุยต่อรับมือ TPP หยุดชะงัก (19 มีนาคม 2560)                     


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที