GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 06 มิ.ย. 2017 09.01 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1249 ครั้ง

แม้หลายคนเห็นตรงกันว่าการทำธุรกิจค้าปลีกไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ในตลาดระยะหลังมานี้ดูจะยากขึ้นเป็นพิเศษ แน่นอนว่ามีธุรกิจที่ทำผลงานได้เหนือกว่าแนวโน้มโดยรวม แต่เสียงส่วนใหญ่ในงานวิจัยจากองค์กรหลายแห่งในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนหลักฐานปลีกย่อยต่างๆ ล้วนระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าเครื่องประดับนั้น ทำได้อย่างดีที่สุดก็แค่เสมอตัว ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/0EYtEJ หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ตามติดสถานการณ์ค้าปลีกเครื่องประดับออสเตรเลีย

Thomas Sabo
 
แม้หลายคนเห็นตรงกันว่าการทำธุรกิจค้าปลีกไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ในตลาดระยะหลังมานี้ดูจะยากขึ้นเป็นพิเศษ แน่นอนว่ามีธุรกิจที่ทำผลงานได้เหนือกว่าแนวโน้มโดยรวม แต่เสียงส่วนใหญ่ในงานวิจัยจากองค์กรหลายแห่งในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนหลักฐานปลีกย่อยต่างๆ ล้วนระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าเครื่องประดับนั้น ทำได้อย่างดีที่สุดก็แค่เสมอตัว

การวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับผู้ขายเครื่องประดับออสเตรเลียเผยข้อมูลสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมนี้ ตามรายงานจาก Jeweller เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เสียงสะท้อนจากกลุ่มตัวอย่างในภาคอุตสาหกรรมเผยว่า ยอดขายช่วงคริสต์มาสปี 2016 นั้นพอกันหรือต่ำกว่าปี 2015 เล็กน้อย นอกจากนี้ ผู้ขายเครื่องประดับและองค์กรภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในปี 2017 บรรทัดฐานใหม่’ (The New Normal) กลายเป็นคำที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง

เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น Jeweller จึงได้ทำการสำรวจเชิงลึกด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ค้าปลีกเครื่องประดับออสเตรเลีย 200 ราย การสำรวจดังกล่าวครอบคลุมขอบเขตกว้างขวาง โดยได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ขายเครื่องประดับในร้านค้าหลากหลายทั่วประเทศในประเด็นต่างๆ เช่น ผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไรของกิจการ ตลอดจนความท้าทายในภาคอุตสาหกรรม

เผยผลการวิจัย
 
ผลการวิจัยครั้งนี้ช่วยสนับสนุนรายงานก่อนหน้านี้ของ Jeweller เกี่ยวกับยอดขายในช่วงเทศกาล กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับการสำรวจราวร้อยละ 42 ระบุว่า ยอดขายในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ระหว่างปี 2016/2017 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ดังแผนภูมิที่ 1)

ผู้ตอบแบบสำรวจเพียงร้อยละ 29 ระบุว่ายอดขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้รับการสำรวจในสัดส่วนใกล้เคียงกันระบุว่ายอดขายเท่ากันกับปีก่อน

เมื่อมองในระยะยาว แผนภูมิที่ 2 แสดงให้เห็นว่าผู้ขายเครื่องประดับราวหนึ่งในสามมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือผู้รับการสำรวจส่วนมาก หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.5 กล่าวว่า รายได้ต่อปีคงเดิมหรือลดลง โดยร้อยละ 32.5 ระบุว่าคงเดิม ส่วนร้อยละ 34 ระบุว่าลดลง

ผลการสำรวจในแผนภูมิที่ 3 นั้นน่าสังเกตตรงที่ได้แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการทำกำไรของกิจการอาจลดลงในขณะที่รายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงความสามารถในการทำกำไรตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา ผู้ขายเครื่องประดับเกือบร้อยละ 73 ระบุว่า ความสามารถในการทำกำไรลดลงหรือเท่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 27 มองว่าธุรกิจทำกำไรได้เพิ่มขึ้น
ข้อสังเกตที่น่าสนใจมาจากการเปรียบเทียบระหว่างแผนภูมิที่ 2 และแผนภูมิที่ 3 กล่าวคือ ผู้รับการสำรวจร้อยละ 33.5 กล่าวว่า กิจการของตนมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้รับการสำรวจเพียงร้อยละ 27 ที่ระบุว่ากิจการมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน การมีรายได้เพิ่มขึ้นจึงอาจไม่ได้หมายถึงการมีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้นเสมอไป

การสำรวจดังกล่าวยังได้สอบถามผู้ขายเครื่องประดับเกี่ยวกับความท้าทายที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อกิจการ และอาจไม่น่าแปลกใจนักที่ผู้ตอบแบบสอบถามหลายรายกังวลเรื่องผลกระทบจากอินเตอร์เน็ต แม้ว่าคำถามข้อนี้เป็นคำถามปลายเปิด กล่าวคือไม่ได้มีคำตอบให้เลือก แต่ผู้ได้รับการสำรวจราวร้อยละ 63 ก็ระบุว่าอินเตอร์เน็ตเป็นความท้าทายประการสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

การแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจ และความต้องการซื้อเครื่องประดับที่ลดลง (ซึ่งหมายรวมถึงรสนิยมในการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปและการใช้จ่ายอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น) ก็เป็นความท้าทายที่ผู้ขายต้องเผชิญในกลุ่มสี่อันดับแรกเช่นเดียวกัน

ที่น่าสนใจมากที่สุดคือมีผู้ขายน้อยรายที่ระบุว่า ‘สินค้านำเข้าราคาถูก’ เป็นความท้าทายประการสำคัญ ทั้งที่ปัจจัยนี้อาจมีความสำคัญมากกว่านี้ในช่วงห้าถึง 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ประเด็นที่เคยเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ขายเครื่องประดับมาแต่เดิม อย่างเรื่องค่าเช่าร้านและการเจรจาต่อรองกับเจ้าของสถานที่ ก็กลับไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก

ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติม

แม้ Jeweller จะยอมรับว่าผลการสำรวจสามารถตีความได้หลายแง่และอาจแสดงภาพของภาคอุตสาหกรรมนี้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น แต่การวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยบริษัทที่ปรึกษาและซอฟต์แวร์ Retail Edge Consultants (REC) ก็ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน

Michael Dyer ผู้จัดการฝ่ายขายของ REC กล่าวว่า ข้อมูลจากร้านค้ากว่า 300 แห่งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ REC ได้ตรวจสอบมานั้นชี้ให้เห็นว่า แม้กิจการบางแห่งรายงานว่าทำยอดได้คงเดิมหรือเพิ่มขึ้นในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ที่ผ่านมา แต่ผลการศึกษาโดยรวมแสดงให้เห็นว่ายอดขายในช่วงดังกล่าวของปีที่แล้วนั้นลดลง

Dyer ยังได้อธิบายว่า การวิเคราะห์ของ REC แสดงให้เห็นว่ายอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นในระหว่างปีปฏิทิน 2014 และ 2015 แต่ลดลงร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 2 ในช่วง 12 เดือนระหว่างปี 2015 และ 2016

ในแง่ผลกำไรขั้นต้นนั้น Dyer ระบุว่า กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนระหว่างปี 2014 และ 2015 จากนั้นก็ลดลงร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 3 ในช่วงระหว่างปี 2015 และ 2016
เมื่อถามว่าเขาจะบรรยายถึงสถานการณ์ค้าปลีกเครื่องประดับของออสเตรเลียในปัจจุบันนี้อย่างไร Dyer กล่าวว่าเป็นสถานการณ์ที่ ‘ท้าทาย’ แต่ก็เสริมว่าย่อมมีผู้ค้าปลีกบางรายที่เล็งเห็นโอกาสท่ามกลางอุปสรรค

เขาเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญประการล่าสุดที่จะพลิกโฉมหน้าของภาคอุตสาหกรรมนี้นับตั้งแต่มีการเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Service Tax: GST เรียกเก็บอัตราร้อยละ 10 สำหรับการซื้อทองคำ แพลทินัม และโลหะเงิน) นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2017 เป็นต้นมา และแม้ว่าผู้ขายส่วนใหญ่ไม่ได้ต่อต้านการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถี่ขี้นเรื่อยๆ นั้นทำให้สถานการณ์ยากลำบากยิ่งขึ้น

“ธุรกิจค้าปลีกมีความท้าทายเสมอมาและจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ” Dyer กล่าว พร้อมเสริมว่า “ในเมื่อร้านค้าปลีกทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์เติบโตขึ้นด้วยอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของประชากรและความสามารถของประชากรในการบริโภคสินค้า เราจึงได้เห็นยอดขายเคลื่อนย้ายไปยังภาคธุรกิจต่างๆ มากกว่าที่จะมีการเติบโตโดยรวม”

Dyer ระบุว่า REC ทำงานด้านการเป็นที่ปรึกษามากขึ้นในระยะหลัง และความท้าทายที่ลูกค้ามักให้ความสำคัญในปัจจุบันนั้น ได้แก่ การสร้างยอดขายโดยยังคงอัตรากำไรเอาไว้ ตลอดจนการควบคุมปริมาณสินค้าคงคลัง

ความท้าทายใหม่ที่ควรพิจารณา

Dyer เสริมว่าการจัดการสินค้าคงคลังเป็นเรื่องซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เพราะผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสินค้าตามเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด
 
Alex and Ani
 
“ในอดีต ผู้ค้าปลีกอาจหยุดซื้อสินค้าคงคลังเพื่อระบายสินค้าออกไปให้มีเงินสดหมุนเวียน” เขากล่าว แต่ในตลาดผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็วทันใจ ถ้าทางร้านไม่มีสินค้าขายดีหรือสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการก็อาจเท่ากับเป็นการผลักลูกค้าไปหาคู่แข่งโดยไม่ตั้งใจ “สินค้าขายดีช่วยหล่อเลี้ยงยอดขายและกระแสเงินสดในกิจการค้าปลีก ถ้าคุณไม่มีสินค้าเหล่านี้ ลูกค้าก็ไม่ได้หยุดซื้อ แต่ลูกค้าจะหยุดซื้อของจากคุณเท่านั้นเอง”

ธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลาย และถ้าการวิเคราะห์ของ Dyer ตลอดจนผลการสำรวจของ Jeweller จะช่วยบ่งบอกอะไรได้บ้าง สิ่งนั้นก็คือ เจ้าของร้านและผู้จัดการร้านควรเล็งเห็นว่า ‘บรรทัดฐานใหม่’ ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในภาคธุรกิจนี้ ซึ่งส่งผลให้กิจการจำเป็นต้องทบทวนแนวทางปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

------------------------------------------
ที่มา: “Investigating the Australian Jewellery Landscape.” By Emily Mobbs. JEWELLER. (April 2017: pp.13-14).

 

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที