เมตตา

ผู้เขียน : เมตตา

อัพเดท: 26 พ.ค. 2007 10.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1833353 ครั้ง

การทำแผนธุรกิจแบบใหม่ ที่เน้นการใส่แนวความคิดเรื่องนวัตกรรมใหม่เข้าไปด้วย ระดมสมอง และ สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มทีมบริหารทุกผ่าย ภายใต้บรรยากาศธรรมชาติเขาใหญ่


ขั้นตอนที่ 14 การจัดทำกลยุทธ์ระดับปฏิบัติการ – แผนปฏิบัติการนวัตกรรม

ขั้นตอนที่ 14 การจัดทำกลยุทธ์ระดับปฏิบัติการ – แผนปฏิบัติการนวัตกรรม

          อยากเปรียบเทียบการพัฒนาที่แตกต่างกัน 2 แบบให้เห็น

1.      นวัตกรรม เป็นการนำเอาความรู้จากภายนอกเข้ามาปรับปรุงองค์กรอย่างก้าวกระโดด แต่ต้องใช้พลังงานและเงินทุนสูง  เปรียบเสมือนการก้าวกระโดดแบบกระต่าย

2.      ไคเซน เป็นการพัฒนาแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ โดยใช้ความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่เท่านั้น  เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous improvement) เปรียบเสมือนการคืบคลานไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอของเต่า

 

          มีคำกล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ คือการเปลี่ยนเงิน ไปเป็นความรู้ และ นวัตกรรม คือ การเปลี่ยนความรู้มาเป็นเงิน”

          คำว่านวัตกรรม ในปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึง นวัตกรรมด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีทางการผลิต หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่หมายถึง  ด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ ด้วย

          นวัตกรรมด้านเครื่องจักร  ได้แก่  แขนกล  ระบบการผลิตอัตโนมัติ เป็นต้น

          นวัตกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยี ได้แก่  แผนที่นำทางในรถยนต์  รถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง หรือ ชีวิตแบบคอนเวอเจนในโลกการติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย  เป็นต้น

          นวัตกรรมที่อยากกล่าวถึง คือ ด้านการบริหารจัดการ  เช่น CRM (Customer relationship management) , SCM (Supplier chain management) , TQM (Total Quality management) , TPM (Total Productive Maintenance) , 6s (6 Sigma) , BSC (Balance Score card) เป็นต้น

          นวัตกรรมด้านสารสนเทศ  เช่น ระบบ LAN . ระบบบริหารจัดการข้อมูล MRP และ ERP เป็นต้น

          นวัตกรรมด้านการบริหารและพัฒนาบุคลากร เช่น ระบบการประเมินผลงาน PM (Performance management) เป็นต้น

 

          คำว่านวัตกรรมใหม่สำหรับองค์กร อาจหมายถึง นวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่นวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ แต่เราต้องการนำเข้ามาเรียนรู้และใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กร

 

          ในความเป็นจริงการนำเข้าความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ผู้บริหารระดับสูงต้องมีบทบาทเป็นผู้นำอย่างชัดเจน ประกาศเจตนารมณ์ในการทำโครงการ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบโครงการ  มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพราะนวัตกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์กร ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ต้องมีการผลักดัน และให้การสนับสนุนผู้ที่รับผิดชอบโครงการเป็นอย่างดี  รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มีการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและมีความสามารถเพียงพอที่จะรับนวัตกรรมใหม่นั้นมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนั้นจึงจะประสบความสำเร็จได้ ขอให้พิจารณาดูตารางเปรียบเทียบระหว่างนวัตกรรมยุคก่อน กับ นวัตกรรมยุคใหม่ ดังนี้

 

นวัตกรรมแบบเก่า (เชิงลึก)

นวัตกรรมแบบใหม่ (เชิงระบบ)

เป้าหมาย

พัฒนากระบวนการผลิต

พัฒนาถึงวัฎจักรของธุรกิจ

ทีมผู้รับผิดชอบ

ทีมผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี

กลุ่มทีมงานข้ามสายงาน

ผู้นำทีมรับผิดชอบ

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ผู้สร้างทีมงานข้ามสายงาน

กระบวนการ

เป็นช่วงเวลา

พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

            ก่อนที่จะเลือกนวัตกรรมใหม่เข้ามาสู่องค์กร ขอให้กลับไปตรวจสอบขั้นตอนที่ 6 ตรวจสอบสมรรถนะการแข่งขันขององค์กร  ขั้นตอนที่ 8 และ 9 การเลือกกลยุทธ์ระดับองค์กรและกลยุทธ์ระดับธุรกิจ  ว่าได้ทำคัดเลือกกลยุทธ์อะไรไว้บ้าง  และเนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องของอนาคตขององค์กรที่ต้องใช้เวลาเตรียมการศึกษา เตรียมความพร้อมของบุคลากร เตรียมงบประมาณ  สรรหาผู้เชี่ยวชาญ  อุปกรณ์ หรือ เครื่องจักรต่าง ๆ  ดังนั้นขอให้นำกลยุทธ์ที่คัดเลือกไว้ในขั้นตอนที่  5 วิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงทางธุรกิจขององค์กรมาร่วมพิจารณาในขั้นตอนนี้ด้วย  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเผชิญจุดเสี่ยงในอนาคต

         

          นวัตกรรมเปรียบเสมือนเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยให้กลยุทธ์ที่เราคัดเลือกไว้เป็นจริงได้หรือประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างเช่น

•            ถ้าเราวิเคราะห์องค์กรแล้วพบว่าเรามีปัญหาเรื่องการส่งมอบล่าช้า และเลือกกลยุทธ์ว่าจะปรับปรุงระบบลอจิสติกส์แล้ว เราอาจเลือกระบบ SCM มาเป็นเครื่องมือในการสร้างแนวทางปรับปรุงระบบลอจิสติกส์ขององค์กรได้

•            ถ้าเราวิเคราะห์องค์กรแล้วเห็นว่า ภายในกระบวนการผลิตของเราประสบปัญหาประสิทธิภาพการผลิตตกมีปัญหาเครื่องจักรเสีย  และเลือกกลยุทธ์ว่าต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรและระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกันเครื่องจักรแล้ว ถ้าธุรกิจของท่านเป็นโรงงานอุตสหกรรมที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ ขอสนับสนุนให้ท่านเลือก TPM เป็นเครื่องมือในการปรับปรุง เพราะระบบ TPM นอกจากจะพัฒนาระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว ยังสามารถช่วยให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

 

•            ถ้ามีปัญหาเรื่องระบบบริหารจัดการ และความชัดเจนของนโยบายการบริหารงาน ควรเลือกใช้ TQM เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา  เพราะการทำ TQM เป็นการบริหารงานด้านคุณภาพทั่วทั้งองค์กร ตั้งแต่ระดับผู้นำขององค์กร ลงไปจนถึงพนักงานทุกคน

 

นอกจากนี้อาจพิจารณาวางกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรมไว้ในแต่ละด้าน โดยพิจารณาด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.    ด้านโครงสร้างธุรกิจ

2.    ด้านการบริหารการจัดการ

3.    ด้านองค์กร

4.    ด้านลูกค้า

5.    ด้านผลิตภัณฑ์

6.    ด้านลอจิสติกส์

7.    ด้านกระบวนการผลิต

8.    ด้านเทคโนโลยี

 

เมื่อเลือกเครื่องมือได้แล้ว ให้พิจารณาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ โดยอาจจะตั้งทีมงาน และจัดทำแผนปฏิบัติการแยกของแต่ละโครงการได้ ซึ่งการนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้งาน โดยส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาพัฒนา 2-3 ปี และผู้เกี่ยวข้องเกือบจะทั่วทั้งองค์กร  จึงจะประสบผลสำเร็จ ดังนั้นในแต่ละโครงการอาจจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าไปอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย ว่าในแต่ละปีจะดำเนินโครงการไปอย่างไร


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที