GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 06 พ.ย. 2017 14.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1578 ครั้ง

ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งอัญมณีที่มีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็นรัตนทวีป หรือเกาะแห่งอัญมณี (Island of Gems) ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของประเทศมีศักยภาพในการทำเหมืองอัญมณี ด้วยปริมาณอัญมณีที่มีอยู่มาก และประเภทที่หลากหลายกว่า 75 ชนิด ส่งผลให้อัญมณีกลายเป็นสินค้าสำคัญของศรีลังกาในยุคปัจจุบัน ติดตามเรื่องราวฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/xdiYvC หรือบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th


โอกาสทางการค้าอัญมณีจากการขยายความร่วมมือกับศรีลังกา เกาะแห่งอัญมณี

ศรีลังกามีลักษณะเป็นเกาะขนาดเล็กและตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสลับกับภูเขา มีประชากรราว 21 ล้านคน ภายหลังจากสงครามกลางเมืองอันยาวนานกว่า 30 ปี ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลศรีลังกาได้พยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านตลาดการค้าและการลงทุนให้เป็นระบบยิ่งขึ้น จนปัจจุบันมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจราวร้อยละ 6-8 ต่อปี ได้ส่วนหนึ่งมาจากการค้าอัญมณีหลากหลายชนิดที่มีอยู่ภายในประเทศ จนก่อให้เกิดรายได้สำหรับนำมาใช้ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ตลอดจนทำให้ศรีลังกาเริ่มเป็นที่สนใจแก่ผู้ประกอบการอัญมณีทั่วโลกในฐานะที่เป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีสำคัญที่มี ความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของโลก
 
                                
 
ศรีลังกา..แหล่งอัญมณีล้ำค่าของโลก
 
ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งอัญมณีที่มีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็นรัตนทวีป หรือเกาะแห่งอัญมณี (Island of Gems) ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของประเทศมีศักยภาพในการทำเหมืองอัญมณี ด้วยปริมาณอัญมณีที่มีอยู่มาก และประเภทที่หลากหลายกว่า 75 ชนิด ส่งผลให้อัญมณีกลายเป็นสินค้าสำคัญของศรีลังกาในยุคปัจจุบัน
 
การทำเหมืองในศรีลังกาส่วนใหญ่เป็นการเปิดประมูลให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน โดยภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดจากทางรัฐบาลในเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานเหมือง การทำเหมืองเป็นแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative or Local Gem Mining) ที่ใช้แรงงานคนในการขุดเป็นหลัก โดยเหมืองอัญมณีมากกว่าร้อยละ 80 ตั้งอยู่ที่เมืองรัตนปุระ (Ratnapura) ซึ่งอยู่ในเขตปกครอง Sabaragamuwa นอกนั้นที่เหลือกระจายตัวไปตามเมืองมาตาเล (Matale) เมืองบาดุลลา (Badulla) และเมืองโมเนรากาลา (Moneragala) ก่อให้เกิดการจ้างงานเฉพาะแรงงานเหมืองกว่า 6 แสนคน โดยอัญมณีที่มีชื่อเสียงและเป็นสินค้าสำคัญของศรีลังกา คือ พลอยแซปไฟร์สีน้ำเงิน ที่มีชื่อเรียกตามแหล่งขุดค้นว่า “ซีลอนแซปไฟร์” (Ceylon Sapphire) รวมถึงพลอยที่มีเอกลักษณ์เป็นสตาร์สโตน (Star Stone) หรือแซปไฟร์สาแหรก นอกจากนี้ ยังขุดพบอัญมณีล้ำค่าชนิดอื่นๆ ได้แก่ ทับทิม คริโซเบริล แอเมทิสต์ โกเมน ทัวร์มาลีน สปิเนล โทแพซ มูนสโตน เพทาย และเพริดอต ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าและทำให้ศรีลังกาเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญแห่งหนึ่งของโลก
 
การค้าอัญมณีระหว่างไทยกับศรีลังกา
 
จากการที่ศรีลังกาพัฒนาเทคนิคการเผาพลอย และการเจียระไนอัญมณีมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเกิดเป็นความชำนาญ ได้ส่งผลต่อการส่งออกอัญมณีที่แต่เดิมส่วนใหญ่ส่งออกกิวด้า (Geuda Stones) หรือพลอยก้อนตระกูลคอรันดัมที่ยังไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพเป็นสินค้าหลัก เปลี่ยนมาเป็นการส่งออกอัญมณีเจียระไน ทั้งเพชรและพลอยเจียระไน ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 48 และร้อยละ 42 ของการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด สำหรับด้านกฎระเบียบการค้าในปัจจุบันพบว่าศรีลังกาห้ามไม่ให้ส่งออกพลอยก้อนประเภทพลอยเนื้ออ่อน แต่จะเน้นส่งออกพลอยทุกประเภทที่ผ่านการเผาหรือเจียระไนภายในประเทศแล้วเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของพลอยกิวด้ายังคงมีการส่งออกอยู่โดยผู้ซื้อหรือผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อตกลงการค้ากิวด้าแบบเดิมที่จะต้องมีใบอนุญาต และทำการค้าผ่าน The Geuda Trading Center ที่รัตนปุระเท่านั้น เพียงแต่การซื้อขายพลอยกิวด้าในปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมลดลงเนื่องจากพลอยตระกูลนี้ได้ถูกนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือแต่พลอยกิวด้าที่มีคุณสมบัติปานกลางเท่านั้นที่ศรีลังกานำออกมาขาย
 
ด้านการค้าพลอยสีระหว่างศรีลังกากับไทยในปัจจุบัน นอกจากศรีลังกาจะเป็นแหล่งค้าวัตถุดิบที่ผลิตได้โดยตรงจากภายในประเทศแล้ว ยังเป็นทางผ่านในการไหลเข้าของพลอยสีจากทวีปแอฟริกามายังไทยด้วย โดยจากสถิติการค้าปี 2559 พบว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากศรีลังการาว 11.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.81 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมทุกประเภทจากศรีลังกา โดยสินค้าอัญมณีส่วนใหญ่ที่นำเข้าเป็นพลอยสี มีมูลค่ารวม 9.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.09 ของการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดจากศรีลังกา ซึ่งมูลค่าการนำเข้าดังกล่าวนี้ อาจต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ค่อนข้างมาก เพราะผู้ประกอบการไทยนิยมซื้อวัตถุดิบโดยตรงจากพ่อค้าชาวศรีลังกาที่ถือพลอยติดตัวเข้ามาค้าขายในประเทศไทยมากกว่าซื้อขายผ่านระบบศุลกากร ขณะที่ในด้านการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยไปยังศรีลังกาพบว่าขาดดุลการค้า เพราะศรีลังกายังไม่ใช่ตลาดพัฒนาแล้วที่มีการบริโภคสินค้าประเภทนี้อย่างกว้างขวาง หากแต่เป็นตลาดผู้ค้าวัตถุดิบเสียมากกว่า โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ เป็นพลอยเจียระไน และเครื่องประดับทอง
 
 
โอกาสทางการค้าและพัฒนาความร่วมมือด้านอัญมณีระหว่างไทยกับศรีลังกา
 
ไทยกับศรีลังกามีความสัมพันธ์และทัศนคติอันดีระหว่างกันในทุกมิติ สำหรับด้านอัญมณีและเครื่องประดับนั้น นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ทางการค้าวัตถุดิบที่มีระหว่างกันแล้ว ปัจจุบันทั้งสองประเทศกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอัญมณีศาสตร์และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของศรีลังกา ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ที่ทำการค้ากับพ่อค้าหรือหุ้นส่วนชาวศรีลังกามักมีทัศนคติที่ดีต่อคนศรีลังกา เพราะสามารถเจรจาการค้าได้ง่าย พ่อค้าศรีลังกาไม่ค่อยกดราคาพลอยและผู้ซื้อได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการ แต่ทั้งนี้ หากเป็นการค้าพลอยก้อนบางประเภทยังคงมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากศรีลังกาประกาศห้ามไม่ให้มีการส่งออกพลอยก้อนประเภทพลอยเนื้ออ่อนที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน แต่ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยความพยายามของไทยกับศรีลังกาที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระยะยาว ทั้งกรอบความร่วมมือเฉพาะอย่าง และแผนที่จะจัดทำ FTA ระหว่างกัน ก็ถือเป็นทิศทางที่ดีต่อการค้าในอนาคต โดยเมื่อพิจารณาถึงประเทศไทยจะเห็นว่าปัจจุบันต้องนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ ศรีลังกาถือเป็นแหล่งวัตถุดิบคุณภาพแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ ดังนั้น หากทั้งสองประเทศมีความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อาจเป็นโอกาสของฝ่ายไทยที่จะเปิดการเจรจาใหม่ให้ศรีลังกาผ่อนปรนการส่งออกพลอยก้อนแก่ไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะพลอยเนื้ออ่อนซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการไทย อีกทั้งยังช่วยทำให้การค้าอัญมณีมีความคล่องตัวและมีปริมาณการค้ามากขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะนำเอาวัตถุดิบมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐ หากมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการศรีลังกานำพลอยสีเข้ามาขายในไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเลือกซื้อพลอยสีให้แก่ผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกด้วย
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
-------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. โอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา, Thai Trade Centre, Chennai, India.
2. INDUSTRY CAPABILITY REPORT, Export Development Board (EDB), Sri Lanka 2016.
3. Exporters’ handbook, National Gem and Jewellery Authority, Sri Lanka.
4. FTA ไทย-ศรีลังกา ตลาดใหม่เอเชียใต้, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (วันที่ 29 ส.ค. 2560).

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที