GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 29 ม.ค. 2018 06.39 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3681 ครั้ง

เครื่องทองโบราณเพชรบุรีเกิดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) จึงทำให้มีการส่งช่างหลวงในสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งรวมถึงช่างทองหลวงเข้าไปยังเมืองเพชรบุ


เครื่องทองโบราณแห่งเมืองเพชรบุรี


จังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเมื่อครั้งอดีตได้เคยเป็นเมืองหน้าด่านของไทยทางทิศตะวันตกและมีความเจริญทางด้านการค้า ปัจจุบันนอกจากเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานต่างๆ แล้ว ยังปรากฏงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นผลงานของช่างสกุลเมืองเพชรซึ่งมีหลากหลายแขนงตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน อาทิ งานจิตรกรรม งานปฏิมากรรม งานแกะสลัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเครื่องทองรูปพรรณแบบโบราณ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี                                                                                                                                                                           
ความเป็นมาของทองโบราณเพชรบุรี
         
เครื่องทองโบราณเพชรบุรีเกิดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) จึงทำให้มีการส่งช่างหลวงในสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งรวมถึงช่างทองหลวงเข้าไปยังเมืองเพชรบุรี อีกทั้งในรัชสมัยต่อๆ มายังได้มีการก่อสร้างสถานที่ต่างๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ พระราชวังรามราชนิเวศน์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ดังนั้น การที่ช่างสิบหมู่ในราชสำนักได้มารวมตัวกันอยู่ที่เมืองเพชรบุรี จึงทำให้ศิลปะชั้นสูงได้หลั่งไหลเข้าสู่เมืองเพชรบุรี จนเกิดการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในท้องถิ่น โดยศิลปะการทำเครื่องทองได้ถูกถ่ายทอดให้แก่ช่างทองพื้นเมืองเพชรบุรีที่ได้มีโอกาสมาเป็นผู้ช่วยช่างหลวง เกิดการหลอมรวมศิลปะและเทคนิคต่างๆ กลายเป็นเครื่องทองเมืองเพชรที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว คือ มีความเป็นงานศิลปะแบบไทยโบราณผสมผสานกับความเป็นพื้นบ้านของเพชรบุรีที่นำเสนอความงดงามของธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากเครื่องทองเอาไว้อย่างกลมกลืน รวมทั้งมีการถ่ายทอดศิลปะและเทคนิคการผลิตเครื่องทองให้แก่ช่างรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าเครื่องทองเพชรบุรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย

 

เอกลักษณ์ของทองโบราณเพชรบุรี
    
       

เครื่องทองเพชรบุรีจัดเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีความงดงาม ด้วยมีเอกลักษณ์และรูปแบบเหมือนกับทอง โบราณ ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจากช่างทองหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลวดลายที่ปรากฏบนชิ้นงานจัดเป็นลวดลายของทองโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความละเอียด อ่อนช้อย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
           
การผลิตเครื่องทองของเพชรบุรี ส่วนมากเป็นการผลิตเครื่องประดับทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู จี้ เข็มกลัด ฯลฯ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ที่รูปทรงและลวดลายดัดแปลงจากธรรมชาติ รวมถึงสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ ลูกสน ดอกพิกุล ไข่ปลา เต่าร้าง ดอกพิกุล ดอกมะลิ ปลา เป็นต้น วัสดุที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับมีทั้งทอง เงิน นาค และอัญมณี นอกจากนี้ ในส่วนของรูปแบบชิ้นงานที่มีชื่อเสียงและสะท้อนเอกลักษณ์ของทองเพชรบุรีได้ค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ 


♦ “สร้อยขัดมัน” ซึ่งเกิดจากการใช้เทคนิคเฉพาะของช่างเมืองเพชรในการนำลวดทองมาดัดเป็นรูปวงรี เชื่อมห่วงแต่ละห่วงให้ต่อกันเหมือนโซ่แล้วใช้ตะไบละเอียดลบเหลี่ยมของสันห่วงตลอดเส้น โดยสร้อยขัดมันถือเป็นชิ้นงานพื้นฐานดั้งเดิมที่ช่างเมืองเพชรทุกคนต้องทำเป็น 

♦ “กำไลก้านบัว” ถือเป็นชิ้นงานที่ช่างเมืองเพชรใช้ศิลปะการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างแบบอยุธยากับแบบจีน มีลักษณะเป็นกำไลที่ส่วนปลายเป็นรูปดอกบัวหลวง โดยส่วนที่เป็นทองคำจะอยู่ตรงส่วนปลายของทั้งสองข้างและมีการสลักลวดลายตรงกลีบบัว เช่น ลายประจำยาม 

♦ “แหวนหรือกำไลพิรอด” มีลักษณะเป็นแหวนถักคล้ายกับเครื่องรางสมัยโบราณ ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของคนภาคกลางสมัยก่อน ส่วนมากนิยมฝังพลอยนพเก้าลงไป

♦ “แหวนตะไบ” มีลักษณะเป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีกที่มีการสร้างลวดลายโดยตะไบขอบทั้งสองข้างของแหวนให้เป็นร่องลึก

การค้าเครื่องทองเพชรบุรีในปัจจุบัน
         

  

เครื่องทองเพชรบุรีที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของเครื่องประดับทั้งแหวน สร้อยคอ  สร้อยข้อมือ ต่างหู เข็มกลัด ฯลฯ โดยมีกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่และนักสะสมที่ชื่นชอบศิลปะแบบโบราณ เครื่องทองเมืองเพชรสามารถสวมใส่ได้ทั้งชายและหญิงโดยมีหลายระดับราคาขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการผลิต โดยทั่วไปช่างต้องใช้เวลาในการผลิตแต่ละชิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 10 วัน ค่าแรงของช่างเริ่มต้นชิ้นละ 1,500 บาทขึ้นไปตามลักษณะของชิ้นงาน ในด้านการค้าเครื่องทองเพชรบุรีในปัจจุบันค่อนข้างซบเซาเพราะลูกค้ามีจำนวนน้อย ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการลง ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนได้พยายามใช้วิธีขายสินค้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์ รวมถึงรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้ ในภาคการผลิตพบว่าจำนวนช่างฝีมือทำเครื่องประดับทองเพชรบุรีก็ลดน้อยลงไปด้วย เนื่องจากแต่เดิมการถ่ายทอดงานช่างทองจังหวัดเพชรบุรี มักสอนให้เฉพาะแค่คนในครอบครัวและผู้ที่มีใจรักในศิลปะอย่างจริงจังเท่านั้น แวดวงช่างฝีมือจึงค่อนข้างจำกัด เกิดการขาดช่วงและเกิดช่างฝีมือน้อยลงเรื่อยๆ
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มกราคม 2561
 
-------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :

1. “เครื่องทองโบราณเพชรบุรี”, กรุช่างทองเพชรบุรี (http://www.guruthaiantiquejewelry.com/)
2. “ช่างทองเมืองเพชรบุรี”, ร้านทองโบราณเพชรบุรี (http://www.guruthaiantiquejewelry.com)
3. “เครื่องทองโบราณ สกุลช่างเพชรบุรี”, มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (http://ich.culture.go.th/)
4. “ช่างทองเมืองเพชรบุรีศิลปะแห่งนพคุณเมืองทักษิณ”, สมาคมค้าทองคำ (ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2557)
 
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที