GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 12 ก.ค. 2018 08.13 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3400 ครั้ง

อัญมณีแต่ละชนิดล้วนมีความงดงามโดยเฉพาะเมื่อได้รับการเจียระไนแล้ว แต่อัญมณีบางชนิดกลับดูสวยงามมากที่สุดเมื่อปล่อยให้อยู่ในสภาพตามธรรมชาติ อย่างอัญมณีผลึกที่มักเรียกกันว่า Druse หรือ Druzy มาเจาะลึกเรื่องสิ่งมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติได้จากบทความนี้


อัญมณีผลึก: ของขวัญจากพื้นพิภพ

มีอัญมณีมากมายมหาศาลบนโลกใบนี้ บางชนิดเราอาจรู้จัก แต่บางชนิดก็ยังคงความลึกลับ บางชนิดอาจมีองค์ประกอบหายาก ขณะที่บางชนิดมีสีสันอันน่าอัศจรรย์ แต่ทุกชนิดล้วนมีความงดงาม อัญมณีดรูซี (Druse หรือ Druzy Gemstone) ก็นับเป็นของขวัญอันน่าทึ่งอีกชนิดหนึ่งจากธรรมชาติ

ที่มา: https://www.beadaholique.com

มนุษยชาติยกย่องความงามของอัญมณีมาเนิ่นนานแล้วเราไม่อาจต้านทานเสน่ห์ความงามของมันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัญมณีได้รับการตัดแต่งและเจียระไนแล้ว อย่างไรก็ดี อัญมณีบางชนิดกลับดูสวยงามมากที่สุดเมื่อปล่อยให้อยู่ในสภาพตามธรรมชาติ ตัวอย่างที่ดีของกรณีดังกล่าวคืออัญมณีผลึกที่มักเรียกกันว่า ดรูซหรือดรูซี เราจะมาเจาะลึกเรื่องสิ่งมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติสิ่งนี้กัน

ดรูซีคืออะไร

ดรูซหรือดรูซีเป็นผลึกขนาดเล็กจิ๋วที่ก่อตัวขึ้นภายในหรือบนพื้นผิวแร่ชนิดอื่น ดรูซีเกิดขึ้นได้ทั่วโลก โดยที่พบมากที่สุดน่าจะเป็นดรูซีภายในช่องว่างของหินควอตซ์ประเภทเชิร์ต (Chert) หรือหินอะเกต (Agate) โดยการ์เนต แคลไซต์ โดโลไมต์ และแร่อีกหลายชนิดสามารถก่อตัวในรูปของดรูซีที่เป็นผลึกเคลือบภายนอก ดรูซีเหล่านี้ดูสวยงามมากขึ้นเมื่อใช้ตกแต่งในเครื่องประดับ

ดรูซีควอตซ์ใช้เวลานานหลายล้านปีในการเติบโตอย่างช้าๆ กระบวนการทางธรณีวิทยาในการก่อตัวของดรูซี หรือชั้นผลึกบนหินนั้น เกิดขึ้นเมื่อน้ำนำแร่ธาตุมาเคลือบบนพื้นผิวของหิน เมื่อน้ำระเหยไปก็เกิดความเย็นขึ้น และแร่ธาตุที่เหลืออยู่ก็ก่อตัวเป็นผลึกที่ด้านบนของหิน

ดรูซีไม่จำเป็นต้องหมายถึงควอตซ์เสมอไป ดรูซีเป็นแร่ชนิดใดก็ได้ที่พบในลักษณะระนาบแบน เช่น การ์เนต แคลไซต์ โดโลไมต์ และมาลาไคต์ นอกจากนี้ยังมีดรูซีประเภทอื่นๆ ได้แก่ อูวาโรไวต์การ์เนต เรนโบว์ไพไรต์ เรนโบว์ฮีมาไทต์ คริโซคอลลา แคลไซต์ โดโลไมต์ สฟาเลอไรต์ ดีมันทอยด์การ์เนต เมลาไนต์การ์เนต อะซูไรต์
ไดออปเทส เทอร์คอยส์ และวานาดิไนต์

ดรูซีอาจค่อนข้างเปราะบางเมื่อเทียบกับอัญมณีทรงหลังเบี้ย และอัญมณีที่เจียระไนเป็นเหลี่ยมทั่วไป ความแข็งแกร่งของอัญมณีดรูซีแต่ละชิ้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของตัวผลึกและส่วนผลึกละเอียดของหินซึ่งมันฝังตัวอยู่ โดยอัญมณีดรูซีมักพบในไทย จีน อินเดีย และบราซิล

สีสันของดรูซี

เนื่องจากอัญมณีประเภทนี้มักเกิดจากผลึกควอตซ์ที่โปร่งใส จึงมักมีสีเทาหรือสีน้ำเงิน แต่ก็อาจพบเป็นสีน้ำตาล แดง เหลือง และส้มได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแบบที่เป็นผลึกการ์เนตสีเขียวน้ำทะเลหรืออะซูไรต์สีน้ำเงินสดอีกด้วย

ตามข้อมูลจาก Wikipedia เราสามารถเพิ่มสีให้ดรูซีได้ด้วยวิธีการชุบเคลือบผิวด้วยไฟฟ้า (Electroplating) คล้ายวิธีการที่ใช้กับโรเดียม ทำให้อัญมณีดูมีสีสันและสดใสกว่าที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ

ดรูซีกับความเชื่อ

เชื่อกันว่าผลึกดรูซีช่วยเพิ่มความเข้มแข็งและเสริมสร้างความคิดใหม่ๆ ที่ช่วยให้คนเราเติบโต นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับความกลมกลืนสอดคล้อง ความอดทน และความรักในเชิงบวก อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในชื่อ “อัญมณีแห่งสรวงสวรรค์” (Gemstone of Heaven) ผลลัพธ์ด้านการบ่งชี้ที่อัญมณีชนิดนี้มีต่อร่างกายและจิตใจช่วยให้ผู้สวมใส่เข้าถึงภูมิปัญญาขั้นสูงได้ หลายคนเชื่อว่าดรูซีช่วยให้ผู้ใช้มีจิตใจสงบและช่วยลดความกระวนกระวาย

นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่าดรูซีมีคุณสมบัติด้านการรักษาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงระบบสืบพันธุ์ บางคนมองว่าอัญมณีชนิดนี้สามารถช่วยรักษาการติดเชื้อ หรือบางคนก็เชื่อว่าอัญมณีชนิดนี้มีผลต่อสภาวะทางอารมณ์และสติปัญญา

ในระยะหลังมานี้ เครื่องประดับดรูซียังสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในพลังการรักษาของคริสตัลได้อีกด้วย

เครื่องประดับดรูซี

คุณสมบัติหลักประการหนึ่งของอัญมณีดรูซีคือมันเป็นอัญมณีเจียระไนขนาดใหญ่ มีประกายงดงามและสีสันสดใส นอกจากนี้ยังสามารถเจียระไนให้เป็นรูปทรงต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงดูงดงามเมื่อใช้เป็นอัญมณีเม็ดหลักในเครื่องประดับประเภทจี้

ดรูซีเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้งานได้ในราคาไม่สูง และเนื่องจากสามารถเจียระไนเป็นรูปทรงต่างๆ ได้มากมาย อัญมณีประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ผลิตเครื่องประดับหรือนักออกแบบที่ต้องการทดลองสิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้สีสันที่สดใสช่วยให้นำมาทำเป็นเครื่องประดับที่งดงามดึงดูดใจได้เป็นอย่างดี

ที่มา: https://www.pinterest.ph/fordheather21/jewelry/

------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กรกฎาคม 2561

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที