KC

ผู้เขียน : KC

อัพเดท: 25 ม.ค. 2007 14.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 26000 ครั้ง

น้ำมันแพงคุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ช่วยกันประหยัดพลังงานกันดีกว่าครับ แล้วจะำทำยังไงดีล่ะ จะได้ผลมั้ยเนี่ย ติดตามในบทความนี้มีคำตอบรออยู่


กลยุทธ์การบริหารการใช้พลังงาน (Energy management – a strategic approach)

วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

การใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่าก็คือการบริหารการใช้พลังงานนั่นเอง ซึ่งต้องเริ่มจากการกำหนด      กลยุทธ์แบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอนดังนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1 สร้างสัญญาประชาคม (Get commitment) ร่วมกัน

ขั้นตอนที่ 2 สร้างความเข้าใจร่วมกัน (Understanding)

ขั้นตอนที่ 3 วางแผน (Plan) จัดทีมงานให้พร้อม (Organize) กำหนดเป้าหมาย (targeting) และวางแผนปฏิบัติการ (Action plan)

ขั้นตอนที่ 4 เป็นขั้นที่สำคัญมากคือนำไปปฏิบัติ (Implement) ปลูกฝังจิตสำนึกให้กับพนักงาน (staff awareness) ฝึกอบรม (training) และลงทุนในกิจกรรมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า (investment in energy efficiency measures)

ขั้นตอนที่ 5 ควบคุม (control) ติดตามผลความก้าวหน้า (monitor progress) และพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือทำให้ดีขึ้นไงครับ (continuous improvement)

 

มาศึกษาแต่ละขั้นตอนให้ละเอียดขึ้นดีมั้ยครับ

 

ขั้นตอนที่ 1 สร้างสัญญาประชาคม (Get commitment) ร่วมกัน

ในระหว่างทศวรรษที่ 1980 ผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจสี ICI Paint มีนโยบายที่จะบริหารและจัดการพลังงานในโรงงานผลิตสี ICI ที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯในเมือง Slough ประเทศอังกฤษให้มีประสิทธิภาพ แต่การบริหารจัดการดังกล่าวขาดเป้าหมายที่วัดได้และกำหนดเวลาที่ชัดเจน เป็นการทำงานตามความพอใจมากกว่า ถึงแม้ว่า ICI Paint ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานเพื่อสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดแผนการดำเนินการจนแล้วเสร็จในปี ค.. 1984 แต่ปรากฏว่าแผนการดำเนินการที่บริษัทที่ปรึกษาฯให้คำแนะนำไว้ไม่ได้ถูกนำไปปฎิบัติอย่างเต็มที่ เหตุผลเพราะว่าต้นทุนด้านพลังงานมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่นและนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกลุ่มบริษัท ICI แต่อย่างใด

 

ต่อมาในปีค.. 1995 ประเด็นเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกลายเป็นประเด็นสำคัญภายในกลุ่มบริษัท ICI อย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจต่างๆภายในบริษัท ICI ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและปรับปรุงเรื่องของความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมภายในกลุ่มบริษัท ICI ทั่วโลก ภายใต้นโยบาย The Safety, Health and Environment (SHE) Challenge 2000 Initiative โดยนโยบายนวัตกรรมใหม่เพื่อสหัสวรรษใหม่นี้ได้รับการลงนามโดยซีอีโอของบริษัทเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงในด้านความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

 

หนึ่งในเป้าหมายของนวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ถูกระบุไว้ภายใต้นโยบายนี้ก็คือ

 

“ภายในสิ้นปีค..2000 เราจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตต่อตันเพิ่มขึ้น 10% จากประสิทธิภาพการใช้พลังงานในปีค.. 1995: - By the end of year 2000 we will improve our energy efficiency per tonne of production by 10% of the 1995 base level” 

 

 เป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นเป้าหมายร่วมกันในกลุ่มบริษัท ICI และเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มธุรกิจสี ICI Paint ในการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า

 

เมื่อฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการได้กำหนดสัญญาประชาคมที่มีเป้าหมายที่วัดได้และกรอบเวลาที่ชัดเจน ก็กล่าวได้ว่าเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จในการบริหารและจัดการพลังงานแล้วครับ

 

ขั้นตอนที่ 2 สร้างความเข้าใจร่วมกัน (Understanding)

 

เมื่อมีเป้าหมายการประหยัดพลังงานที่ชัดเจนแล้ว ผู้จัดการทั่วไปของฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นยุโรปของบริษัทICI ได้มีคำสั่งไปยังหน่วยงานของโรงงาน Slough ให้กำหนดกลยุทธ์หรือยุทธวิธีของตนเองในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทที่กำหนดไว้

 

ความรับผิดชอบดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ของแผนกซ่อมบำรุง (Services Department) ซึ่งในทันทีที่ได้รับคำสั่งผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุงได้จัดตั้งคณะทำงานด้านพลังงานประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 3 คน ได้แก่ ตัวผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุงเอง (Services department manager) วิศวกรซ่อมบำรุง (Site service engineer) และ วิศวกรจัดการด้านภาวะแวดล้อมในภาคพื้นยุโรป (European environmental engineer) เนื่องจากงานที่วิศวกรจัดการด้านภาวะแวดล้อมรับผิดชอบอยู่ต้องติดต่อกับโรงงานผลิตในภาคพื้นยุโรปจำนวนหลายโรงงาน จึงเป็นเสมือนช่องทางในการแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์จากโรงงานต่างๆอีกด้วย

 

งานที่คณะทำงานลงมือทำก็คือ กำหนดปริมาณการใช้พลังงานในปีฐานและในปีเป้าหมายในอนาคต รวบรวมเอกสารบันทึกการใช้พลังงานเชื้อเพลิง (Fuel bill record) บันทึกค่าปริมาณพลังงานที่ใช้จากเครื่องวัดหน่วยพลังงานของผู้จำหน่ายพลังงาน (Utility provider) บันทึกค่าปริมาณพลังงานที่ใช้จากเครื่องวัดหน่วยพลังงานรองที่ติดตั้งไว้ที่หน่วยผลิตต่างๆเช่น แผนกผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่ง (Decorative Production) แผนกผลิตภัณฑ์เรซิน (Resins Production) แผนกวิจัยและพัฒนา (Research Development) หน่วยงานในสำนักงานใหญ่ เป็นต้น

 

ผลจากการตรวจสอบพบว่าพลังงานที่ใช้ประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนแรกจะบริหารจัดการได้โดยแผนกซ่อมบำรุง แผนกซ่อมบำรุงสามารถกำหนดมาตรการในการประหยัดพลังงานเองได้  และส่วนที่สองเป็นการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตโดยอยู่ในการควบคุมของหน่วยผลิตต่างๆในโรงงาน  ดังนั้นการกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานต่อไป ต้องครอบคลุมเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดทุกคน ทุกแผนก และทุกระดับชั้นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ 

 

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ก็คือการขาดจิตสำนึกของพนักงานในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยพนักงานไม่เห็นประโยชน์ของการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยมาตรการต่างๆซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบควบคุมการผลิตภายในโรงงาน

 

จากตัวอย่างข้างต้น อาจจะสรุปได้ถึงสิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนที่สองได้แก่ การตรวจวัดปริมาณพลังงานที่ใช้ ระบุจุดแข็งและจุดอ่อนในการบริหารจัดการ และวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงประเมินถึงสิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการนำแผนไปปฏิบัติ

 

ขั้นตอนที่ 3 วางแผน (Plan) จัดทีมงานให้พร้อม (Organize) กำหนดเป้าหมาย (targeting) และวางแผนปฏิบัติการ (Action plan)

 

คณะทำงานได้จัดทำนโบายพลังงาน (Energy policy) โดยนำแผนการดำเนินการที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาฯในปีค.ศ. 1984 และแก้ไขในปีค.ศ. 1994 มาปรับปรุงให้เหมาะสมโดยมีรายละเอียดดังนี้ : -

·       ปรับปรุงคุณภาพของฉนวนหุ้มท่อไอน้ำแรงดันสูงและท่อน้ำหล่อเย็น

·       ปรับปรุงคุณภาพหม้อน้ำ (Boiler) โดยการปรับปริมาณก๊าซออกซิเจนและระบบควบคุมอัตโนมัติ

·       ติดตั้งระบบ Building Energy Management System (BEMS) เพื่อควบคุมระบบทำความร้อนในอาคาร Main production

·       จัดลำดับกระบวนการควบคุมของระบบ Air compressor (Sequence control of air compressors)

·       ปรับเปลี่ยนระบบ Thermal fluid heater จากระบบเผาไหม้ด้วย น้ำมัน เป็น แก๊ส

·       ติดตั้งระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างอัตโนมัติในสำนักงานใหญ่

 

คณะทำงานซึ่งมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมมีความคุ้นเคยกับนโยบายพลังงานที่กำหนดขึ้น แต่การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกของพนักงานให้ร่วมกันประหยัดและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่านั้น เป็นงานที่คณะทำงานไม่ถนัด แต่เมื่อได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานราชการด้านพลังงานถึงแนวทางและวิธีการในการบริหารและจูงใจพนักงาน ทำให้คณะทำงานมีจุดเริ่มต้นจากแผ่นโปสเตอร์และแผ่นพับที่ได้รับแจกมา

 

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวคณะทำงานมีความคิดว่าแผ่นโปสเตอร์และแผ่นพับที่ได้รับมาไม่สอดคล้องกับแผน นโยบายที่กำหนดขึ้น ดังนั้นคณะทำงานจึงทำการผลิตแผ่นโปสเตอร์และแผ่นพับที่มีลักษณะเฉพาะและสอดคล้องกับนโยบายพลังงานที่วางไว้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Clip Art ที่ใช้งานง่าย เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์สีซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในโรงงาน ทำให้การผลิตแผ่นโปสเตอร์และแผ่นพับมีต้นทุนที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้การที่ได้ลงมือทำเองทำให้สามารถปรับปรุงและแก้ไขเนื้อหาหรือข้อความต่างๆได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกสัปดาห์

 

จากการทำงานของคณะทำงาน สรุปได้ว่างานที่อยู่ในขั้นตอนที่ 3 ประกอบด้วยการพัฒนานโยบายพลังงานโดยกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนรวมถึงการพัฒนาแผนการดำเนินงานในขั้นรายละเอียด และต้องกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจนอีกด้วย

 

ขั้นตอนที่ 4 นำไปปฏิบัติ (Implement) สร้างจิตสำนึก (staff awareness) ฝึกอบรม (training) และลงทุนในกิจกรรมการประหยัดและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า (investment in energy efficiency measures)

 

คณะทำงานเริ่มเผยแพร่สัญญาประชาคมในการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าให้พนักงานทุกคนในโรงงานผลิตสี ICI Slough ได้รับรู้ถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบายพลังงาน เหตุการณ์แรกของการรณรงค์สร้างจิตสำนึกใหักับพนักงานเริ่มต้นที่ลานกิจกรรมของสำนักงานใหญ่และห้องอาหารในโรงงานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996 โดยการเปิดตัวคณะทำงานอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับ ติดโปสเตอร์ให้ความรู้ถึงมาตรการ วิธีการและเคล็ดลับต่างๆในการประหยัดพลังงาน คำขวัญเพื่อจูงใจและสร้างจิตสำนึกของพนักงานถูกติดทั่วไปในสำนักงานและโรงงานผลิต

 

เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกันของพนักงานให้มากยิ่งขึ้น คณะทำงานได้นำเจ้า “สุนัขเดอลักซ์  Dulux Dog” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงของสี ICI เข้าร่วมในการรณรงค์เพื่อการประหยัดพลังงานอีกด้วย ทำให้การสื่อสารกับพนักงานเปลี่ยนเป็นรูปแบบเจ้าสุนัขเดอลักซ์กำลังคุยกับพนักงานหรือขอความร่วมมือกับพนักงาน ทำให้การรณรงค์ได้ผลมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ คณะทำงานได้จัดสัมมนาเพื่อพูดคุยและให้ความรู้กับพนักงานในมาตรการหรือวิธีที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น การลดการใช้ไอน้ำ (The reduction of steam) การขจัดการรั่วของลมแรงดันสูง (The reduction of compressed air leak) เป็นต้น นอกจากนี้คณะทำงานยังได้นำปริมาณพลังงานที่ใช้ประจำเดือนมาติดประกาศไว้ที่บอร์ดแจ้งข่าวด้านพลังงานเพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับทราบถึงผลที่ได้จากการประหยัดพลังงานซึ่งเป็นผลงานของพนักงานอีกด้วย

 

จากการทำงานของคณะทำงาน สรุปได้ว่างานที่อยู่ในขั้นตอนที่ 4 ประกอบด้วย จัดลำดับความสำคัญของแผนงานและการลงทุน ดำเนินการฝึกอบรมและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน ผสมผสานการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าไปในแผนธุรกิจ สื่อสารผลงานที่ได้ปฏิบัติให้กับทุกคนได้รับรู้ และเอาชนะอุปสรรคต่างๆให้ได้

 

ขั้นตอนที่ 5 ควบคุม (Control) ติดตามผลความก้าวหน้า (monitor progress) และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous improvement)

 

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy performance) ถูกติดตามผลอยู่ตลอดเวลา โดยแสดงผลในรูปของปริมาณการใช้พลังงานต่อผลผลิตที่ได้ (MJ / litre) ยิ่งไปกว่านั้นพารามิเตอร์หลักที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของหน่วยผลิตหลัก ได้แก่ หม้อน้ำความดันสูง จะถูกนำมาบันทึกและเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark value)  

 

นอกจากนี้ข้อมูลด้านพลังงานถูกนำมาวิเคราะห์และแสดงผลในรูปของตาราง Spreadsheet อย่างง่ายด้วยโปรแกรม EXCEL ซึ่งจะถูกนำไปแสดงผลต่อไปในรูปกราฟที่เข้าใจง่าย ทำให้พนักงานเห็นผลงานของตนได้ทุกเดือนอีกด้วย

 

ปริมาณพลังงานที่ใช้ที่บันทึกด้วยมิเตอร์รอง (Sub-meter) ที่ติดตั้งตามหน่วยผลิตต่างๆได้ถูกนำมาวิเคราะห์และแสดงผลในรูปของกราฟด้วยเช่นกัน ทำให้ในกรณีที่ปริมาณพลังงานที่ใช้ในแต่ละหน่วยผลิตใดๆมีค่ามากเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ ผู้จัดการของแต่ละหน่วยผลิตจะทำการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและควบคุมการใช้พลังงานให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

เมื่อมีการประเมินถึงผลสำเร็จในการสร้างจิตสำนึกของพนักงานพบว่า มาตรการที่ยอมรับกันว่าได้สร้างความสำเร็จอย่างมากได้แก่ การใช้ สุนัขเดอลักซ์ร่วมในการรณรงค์  การใช้โปสเตอร์ที่มีอารมณ์ขัน และการเปลี่ยนโปสเตอร์เป็นรายเดือนให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

และสุดท้ายได้มีการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน (Work goal) ขึ้นมา เป็นพันธกิจร่วมกันของทุกคนในโรงงาน Slough ที่จะเพิ่มผลผลิต (Improving productivity) พัฒนาความสามารถของพนักงาน (Staff development) เพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Quality improvement) รวมถึงคำนึงถึงความปลอดภัย (Safety) สุขอนามัย (Health) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ตามนโยบาย SHE Challenge 2000 Initiative

 

ผลงานที่ได้จากความตั้งใจ ความมุ่งมั่นและความร่วมมือกันของพนักงานทุกคนแสดงในตารางที่ 1

 

 

ปี ค.ศ.

พลังงานที่ใช้ไปเทียบกับผลิตภัณฑ์สีที่ผลิตได้ (MJ / litre)

ร้อยละของการใช้พลังงานที่ลดลงได้ เทียบกับปี ค.ศ. 1995

1995

5.55

-

1996

4.89

11.9

1997

3.62

34.8

 

ในปี ค.ศ. 1997 โรงงาน ICI Paint Slough ก็ได้รับรางวัล “ Judges Special Award for SHE” ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีที่นิตยสาร Management Today มอบให้

 

พนักงานทุกคนในโรงงาน ICI Paint Slough มีความภูมิใจในการที่มีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายของการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า ภายในกลุ่มบริษัท ICI ทั่วโลก โรงงาน ICI Paint Slough ได้รับการยอมรับให้เป็นโรงงานตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างได้ผล ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและสร้างผลกำไรให้กลุ่มธุรกิจ ICI ได้อย่างแท้จริง

 

มาถึงขั้นตอนที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย สรุปได้ว่างานที่อยู่ในขั้นตอนนี้ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทบทวนและตรวจสอบความก้าวหน้า รวมถึงการแสวงหาการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ดีใจกับผลงานของพนักงานโรงงานผลิตสี ICI Slough ในการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่ามั้ยครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที