suriya

ผู้เขียน : suriya

อัพเดท: 31 มี.ค. 2019 22.13 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2117 ครั้ง

ตั๋วแลกเงินความคุ้มค่าที่น่าเสี่ยง


ตั๋วแลกเงินความคุ้มค่าที่น่าเสี่ยง

ตั๋วแลกเงิน หรือบีอี จัดเป็นประเภทหนึ่งของตั๋วเงิน โดยตั๋วเงินมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ตั๋วสัญญาใช้เงิน บีอี และเช็ค ในตั๋วเงินนั้นจะมีการระบุชื่อผู้ ออกตั๋วหรือผู้จ่ายเงิน และผู้รับเงิน จัดเป็นตราสารที่แสดงความเป็นหนี้ จึงถูกเรียกว่าตราสารหนี้ หรือตราสารการเงิน

          สิ่งที่บีอีแตกต่างจากตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คอยู่ตรงที่บีอีสามารถเปลี่ยนมือได้โดยการสลักหลังตั๋วสามารถระบุข้อความ “ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย” ลงไป ซึ่งหมายความว่าหากตั๋วครบกำหนดแล้วผู้จ่ายเงินไม่สามารถจ่ายให้ผู้ถือตั๋วได้ ผู้ถือตั๋วต้องไปเร่งรัดเอาจากผู้ออกตั๋ว หากไม่จ่ายก็ไม่สามารถไปไล่เบี้ยเอากับผู้สลักหลัง ยกเว้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าวลงไป ซึ่งแตกต่างจากตั๋วเงินอีก 2 ประเภทที่สลักหลังหรือเซ็นชื่อหลังตั๋วแล้ว ชื่อที่สลักหลังต้องรับหน้าที่เสมือนผู้ค้ำประกัน หากครบกำหนดแล้วผู้ออกตั๋วไม่จ่ายเงิน ผู้ถือตั๋วสามารถไล่เบี้ยเอากับผู้สลักหลังได้ ดังนั้นเมื่อมีการออกบีอีจากภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนไปใช้ในกิจการ ผู้ให้กู้ที่ซื้อบีอีไว้ในมืออาจนำไปขายให้แก่ผู้อื่นได้ โดยผู้ถือจะมีสิทธิรับเงินโดยตรงจากผู้ออกตั๋วนั้นๆ

          ด้วยความที่เปลี่ยนมือได้ ทำให้มีความคล่องตัวสูง บีอีจึงเป็นรูปแบบที่นิยมมากสำหรับบริษัทที่มีความจำเป็นต้องออกตั๋วเงิน และเมื่อนำบีอีมาเทียบกับหุ้นกู้ซึ่งเป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนเหมือนกันแล้วพบว่า เหตุที่การออกบีอีได้รับความนิยมมากกว่าก็เพราะระยะเวลาครบกำหนดของบีอีนั้นไม่เกิน 270 วันและการจะออกบีอีได้ไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในขณะที่หุ้นกู้มีช่วงครบกำหนดยาวกว่าคือ 3-5 ปี และต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งตรงนี้มีการเสียค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง สำหรับตัวผู้ออกบีอีหรือผู้ขอกู้นั้นด้วยระยะเวลาในขอกู้ที่สั้นกว่าและค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า ไม่ยุ่งยาก ทำให้ที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทแนะนำการออกบีอีแทนการออกหุ้นกู้ แต่สำหรับตัวผู้ให้กู้หรือนักลงทุนนั้น บีอีก็อาจมีความเสี่ยงกว่าเพราะประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทได้ยากเนื่องจากบีอีไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั่นเอง

          จะเห็นว่าการออกตั๋วแลกเงินหรือบีอีให้ประโยชน์แก่บริษัทตรงที่ต้นทุนในการออกบีอีต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคาร ส่วนผู้ลงทุนก็ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในธนาคารและเป็นการลงทุนในระยะสั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์อีกรายหนึ่งก็คือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ยิ่งมีบริษัทออกบีอีมากเท่าไหร่ บลจ.ก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนมากขึ้นเท่านั้น โดยการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในบีอีเป็นการเฉพาะขึ้นมา เมื่อทั้ง 3 ฝ่ายต่างก็ได้ผลประโยชน์เช่นนี้ จึงเป็นการเอื้อให้บีอีได้รับความนิยมในการลงทุนมากกว่ารูปแบบอื่น

          ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือความน่าเชื่อถือของบริษัท หากผู้ลงทุนมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทก็จะทำให้มีความเสี่ยงน้อย แถมได้ผลตอบแทนที่ดี แต่หากขาดประสบการณ์แล้วต้องการลงทุนในตราสารหนี้อาจเลือกไปลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลแทนเช่น พันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากถือเป็นลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือสูงนั่นเอง

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที