suriya

ผู้เขียน : suriya

อัพเดท: 31 มี.ค. 2019 22.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1497 ครั้ง

พันธบัตรกับการลงทุน


พันธบัตรกับการลงทุน

พันธบัตร (Bond) จัดเป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่มีทั้งแบบที่ออกโดยรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน เป็นเหมือนสัญญาที่แสดงถึงความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ การลงทุนนั้นเป็นการที่ผู้ลงทุนนำเงินไปให้รัฐบาลหรือบริษัทกู้ยืม โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจะอยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ยตามที่ได้กำหนดไว้ หากออกโดยรัฐบาลจะเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ถ้าออกโดยเอกชนจะเรียกว่าหุ้นกู้ (Corporate Bond)

          Government Bond เป็นตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จุดประสงค์ที่รัฐบาลออกมาก็เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้สาธารณะของประเทศ ผลตอบแทนที่ได้ก็คือ ดอกเบี้ยที่จะจ่ายในอัตราคงที่ ณ วันที่ประกาศขาย โดยจ่ายปีละ 2 ครั้ง่ตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาลก็อย่างเช่น ตั๋วเงินคลัง

          Corporate Bond เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน อายุทั่วไปที่นิยมออกคือ 1-5 ปี มีจำนวนน้อยที่ออกระยะยาวมากอย่าง 10 ปี ถ้ามีก็มักจะเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนได้มากพอสมควร และหากเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยเอกชนก็เช่น ตั๋วแลกเงิน

          สำหรับการซื้อขาย Government Bond จะมีการซื้อขายในตลาดแรกและตลาดรองเหมือนการซื้อขายหุ้น โดยตลาดแรกจะเป็นการซื้อขาย Government Bond ที่ออกใหม่ โดยเสนอขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตการลงทุนจำนวนหลายล้านบาท ส่วนตลาดรองมีไว้ซื้อขายต่อมาจากตลาดแรก โดยมีตัวกลางในการซื้อขายอย่าง สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และนายหน้าค้าหลักทรัพย์ สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไปที่มีพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่และคุณสมบัติเข้ากับที่กำหนดก็สามารถซื้อในตลาดแรกได้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วไปก็ต้องซื้อผ่านตลาดรอง

          สิ่งที่ต้องพิจารณาในการซื้อ Bond ก็เหมือนกับการซื้อตราสารหนี้ทั่วไป นั่นก็คือ ระยะเวลาที่กู้ อัตราดอกเบี้ย ช่วงเวลาในการจ่ายดอกเบี้ย และที่สำคัญคือระดับความน่าเชื่อถือของผู้กู้ ซึ่งหากเป็นรัฐบาลก็จะถือว่ามีระดับความน่าเชื่อถือสูง โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มีน้อย หากเป็นเอกชนก็เลือกที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่อยู่ในเกณฑ์สูงๆ

          อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับตัวผู้ให้กู้ก็คือเรื่องของสภาพคล่องของตัวผู้ลงทุนเอง ที่หากนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ชนิดนี้ ก็ถือเป็นการเสียโอกาสที่จะไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นในช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่ถูกกำหนด ดังนั้นจึงควรพิจารณาระยะเวลาที่ให้กู้ว่าส่งผลเสียต่อสภาพคล่องของตัวผู้ให้กู้หรือไม่ โดยควรเลือกจังหวะให้เหมาะสม และดูอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นรวมถึงสภาพเศรษฐกิจประกอบด้วยว่า ณ เวลานั้นแนวโน้มของเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใด

หากในระยะยาวต่อจากนี้สภาพเศรษฐกิจไม่คล่องตัว มีโอกาสก้าวสู่ภาวะเงินฝืดที่การจับจ่ายใช้สอยลดลงกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน ควรลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง ที่มีอายุครบกำหนดในระยะยาวมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้นเนื่องจากจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า เป็นต้น

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที