GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 22 เม.ย. 2019 16.01 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2502 ครั้ง

ลำพูนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือ แต่กลับเต็มไปด้วยสินค้าท้องถิ่นอันหลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่างลำไยสีทองหรืองานหัตถกรรมต่างๆ อาทิ ผ้าฝ้ายทอมือ รวมทั้งการผลิตเครื่องประดับเงินตามเอกลักษณ์ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงชุมชนพระบาทห้วยต้มอันมีที่มาเชื่อมโยงกับความเชื่อและวัฒนธรรมของชนเผ่าเอาไว้อย่างลึกซึ้ง จัดเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงและดึงดูดผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ สามารถติดตามความเป็นมาและเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้มได้จากบทความนี้


เครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้มสะท้อนจิตวิญญาณของชนเผ่ากะเหรี่ยง

 

 

ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือแต่กลับเต็มไปด้วยสินค้าประจำท้องถิ่นอันหลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่างลำไยสีทองหรืองานหัตถกรรมต่างๆ อาทิ ผ้าฝ้ายทอมือ รวมทั้งเครื่องประดับเงินตามเอกลักษณ์ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงชุมชนพระบาทห้วยต้มที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ดึงดูดผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ

กว่าจะมาเป็นเครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้ม

บริเวณที่ตั้งของชุมชนพระบาทห้วยต้มแต่เดิมเป็นพื้นที่อาศรมตั้งอยู่กลางป่าอันเงียบสงบและไม่ค่อยมีผู้ใดแวะเวียนเข้ามา จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2506 ได้มีพระครูบาวงศ์ซึ่งเป็นพระเกจิที่ชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางแถบจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูนให้ความเคารพนับถือได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ จนต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงปาเกอะญอได้อพยพจากจังหวัดตากเข้ามาอาศัยกว่า 65 คน หรือประมาณ 13 ครัวเรือน และได้ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ จนชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้นดังเช่นเป็นชุมชนพระบาทห้วยต้มอย่างทุกวันนี้

ภายหลังจากการเข้ามาตั้งรกราก ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นตัวขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิตโดยประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทอผ้าเป็นหลัก จนกระทั่งมีปราชญ์ชาวบ้านอย่างนายจะโพ อาจหาญเจริญ หรือเป็นที่รู้จักกันในชุมชนว่า “จ่าโพ” ได้ออกเดินทางไปเรียนรู้วิธีการทำเครื่องเงินจากประเทศเมียนมาแล้วนำกลับมาสอนคนในชุมชน โดยเริ่มแรกเป็นการทำยอดฉัตรจากทองเหลือง ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาผลิตเป็นเครื่องเงินไว้ใช้สอยกันเองภายในชุมชน จนถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต โดยเครื่องเงินได้ถูกนำมาใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ อาทิ การใช้ในพิธีสู่ขอสาวเพื่อแต่งงาน ใช้ในงานบุญที่มีการสร้างเจดีย์ โดยมักนำเครื่องเงินที่มีค่าบรรจุลงไว้ในเจดีย์ด้วยเพื่อเสริมมงคลให้กับชีวิต หรือการสวมกำไลเงินในพิธีเรียกขวัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังถือได้ว่าเครื่องเงินเป็นสิ่งสูงค่าอันสามารถบ่งบอกฐานะทางครอบครัวและสังคมของผู้ที่เป็นเจ้าของได้อีกด้วย ต่อมาเมื่อมีจำนวนช่างประจำท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผลผลิตที่ได้มีมากเพียงพอต่อการนำออกจำหน่ายสู่ภายนอก

การผลิตและรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์

การผลิตเครื่องเงินในช่วงเริ่มแรกเป็นการนำเอาเงินแถบมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งเงินดังกล่าวจัดว่าเป็นเงินที่เนื้อไม่บริสุทธิ์เพราะมีการผสมกับอะลูมิเนียมอยู่มาก ชิ้นงานที่ผลิตได้จึงไม่มีความมันวาว ในเวลาต่อมาจึงได้ซื้อเม็ดเงินบริสุทธ์จากจังหวัดตากและเชียงใหม่เข้ามาใช้ทำการผลิตแทน

สำหรับในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตพบว่าช่างฝีมือได้ประยุกต์เอาวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาใช้เป็นอุปกรณ์งานช่าง อาทิ นำกระบอกไม้ไผ่มาทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับหลอมและหล่อแท่งเงินหรือนำท่อนไม้มาสร้างเป็นแท่นสำหรับตีเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังได้นำเอาเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในบางกระบวนการเพื่อช่วยทุ่นแรงและลดระยะเวลาในการผลิตด้วย อาทิ เครื่องรีดแผ่นเงิน และเครื่องพ่น ซึ่งผลจากการนำเอาเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามา ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าสมัยก่อนที่ใช้กรรมวิธีทำด้วยมือเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันชุมชนพระบาทห้วยต้มมีผู้ผลิตเครื่องเงินกว่า 30 ครัวเรือน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่ายสู่ภายนอก ช่างฝีมือส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่นที่มีทักษะความชำนาญ สามารถผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดปราณีตได้โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วันต่อหนึ่งชิ้นงาน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงานนั้นๆ สินค้าที่ผลิตได้ประกอบไปด้วยเครื่องประดับประเภทกำไล สร้อยข้อมือ แหวน สร้อยคอ จี้ และต่างหู รวมถึงเครื่องใช้และของตกแต่งต่างๆ

เอกลักษณ์ของเครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้มอยู่ที่ลวดลายประจำท้องถิ่นอันมีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงปาเกอะญอ มีลวดลายหลักๆ ได้แก่ ลายเม็ดทราย ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมที่สะท้อนความหมายเกี่ยวกับความสามัคคีของคนในชุมชน ลายเม็ดข้าว สะท้อนถึงจิตวิญญาณการเคารพในสิ่งที่ประทานชีวิตให้แก่มนุษย์ ลายสาน เกิดจากการหลอมเม็ดเงินให้เป็นแผ่น แล้วนำมาสานเป็นลวดลาย สะท้อนถึงการยึดมั่นในคำพูด และ ลายพดด้วง ซึ่งนับว่าเป็นลวดลายที่มีชื่อเสียงของชุมชนพระบาทห้วยต้ม อันสะท้อนถึงความมั่งมีและการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิครมดำลงบนตัวชิ้นงานซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้มด้วยเช่นกัน

 

 

สภาพการค้าและช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน

ปัจจุบันเครื่องเงินจากชุมชนพระบาทห้วยต้มเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ทางผู้ผลิตได้มีการพัฒนารูปแบบและลวดลายของเครื่องเงินขึ้นใหม่อยู่เสมอ ทำให้เกิดการยอมรับและต้องการสินค้าจากผู้บริโภคในวงกว้าง โดยสินค้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่นอกจากจะถูกนำไปวางจำหน่ายในศูนย์วิจัยหัตถกรรมบ้านห้วยต้มและตามร้านค้าชุมชนทั่วไปแล้ว ช่างในชุมชนยังรับผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อและ
ขายส่งสินค้าให้แก่ผู้ที่มารับซื้อทั่วไปด้วย

-----------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมษายน 2562

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที