GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 31 พ.ค. 2019 15.03 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1106 ครั้ง

สถานการณ์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2562 ติดตามได้จากที่นี่...


สถานการณ์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2562

การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2562 มีมูลค่า 3,710.51 ล้านเหรียญสหรัฐ (118,683.79 ล้านบาท) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 27.34 (ร้อยละ 27.20 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากนำเข้าสินค้าสำคัญหลายรายการได้ลดลงโดยเฉพาะทองคำฯ ที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 มีมูลค่าลดลงมากถึงร้อยละ 36 ส่วนสินค้านำเข้าที่เติบโตคือ พลอยก้อน ซึ่งขยายตัวสูงกว่า 3.78 เท่า ทั้งนี้ ไทยนำเข้าพลอยก้อนมาเพื่อเจียระไน สร้างมูลค่าเพิ่มก่อนส่งออกต่อไป

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2562 มีมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 8.30 (ร้อยละ 8.35 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 3,792.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (119,586.73 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 4,136.04 ล้านเหรียญสหรัฐ (130,482.25 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.71 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,376.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (74,947.88 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.21 (ร้อยละ 6.22 ในหน่วยของเงินบาท)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

1. สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลงร้อยละ 15.76, ร้อยละ 6.63 และร้อยละ 9.05 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียม ยังขยายตัวได้ร้อยละ 5.56

2. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 15.25 และร้อยละ 98.60 ตามลำดับ ในขณะที่พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 3.42

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 ได้แก่ ฮ่องกง ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.49 ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ และอีกส่วนหนึ่งมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักในฮ่องกงเดินทางไปท่องเที่ยวในฮ่องกงลดลง ส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้ลดน้อยลงไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลัก รวมถึงสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน

การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ตลาดสำคัญถัดมาก็มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.71  จากการส่งออกไปยังเยอรมนี ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 32 ได้ลดลงร้อยละ 22.90 ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินไปยังเยอรมนีได้ลดลงร้อยละ 18.34 ส่วนตลาดที่ยังคงเติบโตได้คือ เบลเยียม อิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 2, 3 และ 4 ซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 7.39, ร้อยละ 49.47 และร้อยละ 19.77 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน สินค้าหลักส่งออกไปยังอิตาลีและสหราชอาณาจักรเป็นเครื่องประดับทอง ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี

สำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 6.22 เนื่องมาจากไทยส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักได้ลดลง โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอการส่งออกของผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยอย่างบริษัท แพนดอร่า ซึ่งมียอดขายเครื่องประดับเงินในตลาดสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 12 ทั้งนี้ แพนดอร่า อยู่ในช่วงลดต้นทุนและการฟื้นฟูแบรนด์ให้มีชีวิตใหม่ ได้ประกาศปิดร้านค้าปลีกเครื่องประดับที่ไม่ทำกำไรจำนวน 50 แห่งทั่วโลก และลดจำนวนพนักงานโรงงานในไทยจำนวน 1,200 คน หลังจากที่เมื่อต้นปีได้ลดพนักงานไปแล้วราว 700 คน

ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตะวันออกกลางปรับตัวลดลงร้อยละ 4.98 นั้น จากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับ-เอมิเรตส์ ตลาดอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคนี้ได้ลดลงร้อยละ 7.18 โดยสินค้าหลักในตลาดนี้เป็นเครื่องประดับทอง หดตัวลงร้อยละ 1.87 ส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลกระทบมาจากการปรับขึ้น VAT ร้อยละ 5 เมื่อปี 2561 และอีกส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง บริษัทต่างชาติในดูไบกำลังจะปรับลดพนักงานลง และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ส่วนการส่งออกไปยังกาตาร์ ตลาดสำคัญในอันดับ 2 ก็หดตัวลงร้อยละ 12.22 เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไนลดลงมากถึงเกือบหนึ่งเท่าตัว ในขณะที่สินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองยังคงสามารถเติบโตได้ร้อยละ 9.69 สำหรับการส่งออกไปยังอิสราเอล ตลาดในอันดับ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.53 โดยสินค้าส่งออกหลักทั้งเพชรเจียระไนและพลอยก้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.42 และร้อยละ 7.59 ตามลำดับ

การส่งออกไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลง 13.30 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ อีกส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงและคู่แต่งงานซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ซื้อเครื่องประดับมีจำนวนลดลง จึงทำให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 53.87 และร้อยละ 21.18 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักยังคงขยายตัวได้ในตลาดนี้ร้อยละ 12.21

ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกหดตัวลงร้อยละ 27.97 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 86 ได้ลดลงร้อยละ 33.53 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังออสเตรเลียเป็นเครื่องประดับแท้ทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 42.37 และร้อยละ 8.37 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ยังคงเติบโตได้ดีร้อยละ 42.47 จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน สินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 60 ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.35

สำหรับการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 78.70 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังรัสเซีย ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดเกือบร้อยละ 80 ได้ลดลงร้อยละ 79.88 เนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับหลายประเทศ ซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลงและหันไปลงทุนเก็บสะสมสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น มีผลทำให้ไทยส่งออกเครื่องประดับเงินซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักในปีที่ผ่านมาไปยังรัสเซียได้ลดลงเกือบเท่าตัว ในขณะที่ไทยส่งออกทองคำ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 56

สำหรับตลาดที่ยังขยายตัวได้ คือ อินเดีย จีน และอาเซียน โดยการส่งออกไปยังอินเดียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.81 จากการส่งออกสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยก้อนและโลหะเงินที่เติบโตสูงกว่า 3.04 เท่า และ 4.16 เท่า ตามลำดับ แม้ว่าสินค้าส่งออกหลักอย่างเพชรเจียระไน จะหดตัวลงร้อยละ 22.71 ก็ตาม

การส่งออกไปยังจีนขยายตัวร้อยละ 2.14 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.50 ทั้งนี้ ผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยในจีน คือ บริษัท แพนดอร่า ซึ่งสินค้าเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อในตลาดจีน ทำให้ในไตรมาสแรกสามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15

มูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.50 เนื่องจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดร้อยละ 66 ได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 49.27 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสิงคโปร์เป็นเครื่องประดับเทียม เติบโตสูงถึงร้อยละ 26.75 โดยบริษัทผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปยังสิงคโปร์คือ บจก. แมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกเครื่องประดับทองไปได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51.56 อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังเวียดนาม ตลาดในอันดับ 3 ด้วยมูลค่าเติบโตถึงร้อยละ 58.89 โดยสินค้าหลักส่งออกเป็นอัญมณีสังเคราะห์ สินค้าสำคัญรองลงมาเป็นโลหะเงินและเพชรเจียระไน ซึ่งล้วนขยายตัวได้สูงมาก ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีสังเคราะห์นั้น บจก. สวารอฟสกี้ เจมสโตนส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทย คาดว่าส่งออกอัญมณีสังเคราะห์ไปยังบริษัทในเครืออย่างแมรีกอท ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเวียดนามเพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับ ส่วนการส่งออกไปมาเลเซียตลาดในอันดับ 2 ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องร้อยละ 16.79 จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 15.65 ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องประดับทอง ยังคงเติบโตได้ร้อยละ 27.25

 

--------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

30 พฤษภาคม 2562

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที