GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 03 ก.ย. 2019 23.41 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2532 ครั้ง

คามิโอ เครื่องประดับภาพนูนต่ำที่สร้างความแตกต่างและงดงามไม่เหมือนใคร จากสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเทพพระเจ้าและความศรัทธาในยุคอียิปต์โบราณ และกลายเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่จักรพรรดินโปเลียนได้มอบให้แก่จักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส จนมาสู่ธรรมเนียมการสวมรัดเกล้าของเจ้าสาวแห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์แห่งราชสำนักสวีเดน


ผสานงานศิลป์กับเครื่องประดับด้วยคามิโอ

เมื่อพูดถึงเครื่องประดับ ผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกถึงภาพของแหวน สร้อยคอ ต่างหู ฯลฯ ที่ประดับตกแต่งด้วยเพชรหรือพลอยสีเจียระไนส่องประกายระยิบระยับ หากแต่ยังมีเครื่องประดับอีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราคุ้นตา เครื่องประดับชนิดนี้ถือเป็นงานศิลปะที่เกิดจากการนำเอาพลอยบางชนิด เช่น โมรา (Agate) รวมไปถึงเปลือกหอยชนิดต่างๆ มาสลักเสลาขัดเกลาจนเกิดเป็นภาพนูนต่ำซึ่งมีลวดลายและรูปทรงที่ดูอ่อนช้อยงดงาม เครื่องประดับที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘คามิโอ’ (Cameo)

 

 
เครื่องประดับคามิโอรูปแบบต่างๆ
ภาพจาก: Market Square Jewellers


ทำความรู้จักคามิโอ

            ภาพแกะสลักนูนต่ำบนวัตถุชนิดต่างๆ ที่เรียกกันว่าคามิโอนี้ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โดยผู้คนในยุคนั้นจะทำการแกะสลักรูปจำลองหรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเทพเจ้าอันเป็นที่เคารพสักการะเพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนแสดงออกซึ่งความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละบุคคล

            จากนั้น ความนิยมในคามิโอได้แพร่สะพัดเข้าสู่วัฒนธรรมกรีกและโรมัน ซึ่งแน่นอนว่าในดินแดนที่เต็มไปด้วยตำนานและเรื่องเล่าของเหล่าทวยเทพนี้คามิโอส่วนใหญ่จึงถูกสลักเสลาเป็นรูปเหมือนของเหล่าเทพและเทพีต่างๆ ตามตำนานและความเชื่อของชาวกรีกและโรมัน อาทิ เทพีอธีนา เทพีอโฟรไดท์ และคิวปิด เป็นต้น

            ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เครื่องประดับคามิโอเฟื่องฟูและเป็นที่นิยมยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในฝรั่งเศส เมื่อจักรพรรดินโปเลียน ได้สั่งทำรัดเกล้าซึ่งทำจากทองคำประดับด้วยไข่มุก และตกแต่งด้วยคามิโอจำนวน 7 ชิ้น เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่โจเซฟีนในโอกาสแห่งการสถาปนาเธอขึ้นเป็นจักรพรรดินีเคียงคู่กับเขาเมื่อปี 1804 ซึ่งนอกจากรัดเกล้าองค์ดังกล่าวแล้ว เครื่องประดับคามิโอชุดนี้ ยังประกอบด้วยสร้อยคอ 1 เส้น ต่างหู 1 คู่ เข็มกลัด 1 ชิ้น และสร้อยข้อมือ 2 เส้น

            นอกจากนี้ เครื่องประดับคามิโอยังได้แผ่ขยายฐานความนิยมออกไปยังสหราชอาณาจักรในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทรงโปรดคามิโอเช่นกัน กล่าวกันว่าในยุคนี้เป็นช่วงที่คามิโอได้รับความนิยมถึงขีดสุดก่อนจะเสื่อมถอยลงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20
 
ธรรมเนียมการสวมรัดเกล้าคามิโอของเจ้าสาวแห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์

            รัดเกล้าตกแต่งด้วยคามิโอแห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ เป็นหนึ่งในรัดเกล้าเก่าแก่ซึ่งยังถูกนำมาสวมใส่ในปัจจุบัน โดยราชสำนักสวีเดนกำหนดว่า เจ้าสาวแห่งราชวงศ์จะต้องสวมรัดเกล้าคามิโอสำหรับเข้าพิธีสมรส ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแห่งราชวงศ์ที่มีมาอย่างยาวนาน

 

 

 

รัดเกล้าคามิโอแห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์
ภาพจาก: The Royal Order of Sartorial Splendor

 

            ซึ่งรัดเกล้าองค์นี้ คือองค์เดียวกันกับที่จักรพรรดินโปเลียนมอบให้กับจักรพรรดินีโจเซฟีนในโอกาสแห่งการสถาปนาเธอขึ้นเป็นจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศสเมื่อปี 1804 คำถามคือ รัดเกล้าคามิโอของจักรพรรดินีโจเซฟีนแห่งฝรั่งเศส มาอยู่กับราชวงศ์เบอร์นาดอตต์แห่งสวีเดน ได้อย่างไร?

            เรื่องมีอยู่ว่า...

            ภายหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนและจักรพรรดินีโจเซฟีนหย่าร้างกันเมื่อปี 1810 เนื่องจากจักรพรรดินีโจเซฟีนไม่สามารถให้กำเนิดทายาทให้แก่จักรพรรดินโปเลียนได้ อดีตจักรพรรดินีโจเซฟีนได้ย้ายออกจากวังหลวงโดยได้นำเครื่องประดับคามิโอชุดนี้ออกมาด้วย เมื่อโจเซฟีนเสียชีวิตลง เครื่องประดับชุดนี้จึงได้ตกเป็นของยูจีน (Eugène) บุตรชายซึ่งเกิดจากสามีคนแรกของเธอ ต่อมายูจีนได้มอบให้แก่เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งลูช์เทนเบิร์ก (Joséphine of Leuchtenberg) ธิดาคนแรกซึ่งเกิดจากเจ้าหญิงออกัสตาแห่งบาวาเรีย (Princess Augusta of Bavaria) เพื่อเป็นของขวัญในพิธีสมรสกับเจ้าชายออสการ์ มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ จากนั้นเครื่องประดับคามิโอชุดนี้จึงอยู่ในการครอบครองของราชวงศ์เบอร์นาดอตต์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

            จนกระทั่งเมื่อปี 1932 ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการสวมรัดเกล้าคามิโอในพิธีสมรสของเจ้าสาวแห่งราชสำนักสวีเดนได้เริ่มขึ้น รัดเกล้าองค์ดังกล่าวนี้ได้ถูกใช้ในพิธีสมรสหลวงของสมาชิกราชวงศ์เบอร์นาดอตต์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงในพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน นอกจากนี้ รัดเกล้าและเครื่องประดับคามิโอชุดนี้ ยังเป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่สมเด็จพระราชินีซิลเวียทรงโปรด ด้วยพระองค์มักทรงเลือกสวมเครื่องประดับชุดนี้ในการเสด็จออกงานพระราชพิธีต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง และรัดเกล้าคามิโอองค์นี้ได้ถูกนำมาสวมให้แก่เจ้าสาวของราชวงศ์อีกครั้ง ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงวิกตอเรีย มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน เมื่อปี 2010
 
 

 
เจ้าหญิงวิกตอเรีย มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน 
ทรงสวมรัดเกล้าคามิโอในพิธีอภิเสกสมรส เมื่อปี 2010
ภาพจาก: The Royal Order of Sartorial Splendor

 
 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
-----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:

  1. The Practical Gemologist. (August 4, 2015). Jewelry History: The Swedish Cameo Tiara. Retrieved April 15, 2019 from http://www.thepracticalgemologist.com/jewelry-history-1/2015/8/4/the-swedish-cameo-tiara
  2. The Royal Order of Sartorial Splendor. (March 1, 2012). Tiara Thursday: The Cameo Tiara. Rtrieved April 15, 2019 from http://orderofsplendor.blogspot.com/2012/03/tiara-thursday-cameo-tiara.html
  3. Past & Present. (November 18, 2013). A brief history of the cameo. Retrieved April 15, 2019 from https://pastandpresent.com/2013/11/18/a-brief-history-of-the-cameo/

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที