GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 17 ต.ค. 2019 23.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1249 ครั้ง

ปัจจัยทางเทคโนโลยี สภาพสังคม เศรษฐกิจ และกระแสของโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านธุรกิจ และด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเกือบจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของธุรกิจพลอยสีในยุคปัจจุบัน และรสนิยมการซื้อพลอยสีของผู้บริโภคนั้นจะเป็นสิ่งที่มีผลต่อการค้าพลอยสีของโลกในอนาคตอันใกล้นี้


อนาคตพลอยสีโลก ท่ามกลางความท้าทาย

           ธุรกิจพลอยสีในปัจจุบันมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยทางเทคโนโลยี สภาพสังคม เศรษฐกิจ และกระแสของโลก อาทิ การให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดหาพลอยสีอย่างถูกต้อง และการคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้พฤติกรรมและรสนิยมการซื้อพลอยสีของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยจะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและการค้าพลอยสีของโลกในอนาคตอันใกล้

อัพเดทสถานการณ์การค้าพลอยสีของโลก

          ในระหว่างปี 2557-2561 การค้าพลอยสีของโลกมีมูลค่าเฉลี่ย 23,148.86 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการค้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ด้วยมูลค่าเฉลี่ย 11,370.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการค้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มีมูลค่าเฉลี่ย 9,801.53 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 42 โดยในครึ่งแรกของปี 2562 มูลค่าการค้าพลอยสีของโลกอยู่ที่ 9,459.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.59 เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันของปี 2561 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ความต้องการบริโภคพลอยสียังคงมีมากขึ้นจากแรงซื้อของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงที่มักซื้อพลอยสีเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะพลอยสีในกลุ่มพลอยเนื้อแข็งที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ทั้งนี้ตลาดหลักนำเข้าพลอยสี 3 อันดับแรกของโลก ที่มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้ารวม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอินเดีย ตามลำดับ
           
        ตลาดสหรัฐอเมริกา

         สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดผู้บริโภคพลอยสีมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าสินค้าพลอยสีของสหรัฐฯ ขยายตัวได้ในแนวบวก เนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 สหรัฐฯ นำเข้าพลอยสีจากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 2,131.91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่านำเข้าพลอยสีรวมทั่วโลก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง จึงมีแนวโน้มนำเข้าพลอยสีลดลง สะท้อนให้เห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าพลอยสีในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่มีมูลค่าลดลงราวร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

         การนำเข้าพลอยสีของสหรัฐฯ ในปี 2561 กว่าร้อยละ 72 เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 1,551.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.77 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสหรัฐฯ นำเข้ามรกตมากที่สุด รองลงมาเป็นไพลิน และทับทิม ที่ล้วนเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนจากไทยโดยเฉพาะทับทิมและแซปไฟร์ ในสัดส่วนสูงที่สุดราวร้อยละ 14 รองลงมาเป็นฝรั่งเศส และโคลัมเบีย ที่นำเข้ามรกตเป็นสินค้าหลัก ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในปี 2562 สหรัฐฯ มีแนวโน้มนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนลดลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนลดลงร้อยละ 11.97  

         ส่วนการนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.77 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่าการนำเข้า 528.18 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ อินเดีย ในสัดส่วนร้อยละ 20.50 รองลงมาคือ ไทย และฮ่องกง ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 15.69 และร้อยละ 12.35 ตามลำดับ ทั้งนี้ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนมีแนวโน้มเติบโตดีในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีหลากสีสันและราคาไม่สูง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนสูงขึ้นราวร้อยละ 11

         ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดที่เปิดรับอัญมณีทุกประเภท ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าที่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ และรู้สึกดีกับสินค้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนผลประโยชน์ที่ตกกับผู้ทำเหมืองอย่างแท้จริง ฉะนั้น ผู้ค้าขายกับสหรัฐฯ จะต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้

แผนภาพที่ 1 มูลค่าการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนของสหรัฐฯ จากแหล่งนำเข้าสำคัญระหว่างปี 2557-2562f

 


 
ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
หมายเหตุ: มูลค่านำเข้าปี 2562 ประมาณการจากข้อมูลเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562

 

              ตลาดฮ่องกง

         ฮ่องกงเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกต่อ ซึ่งในปี 2561 ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าพลอยสีเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยมูลค่าการนำเข้ารวม 1,361.83 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.71 ของมูลค่านำเข้าพลอยสีของโลก และมีมูลค่าเติบโตเกือบร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยสินค้านำเข้าหลักเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ในสัดส่วนราวร้อยละ 67 รองลงมาเป็นพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 24

            ในปี 2561 ฮ่องกงนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนด้วยมูลค่า 905.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15.72 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าทับทิม และมรกต ในสัดส่วนราวร้อยละ 37 และร้อยละ 36 ตามลำดับ ที่เหลือเป็นแซปไฟร์ ทั้งนี้ ฮ่องกงนำเข้าจากตลาดหลักใน 3 อันดับแรกในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ เมียนมา อินเดีย และไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 16.55, ร้อยละ 16.12 และร้อยละ 15.63 ตามลำดับ สำหรับทิศทางการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนในปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตในเชิงบวก สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีอัตราการขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 25

            ส่วนการนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนของฮ่องกงในปี 2561 มีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 9.06 หรือมีมูลค่า 327.32 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่ราวร้อยละ 37 เป็นการนำเข้าจากอินเดีย รองลงมาเป็นไทย และบราซิล ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าราวร้อยละ 15 และร้อยละ 12 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ฮ่องกงมีแนวโน้มนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนลดลงในปีนี้ สะท้อนให้เห็นจากข้อมูลการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 17
 

 แผนภาพที่ 2 มูลค่าการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนของฮ่องกงจากแหล่งนำเข้าสำคัญระหว่างปี 2557-2562f

 

ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
หมายเหตุ: มูลค่านำเข้าปี 2562 ประมาณการจากข้อมูลเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562


         ตลาดอินเดีย

            ในปี 2561 อินเดียนำเข้าพลอยสีมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกด้วยมูลค่านำเข้ารวม 1,156.96 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.35 ของมูลค่านำเข้าพลอยสีทั่วโลก หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 41.08 ส่วนหนึ่งมาจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าพลอยสีที่ผ่านการตัดหรือโกลน รวมถึงพลอยสีเจียระไน จากอัตราภาษีร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7.5 โดยอินเดียนำเข้าพลอยก้อน เป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 60 ซึ่งมีมูลค่าลดลงมากถึงร้อยละ 31.17 และนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนเป็นลำดับถัดมา ด้วยสัดส่วนร้อยละ 20.44 ปรับตัวลดลงร้อยละ 72.42 ซึ่งนอกจากเป็นผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากผู้บริโภคชาวอินเดียที่หันมานิยมพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนมากขึ้น เพราะมีหลากสีสันให้เลือก และราคาย่อมเยา จึงทำให้มีการนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเพิ่มสูงกว่า 1.25 เท่า ทั้งนี้ การนำเข้าพลอยสีของอินเดียส่วนหนึ่งเพื่อเจียระไนและส่งออกต่อต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งนำไปตกแต่งบนตัวเรือนเครื่องประดับจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

            ในปี 2561 อินเดียนำเข้าพลอยก้อนจากหลายตลาดสำคัญลดลง โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างฮ่องกง ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดเกือบครึ่ง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อยู่ในอันดับ 3 มีมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 47.50 และร้อยละ 15.77 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากแซมเบีย แหล่งนำเข้าในอันดับที่ 2 ยังคงเติบโตได้ร้อยละ 14.48 ทั้งนี้ ในปี 2562 อินเดียมีแนวโน้มนำเข้าพลอยก้อนลดลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อินเดียนำเข้าพลอยก้อนลดลงมากถึงราวร้อยละ 43

 

แผนภาพที่ 3 มูลค่าการนำเข้าพลอยก้อนของอินเดียจากแหล่งนำเข้าสำคัญระหว่างปี 2557-2562f

 

ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
หมายเหตุ: มูลค่านำเข้าปี 2562 ประมาณการจากข้อมูลเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562


            สำหรับการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนนั้น เป็นการนำเข้าทับทิมทั้งหมด ซึ่งแหล่งนำเข้าใน 3 อันดับแรก คือ ฮ่องกง ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 45 รองลงมาคือ ไทย ร้อยละ 12.65 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 8.40 ที่ต่างมีมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 84.23, ร้อยละ 30.74 และร้อยละ 3.62 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตดีในตลาดนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ และมาดากัสการ์ ทั้งนี้ อินเดียมีแนวโน้มนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 อินเดียนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 42

            ทั้งนี้ อินเดียเริ่มนำเข้าพลอยก้อนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนจากมาดากัสการ์ในปี 2561 และมีมูลค่านำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2562 ส่วนหนึ่งอาจมาจากการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นขึ้นด้วยการลงนามความร่วมมือ (MoU) เพื่อเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2557 และปี 2561 จากข้อมูลของสถานทูตอินเดียในมาดากัสการ์ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวอินเดียจำนวน 15,000 คนอาศัยอยู่ในมาดากัสการ์ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจซื้อขายสินค้า (Trading Company) บางส่วนตั้งโรงงานอยู่ในมาดากัสการ์ นอกจากนี้พลอยสีจากมาดากัสการ์ที่ส่งออกไปยังอินเดียยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าในฐานะเป็นประเทศพัฒนาน้อย (Least Developed Countries) อีกด้วย

            ส่วนแหล่งนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนของอินเดียที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปี 2561 คือ ฮ่องกง ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 61 และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 3.10 เท่า รองลงมาเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วนร้อยละ 24.30 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90.94 ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา แหล่งนำเข้าในอันดับ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 4.06หดตัวลงร้อยละ 15.63 ทั้งนี้ อินเดียยังคงนิยมพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งอินเดียนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่าตัว

 

แผนภาพที่ 4 มูลค่าการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนของอินเดียจากแหล่งนำเข้าสำคัญระหว่างปี 2557-2562f


 
ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
หมายเหตุ: มูลค่านำเข้าปี 2562 ประมาณการจากข้อมูลเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการในตลาด

         ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ อุปสงค์ในตลาดพลอยสีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากเอกลักษณ์ของพลอยสีที่มีสีสันสวยงามดึงดูดให้ผู้คนต้องการครอบครอง โดยเฉพาะพลอยสีแปลกใหม่และพลอยสีที่มีเหลี่ยมเจียระไนหลากหลายรูปแบบมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างชาว Millennial ที่ต้องการเป็นเจ้าของสินค้าเอกลักษณ์ สะท้อนบุคลิกภาพ และมักจะซื้อสินค้าจากประสบการณ์ ซึ่งปัจจัยด้านราคาจะเป็นเรื่องรองสิ่งเหล่านี้

         อีกส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของเหล่าคนดัง อาทิ การแต่งกายของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์และดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ที่ไม่ว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับอะไรก็จะกลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ในส่วนของพลอยสีที่บุคคลทั้งสองสวมใส่ในช่วงที่ผ่านมาอย่างแหวนหมั้นไพลินสีน้ำเงินเข้มของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ หรือแหวนพลอยอะความารีนบนนิ้วของดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ นับเป็นตัวจุดประกายให้ไพลินและอะความารีนเป็นสินค้าที่ผู้คนถามหามากขึ้นและกลายเป็นสินค้าขายดีในปีนี้ 

         สีที่ Pantone กำหนดในแต่ละปีก็มีผลกระตุ้นความต้องการอัญมณีที่มีสีนั้นๆ ไม่น้อย โดยปัจจุบันผู้บริโภคหันมาซื้อตามสีแทนที่จะซื้อตามประเภทของอัญมณีกันมากขึ้น สำหรับพลอยสีที่นิยมในปีนี้เป็นสีชมพู แดง และส้ม ตรงกับสี Living Coral ซึ่งเป็น Pantone’s Color of The Year ส่งผลให้ สปิเนล ทับทิม แซปไฟร์ โกเมน อิมพีเรียล-โทแพซ มอร์กาไนต์ และแพดพาราชา เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

        ความต้องการซื้อเพื่อการลงทุน เป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการซื้อพลอยสีไว้ในครอบครอง ไม่ว่ากระแสความนิยมจะเป็นอย่างไร พลอยสีที่จะยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่เสมอนับตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคตนั้นยังคงเป็นพลอยสีในกลุ่ม Big Three อันประกอบด้วยทับทิม แซปไฟร์ และมรกต ที่มักทำสถิติราคาสูงสุดในการประมูลแต่ละครั้ง โดยเฉพาะทับทิมเมียนมา แซปไฟร์แคชเมียร์ และมรกตโคลอมเบียที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพจะเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมากโดยเฉพาะในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ

        นอกจากนี้ ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันยังมีความมั่นใจในการซื้อพลอยสีเพิ่มมากขึ้นจากข้อมูลข่าวสารที่ผู้ซื้อเข้าถึงได้ง่ายทางอินเทอร์เน็ต การพัฒนาของอุตสาหกรรมที่มีความโปร่งใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพพลอยสีที่เชื่อถือได้ โดยผู้บริโภคยุคใหม่มีแนวโน้มซื้อพลอยสีที่มาพร้อมกับใบรับรองคุณภาพอัญมณีมากขึ้น และซื้อสินค้าที่มีแบรนด์ รวมถึงซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

ความท้าทายการค้าพลอยสีโลก

            ธุรกิจพลอยสีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในแต่ละปีมักมีความท้าทายใหม่เข้ามาทำให้สถานการณ์ในตลาดพลอยสีเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธุรกิจพลอยสีต้องมีการพัฒนาและปรับตัวอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ โดยอาจสรุปประเด็นความท้าทายได้ดังนี้
           
              กฎระเบียบของประเทศแหล่งวัตถุดิบพลอยสี

         หลายประเทศเจ้าของแหล่งวัตถุดิบได้หันมาควบคุมวัตถุดิบอัญมณีในประเทศมากขึ้น โดยอนุญาตให้บริษัทส่งออกได้เฉพาะพลอยสีที่ผ่านการเจียระไนแล้วเท่านั้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน อาทิ เมียนมา ศรีลังกา และแทนซาเนีย เป็นต้น ในอนาคตมีแนวโน้มว่าหลายประเทศจะหันมาส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบของประเทศมากขึ้นหลังจากฝึกฝนช่างเจียระไนให้มีความชำนาญแล้ว ก็อาจจะกระทบต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลอยก้อนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นศูนย์กลางเจียระไนพลอยสีที่ต้องนำเข้าพลอยก้อนมาเจียระไนเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ไทย อินเดีย และจีน เป็นต้น

            อุปทานของพลอยสีโลก

         อุปทานพลอยสีโลกค่อนข้างมีความผันผวน ซึ่งแหล่งวัตถุดิบโดยเฉพาะแหล่งพลอยสีคุณภาพสูงขุดพบพลอยสีที่ไม่ต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพได้น้อยลง อาทิ ทับทิมของเมียนมา แซปไฟร์ซีลอนจากศรีลังกา แซปไฟร์แคช-เมียร์ของอินเดีย และมรกตที่ไม่มีน้ำมันอุดรอยแตกจากโคลอมเบีย ในขณะที่อุปสงค์ต่อพลอยสีเหล่านี้มีอยู่สูงจึงผลักดันให้ราคาพุ่งสูงมาก ส่วนพลอยสีคุณภาพปานกลางถึงต่ำจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกยังคงมีปริมาณมากไม่ว่าจะเป็นพลอยสีจากประเทศแถบเอเชียและแอฟริกา ซึ่งทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงได้ง่ายเพราะราคาอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง อย่างไรก็ดี มีการค้นพบแหล่งพลอยสีแห่งใหม่ในหลายประเทศ อาทิ โมซัมบิกและแซมเบีย ก็ช่วยเพิ่มปริมาณอุปทานเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หรือการค้นพบอัญมณีชนิดใหม่เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เช่น แกรนดิเดียไรต์จากเหมืองมาดากัสการ์ ที่ให้ผลผลิตในปริมาณมาก แซปไฟร์ Gold Sheen จากเหมืองเคนยา แร่สีน้ำเงิน Carmeltazite ในอิสราเอล ที่ผลิตได้ในปริมาณน้อย แต่เป็นที่ต้องการสำหรับผู้นิยมพลอยสีแปลกใหม่ เป็นต้น

         การผูกขาดเหมืองอัญมณีของบริษัทขนาดใหญ่

         ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หลายรายได้เข้ามามีบทบาทหลักในการดำเนินธุรกิจพลอยสีในสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของการผลิตทั้งหมด และมักครอบครองแหล่งผลิตสำคัญของโลกเป็นส่วนใหญ่ อาทิ Gemfields ซึ่งครอบครองเหมืองทับทิม Montepuez ในโมซัมบิก และเหมืองมรกต Kagem ในแซมเบีย และ Fura Gems ครอบครองเหมือง Coscuez ในโคลอมเบีย และได้ควบรวมกับ Mustang  Resources ในการทำสัมปทานเหมืองทับทิมในโมซัมบิก เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้ทำเหมืองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่แทนที่วิธีการแบบดั้งเดิมจึงผลิตได้อัญมณีคุณภาพดีและนำเข้าสู่ระบบการประมูล ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงพลอยสีคุณภาพดีได้จากการประมูล ในขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนน้อยมีโอกาสเข้าร่วมประมูลน้อย จึงทำให้เข้าถึงได้เพียงพลอยสีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ

            การดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีจริยธรรม

         จากกระแสที่ผู้ซื้อหันมาให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าจากบริษัทที่มีความโปร่งใส มีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้องค์กรระหว่างประเทศอย่างสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก (CIBJO) ได้ออกแนวทางปฏิบัติเรื่องการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับจากปลายทางสู่ต้นทาง (Traceability) นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเตรียมออกมาตรการให้บริษัทในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อป้องกันการค้าวัตถุดิบเพื่อนำไปเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งการฟอกเงิน ทั้งนี้ ปัจจุบัน Gübelin Gem Lab ได้นำเทคโนโลยีระบบ Provenance Proof Blockchain ซึ่งพัฒนาโดย Everledger ร่วมกับ Fura Gems เพื่อติดตามแหล่งที่มาของอัญมณีในทุกๆ ขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้งานแล้ว ฉะนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานต้องปรับตัว และพิจารณาเข้าร่วมใช้งานในระบบบล็อกเชนอันเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลอยสีในอนาคต

         แนวโน้มธุรกิจการค้าพลอยสี

          แม้ว่าธุรกิจอัญมณีจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายต่างๆ แต่อุปสงค์ต่อพลอยสียังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ของลูกค้าระดับกลางส่วนหนึ่งถูกผลักดันจากการโฆษณาและอิทธิพลของเซเลบหรือผู้ทรงอิทธิพลในสื่อออนไลน์ ส่วนอุปสงค์ของลูกค้าระดับบนพุ่งเป้าไปที่การลงทุนในกลุ่มพลอยสี Big Three คุณภาพสูง ในขณะที่กลุ่ม Millennial สนใจพลอยสีแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์และเหลี่ยมเจียระไนหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ จากรายงานของ Future Market Insights (FMI) ได้คาดการณ์ว่าตลาดอัญมณีของโลกในปี 2562 จะเติบโตได้ร้อยละ 4.4 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ในระหว่างปี 2561-2569 นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดต่อไปในภายหน้าคือลูกค้าทุกระดับให้ความสำคัญต่อประเด็นการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีจริยธรรม โดยหันมาให้ความสนใจซื้ออัญมณีที่ระบุแหล่งที่มาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และต้องการรู้ว่าสินค้านั้นให้ความช่วยเหลือชุมชนและปกป้องสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

          สำหรับความท้าทายที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าพลอยสีของโลกคือ การที่บริษัทรายใหญ่ 2 รายได้ครอบครองเหมืองพลอยสีสำคัญของโลก ซึ่งเข้ามาตัดทอนห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลงโดยจัดการประมูลพลอยก้อนจากเหมืองของตน ซึ่งมีเพียงบริษัทผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงพลอยก้อนคุณภาพดีจากการประมูลได้ และบริษัทเหล่านี้ก็จะนำพลอยที่ประมูลได้ไปจำหน่ายให้แก่เครือข่ายหรือลูกค้าของตนเองเป็นหลัก จึงส่งผลกระทบต่อผู้ค้าพลอยสีและผู้ผลิตเครื่องประดับขนาดเล็กถึงกลางที่ค้าขายในรูปแบบดั้งเดิมไม่อาจเข้าถึงพลอยสีคุณภาพดีได้ ทำได้เพียงซื้อพลอยสีจากเหมืองเล็กซึ่งผลิตพลอยสีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ หากแต่มีราคาค่อนข้างสูง เหล่านี้ยิ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานขยายกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผูกขาดเหมืองอัญมณีในปัจจุบันยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มทับทิมและมรกต และยังไม่พบการผูกขาดเหมืองไพลิน ดังนั้น โลกจึงต้องจับตาว่าจะมีบริษัทรายใดเข้าไปผูกขาดเหมืองไพลินในประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลกหรือไม่ต่อไป

         และจากกระแสโลกที่เรียกร้องความโปร่งใสและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจอัญมณีทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่จะได้เปรียบเพราะมีรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีจริยธรรม อีกทั้งยังรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะที่ผู้ค้ารายกลางและเล็กจะได้รับผลกระทบนี้ เพราะโดยปกติมีการค้าขายแบบดั้งเดิม ไม่นิยมออกใบเสร็จและไม่แจ้งที่มาของสินค้า ตลอดจนการทำบัญชีรับจ่ายไม่โปร่งใส จึงนับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่หากไม่ปรับตัวก็จะถูกดึงส่วนแบ่งตลาดโดยผู้ค้ารายอื่นที่สามารถปรับตัวได้ทันกระแส และในอนาคตก็จะอยู่ในตลาดยากขึ้น

          นอกจากนี้ ตลาดสินค้าระดับกลางถึงล่างมีแนวโน้มแผ่วลงไป เนื่องจากการค้นพบอัญมณีแหล่งใหม่โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลอยสีคุณภาพปานกลางลงมา ในขณะที่ตลาดก็ยังมีพลอยสีคุณภาพปานกลางลงมาถึงต่ำอยู่มาก อาจทำให้มีปริมาณพลอยสีกลุ่มนี้มากเกินความต้องการของตลาด นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ราคาลดต่ำลงมา ในขณะที่ตลาดสินค้าระดับบนยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะอุปทานมีจำกัดแต่ความต้องการสินค้าคุณภาพสูงยังมีอยู่มาก รวมถึงการค้นพบอัญมณีชนิดใหม่หลากหลายชนิด ก็อาจทำให้เกิดการทดแทนสินค้า โดยผู้ซื้อมีแนวโน้มบริโภคอัญมณีชนิดใหม่ซึ่งมีสีใกล้เคียงกับอัญมณีชนิดเดิมแต่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อดีที่ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่อาจทำให้พลอยสีเดิมของผู้ค้าค้างสต๊อกมากขึ้นและราคาพลอยสีเดิมก็อาจจะตกลงไปอีกได้ในอนาคต

          อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้ารายเล็กหรือรายใหญ่ หากยังไม่ปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้การค้าเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ก็ยากที่จะทำให้ธุรกิจยืนหยัดอยู่ในตลาดพลอยสีได้


 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2562
-----------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล:
1. แนวโน้มธุรกิจอัญมณี กฎเหล็กใหม่ “ระบุที่มาที่ไปสินค้า” หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ. คอลัมน์ แตกประเด็น. ฉบับวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2562
2. “Colours And More: An Overview of The Global Gem Market” by Cynthia Unninayar. JNA. (May/June 2019: pp. 46-49).
3. “From Tucson: Hot Stones and a Changing Market” by Brecken Branstrator. NATIONAL JEWELER. Retrieved February 18, 2019, from https://www.nationaljeweler.com/independents/trade-shows/7421-from-tucson-hot-stones-and-a-changing-market.
4. “Why are coloured gemstones on the rise and what are consumers looking for?” by Sophia King. PROGESSIONAL JEWELLER. Retrieved June 17, 2019, from https://www.professionaljeweller.com/


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที