ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 31 ธ.ค. 2019 13.33 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2767 ครั้ง

อีกหนึ่งปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจ คือการที่ลูกรักเบื่ออาหาร ?ลูกไม่กินข้าว? ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็เหมือนไม่เป็นผล ไม่รู้จะใช้ไม้ไหนแล้วลูกถึงจะยอมกิน กลัวว่าลูกจะขาดสารอาหารและไม่แข็งแรง ทางออกของปัญหานี้ง่ายนิดเดียว เพียงคุณพ่อคุณแม่ติดตามอ่าน


เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว

อีกหนึ่งปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจ คือการที่ลูกรักเบื่ออาหาร “ลูกไม่กินข้าว” ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็เหมือนไม่เป็นผล ไม่รู้จะใช้ไม้ไหนแล้วลูกถึงจะยอมกิน กลัวว่าลูกจะขาดสารอาหารและไม่แข็งแรง ทางออกของปัญหานี้ง่ายนิดเดียว เพียงคุณพ่อคุณแม่ติดตามอ่าน

เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว

การที่ลูกน้อยไม่กินข้าวนับเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปตามพัฒนาการของเด็กทารกไปจนถึงเด็กเล็ก เมื่อทารกอายุประมาณ 9-11 เดือน เขาจะไม่ต้องการให้พ่อแม่ป้อนอาหารให้อีกต่อไป เขาจะเริ่มอยากกินอาหารด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กแต่ละคนเมื่อเริ่มกินอาหารเองก็จะกินมากน้อยแตกต่างกันไป ส่วนเด็กที่ยังอยากให้พ่อแม่คอยป้อนอาหารอยู่ก็ยังมี โดยมักเป็นเด็กที่กล้ามเนื้อสำหรับเคี้ยวอาหารมีพัฒนาการช้าหรือเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด

ตามปกติเมื่อลูกมีอายุครบ 1 ปี เขาจะเริ่มรู้จักการปฏิเสธอาหารหรือวิธีคายอาหาร เนื่องจากเขามีพัฒนาการในการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากขึ้น สามารถควานหาอาหารและหยิบส่งเข้าปากได้เอง อาการปฏิเสธอาหารนี้เป็นสัญชาตญาณในการป้องกันตนเองไม่ให้รับประทานอาหารที่มีสารพิษหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายเข้าไป ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมของเด็กที่ไม่ยอมกินข้าวจะไม่เกิดขึ้นนานมากนัก และจะหายไปเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ถึงกระนั้นเด็กบางรายที่มีอาการเช่นนี้อาจเป็นเพราะเขามีปัญหาสุขภาพ ซึ่งพ่อแม่จะต้องสังเกตและเตรียมหาทางแก้ไขกันต่อไป

ทำไมลูกไม่กินข้าว?

ปัญหาที่ว่าทำไมลูกไม่กินข้าวจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกิน การหลีกเลี่ยงอาหารใหม่ หรือมีอาการแพ้อาหารบางชนิด และสาเหตุอื่นๆ ดังนี้

§  การเลือกกิน เด็กอาจมีปัญหาในการเลือกรับประทานอาหารบางอย่าง เนื่องจากเด็กไม่ชอบเนื้อสัมผัส รสชาติ หรือกลิ่นของอาหารนั้นๆ พ่อแม่จึงต้องสังเกตพฤติกรรมการเลือกกินของลูก เพื่อดูว่าเขาเลือกกินและไม่กินอาหารอะไรบ้าง โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมเลือกกินอาหารมากขึ้นในกรณีที่เคยมีปัญหาให้อาการยากหรือเด็กเกิดความวิตกกังวลต่างๆ และเด็กที่ไม่ได้ลองกินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหรือรสชาติแปลกใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมเลือกกินได้สูง อย่างไรก็ตามเด็กที่มีพฤติกรรมเลือกกินอาหารอาจไม่ได้มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานหรือมีสุขภาพไม่ดี เพราะเด็กบางคนก็ได้รับจำนวนแคลอรี่และสาอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่ายกายในแต่ละวัน แม้เขาจะเป็นเด็กเลือกกินก็ตาม

§  เลี่ยงของกินแปลกใหม่ เด็กเล็กมักหลีกเลี่ยงอาหารใหม่ๆที่ไม่เคยกินมาก่อน พ่อแม่จึงควรช่วยให้ลูกลองรับประทานอาหารใหม่ๆ โดยเริ่มจากอาหารที่มีรสชาติใกล้เคียงกับอาหารที่เขาคุ้นเคย เริ่มป้อนจากปริมาณน้อยๆไปก่อน หากลูกไม่ยอมกินก็เปลี่ยนเป็นอาหารที่เขาชอบก่อน แล้วค่อยให้ลองกินของใหม่ในมื้อถัดไป

§  อาการแพ้อาหาร เด็กเล็กสามารถเกิดอาการแพ้อาหารได้มากถึงร้อยละ 8 ซึ่งอาการแพ้มักจะเกิดขึ้นทันที ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักจะแพ้นม ถั่วเหลือง ไข่ ข้าวสาลี ถั่วต่างๆ อาหารทะเล โดยจะมีอาการท้องร่วง อาเจียน มีผื่นขึ้น หรือปวดท้อง นอกจากนี้ในเด็กเล็กยังสามารถเกิดภาวะที่ร่างกายรับอาหารบางอย่างไม่ได้ (Food Intolerance) ซึ่งไม่เหมือนกับการแพ้อาหารทั่วไป เพราะภาวะนี้เกิดจากระบบย่อยอาหาร ไม่ได้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เด็กที่มีภาวะ Food Intolerance มักแพ้แลคโตส ข้าวโพด หรือกลูเต็น โดยจะเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง และปวดท้อง อาการจะปรากฎช้าหลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป

§  โรคกลัวอาหาร อาการกลัวหรือโฟเบีย (Phobias) คือ อาการหวาดกลัวที่ทำให้บุคคลนั้นเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้ตนเองรู้สึกกลัว เป็นภาวะทั่วไปที่พบได้ในเด็กวัยเริ่มเข้าเรียนแ ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นมาเองหรือเกิดปัญหาความวิตกกังวล โรคกลัวอาหารมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการกลัวว่าการรับประทานอาหารจะทำให้ป่วย อาหารอาจมีอันตรายหรือส่งผลเสียต่อตนเอง หรือกลัวว่าอาหารจะทำให้สำลักหรือติดคอ

§  ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการกิน ปัญหาสุขภาพบางอย่างส่งผลให้เด็กรับประทานอาหารลำบาก โดยดูด เคี้ยว กัด หรือกลืนอาหารไม่ถนัด สำลักหรือรู้สึกพะอืดพะผมเมื่อกินอาหาร รวมทั้งมีอาการท้องผูกหรือเจ็บปวดตอนขับถ่าย พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการ และควรพาไปพบแพทย์เพื่อรักษา

§  สาเหตุอื่นๆ เด็กที่มีปัญหาการรับประทานอาหารหรือไม่ยอมกินข้าว อาจมีสาเหตุอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น เช่น

§  ไม่ชอบรสสัมผัสของช้อนส้อมเมื่อนำเข้าปากแล้วแตะลิ้น

§  ไม่ชอบอาหารที่บดจนละเอียด เนื่องจากเด็กอาจชอบอาหารที่จัดวางมาในจาน มีกลิ่น มีเนื้อสัมผัสแบบที่ตนชอบ

§  รู้สึกพะอืดพะอมเมื่อเห็นอาหารปริมาณมาก พ่อแม่ควรเริ่มให้อาหารแต่ละน้อยก่อน หากไม่พอค่อยเติมให้

§  มีสิ่งเร้ารอบข้างดึงความสนใจของเด็ก เช่น เสียงโทรทัศน์ เสียงพี่น้องเล่นกันในบ้าน

§  เด็กอาจไม่ชอบกลิ่นของอาหารบางชนิด

 

แก้ปัญหาลูกไม่กินข้าวได้อย่างไร?

ปัญหานี้เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ แต่พ่อแม่ควรเริ่มจากการเลิกโทษตัวเองก่อนว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเราเลี้ยงลูกไม่ดี ควรแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีด้วยการกระตุ้นลูกและสร้างสุขลักษณะที่ดีในการรับประทานอาหาร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การกระตุ้นเด็ก

§  ให้เด็กกินข้าวเอง เด็กเล็กจะใช้มือหยิบอาหารได้เมื่ออายุประมาณ 9 เดือน และลองใช้ช้อนส้อมเมื่ออายุประมาณ 15-18 เดือน พ่อแม่ควรหัดให้เขารรับประทานอาหารเอง โดยคอยสังเกตว่าเขาหิวหรืออิ่มตอนไหน ให้อาหารเพิ่มถ้าลูกหิวมาก

§  สังเกตอาการ พ่อแม่ควรสังเกตว่าเด็กแสดงอาการอย่างไรบ้างขณะกำลังรับประทานอาหาร เพื่อจะได้ให้อาหารอย่างเหมาะสม เช่น เด็กอาจวางอาหารลงบนพื้นเมื่อเขาอิ่ม

§  กระตุ้นให้ลูกรับประทานอาหารจากจานตนเอง พ่อแม่ควรให้ลูกได้รับประทานอาหารจากจานตัวเอง ให้ลูกได้ลองกินอาหารแปลกใหม่โดยการเลียนแบบผู้ใหญ่ นั่นคือการกินจากจานของตัวเอง หากเขาไม่ชอบก็ให้คายออกมาได้ก่อน แล้วค่อยลองกินในมื้อต่อๆไป แม้เขาจะไม่ได้กินเข้าไป แต่การได้เห็นอาหารแปลกใหม่และได้ลองชิมก็จะทำให้เกิดความคุ้นเคยมากขึ้นได้

§  ชมเมื่อลูกกินอาหาร หากลูกรับประทานอาหารใหม่ๆได้ หรือมีพฤติกรรมการร่วมโต๊ะอาหารที่ดี พ่อแม่ควรชมเขาทันที เพื่อให้เขารับรู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือสิ่งที่เหมาะสม

§  ไม่บังคับให้กิน พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้เขารับประทานอาหาร หรือลงโทษเมื่อลูกไม่กินข้าว เนื่องจากจะทำให้เขารู้สึกว่าการรับประทานอาหารเป็นเรื่องเครียด ต้องค่อยๆฝึกไปจนกว่าเขาจะคุ้นเคยและรับประทานอาหารใหม่ๆได้

การสร้างสุขลักษณะการกิน

§  จัดอาหารให้ดึงดูด พ่อแม่ควรจัดอาหารให้ดูน่ารับประทาน เช่น ใช้จานชามที่มีสีสัน มีลวดลายน่ารัก หรือตัดอาหารเป็นรูปทรงต่างๆ

§  รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ควรจัดเวลาและสถานที่ในการรับประทานอาหารให้แน่นอน และให้ลูกได้นั่งโต๊ะในการร่วมรับประทานอาหารกับสมาชิกในบ้าน

§  ไม่รีบกินอาหาร เด็กเล็กอาจรับประทานอาหารได้ช้า พ่อแม่จึงไม่ควรรีบรับประทานอาหาร แต่ก็ไม่ควรรับประทานอาหารนานเกิน 30 นาที

§  ให้ลูกมีส่วนร่วม พ่อแม่ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยเตรียมอาหาร ชิมอาหาร ก่อนนำอาหารเหล่านั้นจัดขึ้นโต๊ะเพื่อรับประทาน

§  ให้กินปริมาณน้อย พ่อแม่ควรให้ลูกเริ่มรับประทานที่ปริมาณน้อยก่อน เริ่มต้นที่ 2 ช้อนโต๊ะ หากเขายังไม่อิ่มก็ตักให้เพิ่มอีก วิธีนี้จะทำให้เขาไม่พะอีดพะอมเวลาเห็นอาหารปริมาณมาก

§  งดน้ำตาล ไม่ควรให้ลูกบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขารู้สึกอิ่มแต่กลับไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

§  เลี่ยงขนม ควรจำกัดการกินขนมและของว่างระหว่างมื้อ เนื่องจากลูกอาจรับประทานของว่างและขนมมากไปจนไม่อยากรับประทานอาหารมื้อหลัก

จำเป็นต้องให้อาหารเสริมไหม?

ตามปกติแล้ว ทารกหรือเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม หากว่าเขาได้รับสารอาหารที่หลากหลายและเพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจจะไม่ยอมกินข้าวจนส่งผลให้ขาดสารอาหาร ก็ควรปรึกษาแพทย์และให้แพทย์จ่ายอาหารเสริมตามอาการที่ขาด

คุณพ่อคุณแม่ควรทราบไว้ว่าเด็กเล็กก็มีความอยากอาหารไม่ต่างจากผู้ใหญ่เราเลย บางมื้อเขาอาจกินได้มาก แต่บางมื้อก็กินน้อย หากเขากินได้น้อยก็ไม่ควรไปบังคับ ปล่อยให้เขากินไปเท่าที่เขาต้องการ จากนั้นหากิจกรรมให้เขาทำ ที่จะช่วยเผาผลาญอาหารมื้อที่เพิ่งรับประทานเข้าไป เมื่อลูกรู้สึกหิวอีกครั้ง เขาจะร้องหาอาหารจากคุณพ่อคุณแม่แน่นอน

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที