GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 03 ก.พ. 2020 23.33 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1918 ครั้ง

แอนน์ โบลีน ราชินีผู้ซึ่งถูกกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ ผู้ที่เคยเป็นยอดปรารถนาของกษัตริย์อังกฤษ จนทำให้เกิดการฝ่าฝืนกรอบ และกฎเกณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก แต่สุดท้ายกลับจบลงด้วยโศกนาฎกรรมที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต ถึงกระนั้นในช่วงเวลาแห่งความสุขพระนางก็ได้รับของกำนัลมากมายจากผู้เป็นที่รัก และหนึ่งในนั้นคือสร้อยไข่มุกขนาดสั้นที่มีคำอักษรย่อ ?B? นั่นเอง
เครื่องประดับที่แฝงความหมายและความรู้สึกอันลึกซึ้งที่มีต่อพระนาง แต่กลับจบลงด้วยความโศกเศร้านั้นมีที่มาอย่างไรสามารถติดตามได้ในบทความนี้


จี้อักษรย่อสื่อรักของแอนน์ โบลีน

            ความรักเป็นสิ่งที่มีอานุภาพมาก ถึงขนาดทำให้มนุษย์เรากล้าที่จะลุกขึ้นมาฝ่าฝืนกรอบและกฎเกณฑ์เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักที่สมปรารถนา แต่สิ่งใดก็ตามที่เกินความพอดีก็มักจะนำพาเอาหายนะมาด้วยเสมอ ดังเช่นเรื่องราวที่จะเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของสตรีผู้หนึ่ง นามว่า แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) ผู้ซึ่งเคยเป็นยอดปรารถนาของกษัตริย์อังกฤษ แต่การณ์กลับพลิกผัน เมื่อความรักจืดจางและแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง นำมาซึ่งการทรยศหักหลัง จนกลายมาเป็นโศกนาฎกรรมที่ต้องแลกด้วยชีวิต

ทำความรู้จัก ‘แอนน์ โบลีน’

            แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) คือราชินีผู้ซึ่งถูกกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ พระนางเป็นบุตรของเซอร์โทมัส โบลีน ขุนนางคนสำคัญซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ในวัยเด็ก แอนน์ได้ถูกส่งไปยังราชสำนักฝรั่งเศสเพื่อเป็นข้าราชบริพารของ พระนางแมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีในพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นน้องสาวของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ก่อนเดินทางกลับมายังอังกฤษเพื่อเข้ารับราชการเป็นข้าราชบริพารในสมเด็จพระราชินีแคทเธอรีนแห่งอารากอน

            แม้ว่าเธอจะไม่ใช่คนที่สวยจนยากจะหาผู้ใดมาเปรียบ แต่ด้วยความเฉลียวฉลาด ความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงบุคลิกอันโดดเด่น ซึ่งถูกบ่มเพาะมาจากฝรั่งเศส จึงทำให้เธอดูมีเสน่ห์ผิดแผกไปจากเหล่าข้าราชบริพารสาวคนอื่นๆ ในราชสำนัก เธอจึงเป็นที่หมายปองของบรรดาขุนนางมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ที่ตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจังถึงขนาดต้องการที่จะแต่งงานกับนาง

สาเหตุแห่งการปฏิรูปศาสนา

 

   
ภาพวาดสีน้ำมันของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ และพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอน  
ภาพจาก: National Portrait Gallery, London (https://www.npg.org.uk)


            เรื่องไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงสมรสอยู่แล้วกับสมเด็จพระราชินีแคทเธอรีนแห่งอารากอน ซึ่งหนทางเดียวที่จะได้แต่งงานกับแอนน์ โบลีนก็คือ พระองค์ต้องทรง ‘หย่า’ จากพระนางแคทเธอรีน ความยุ่งยากซ้อนอยู่บนความยุ่งยาก ด้วยการหย่าร้างต้องได้รับการยินยอมจากสมเด็จพระสันตปาปาแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จึงส่งสาส์นไปยังวาติกันเพื่อขอหย่าจากพระนางแคทเธอรีน โดยให้เหตุผลว่าพระนางไม่สามารถให้กำเนิดบุตรชายเพื่อเป็นรัชทายาทแก่แผ่นดินอังกฤษให้แก่พระองค์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าข้อฎีกานี้ได้รับการปฏิเสธ

            แต่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ด้วยความรักที่อัดแน่นอยู่ในอกถูกขวางด้วยจารีตประเพณียิ่งทำให้แรงปรารถนาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พลุ่งพล่านดั่งภูเขาไฟที่รอการปะทุ พระองค์จึงได้แอบสมรสอย่างลับๆ กับแอนน์ โบลีน จากนั้นทรงให้อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีประกาศให้การสมรสระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระราชินีแคทเธอรีนเป็นโมฆะ ด้วยพระนางเคยผ่านสมรสกับเจ้าชายอาเธอร์ พระโอรสองค์โตของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 7 เมื่อเจ้าชายอาเธอร์สิ้นพระชนม์ลง พระนางจึงได้สมรสกับเจ้าชายเฮนรี่ พระโอรสองค์ที่สอง ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

            พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ร่วมกับบทบัญญัติในคัมภีร์ไบเบิลที่ระบุว่า “ชายใดนำเอาภรรยาของพี่ชายหรือน้องชายไปเป็นของตน ผู้นั้นต้องตายโดยไร้ทายาท” พระองค์อ้างว่าการสมรสของพระองค์กับสมเด็จพระราชินีแคทเธอรีนเป็นการขัดพระประสงค์ของพระเจ้า จึงทำให้การสมรสนั้นกลายเป็นโมฆะ
เหตุการณ์ครั้งนี้ยังนำไปสู่การที่อังกฤษประกาศแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงออกพระราชบัญญัติว่าด้วยพระราชอำนาจสูงสุดทางศาสนา ซึ่งทำให้กษัตริย์อังกฤษทรงเป็นองค์ประมุขของคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)

บัลลังก์รักสั่นคลอน นำมาสู่ความตาย

            แอนน์ โบลีน เข้าพิธีรับตำแหน่งราชินีแห่งอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1533 หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเธอได้ให้กำเนิดพระธิดานามว่า ‘เจ้าหญิงอลิซาเบธ’ (ภายหลังได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ) แต่การเกิดของพระธิดาองค์น้อยกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวในชีวิตรัก ด้วยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบุตรที่เกิดจากพระนางแอนน์ โบลีน จะเป็นพระโอรส แต่เมื่อไม่เป็นดังหวังพระองค์ก็เริ่มมีใจออกห่าง และเมื่อความรักจืดจางลง อะไรๆ ที่เคยเห็นว่าดีงามก็กลายเป็นขัดหูขัดตาไปเสียสิ้น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงเบื่อหน่ายกับพระราชินีที่กล้าคิดกล้าพูดจนเกินงาม จนดูเหมือนเป็นการแทรกแซงเรื่องการเมืองการปกครองอย่างไม่ไว้หน้าพระองค์ สำหรับแอนน์ โบลีน หนทางเดียวที่เธอจะรักษาสถานภาพและตำแหน่งราชินีของตนเองไว้ได้ก็คือ การให้กำเนิดพระโอรสเท่านั้น จนเมื่อปี 1534 นางก็ได้ตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่กลับแท้งเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 15 สัปดาห์ และต่อมาในอีก 2 ปี ให้หลังนางก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง เคราะห์ร้ายที่เจ้าชายพระองค์น้อยสิ้นพระชนม์ตั้งแต่แรกประสูติ

            เมื่อพระองค์ไม่สามารถให้กำเนิดพระโอรสได้ก็ทำให้สถานภาพของพระองค์ตกต่ำลงถึงขีดสุด ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี หลังจากที่ได้รับตำแหน่งราชินีแห่งอังกฤษ แอนน์ โบลีน ก็ได้ถูกจับกุมในข้อหา “คบชู้” กับชายมากหน้าหลายตารวมถึง ‘จอร์จ โบลีน’ น้องชายร่วมสายเลือด ข้อกล่าวหาอันรุนแรงดังกล่าวนี้บ้างก็ว่าเป็นเรื่องจริง ด้วยนางต้องการมีบุตรชายเพื่อรักษาสถานภาพของตนเองเอาไว้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงยัดเยียดข้อกล่าวหานี้เพื่อกำจัดนางให้ออกไปพ้นทาง ความจริงเป็นเช่นไรไม่มีใครทราบได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วพระนางก็ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการตัดคอในวันที่ 19 พฤษภาคม 1536 ณ หอคอยแห่งลอนดอน

เครื่องประดับสื่อรักแทนใจพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8
 

  
ภาพวาดสีน้ำมันของแอนน์ โบลีน สวมสร้อยคอไข่มุกประดับจี้ตัวอักษร B (ซ้าย) และจี้ตัวอักษา H ทับกับ A (ขวา)
ภาพจาก: National Portrait Gallery, London (https://www.npg.org.uk) และ https://www.mtholyoke.edu

 
             แม้ช่วงเวลาแห่งความรักระหว่างพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับพระนางแอนน์ โบลีน จะไม่ยืนยาวนัก หากแต่ในช่วงเวลานั้นมันก็ช่างท่วมท้น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 มักมีของกำนัลให้แก่นางเสมอ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่ได้รั้งตำแหน่งราชินีแห่งอังกฤษ หลายชิ้นเป็นเครื่องประดับที่แฝงความหมายและความรู้สึกอันลึกซึ้งของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ที่มีต่อพระนาง เช่น สร้อยคอที่มีจี้ทองเป็นตัวอักษร ‘H’ ซ้อนทับกับ ‘A’ ซึ่งเป็นอักษรย่อพระนามของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และชื่อย่อของแอนน์ โบลีน รวมไปถึงแหวนประดับเพชรที่ด้านในของแหวนมีคำจารึกภาษาละติน แต่เครื่องประดับชิ้นที่เรามักคุ้นตาเป็นอย่างดีด้วยมักปรากฎในภาพวาดของพระนาง ก็คือสร้อยคอไข่มุกขนาดสั้นติดคอ (Choker) ประดับด้วยจี้ทองคำอักษรย่อ ‘B’ ด้านล่างห้อยตุ้งติ้งด้วยไข่มุกทรงหยดน้ำ 3 เม็ด ซึ่งเป็นชื่อตระกูลโบลีน (Boleyn) ของนางนั่นเอง
 


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
-----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Anne Boleyn’s Jewellery. On the Tudor trail. (18 March 2011) http://onthetudortrail.com/Blog/2011/03/18/anne-boleyn%E2%80%99s-jewellery/
  2. Anne Boleyn’s Initial Pendants.  http://under-these-restless-skies.blogspot.com/2013/08/anne-boleyns-initial-pendants.html
  3. Anne Boleyn Facts & Biography of Information. English History.  https://englishhistory.net/tudor/monarchs/anne-boleyn/
  4. วันนี้ในอดีต: 19 พฤษภาคม 1536: “แอนน์ โบลีน” ราชินีอังกฤษถูกประหาร. ศิลปะวัฒนธรรม. (19 พฤษภาคม 2561). 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที