GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 17 ก.พ. 2020 04.04 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2488 ครั้ง

ในยุคที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทั้งในด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันและพร้อมรับมืออยู่เสมอ ถ้าต้องการปรับตัวแต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไรในบทความนี้มีคำตอบ


ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับเร่งปรับตัวในยุคโลกป่วน ธุรกิจเปลี่ยน

            ทุกวันนี้ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ตลอดจนกระแสโลกที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้บริโภค ผู้ค้า ผู้ผลิต และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่บีบบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันก็จะถูกกลืนหายไปจากตลาด เพราะธุรกิจที่ปรับตัวได้ คือ ธุรกิจที่อยู่รอด ฉะนั้น เพื่อให้ก้าวนำโลกและตามทันโลกได้ทุกวัน ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับจึงต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ ซึ่งมีหลากหลายทางเลือกในการปรับตัวของผู้ประกอบการ ติดตามได้ในบทความนี้

1) การย้ายฐานการผลิต

          สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานนับปี ส่งผลให้บริษัทที่มีฐานการผลิตในจีนมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ รวมถึงธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่า แม้ว่าล่าสุดสหรัฐฯ และจีนจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกในเดือนธันวาคม 2019 แต่ข้อตกลงนี้กลับไม่มีรายละเอียดมากพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสงครามการค้าระหว่างสองประเทศจะยุติลง หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นเพียงการหย่าศึกทางการค้าเพียงชั่วคราวเท่านั้น สถานการณ์จึงยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ ฉะนั้น การมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ของหลายบริษัทก็มีแนวโน้มจะยังคงดำเนินต่อไป

            สำหรับประเทศที่มีแนวโน้มเป็นเป้าหมายการย้ายฐานการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ อาทิ ไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก มีชื่อเสียงด้านฝีมือการเจียระไนเพชรและพลอยสีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ อีกทั้งมีทักษะฝีมือสูงในการผลิตเครื่องประดับ และค่าจ้างแรงงานที่ยังสามารถแข่งขันได้ ส่วนอินเดีย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ เนื่องจากแรงงานมีทักษะและประสบการณ์ในการตัด/เจียระไนเพชรและพลอยสีเช่นกัน รวมถึงการผลิตเครื่องประดับเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งมีค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ สำหรับเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติไม่น้อย จากการมีแรงงานจำนวนมาก ค่าจ้างต่ำ แรงงานมีความขยันและมีทักษะฝีมือที่พัฒนาได้ เนื่องจากมีพื้นฐานจากการเป็นประเทศที่ผลิตเครื่องประดับทองด้วยมือ รวมถึงนักลงทุนสามารถใช้สิทธิพิเศษทางการค้าจากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ และสิทธิ GSP ในการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาต่างๆ ของเวียดนามที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป เป็นต้น

            นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลอยสีทั้งทับทิมและไพลินที่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ส่วนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับกำลังอยู่ในช่วงเริ่มพัฒนา มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน และมีค่าจ้างแรงงานต่ำ หากแต่ฝีมือการผลิตยังต้องพัฒนาอีกมาก หรืออินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีแรงงานจำนวนมาก แรงงานมีทักษะฝีมือที่ดี แต่มีค่าจ้างแรงงานไม่สูงมากนัก อีกทั้งยังมีชื่อเสียงการเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินชั้นดีของโลกอีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศดังกล่าวข้างต้นมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติในหลายด้าน จึงนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มองหาฐานการผลิตเครื่องประดับแห่งใหม่

 

 

2) การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคม

            กระแสความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดจนการดำเนินธุรกิจด้วยความถูกต้องและโปร่งใส ได้รับการกล่าวถึงในสื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาอยู่บ่อยครั้ง และเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ความสำคัญมากขึ้น โดยก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า ผู้บริโภคเหล่านี้จะถามถึงแหล่งที่มาที่ไปของอัญมณีและเครื่องประดับ จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ความสนใจเรื่องการดำเนินธุรกิจด้วยความถูกต้องโปร่งใสและคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

            สำหรับการตรวจสอบแหล่งที่มาของอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบันนั้น IBM ได้นำเทคโนโลยีระบบบล็อกเชนมาใช้ติดตามห่วงโซ่อุปทานเครื่องประดับ ส่วน De Beers ได้นำเทคโนโลยีระบบบล็อกเชนมาใช้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเพชร ส่วน Everledger ได้ร่วมมือกับ Gübelin และอีกหลายบริษัทพัฒนาระบบบล็อกเชน Provenance Proof เพื่อติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี และเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้งานแล้ว นอกจากนี้ Alrosa ยังร่วมมือกับ Everledger เปิดตัวโปรแกรม WeChat Mini เพื่อช่วยติดตามแหล่งที่มาของเพชรตั้งแต่เหมืองจนถึงผู้ค้าปลีก อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ดังกล่าวยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มแรก ยังคงต้องมีการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวนำธุรกิจเข้าสู่ระบบที่ตรวจสอบเส้นทางของ
อัญมณีและเครื่องประดับได้ หรือซื้อ/นำเข้าวัตถุดิบและเครื่องประดับจากบริษัทที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ทั้งนี้ อาจพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำมาตรฐานหรือแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีจริยธรรม เพื่อแสดงเจตจำนงค์ที่จะปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน RJC มีบริษัทสมาชิกอยู่ราว 1,100 ราย ส่วนค่าสมัครสมาชิกคิดเป็นรายปี แยกตามประเภทของธุรกิจ(*)

            ถ้าหากต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง ก็อาจพิจารณาหันมาใช้ทองคำและอัญมณีรีไซเคิลแทน ซึ่งมีผู้ค้าหลายรายจากทั่วโลกต่างเข้าร่วมกระแสรีไซเคิลเครื่องประดับ โดยตัวอย่างของผู้ค้าที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ คือ แบรนด์ Hoover and Strong ในตลาดสหรัฐฯ ได้มีการนำเสนอชุดเครื่องประดับ Harmony Metals and Gems และได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หรือการหันมาใช้เพชรและพลอยสีสังเคราห์ (Lab Grown Diamonds and Colored Gemstones) ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน


3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

            ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกิจในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ในส่วนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีถูกนำมาปรับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมประเภทเศรษฐกิจประณีต (Craft Economy) และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งการผลิตสินค้าส่วนใหญ่จะต้องอาศัยทักษะความชำนาญของแรงงานมีฝีมือความคิดสร้างสรรค์ และความประณีตละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น หากผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจให้มีความเหมาะสมย่อมสร้างโอกาสความสำเร็จได้ และถ้าไม่สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ทัน ธุรกิจก็อาจต้องหายออกไปจากตลาด สำหรับตัวอย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบันมีดังนี้


            3D Printing เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและเป็นตัวช่วยในการผลิตเครื่องประดับตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งช่วยลดกระบวนการผลิตเครื่องประดับลง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิต และใช้เวลาในการผลิตน้อยลง ทำให้เครื่องประดับออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว เทคโนโลยีนี้จะช่วยสร้างต้นแบบเครื่องประดับด้วยแนวคิดสามมิติ (three-dimensional) จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในการออกแบบ เพื่อนำไปสู่การวางแนวคิดในการออกแบบที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทำให้ได้ต้นแบบหลากดีไซน์ไม่ซ้ำกัน และ 3D Printer ช่วยให้สามารถพิมพ์ต้นแบบเครื่องประดับได้หลายรูปแบบในครั้งเดียวได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว




กระบวนการของ 3D printing ในการผลิตเครื่องประดับตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
ที่มา: https://formlabs.com/blog/3d-printed-jewelry/

 

            กระแสของ 3D printing ในแวดวงของอุตสาหกรรมนี้กำลังมาแรง และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดย ReportLinker คาดว่า ตลาดเครื่องประดับโลกที่ใช้เทคโนโลยี 3D printing จะเติบโตถึง 26% ในปี 2023 เพราะนอกจากจะช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบอย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายดีไซน์ไม่ซ้ำกันแล้ว ยังสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสินค้าที่เป็นตัวเองมากที่สุดหรือก็คือสินค้าประเภท Customize ซึ่งผู้บริโภคสามารถออกแบบเครื่องประดับได้เองตามใจชอบทำให้ได้สินค้าที่มีชิ้นเดียวในโลก ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัทหลายรายจากหลายประเทศทั่วโลกนำเทคโนโลยี 3D printing มาใช้ในธุรกิจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท Orori ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่เปิดให้ลูกค้าสั่งพิมพ์เครื่องประดับเพชรหรือพลอยสีในรูปทรงที่ต้องการ โดยลูกค้าสามารถเลือกดีไซน์ รูปทรงของเพชรและพลอยสี รวมถึงออกแบบลวดลายต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ของบริษัทซึ่งรองรับการแสดงผลทั้งผ่านระบบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และทางร้านจะผลิตเครื่องประดับเพชรหรือพลอยสีด้วยเครื่องพิมพ์ 3D printer เมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า หรือ American Pearl แบรนด์เครื่องประดับชื่อดังในนครนิวยอร์กที่ประกาศเข้าสู่การผลิตเครื่องประดับแบบสามมิติในปี 2014 ซึ่งเปิดให้ลูกค้าออกแบบเครื่องประดับด้วยตนเองโดยใช้เทคโนโลยี 3D printing เป็นต้น




ตัวอย่างเครื่องประดับ 3D printing ของ American Pearl


 

            CNC Machining เป็นเทคโนโลยีการผลิตชิ้นงานโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ ทำงานโดยใช้หัวกัดหรือดอกสว่านเพื่อสกัดเนื้อวัสดุออกจากบล็อกชิ้นงาน เพื่อให้ได้รูปทรงชิ้นงานที่ต้องการ เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในหลายประเทศ อาทิ จีน ยุโรป รวมถึงไทยและอินเดียก็เริ่มนำเทคโนโลยี CNC มาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมากขึ้นเช่นกัน




ตัวอย่าง CNC laser cutting engraving machine for jewelry
https://www.famisourcing.com

            AI (Artificial Intelligence) เป็นโปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ โดยการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ขายสามารถคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละคน และส่งสารถึงผู้บริโภคให้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดในปัจจุบันและผู้ประกอบการในเกือบทุกอุตสาหกรรมได้นำ AI ไปใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับก็กำลังตื่นตัวกับเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมเพชรได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการจัดระดับคุณภาพเพชร เพื่อลดความผิดพลาดของนักอัญมณีศาสตร์ ซึ่ง AI จะช่วยวิเคราะห์เพชรได้ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น บริษัท Sarine ได้ออกแบบเครื่อง  Sarine Clarity™ เพื่อการตรวจสอบความสะอาดของเพชรแบบอัตโนมัติ หรือการนำ AI มาช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น Diamond Pro บริษัทที่ปรึกษาเพชรจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้พัฒนา Ringo ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า world’s first artificially intelligent (AI) ช่วยให้ผู้ซื้อเพชรออนไลน์ตัดสินใจเลือกซื้อเพชรบนทางเลือกที่ดีที่สุดบนพื้นฐานข้อมูลทั้งใบรับรอง รูปทรงของเพชร รูปแบบตัวเรือน และชนิดของโลหะมีค่าที่ใช้ทำตัวเรือนเครื่องประดับ หรือ RockHer บริษัทผู้ผลิตแหวนหมั้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้นำ AI ชื่อว่า ROSI มาใช้ช่วยเพิ่มประสบการณ์ซื้อแหวนเพชรออนไลน์ให้กับลูกค้า ซึ่ง ROSI เป็นนักอัญมณีศาสตร์ดิจิทัล ที่ช่วยจัดหาเพชรที่เหมาะสมและดีที่สุดให้กับลูกค้า โดยผู้ซื้อจะต้องตอบแบบสอบถามรูปทรงเพชรที่ชอบและงบประมาณ จากนั้น ROSI จะทำการวิเคราะห์และแสดงตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้า




ตัวอย่างผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ของ ROSI
ที่มา: https://picupmedia.com/blog/jewelry-e-commerce-retail-tips/jewelry-tools/

            Digital Ring Sizer ที่เรียกว่า PerfectFit เป็นแอพลิเคชั่นที่ออกโดยบริษัท Radius Technologies ใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ IOS และ Android สำหรับวัดขนาดนิ้วมือเพื่อสวมแหวน ซึ่งแอพลิเคชั่นนี้จะทำให้สามารถวัดขนาดนิ้วมือได้อย่างแม่นยำภายในเวลาเพียงหนึ่งนาที การใช้งานแสนง่ายโดยเมื่อเปิดแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์แล้วเลือกเพศ จากนั้นวางนิ้วมือลงไปที่หน้าจอโทรศัพท์ กดปุ่มเครื่องหมายบวกหรือลบเพื่อกำหนดเส้นรอบนิ้วมือ ทั้งนี้ แอพลิเคชั่น PerfectFit สามารถรองรับทุกแพลตฟอร์ม E-commerce บนมือถือ




ที่มา: https://picupmedia.com/blog/jewelry-e-commerce-retail-tips/jewelry-tools/

            ERP Software เป็นโปรแกรมที่บริษัทหลายรายในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจตั้งแต่การผลิต การออกแบบ การบริหารสินค้าคงคลัง การวิเคราะห์ยอดขาย และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ไปจนถึงการจัดการทางเงินและบัญชีของบริษัท ตลอดจนการบรรจุสินค้าจนกระทั่งจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า

            SynthDetect เป็นเครื่องมือใหม่ล่าสุดที่คิดค้นผลิตโดย International Institute of Diamond Grading and Research (IIDGR) ใช้สำหรับตรวจสอบอัญมณีแบบเม็ดเดี่ยวและอัญมณีที่ติดอยู่บนตัวเรือนเครื่องประดับ สามารถทดสอบกับอัญมณีที่มีสีจนถึงไม่มีสีโดยไม่จำกัดขนาด โดยนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2018 Industry Innovation of the Year for Diamond Testing Technology จาก JNA Awards นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทในอเมริกา ยุโรป และอินเดีย ได้ผลิตเครื่องมือสำหรับตรวจสอบเพชร ด้วยคุณภาพและราคาแตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกซื้อมาใช้ได้ตามความเหมาะสม

4) การขายอัญมณีและเครื่องประดับออนไลน์

            จากที่ผู้บริโภคยุคใหม่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่ว่ากิจการในธุรกิจไหน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับก็ต้องก้าวเข้ามาสู่โลก E-Commerce กันทั้งนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการขายเครื่องประดับผ่านช่องทางออนไลน์และดิจิทัลมีเดียเพียง 5% ของตลาดเครื่องประดับทั้งหมด แต่คาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 10-15% ในปี 2020 (**) ทั้งนี้ Orbis Research ประมาณการว่าในช่วงปี 2018-2022 ตลาดเครื่องประดับออนไลน์ของโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15.69% อย่างไรก็ดี ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่จะไม่ซื้อเครื่องประดับออนไลน์ในทันที แต่จะหาข้อมูลสินค้าและเปรียบเทียบราคาทางอินเทอร์เน็ตก่อน จากนั้นจึงไปสัมผัสสินค้าจริงแล้วจึงตัดสินใจซื้อสินค้า ฉะนั้น จึงไม่ควรตัดร้านค้าแบบดั้งเดิมทิ้ง แต่ควรดำเนินกลยุทธ์ผสมผสานทั้งสองช่องทางหรือเรียกว่า omni-channel

            ส่วนรูปแบบการขายสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันมีทั้งแบบการเปิดร้านค้าออนไลน์ของตนเอง หรือวางขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-Commerce โดยแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญ อาทิ ETSY เป็นเว็บไซต์ที่เหมาะสำหรับเครื่องประดับทำด้วยมือ มีค่าธรรมเนียมการวางสินค้า 0.20 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น และค่าธรรมเนียมหลังการขาย 3.5%, The Wanelo Shopify เป็นแอพลิเคชั่น E-commerce บนมือถือ ค่าธรรมเนียมเปิดร้านค้าเริ่มต้นที่ 29 เหรียญสหรัฐต่อเดือน, BigCommerce เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก มีร้านค้าให้เลือก 3 รูปแบบ มีค่าธรรมเนียมร้านค้า 29.95, 79.95 และ 249.95 เหรียญสหรัฐต่อเดือน, TrueFacet เป็นแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้าใช้แล้วหรือสินค้ามือสอง ผู้ขายจ่ายค่าธรรมเนียม 18-20% เมื่อขายสินค้าได้ และ eBay เป็นแพลตฟอร์มที่นิยมมาก วางขายสินค้าได้ทั้งของใหม่หรือของใช้แล้ว ผู้ขายที่ไม่เปิดร้านค้าสามารถวางขายสินค้าได้ฟรี 50 ชิ้น ชิ้นถัดไปเสียค่าธรรมเนียม 0.30 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น ส่วนการเปิดร้านค้ามีค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 19.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และผู้ขายบน eBay ทุกรูปแบบจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อขาย
สินค้าได้ 10% ต่อชิ้น 




ตัวอย่างเครื่องประดับที่วางขายบน ETSY และ TrueFacet


            นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการขายแบบ Live Stream ซึ่งเริ่มนิยมมากในจีนและไทย โดยผู้ขายจะขายสินค้าแบบ Live สดผ่านเว็บไซต์ E-commerce ที่มีฟังก์ชั่น Live Stream อย่าง TAOBAO หรือ Facebook และผู้ค้าหลายรายก็เริ่มขายสินค้าผ่านการทำคลิปวีดีโอสั้นๆ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าอย่าง IG Stories หรือการวางขายสินค้าผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาแต่ละช่องทางการขายเพื่อจะได้เลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมกับตนเองและควรขายสินค้าผ่านหลายช่องทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายอัญมณีและเครื่องประดับให้มากขึ้น

5) การตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์


            โลกยุคดิจิทัลกำลังหมุนเร็วขึ้นทุกขณะ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยผู้บริโภคในยุคนี้มักค้นหาข้อมูลของสินค้าทางออนไลน์ก่อนการตัดสินใจซื้อ และยังคาดหวังการโต้ตอบอย่างทันท่วงทีจากร้านค้า การตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแบ่งปันข้อมูลเนื้อหารายวัน การประกาศข้อเสนอพิเศษ และข่าวสารสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าไม่สามารถหาอ่านได้จากที่อื่น รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างทันที จึงเป็นช่องทางการตลาดที่กำลังได้รับความนิยมจากทุกประเภทธุรกิจสูงสุดในขณะนี้ โดยสื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมใช้ทำตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และ Pinterest ทั้งนี้ ควรเลือกโพสต์ข้อมูลในช่วงที่คนมีแนวโน้มจะตอบสนองมากที่สุด เช่น ใน Facebook ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นช่วงที่ผู้ใช้งานมีปฏิกิริยาตอบสนองสูงสุด เป็นต้น



Instagram ของ แบรนด์ BVLGARI

 

            ทั้งนี้ แบรนด์เครื่องประดับตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่หันมาทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยแบรนด์ดังที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดช่องทางนี้ อาทิ  BVLGARI แบรนด์เครื่องประดับหรูที่ออกแคมเปญผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Instagram มียอดผู้ติดตามถึง 8.4 ล้านคน และ Facebook มีผู้ติดตาม 3.40 ล้านคน หรือ David Yurman แบรนด์เครื่องประดับชื่อดังจากอเมริกาที่ทำการตลาดทั้ง Facebook โดยมีผู้ติดตาม 624,430 คน และ Instagram มีผู้ติดตาม 353,000 คน เป็นต้น

6) การร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ

           ภายใต้ภาวะการแข่งขันสูงในปัจจุบัน อาจทำให้การดำเนินธุรกิจเพียงลำพังประสบความสำเร็จได้ยากหากบริษัทมีจุดแข็งไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการจึงเริ่มใช้กลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งอาจเป็นพันธมิตรข้ามธุรกิจเพื่อนำมาเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน ดังเช่นกรณีบริษัท QVC ผู้ค้าปลีกที่มีหลายแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินธุรกิจหลักเป็นสื่อโทรทัศน์สำหรับขายสินค้า แต่ได้แตกไลน์ทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Twitter, Facebook และ Instagram และขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ของบริษัทด้วย โดย QVC ไม่ได้ผลิตสินค้าด้วยตนเอง แต่เป็นผู้จัดหาสินค้าต่างๆ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับจากผู้ผลิตมาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของบริษัท โดยบริษัททำความร่วมมือระยะยาวกับพันธมิตรด้านเครื่องประดับ คือ Kelly Hoppen และ Liza Snowdon ฉะนั้น ผู้ผลิตสินค้าที่มีจุดอ่อนด้านช่องทางการตลาด ก็จะสามารถขายสินค้าได้ดีหากร่วมมือกับพันธมิตรที่มีช่องทางการตลาดแข็งแกร่ง

            นอกจากนี้ การเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เช่น หน่วยงานเพื่อสังคม หรือภาคการศึกษา โดยการจัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจมาก จะเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและบริษัท อันจะช่วยเพิ่มคุณค่าของแบรนด์สินค้า และมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ดังเช่น Pandora แบรนด์เครื่องประดับเงินชั้นนำของโลกได้ร่วมมือกับ UNICEF ในโครงการระดมทุนช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ให้เด็กทุกคนมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี ตลอดจนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งรูปแบบความร่วมมือเหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่ จึงควรนำไปพิจารณาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและโอกาสการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

            นอกจากผู้ประกอบการและ/หรือกิจการจะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยอาศัยทางเลือกดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในส่วนของบุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เพราะสภาพงานและทักษะแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น คนทำงานในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องมี “ทักษะชุดใหม่” นั่นคือ ทักษะของการทำงานร่วมกับเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ดังนั้น หากแรงงานต้องการอยู่ในอุตสาหกรรมต่อไป จำเป็นต้องเรียนรู้พัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น



            จากความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดมากขึ้นอีกในอนาคต การปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นทางออกที่ไม่ว่าธุรกิจไหนหรือแรงงานคนใดก็ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งหากไม่เริ่มปรับตัวตั้งแต่บัดนี้ ก็จะหยุดอยู่กับที่ และก็จะถดถอยลงจนถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้ในที่สุด
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2563




(*) https://www.responsiblejewellery.com/applications/membership-fees/
(**) How online channels have made the jewelry industry shine and sparkle (December, 2019).  https://blog.saleslayer.com/how-online-channels-have-made-the-jewelry-industry-shine-and-sparkle
 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที