GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 26 มี.ค. 2020 02.22 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1340 ครั้ง

มีค่าเท่าหนึ่งอาณาจักร นั่นคือมูลค่าของอัญมณีหลวงคู่ราชบัลลังค์พม่าที่มีนามว่า งาม็อก แต่แล้วอัญมณีดังกล่าวกลับสูญหายไปอย่างเป็นปริศนา งาม็อกนั้นมีความเป็นมาอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นกับทับทิมที่แสนงดงามนี้ สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้


งาม็อก มหารัตนมณีคู่บัลลังก์

             “ทับทิม” อัญมณีสีแดงที่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งอัญมณี หนึ่งในอัญมณีซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้คนมาอย่างยาวนาน ความงดงามที่ชวนพิศมัยนี้ดึงดูดความปรารถนาและทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นตกอยู่ในภวังค์คล้ายต้องมนต์สะกด บางรายต้องพ่ายแพ้ให้แก่ความเย้ายวนใจของมัน และยอมทำทุกวิถีทางเพียงเพื่อให้ได้มาไว้ในครอบครองแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องก็ตาม

            เรื่องที่จะเล่าให้ฟังกันในวันนี้ เป็นเรื่องราวของ “ทับทิมงาม็อก” และปริศนาการหายสาปสูญของมหารัตนมณีคู่บารมีกษัตริย์พม่า

           “งาม็อก” (Ngamauk) คือ ทับทิมสีแดงสดคุณภาพเยี่ยม ไร้ตำหนิ มีขนาดใหญ่เท่ากับไข่นกกระทา ด้วยน้ำหนักกว่า 80 กะรัต เจ้าอัญมณีสูงค่าเม็ดนี้ถูกพบโดยนายงาม็อกคยีเมื่อปี 1661 จากเหมืองพลอยในเมืองโมกก และได้นำทับทิมเม็ดนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแก่กษัตริย์พม่า ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานนามให้แก่ทับทิมเม็ดนี้ว่า “งาม็อก” เพื่อเป็นเกียรติให้แก่นายงาม็อกคยี นับแต่นั้นเป็นต้นมาทับทิมเม็ดนี้ก็ได้ถูกเก็บไว้ในท้องพระคลังและถูกยกให้เป็นอัญมณีหลวงคู่ราชบัลลังก์พม่าสืบมา

            ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดง แห่งราชวงศ์อลองพญา พระองค์ทรงถูกอังกฤษบีบคั้นทางการเมืองอย่างหนัก จึงทรงคิดที่จะดึงเอาฝรั่งเศสมาช่วยคานอำนาจของอังกฤษ ทรงล่อหลอกฝรั่งเศสด้วยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ และในการเจรจากับทูตฝรั่งเศสครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงนำเอาทับทิมงาม็อกออกมาให้ทูตฝรั่งเศสได้ชมและลองประเมินราคา คำตอบที่ได้คือ “ล้ำค่าเหลือประมาณ หากตีราคาก็ควรค่าเท่ากับประเทศหนึ่งเลยทีเดียว”

 


ภาพวาดของพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่า ขณะนำทับทิมงาม็อกออกมาให้ทูตฝรั่งเศสชม
ภาพโดย: London Diamond & Emerald Exchange 


            “งาม็อก” ยังคงอยู่เป็นสมบัติคู่บารมีกษัตริย์พม่ามาจนกระทั่งปี 1885 ในรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ พระโอรสในพระเจ้ามินดง เมื่อพม่าไม่สามารถทัดทานแสนยานุภาพของอังกฤษที่เข้ามาริดรอนและยึดเอาแผ่นดินพม่าเป็นเมืองในอาณัติได้อีกต่อไป จากเหตุการณ์นั้นทำให้พระเจ้าสีป่อ รวมถึงพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ถูกเนรเทศออกจากแผ่นดินเกิดโดยให้ไปประทับที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

            การเสด็จไปอินเดียในครั้งนั้น พระองค์ได้นำเอาทับทิมงาม็อกรวมถึงเพชรนิลจินดาและของมีค่าอื่นๆ ใส่หีบลงเรือไปด้วย โดยมีพันเอกสลาเดน นายทหารชาวอังกฤษเป็นผู้กำกับดูแลการเดินทางและเคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่า แต่เมื่อพระองค์เสด็จถึงอินเดีย และได้ทรงตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ ก็พบว่า มหารัตนมณีงาม็อก รวมถึงรัตนชาติสำคัญหลายรายการได้หายไปพร้อมกับพันเอกสลาเดน
 
            พระองค์ทรงพยายามติดตามทวงถามกับเหล่าทหารอังกฤษถึงพระราชทรัพย์ต่างๆ ที่อยู่กับพันเอกสลาเดน แต่กลับได้รับคำตอบมาว่าพันเอกสลาเดนได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษไปแล้ว และแม้ว่าพระเจ้าสีป่อจะพยายามทวงถามไปยังทางการอังกฤษหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบว่าทับทิมงาม็อกรวมถึงทรัพย์สมบัติมีค่าอื่นๆ อยู่ที่ใด

 


พระเจ้าสีป่อ แห่งราชวงศ์อลองพญา 
กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า
ภาพโดย: Getty Images


            จนกระทั่งเมื่อปี 1911 พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษเสด็จประพาสอินเดีย พระเจ้าสีป่อจึงได้ส่งพระราชสาส์นขอเข้าเฝ้าพระเจ้าจอร์จที่ 5 ด้วยหวังว่าจะร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับทับทิมงาม็อกที่หายไป แต่ความหวังอันริบหรี่ของพระองค์ก็ดับมืดลงอีกครั้ง ด้วยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมีพระราชสาส์นตอบกลับมาเพียงสั้นๆ ว่า “พันเอกสลาเดนได้ถึงแก่กรรมไปแล้วตั้งแต่ปี 1890” พระเจ้าสีป่อจึงทรงสรุปได้เพียงว่ามหารัตนมณีงาม็อกก็คงจะปิดฉากลงพร้อมกับชีวิตของพันเอกสลาเดนอย่างแน่แท้  

            พระเจ้าสีป่อสิ้นพระชนม์ในปี 1916 จากนั้น พระนางศุภยาลัต  พระราชินี ก็ได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับมาประทับยังเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 1925 โดยในระหว่างที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระนางศุภยาลัตเคยได้ประทานให้สัมภาษณ์แก่นักข่าว และยืนยันว่ามหารัตนมณีงาม็อกได้ตกไปอยู่มือของพันเอกสลาเดนนับตั้งแต่วันที่พระองค์ถูกเนรเทศออกจากแผ่นดินเกิดอย่างแน่นอน

            ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันปากต่อปากอย่างไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มหารัตนมณีงาม็อกได้ถูกคนในตระกูลสลาเดนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษไปแล้ว และแม้ว่ากาลเวลาล่วงมาจวบจนปัจจุบัน คดีการหายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอยของอัญมณีหลวงคู่บารมีกษัตรย์พม่าก็ยังคงเป็นปริศนาที่ค้างคาใจต่อไป
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2563
--------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1.    The Royal Ruby (Padamyar Ngamauk). Myanmar.net. (22 December 2017).
https://myanmars.net/history/19169-the-royal-ruby-padamyar-ngamauk
2.    Padamyar Ngamauk (Royal Ruby) History. Asnthanhan’s Blog. (28 February 2011).
https://asnthanhan.wordpress.com/2011/02/28/padamyar-ngamauk-royal-ruby/


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที