GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 08 เม.ย. 2020 23.58 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1187 ครั้ง

อีสเตอร์ เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และอีกสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ไข่อีสเตอร์นั่นเอง ภายใต้สีสันสวยงามนั้นมีความหมายซ่อนอยู่ ถ้าอยากรู้มาลองกระเทาะเปลือกหาคำตอบกันได้ที่นี่


กระเทาะเปลือกไข่อีสเตอร์

            อีสเตอร์ (Easter) หนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาวคริสต์ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซูภายหลังจากสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกตรึงบนไม้กางเขน วันอีสเตอร์จะไม่มีวันที่ระบุตายตัว เนื่องจากขึ้นอยู่กับปฏิทินทางจันทรคติของคริสตจักรสากล (The Universal Christian Year) โดยชาวคริสต์ได้ถือเอาวันอาทิตย์แรกหลังคืนพระจันทร์วันเพ็ญในเดือน 4 เป็นวันอีสเตอร์* สำหรับวันอีสเตอร์ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2563
 


ภาพจาก: Pinterest


            กล่าวกันว่าเทศกาลอีสเตอร์มีมาก่อนการกำเนิดของศาสนาคริสต์ โดยเป็นพิธีกรรมหนึ่งตามความเชื่อโบราณของลัทธิเพแกน (Paganism) พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เพื่อสักการะและเฉลิมฉลองให้แก่ Eostre เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ ครั้นเมื่อคริสตศาสนาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจึงเข้าแทรกซึมด้วยการผนวกพิธีกรรมและความเชื่อโบราณเข้ากับคริสตศาสนา เพื่อให้ง่ายต่อการแผ่ขยายอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อ และแล้วการเฉลิมฉลองให้แก่เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิก็ได้กลายมาเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่การฟื้นคืนชีพของพระเยซู


สร้อยข้อมือประดับชาร์มรูปไข่อีสเตอร์
เครื่องประดับโดย: Fabergé


            สิ่งที่มาควบคู่กับเทศกาลอีสเตอร์อันถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาลก็คือ ‘ไข่’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ไข่อีสเตอร์’ (Easter Egg) สิ่งนี้มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์อันสื่อความหมายถึงชีวิต การถือกำเนิดใหม่ และความอุดมสมบูรณ์ มันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลด้วยการเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการฟื้นคืนชีพของพระเยซู และอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำเทศกาลอีสเตอร์ก็คือ ‘กระต่าย’ ด้วยเชื่อกันว่ากระต่ายจะนำพาความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิเข้ามาแทนที่ความหนาวเหน็บของฤดูหนาว มันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ และความอุดมสมบูรณ์

            เมื่อพูดถึงไข่อีสเตอร์ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึงไข่อีสเตอร์ของราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นงานศิลปะวัตถุลงยาสีสันสวยงาม ตกแต่งด้วยอัญมณี และแฝงกลไกอันชวนพิศวง ฝีมือของฟาแบร์เช่ (Fabergé) ช่างทองหลวงประจำราชสำนักรัสเซีย ซึ่งเจ้านายหลายพระองค์มักมีรับสั่งให้ประดิษฐ์ไข่อีสเตอร์เพื่อเป็นของขวัญแก่พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เสมอ โดยผลงานชิ้นแรกคือ Hen ไข่ไก่ทองคำที่ด้านนอกลงยาสีขาวเหมือนเปลือกไข่ หากเมื่อเปิดเข้าไปจะพบกับไข่แดงสีทองอร่าม และเมื่อเปิดชั้นไข่แดงก็จะได้พบกับแม่ไก่ทองคำตัวจ้อยน่าเอ็นดู นอกจากนี้ ผลงานไข่ฟาแบร์เช่ในราชสำนักรัสเซียที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย อาทิ Coronation Egg, Lilies of the Valley Egg, Bay Tree Egg และ Renaissance Egg เป็นต้น โดยแต่ละชิ้นนั้นล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างวิจิตรบรรจงทั้งสิ้น

 

  
ตัวอย่างไข่ฟาแบร์เช่ของราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย 
Coronation Egg (ซ้าย) Hen (กลาง) และ Renaissance Egg (ขวา)
ผลงานโดย: Fabergé


             ปัจจุบันเทศกาลอีสเตอร์ได้กลายมาเป็นช่วงเวลาของครอบครัวมากกว่าวันสำคัญทางศาสนา โดยกิจกรรมในเทศกาลนี้ นอกจากการรวมตัวของสมาชิกในครอบครัวเพื่อรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว ยังมีการแต้มแต่งสีสันไข่ไก่ให้มีลวดลายสวยสดงดงาม หรือจะเป็นช็อกโกแลตรูปทรงไข่ไก่ เพื่อมอบให้กับเด็กๆ หรืออาจจะถูกนำไปซ่อนเพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นเกมค้นหา นอกจากนี้ เทศกาลอีสเตอร์ยังเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ผู้คนนิยมมอบของขวัญให้แก่กันไม่แพ้เทศกาลคริสต์มาส โดยของขวัญซึ่งเป็นที่นิยมในเทศกาลนี้มักสอดคล้องกับไข่อีสเตอร์ เปรียบดั่งการอวยพรให้ผู้รับได้พบกับความโชคดี รวมถึงมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตนั่นเอง  

 
ของประดับรูปทรงรังนกทำด้วยเงิน และไข่ทำจากกระเบื้องเคลือบสีฟ้าทิฟฟานี (Tiffany Blue)
จากแบรนด์ Tiffany & Co.



จี้รูปไข่อีสเตอร์บนตัวเรือนทอง 18 กะรัตลงยาประดับเพชร
เครื่องประดับโดย: Fabergé


 
 
 
 



  
 
 
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมษายน 2563
-----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:

  1. History. (7 June 2019). Easter Symbols and Traditions. Retrieved 7 February 2020 from https://www.history.com/topics/holidays/easter-symbols
  2. BBC. (19 April 2019). Why do we have Easter eggs and the Easter bunny?. Retrieved 8 February 2020 from https://www.bbc.co.uk/newsround/17597617
  3. Huffpost. (4 February 2012). Easter Eggs: History, Origin, Symbolism and Traditions. Retrieved 8 February 2020 from https://www.huffpost.com/entry/easter-eggs-history-origin-symbolism-tradition_n_1392054
  4. Fabergé. The World of Fabergé: The Imperial Eggs. Retrieved 8 February 2020 from https://www.faberge.com/the-world-of-faberge/the-imperial-eggs


* ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลระบุว่าพระเยซูทรงคืนชีพในวันอาทิตย์

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที