GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 14 ส.ค. 2020 14.39 น. บทความนี้มีผู้ชม: 905 ครั้ง

จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในวงการเพชร ซึ่งหนึ่งในบริษัทชั้นนำอย่าง De Beers เองก็มีการวางเป้าหมายเรื่องนี้เช่นกัน จะเป็นอะไรนั้นสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่นี่


บริษัทเพชรชั้นนำตกลงใช้แผนชดเชยคาร์บอนที่จะเปลี่ยนโฉมธุรกิจกลางน้ำ

            กลุ่มลูกค้าชั้นนำของ De Beers ตกลงวางเป้าหมายว่าจะชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) อันเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่เพื่อสร้างกระบวนการดำเนินงานที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์ในภาคอุตสาหกรรมเพชร

            ในการประชุมครั้งสำคัญซึ่งนำโดยบริษัทที่ปรึกษา Gemdax จากแอนต์เวิร์พ ประเทศเบลเยียม ร่วมด้วย De Beers และบริษัทผู้ผลิตเพชรเก้าแห่ง อันได้แก่ D Navinchandra Gems, Dianco, Diamant Impex, Diarush, HVK International, Hari Darshan, H Dipak and Co, Yaelstar และ StarRays ได้ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตในธุรกิจ ‘กลางน้ำ’ เพื่อมุ่งสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและถูกต้อง โดยตกลงว่าจะพัฒนาแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบและประเมินทุกๆ 6 เดือน จากผู้ตรวจสอบภายนอกที่มีชื่อเสียงและเคยทำงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยผู้ตรวจสอบจะตัดสินพิจารณาบริษัทเหล่านี้ด้วยมาตรฐานการประเมินที่เข้มงวด

            แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการว่าบริษัทต่างๆ จะบรรลุเป้าหมายด้านการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้เมื่อใด และคาดว่าน่าจะมีผู้ผลิตบางรายที่จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากมากที่จะบรรลุผลได้โดยไม่ซื้อเครดิตชดเชย แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็คือการที่ผู้ผลิตเพชรใช้คาร์บอนลดลง เช่น อาจมีการพิจารณาโอกาสที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วหันมาใช้เชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการผลิตเพชรจะปล่อยคาร์บอนออกมาจากการใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าทั่วไป การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการกระจายสินค้า กระบวนการต่างๆ เหล่านี้มีจุดที่สามารถปรับปรุงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างด้วย

            จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล Generation Z ไปจนถึงผู้บริโภควัยอื่นๆ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงเกิดขึ้นขณะที่ผู้บริโภคหันมาเรียกร้องว่า นอกจากเพชรจะต้องผ่านการทำเหมืองและการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบแล้ว กระบวนการผลิตและการค้าก็ต้องสอดคล้องกับค่านิยมและมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคด้วย ซึ่งรวมถึงการมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Carbon Footprint)

 

            ทั้งนี้ De Beers เล็งเห็นว่า ไม่มีภารกิจใดสำคัญยิ่งไปกว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฝันแห่งเพชร’ (Diamond Dream) เพราะพันธกิจของ De Beers คือการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพชรและสิ่งที่อุตสาหกรรมนี้ได้มอบให้แก่สังคมในปัจจุบัน

            De Beers จึงได้ประกาศแผนการที่จะปรับปรุงเหมืองเพชรบางแห่งให้มีการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งแผนการดังกล่าวได้สร้างโอกาสที่จะนำเสนอ “วงจรอุตสาหกรรมที่มีการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างสมบูรณ์” เพื่อ ที่จะผลักดันการทำเหมืองอย่างยั่งยืน การนำธุรกิจกลางน้ำมาเข้าร่วมด้วยในขั้นตอนต่อไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากขาดส่วนนี้ไปก็จะไม่ได้ภาพรวมที่สมบูรณ์และจะไม่สามารถมอบสิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือเพชรที่มีความยั่งยืนตั้งแต่ขุดมาจากเหมืองจนมาถึงนิ้วมือของผู้สวมใส่

            นอกจากนี้ ไม่ได้มีเพียงบริษัทผู้ผลิตเพชรกลุ่มนี้เท่านั้นที่สนใจเรื่องการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ผู้ผลิตเครื่องประดับอย่าง Pandora ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2025 ในขณะที่ผู้ผลิตเพชรจากห้องปฏิบัติการอย่าง Diamond Foundry ก็ผ่านการรับรองจาก Natural Capital Partners ว่าสามารถชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์แล้ว

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สิงหาคม 2563

------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. “Leading diamond firms agree carbon neutral roadmaps that could transform the midstream” by Andrew Seymour. Retrieved July 31, 2020 from https://www.professionaljeweller.com/breaking-news-leading-diamond-firms-agree-carbon-neutral-roadmaps-that-could-transform-the-midstream/.
  2. “9 Sightholders Commit to Carbon Neutrality” by Rob Bates. Retrieved July 31, 2020 from https://
    www.jckonline.com/editorial-article/9-sightholders-carbon-neutrality/.

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที