GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 17 ส.ค. 2020 16.14 น. บทความนี้มีผู้ชม: 816 ครั้ง

ราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจนถือว่าเป็นราคาสูงสุดในประวัติการณ์ จนเป็นเหตุที่ทำให้ความต้องการเครื่องประดับโดยรวมลดลง ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย และสหรัฐฯ อะไรคือปัจจัยทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงถึงเพียงนี้ สามารถหาคำตอบได้จากที่นี่


ราคาทองคำพุ่ง ผลักดันอุปสงค์เครื่องทองทั่วโลกลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

            ราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ พุ่งทำ All Time High ครั้งใหม่ที่ระดับราคา 2,075 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2020 ซึ่งนับว่าเป็นราคาสูงสุดของโลหะมีค่าชนิดนี้เท่าที่เคยมีมาก่อน ทำให้ราคาทองคำปีนี้ปรับตัวขึ้นได้แล้วประมาณร้อยละ 34 แม้ว่าปัจจุบันราคาทองคำจะเข้าสู่ภาวะการปรับฐานขยับลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าราคาที่พุ่งสูงขึ้นนั้นไม่ได้มาจากความต้องการเครื่องประดับทอง แต่เป็นผลจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กดดันทิศทางเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว หนุนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้คนหันมาสนใจทองคำเพื่อการลงทุนในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ และถือครองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยกันมากขึ้น

            จากรายงาน “แนวโน้มความต้องการทองคำ” (Gold Demand Trends) ของ World Gold Council ระบุว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองแล้ว โดยลดลงถึงร้อยละ 53 เหลือเพียง 251 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2019 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 อุปสงค์เครื่องประดับทองทั่วโลกลดลงกว่าร้อยละ 46 เหลือเพียง 572 ตัน ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตามรายงานข้อมูลของ World Gold Council เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมา

            ทั้งนี้ ตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองรายใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และสหรัฐฯ ต่างมีความต้องการลดต่ำลง โดยอุปสงค์เครื่องประดับทองในไตรมาสที่สองของจีนลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 90.9 ตัน ส่งผลให้ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 152.2 ตัน หรือลดลงถึงร้อยละ 52 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2007 เป็นต้นมา

            ส่วนความต้องการเครื่องประดับทองในอินเดียลดลงในไตรมาสที่สองของปีนี้ด้วยสาเหตุจากการปิดเมืองทั่วทั้งประเทศ ความต้องการที่หายไปในช่วงเทศกาล ตลอดจนราคาทองที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองของอินเดียลดลงถึงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 44 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นความต้องการรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดเท่าที่ World Gold Council เก็บข้อมูลมาในช่วงหลายปี ส่งผลให้อุปสงค์เครื่องประดับทองในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึงร้อยละ 60 มาอยู่ที่ 117.8 ตัน ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา

            นอกจากนี้ World Gold Council ยังระบุว่าความต้องการเครื่องประดับทองโดยรวมของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 21 เหลือ 41.9 ตัน ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี ส่วนในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2020 อุปสงค์เครื่องประดับทองในสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34 เหลือเพียง 19 ตัน ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในช่วง 10 ปี เท่าที่ทาง World Gold Council ได้ประเมินอุปสงค์ในตลาดนี้มา สาเหตุที่ความต้องการเครื่องประดับทองลดต่ำลงหลังจากเพิ่มขึ้นมาตลอดหลายปีนั้น เป็นเพราะการปิดร้านในช่วง COVID-19 โดยสถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อมีการปิดเมืองมาจนถึงช่วงเทศกาลอีสเตอร์และวันแม่ ซึ่งตามปกติแล้วทั้งสองเทศกาลนี้จะช่วยให้มีคนเข้าร้านเครื่องประดับเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองในสหรัฐฯ ลดลงในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา แล้วจึงฟื้นตัวกลับมาในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 เมื่อร้านค้าเครื่องประดับกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคสหรัฐฯ นำเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลมาใช้จ่าย โดยการซื้อเครื่องประดับตามช่องทางร้านค้าดั้งเดิมได้ย้ายไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่พบได้ในตลาดอื่นๆ เช่นกัน

ที่มา: https://www.pinterest.com

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สิงหาคม 2563

------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. “Gold Price Sails Over $2,000 as Gold Jewelry Demand Hits 8-Year Low.” by Rob Bates. Retrieved August 5, 2020 from https://www.jckonline.com/editorial-article/gold-price-sails-over-2000/.
  2. Gold Demand Trends: Q2 and H1 2020. World Gold Council. Retrieved August 5, 2020 from https://www.gold.org/goldhub/research/library

 

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที