Tawan

ผู้เขียน : Tawan

อัพเดท: 02 ธ.ค. 2020 14.39 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2491 ครั้ง

?โรคมือ เท้า ปาก? (Hand, Foot and Mouth Disease) หรือ "มือเท้าปาก" มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส Enterovirus ที่มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ พบระบาดมากในเด็กทารกเเละเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งนี้ อาการมือเท้าปากเริ่มต้นอาจมีไข้ มีแผลในปาก เเละมีผื่นแดงที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หากมีอาการเเทรกซ้อนรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ หลายคนสงสัยว่าเป็นมือเท้าปากเเล้วจะคันไหม เป็นมือเท้าปากเเต่ไม่มีไข้ได้ไหม โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่เป็นอย่างไร วันนี้รวบรวมข้อมูลโรคมือเท้าปากมาฝากกัน


โรคมือเท้าปากติดต่อทางไหน? อันตรายไหม? กี่วันหาย?

“โรคมือ เท้า ปาก” (Hand, Foot and Mouth Disease) หรือ "มือเท้าปาก" มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส Enterovirus ที่มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ พบระบาดมากในเด็กทารกเเละเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรครายงานว่าสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วย 6,812 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากมากที่สุดในเด็กแรกเกิด - 4 ปี (ร้อยละ 82.56) รองลงมาคืออายุ 7-9 ปี (ร้อยละ 4.80) และอายุ 5 ปี (ร้อยละ 4.74) ตามลำดับ ทั้งนี้ อาการมือเท้าปากเริ่มต้นอาจมีไข้ มีแผลในปาก เเละมีผื่นแดงที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หากมีอาการเเทรกซ้อนรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ หลายคนสงสัยว่าเป็นมือเท้าปากเเล้วจะคันไหม เป็นมือเท้าปากเเต่ไม่มีไข้ได้ไหม โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่เป็นอย่างไร วันนี้รวบรวมข้อมูลโรคมือเท้าปากมาฝากกัน
 
 
1. โรคมือเท้าปาก คืออะไร ?
โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease หรือ HFMD) คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้ หรือเชื้อไวรัสกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์มากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธ์ุที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) ซึ่งมักไม่มีความรุนแรงถึงชีวิต และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV71) ซึ่งเป็นชนิดที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอดอย่างเฉียบพลัน เเละนำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราที่สูงมาก พบการระบาดของโรคมือเท้าปากในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเด็กทารกเเละเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนเเรงมากกว่าในกลุ่มเด็กโต เเละพบการเกิดโรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่อยู่บ้าง 
 
ทั้งนี้ โรคมือเท้าปากพบผู้ป่วยเเละการะบาดได้ทั่วโลกทั้งในผู้ป่วยรายบุคคลและการระบาดในกลุ่มใหญ่ โดยในเขตร้อนชื้น โรคมือเท้าปากเกิดได้ตลอดปี ไม่มีฤดูกาลที่ชัดเจน ขณะที่ในเขตหนาวมักพบมากในช่วงฤดูร้อน เเละต้นฤดูใบไม้ร่วง 
 
 
2. โรคมือเท้าปาก พบระบาดที่ไหน
โรคมือเท้าปากจากเชื้อไวรัสชนิดร้ายเเรง พบรายงานการระบาดครั้งเเรกในรัฐเเคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 1969 (พ.ศ. 2512) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการสมองอักเสบ (Encephalitis) และไม่มีอาการผื่นแดง ต่อมาพบรายงานการระบาดอีกหลายครั้งทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปากไม่ได้รับความสนใจมากนักจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540-2541 พบรายงานการเเพร่ระบาดเเละการเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากชนิดรุนแรงในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย (พ.ศ. 2540) ไต้หวัน (พ.ศ. 2541) เเละสิงคโปร์ โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะเเทรกซ้อนรุนเเรงส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เเละพบการระบาดอีกระลอกใหญ่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2555 ที่มีการระบาดอย่างหนักในเวียดนาม จีน เเละกัมพูชา ทั้งนี้ ไทยเริ่มมีการเฝ้าระวัง ติดตามรายงาน เเละสอบสวนผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโรคมือเท้าปาก ตลอดจนป้องกันเเละควบคุมโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิดตั้งเเต่ พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา 
 
 
3. โรคมือเท้าปาก คือโรคปากเท้าเปื่อยหรือไม่
โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease) กับโรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease) หรือที่หลายคนมักเรียกอย่างไม่ถูกต้องในชื่อ “โรคมือเท้าปากเปื่อย” นั้น จะแตกต่างกันที่โรคมือเท้าปากจะพบเฉพาะในคน เเละติดต่อจากคนสู่คน ในขณะที่โรคปากเท้าเปื่อยมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสชนิดอื่น เเละเป็นโรคติดต่อที่เกิดกับสัตว์กีบ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เป็นต้น โรคปากเท้าเปื่อยทำให้สัตว์ป่วยมีอาการเป็นแผลที่ปากเเละกีบเท้า สัตว์ที่ป่วยมักไม่ตายหรือมีอัตราป่วยตายต่ำ เเละไม่จัดเป็นโรคติดต่อถึงคน ทั้งนี้ ในอดีตเคยพบผู้ป่วยไม่กี่ราย มีอาการเพียงเล็กน้อยเเละสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องให้การรักษา 
 
 
4. โรคมือเท้าปาก มีอาการอย่างไร
อาการของโรคมือเท้าปาก จะเริ่มแสดงอาการภายหลังจากที่เชื้อไวรัสฟักตัวอย่างเต็มที่ในระยะเวลา 3-7 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการหรือมีอาการเริ่มต้นด้วยอาการคล้ายไข้หวัด ทั้งไข้ต่ำหรือไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาหลังจากนั้น 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการน้ำลายไหล กลืนน้ำลายไม่ได้ เเละเจ็บภายในช่องปากจากแผล/ตุ่มแดงอักเสบในช่องปากมีที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีลักษณะเป็นจุดแดงๆ ในหลายตำแหน่ง เช่น บริเวณลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก (เพดานเเข็ง และ/หรือเพดานอ่อน) หรือลามออกมาที่รอบๆ ริมฝีปาก ซึ่งส่งผลให้อาจมีภาวะขาดน้ำและอ่อนเพลียจากการทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลง เนื่องจากอาการเจ็บแผลภายในช่องปาก
 
อาการบ่งชี้โรคมือเท้าปากถัดมา คือ จะมีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสในลักษณะเป็นจุดนูนหรือราบสีแดง มีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดพองใส (Maculo - Papular Vesicles) ก่อนที่จะเเตกกลายเป็นแผลหลุมตื้นๆ (Ulcer) มักไม่มีอาการคัน เวลากดจะเจ็บ พบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า (มักอยู่ที่ส้นเท้า) ง่ามนิ้วมือเเละนิ้วเท้า ลำตัว แขน ข้อศอก ขา ขาหนีบ รอบก้นหรืออวัยวะเพศ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนเเรง มักมีอาการไข้ประมาณ 2-3 วัน ในขณะที่แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมากใน 3 วันแรก โดยอาการจะทุเลาเเละหายได้เองภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีอาการแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากชนิดรุนเเรง เช่น ไข้สูง เซื่องซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหืดหอบ และชัก ควรรีบพบเเพทย์โดยด่วน
 
 
5. โรคมือเท้าปาก มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร
ภาวะเเทรกซ้อน (Complicated HFMD) ที่เกิดจากโรคมือเท้าปาก สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งเเต่ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก เช่น ภาวะขาดน้ำและพลังงาน ภาวะชักจากไข้สูง ในขณะที่หากติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากชนิดรุนเเรง เช่น เชื้อไวรัสสายพันธุ์แอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV71) จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะเเทรกซ้อนรุนเเรงจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราที่สูงอย่างรวดเร็ว เช่น ไข้ร่วมกับเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกและกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Pleurodynia), เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Aseptic Meningitis), สมองอักเสบ (Encephalitis), อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก (Acute Flaccid Paralysis), กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myopericarditis) ซึ่งภาวะแทรกซ้อนร้ายเเรงนั้น พบได้น้อยมาก เฉลี่ย 1-5 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม อาการเเทรกซ้อนไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนของแผลในช่องปาก ตุ่มที่พบตามบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือบริเวณภายนอกร่างกายเเต่อย่างใด โดยในผู้ป่วยที่มีอาการเเทรกซ้อนรุนเเรงอาจมีแผลในช่องปากเพียงไม่กี่จุด มีผื่น/ตุ่มใสเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้า หรืออาจไม่มีผื่น/ตุ่มใสภายนอกร่างกายเลยก็เป็นได้ 
 
หากติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากชนิดร้ายเเรง ลักษณะอาการของภาวะเเทรกซ้อนรุนเเรงในช่วงแรกอาจดูเหมือนไม่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อไรรัสโรคมือเท้าปากชนิดทั่วไปที่ไม่มีภาวะเเทรกซ้อน (Uncomplicated HFMD) เช่น เชื้อไวรัสสายพันธุ์คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) เเต่หลังจากนั้นจะมีลักษณะอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายนำมาก่อนในช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะเกิดอาการรุนเเรงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา โดยลักษณะอาการของภาวะเเทรกซ้อนร้ายเเรงที่ต้องเฝ้าสังเกตลักษณะอาการอย่างใกล้ชิด เเละรีบเข้าพบเเพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคในทันที เช่น ไข้ที่สูงมากนานกว่า 48 ชั่วโมง อาการเซื่องซึม ไม่เล่น ไม่อยากอาหารหรือนม อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย ร้องตลอดเวลา กรอกตาไปมาผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดศีรษะมาก พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง เห็นภาพหลอน ปวดต้นคอ คอเเข็ง หายใจเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ไอ ผวาสะดุ้ง มือสั่น ขาสั่น เดินเซ ชักเกร็ง หมดสติ ตัวลาย (Mottled Skin) ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ ควรเข้าพบเเพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคทันที
 
 
6. โรคมือเท้าปากกลุ่มเสี่ยงเป็นใครบ้าง
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก คือ เด็กทารก เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน พบน้อยลงในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และน้อยมากในเด็กวัยรุ่น 
 
สำหรับการติดต่อของโรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่ พบว่าในพื้นที่ที่พบการเกิดของโรคมือเท้าปากเป็นประจำ ผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานต่อโรคเเล้วบางส่วนจากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะจำเพาะกับชนิดของไวรัสที่เคยได้รับเชื้อ หากได้รับเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานก็สามารถเป็นโรคได้อีก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนเเรง เเต่สามารถเเพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือผู้อื่นได้ ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย 
 
 
7. โรคมือเท้าปาก แพร่เชื้อ/ติดต่ออย่างไร
การเเพร่เชื้อของโรคมือเท้าปากจะเเพร่กระจายและติดต่อสู่ร่างกายผ่านทางปากได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอจาม น้ำเหลืองจากแผลพุพอง ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือติดต่อจากคนสู่คนโดยการปนเปื้อนอุจจาระสู่ปาก (Faecal-oral Route) อีกทั้งยังสามารถติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น ของเล่น ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน น้้าและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือเชื้อไวรัสที่ติดอยู่บนมือ ทั้งนี้ การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย และโรคมือเท้าปากไม่ติดต่อโดยการหายใจ
 
การเเพร่ติดต่อเชื้อไวรัสของโรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้โดยง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วยและจะมีเชิ้อไวรัสโรคมือเท้าปากแพร่กระจายออกมาจำนวนมากในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะแพร่เชื้อ หรือภายในระยะ 7 วันแรกหลังจากเริ่มมีอาการ และเเม้อาการทุเลาลงเเล้ว ก็ยังอาจแพร่เชื้อได้บ้างเนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระเป็นระยะๆ ได้นานถึง 6-8 สัปดาห์
 
 
8. โรคมือเท้าปากตรวจวินิจฉัยอย่างไร
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคมือเท้าปากได้จากการวินิจฉัยจากอายุ ประวัติ และอาการเเสดง โดยสังเกตลักษณะผื่นหรือตุ่มแผลต่างๆ ที่ปรากฎ ซึ่งโดยทั่วไปเเล้วไม่จำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เเต่อาจพบความยุ่งยากในการแยกโรคมือเท้าปากออกจากโรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีผื่นขึ้นบริเวณภายนอกร่างกายอาจต้องเเยกออกจากโรคผื่นเเพ้ โรคอีสุกอีใส หรือผื่นจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก อาจต้องแยกออกจากโรคติดเชื้อเริมในช่องปาก การอักเสบของปากเเละเหงือก จากเชื้อไวรัสเฮอร์ปี่ส์ (Herpesvirus) หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก ที่ชื่อว่า “เฮอร์แปงไจน่า” (Herpangina) ซึ่งพบได้บ่อย ทั้งนี้ การส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมักไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เพราะต้องใช้เวลานานถึง 2-4 สัปดาห์ เพื่อเเยกเเละยืนยันเชื้อสาเหตุ การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทำในเฉพาะในรายที่มีอาการรุนเเรงเท่านั้น
 
หากผู้ป่วยโรคมือเท้าปากมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง มีอาการที่ไม่ตรงไปตรงมา หรือกรณีที่ต้องตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคหรือสายพันธุ์รุนแรง แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรค ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมดังกล่าวไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย โดยจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่ การส่งตรวจตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งและ/หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส (ใช้เวลาประมาณ 1-7 วัน ขึ้นกับวิธีการตรวจ) การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) หรือการเพาะเชื้อไวรัส (Virus Culture) โดยการเพาะแยกเชื้อจากการป้ายหาเชื้อจากคอ (Throat Swab) อุจจาระ น้ำไขสันหลัง ชิ้นเนื้อจากผิวหนัง น้ำจากตุ่มพองหรือแผล
 
ทั้งนี้ การตรวจยืนยันเชื้อสาเหตุหรือการเเยกเชื้อไวรัสได้จะเป็นการยืนยันการติดเชื้อโรคมือเท้าปากในปัจจุบันได้ดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยยืนยันว่าเชื้อไวรัสที่เเยกได้เป็นเชื้อชนิดก่อโรคจริงหรือไม่ ซึ่งต้องทำการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และใช้เวลาค่อนข้างนาน ประมาณ 2-4 สัปดาห์ 
 
 
9. โรคมือเท้าปาก มีวิธีรักษาอย่างไร
วิธีรักษาโรคมือเท้าปากในปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาโรคเฉพาะโดยตรง เเต่โรคมือเท้าปากสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะเเทรกซ้อนร้ายแรง โดยในระหว่างที่เเสดงอาการจะเน้นการรักษาโรคตามแต่ละอาการของผู้ป่วย เช่น หากผู้ป่วยมีอาการไข้เเละเจ็บแผล สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวดลดไข้ ประเภทพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ห้ามใช้สเตียรอยด์ (Steroids) หรือหากมีอาการคันก็สามารถใช้ยาแก้แพ้ แก้คันร่วมด้วยได้ รวมถึงสามารถเช็ดตัวเเละทำความสะอาดช่องปากด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่โตพอที่จะบ้วนปากได้ด้วยตัวเอง พร้อมกับให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่มที่ให้พลังงาน ไม่อุ่นร้อน รสชาติไม่จัด ไม่เปรี้ยว ไม่เผ็ด เเละไม่ซ่า เช่น นมเย็น พุดดิ้ง หรือไอศกรีม เพื่อลดการระคายเคืองแผลในช่องปาก ทั้งนี้ หากเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อมนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก
 
หากผู้ป่วยมีภาวะอ่อนเพลียจากการขาดอาหารเเละน้ำ เนื่องจากมีอาการเจ็บคอมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ให้ใช้ยาชาชนิดกลืนได้ (Xylocaine Viscus) ก่อนทานอาหาร และต้องพยายามป้อนน้ำเกลือแร่ น้ำ นมเเละอาหารอ่อนเพิ่มมากขึ้น โดยในรายที่มีอาการเพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับการให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาเฉพาะจุดสำหรับบรรเทาอาการเจ็บแผลในช่องปากตามดุลยพินิจของเเพทย์ พร้อมเฝ้าระวังสังเกตอาการภาวะเเทรกซ้อนทางสมองเเละหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาการต่างๆ ของโรคมือเท้าปาก เช่น ไข้ ผื่นแดงและแผลในปาก จะค่อยๆ ดีขึ้น เเละหายได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ รวมถึงโรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถหายได้เอง
 
 
10. โรคมือเท้าปาก ป้องกันอย่างไร
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปากสามารถป้องกันได้โดยการดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ทั้งผู้เลี้ยงดู เเละเด็กเล็ก ต้องหมั่นล้างทำความสะอาดมือด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปโดยเฉพาะตอนก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก/จมูกเวลาไอหรือจาม และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
 
หากเด็กมีอาการบ่งชี้ของโรคมือเท้าปาก ต้องเเยกไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น งดเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้พื้นที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน เเละรีบพาเด็กเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรค หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ให้รักษาตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมกับแจ้งโรงเรียนเพื่อให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าไข้จะหาย ตุ่มพุพอง แห้งและตกสะเก็ดหมดแล้ว โดยในระหว่างนี้ต้องเฝ้าระวังอาการที่บ่งชี้ภาวะแทรกซ้อนรุนเเรงอย่างใกล้ชิด เเม้ว่าโรคมือเท้าปากจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็ตาม
 
กรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด เมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็วหลังจากที่เกิดการสัมผัส เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้อื่น รวมถึงหมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยและสภาพแวดล้อมโดยรอบทุกวัน เช่น ทำความสะอาดของเล่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออเนกประสงค์คลอร็อกซ์ (Clorox) หรือน้ำยาฟอกขาว 0.5%-1% ซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว ทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ ทั้งนี้ การทำความสะอาดด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป รวมถึงการต้มเเละการนึ่ง สามารถกำจัดเชื้อโรคมือเท้าปากได้เนื่องจากเชื้อโรคมือเท้าปากอ่อนไหวต่อสภาพเเวดล้อมที่ร้อนเเละแห้ง
 
กรณีที่พบมีการติดเชื้อโรคมือเท้าปากชนิดที่มีอาการรุนแรง เเละ/หรือมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องยกระดับมาตรการป้องกันโรคเพื่อยับยั้งการเเพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากทันที เช่น การคัดแยกเด็กป่วยตั้งแต่ก่อนเดินเข้าที่โรงเรียน การหมั่นล้างมือ เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เเละการปิดโรงเรียนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ  ทั้งนี้ การป้องกันโรคมือเท้าปากที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ดูแลต้องคอยหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเด็กมีอาการป่วยที่ผิดปกติ เช่น ไข้สูงไม่ลดต่อเนื่อง เซื่องซึมลง หรืออาการทั่วไปแย่ลง ควรรีบพบเเพทย์ทันที
 
 
11. โรคมือเท้าปาก ค่ารักษาเท่าไร
ค่าใช้จ่ายในการพบเเพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคมือเท้าปากในเเต่ละครั้ง อาจเริ่มต้นที่ครั้งละ 1,000-2,000 บาท สำหรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในขณะที่การนอนรับการรักษาที่โรงพยาบาล (IPD) ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากชนิดรุนเเรง อาจเริ่มต้นที่คืนละ 20,000-35,000 บาท เเละค่ารักษาโรคมือเท้าปาก อาจเริ่มต้นที่ 30,000-120,000 บาท (โดยประมาณ) แตกต่างตามความรุนเเรงของอาการเเละประเภทโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ ควรเลือกทำประกันสุขภาพเด็กที่ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เพื่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
 
อ่านข้อมูลโรคมือเท้าปาก ต่อได้ที่ https://www.smk.co.th/newsdetail/1691

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที