นระ

ผู้เขียน : นระ

อัพเดท: 06 ส.ค. 2007 15.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 534426 ครั้ง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหมายของ โลจิสติกส์ ก็เปลี่ยนไปตามวิธีการดำเนินธุรกิจของโลก ในยุคศตวรรษที่ 20 ในทางการทหาร หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนกองทัพ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปโภคต่าง ๆ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ หมายถึง การวางแผนและควบคุมการเคลื่อนไหลของวัตถุดิบและผลผลิต รวมไปถึงการกระจายสินค้าสู่ตลาดจนถึงผู้บริโภค โดยมีการจัดองค์กรหรือกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสมคุ้มค่า

โดย
ดร.นระ คมนามูล Ph.D.(London)
วุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมโยธา


น้ำท่วมเมืองนครราชสีมา

ข่าวที่น่าหดหู่ใจระยะนี้คือ น้ำท่วมโรงพยาบาลที่นครราชสีมา เลยอดไม่ได้ที่จะหยิบยกเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ขึ้นมาพูด ถ้ามาสังเกตกันให้ดี จะพบว่าคนโบราณบรรพบุรุษของเราชาวไทยบนแผ่นดินแหลมทองนี้ ตามประวัติศาสตร์ว่าเข้ามาอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินนี้เกือบพันปี และเลือกที่ตั้งถิ่นฐานอย่างชาญฉลาดในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เช่น เมืองเชียงใหม่-พื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองทั้งหมด ตั้งอยู่ห่างจากลำน้ำแม่ปิงไม่น้อยกว่าพันเมตร เมืองโคราชหรือนครราชสีมาก็เช่นกัน พื้นที่ภายในกำแพงเมืองก็อยู่ห่างจากลำตะคองประมาณพันเมตร และอยู่บนที่สูง

ตัวเมืองโคราชวางตัวยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ด้านทิศเหนือเป็นลุ่มน้ำลำตะคอง ซึ่งไหลมาจากเขาใหญ่และที่สูงทางตะวันตกเฉียงใต้ ลำตะคองนี้เมื่อผ่านพื้นที่ด้านเหนือของตัวเมืองโคราชจะไหลอย่างช้าๆไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ไหลขึ้นเหนือมาจากที่สูง “วังน้ำเขียว” ผ่านเมืองปัก(ปักธงชัย) แม่น้ำมูลนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองนครราชสีมา ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในสมัยของคนยุคใหม่ คือการสร้างถนนมิตรภาพจากสระบุรีถึงนครราชสีมาแล้ววกขึ้นเหนือสู่ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย-เวียงจันทร์ ถนนมิตรภาพที่ผ่านเมืองนครราชสีมาวางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออกขนานใกล้กับลำตะคอง ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปเล็กน้อย ปัญหาที่เกิดคือความเจริญสมัยใหม่ (ที่จริงคือความเสื่อม) นั่นคือย่านธุรกิจและที่อยู่อาศัยเข้าครอบครองตั้งถิ่นฐานคร่อมไปตามถนนมิตรภาพเลยขึ้นเหนือตามเส้นทางไปสู่ขอนแก่น การตั้งถิ่นฐานของคนสมัยปัจจุบัน จึงล้ำเข้าไปแทนที่พื้นที่รับน้ำหลากของลำตะคองมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะสถานีขนส่งรถโดยสารและโรงพยาบาลมหาราชอยู่ใจกลางของพื้นที่น้ำหลากอย่างเต็มๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นได้เลือกแนวทางรถไฟได้ดี คือไม่ขวางทางน้ำมากนัก อีกทั้งการออกแบบสะพานก็ใช่ปริมาณฝนรอบหนึ่งร้อยหรือสองร้อยปี ขณะที่ถนนมิตรภาพช่วงที่วกขึ้นเหนือไปขอนแก่นนั้นขวางทางน้ำหลากของลำตะคองอย่างจังๆ ซ้ำเติมด้วยการพัฒนาถนนสุรนารายณ์หน้าแขวงการทางของกรมทางหลวง และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏและเทคโนโลยีราชมงคล รวมถึงถนนช้างเผือกทางเข้าโรงพยาบาลมหาราช ซึ่งสะพานและท่อลอดทั้งหลายออกแบบสำหรับปริมาณฝนเพียงรอบสิบหรือยี่สิบปีเท่านั้นเองซึ่งเป็นหลักปฏิบัติปกติเพื่อประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง

สิ่งที่จะขอฝากกรมที่ดินก็ดี กระทรวงมหาดไทยก็ดี องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ดี ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาใจใส่กับการออก พ.ร.บ. เขตสาธารณะสำหรับทางน้ำในช่วงน้ำหลาก โดยไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างถาวร แต่อาจจะทำเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจหรือสนามกีฬาก็ได้ และที่สำคัญ คือการทำหมุดระดับให้ผู้คนที่อาศัยในที่ลุ่มทราบเพื่อการสร้างบ้านเรือนหรือโรงพยาบาลให้สูงกว่าระดับน้ำหลาก ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยากนักสำหรับเทคโนโลยีทุกวันนี้

โดย ดร.นระ คมนามูล (คนโคราชโดยกำเนิด)

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที