ณัชร

ผู้เขียน : ณัชร

อัพเดท: 26 พ.ค. 2007 00.47 น. บทความนี้มีผู้ชม: 14659 ครั้ง

เชิญร่วมสนุกด้วยการลองนึกตามดูไปด้วย และลองตอบคำถามในบทความนี้ในใจ บางทีมันอาจจะทำให้ท่านรู้จักวัฒนธรรมไทยของเราเองนี่แหละลึกซึ้งขึ้นไปอีกด้วยก็ได้?


คล้ายจะเหมือน แต่กลับไม่ใช่


 

ยังมีให้เห็นอยู่ทุกวัน  และมีอะไรลึกซึ้งกว่าที่เราเห็นนั้นอีกมาก  ที่มาภาพ: http://farm1.static.flickr.com/93/232004616_d9c8390d9d.jpg

ถ้าท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่  อย่างน้อยคิดว่าท่านน่าจะเป็นคนไทย 

อยากเชิญให้ท่านลองถามตัวเองว่า  มีมารยาทสังคมไทย ๆ ใดบ้าง  ที่ท่านได้พบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  แล้วท่านรู้สึกประทับใจ 

 ประทับใจถึงขนาดที่ท่านเองจะตั้งอกตั้งใจทำให้ดีที่สุดด้วย  เพื่อที่จะรักษามารยาทนั้นให้ยืนยงคงต่อสืบไป เหมือนที่บรรรพบุรุษไทยได้รักษาไว้ถึงทุกวันนี้

 ติ๊ก...ต็อก...ติ๊ก...ต็อก...ติ๊ก...ต็อก.....

 หมดเวลา!

 ท่านนึกอะไรได้บ้าง?  กรุณาเขียนใส่ไว้ในคอมเม้นท์ด้านล่าง  เพื่อเราจะได้มาคุยกันต่อไป

สิ่งที่ฉันอยากจะมาเล่าวันนี้  คือ ความประทับใจบางอย่างในมารยาทสังคมที่ญี่ปุ่น 

 ที่บอกว่าบางอย่าง  ก็เพราะว่ามีหลายอย่าง  อาจจะต้องมาเขียนเพิ่มวันหลัง 

 แต่นี่เป็นเรื่องแรกที่นึกได้ จึงนำมาเล่าก่อน

เรื่องมีอยู่ว่า ฉันอยากจะเข้าใจจิตวิญญาณของซามูไรยุคโตกุกาว่าได้ดียิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

  ฉันก็ได้เรียนวิชาดาบซามูไรจากในประเทศไทย และได้ไปเรียนต่อในสำนักเครือเดียวกันที่ญี่ปุ่นด้วย ระหว่างที่รับทุนวิจัยเมื่อช่วงสามเดือนที่ผ่านมานี้

ในวันแรกหลังจากที่ฝึกวิชาดาบซามูไรสารพัดชนิดจากสำนักดาบที่ชิบูย่า ในกรุงโตเกียวเสร็จ 

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบสามทุ่มแล้ว พวกเราทั้ง ๓ คนกำลังเดินไปที่สถานีรถไฟชิบูย่า

ในสามคนนั้น นอกจากฉันแล้วก็มี  ทาบูจิเซนเซ  ผู้เป็นเจ้าสำนัก และ รุ่นพี่ผู้ชายชาวญี่ปุ่นสูงยาวเข่าดีคนหนึ่ง

ฉันจะขอเรียกเขาว่า เซมปัย  ซึ่งแปลว่า ศิษย์ผู้พี่ 

โดยเฉพาะในโดโจ (สำนัก) เซมปัยที่เซนเซสั่งให้มาดูแลเรา จะเสียสละการฝึกของตัวเองในวันนั้น ๆ มาประกบศิษย์ผู้น้องคนใหม่ หรือที่เรียกว่า โคฮัย 

เซมปัย จะดูแลทุกอย่างตั้งแต่การใส่ชุดและเครื่องป้องกันให้ถูกต้องไปจนถึงเทคนิคการใช้ดาบเบื้องต้น 

ถ้าใครดูภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai  คงจะจำฉากหนึ่งได้ที่แม่ทัพหนุ่มคนหนึ่งเดินมาตรวจดูทอม ครูซ ในวันที่จะออกรบครั้งสุดท้ายว่า ใส่ชุดเกราะถูกต้องแน่นหนาหรือไม่ 

นั่นก็คืออารมณ์เดียวกัน  เพราะวิชาดาบซามูไร  จะละเอียดมาก ไม่เฉพาะเรื่องความปลอดภัย 

ว่ากันว่า  เราสามารถบอกระดับของนักดาบได้จากวิธีการแต่งตัวและใส่เครื่องป้องกันของเขาด้วย

ซึ่งฉันว่ามันคือเรื่องของการเจริญสติ วิปัสสนาหรือ ที่ฝรั่งทั่วโลกเห่อกันมากว่า ๒๐ ปีแล้วในชื่อของ mindfulness meditation บ้าง หรือ insight meditation บ้าง นั่นเอง

เมื่อเดินมาถึงสถานี  เซนเซหันกลับมากล่าวให้โอวาทครั้งสุดท้ายสองสามคำ 

คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะครูบาอาจารย์มักจะพูดคำว่า Gambatte อยู่เสมอ 

ความหมายแปลคร่าว ๆ ก็คล้ายกับว่าให้เรามีความเพียรพยายามให้มากเข้าไว้นะ  ก่อนที่ท่านจะหันกลับเดินจากไป

 พวกเราทั้งสองคน  เซมปัย และ โคฮัย ก็โค้งรับคำท่าน และโค้งลาตั้งแต่ก่อนเซนเซหันหลังกลับแล้วคนละหลายที 

พอเซนเซหันหลังเดินไป  ฉันก็หันข้างจะเดินเข้าสถานีด้วย  เพราะเซนเซเดินออกไปด้านข้างที่ท่านจอดจักรยานไว้

ปรากฏว่าเซมปัยของฉัน กึ่งคว้า กึ่งกระชากแขนฉันมับแล้วบอกให้กลับมาก่อนแล้วให้ยืนรอส่งเซนเซ ฉันทำหน้างงเป็นไก่ตาแตก 

 

เซมปัยฉันยืนตัวตรงเหมือนนายทหาร แล้วบอกฉันอย่างหน้านิ่งเรียบ และเสียงเข้มเหมือนทหารด้วย คือเน้นเป็นคำ ๆ  ว่า "...นี่เป็นธรรมเนียมญี่ปุ่น!..."

 

ตายละวา  ไม่รู้นี่นา  ฉันก็เลยต้องยืนตรงกับเขาด้วย  และหางตาก็ชำเลืองดูพยายามเลียนแบบเซมปัย  เหมือนกับที่ฉันทำมาตลอดการเรียนในวันนั้น 

 

เซมปัยฉันมองตรงไปข้างหน้าในทิศที่เซนเซเดินไป  ฉันก็เลยมองไปด้วย

 

และก็จริงด้วย  ไกลออกไป  ฉันเห็นเซนเซหันกลับมามองและโบกมือให้พวกเรา

 

เซมปัยฉันโบกกลับแล้วโค้งด้วย  ฉันก็ทำบ้าง 

 

เป็นอย่างนี้สักพัก  เพราะเซนเซจะหันกลับมามองเป็นระยะ ๆ   แล้วก็ทำอย่างนี้เป็นระยะ ๆ

 

จนกระทั่งลับตาไป  และพวกเรามองไม่เห็นเซนเซอีก 

 

เซมปัยของฉันมองให้แน่ใจว่าเซนเซออกไปจากสายตาของพวกเราแล้ว  ถึงหันมาบอกด้วยสุ้มเสียงที่ดูเหมือนจะอ่อนโยนขึ้นแกมโล่งอกว่า 

 

"...เอาล่ะ...พวกเราไปกันได้แล้ว..."      ฉันถึงกล้าขยับแตกแถวออกมา

 

หลังจากนั้น หลังการฝึกทุกครั้ง  ซึ่งส่วนใหญ่พวกเราจะมีจำนวนกันมากกว่านั้น ฉันก็จะได้ร่วมยืนส่งเซนเซกับบรรดาเซมปัยทั้งหลาย

 

ในครั้งแรกนั้น  ฉันจำได้ว่าฉันเกิดความรู้สึกขึ้นมาสองอย่างพร้อม ๆ กัน 

 

อย่างแรกคือ "....โอ้โฮ....นี่ฉันอยู่ในกลางกรุงโตเกียวในศตวรรษที่ ๒๑ หรือเปล่านี่..." 

 

เพราะอารมณ์มันสุดแสนจะเป็นศตวรรษที่ ๑๗ มากเลย คือ ยุคโตกุกาว่าที่ฉันต้องทำวิทยานิพนธ์นี่แหละ  โดยเฉพาะเมื่อนึกว่าต่างคนต่างพกดาบกันมาด้วยเนี่ยนะ ถึงแม้จะแพ็คในกระเป๋าอย่างมิดชิดก็เถอะ 

 

แถมเซนเซยังใส่ชุดแบบญี่ปุ่นของท่านอีก

 

แต่อย่างที่สองนั้น  ฉันกลับรู้สึกประทับใจในการให้ความเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์อย่างสูงสุดของคนญี่ปุ่น 

 

เพราะทุกครั้งที่ฉันยืนตรงเป็นนายทหารอยู่กับบรรดาเซมปัยทั้งหลายนั้น  ใจของฉันสัมผัสได้ถึงภาษาของร่างกาย หน้าตา สีหน้า แววตา

 

และอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่มันทำให้ฉันรู้ได้ว่า  เขาไม่ได้ทำไปเพียงกิริยา  และไม่ได้ทำไปเพียงเพราะมันเป็น "มารยาทสังคม"  แต่ด้วยความเคารพจากใจจริง ๆ

 

แต่ก็นั่นแหละ  ฉันอาจจะโชคดีได้เรียนกับครูบาอาจารย์ที่เป็นครูโดยจิตวิญญาณเนื้อแท้ มีความเมตตากรุณาต่อลูกศิษย์ 

 

อีกทั้งฉันอาจโชคดีได้เรียนกับผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทิตาธรรมกันทั้งหมดก็ได้  ฉันเคยคิดอย่างนั้น

 

แต่เมื่ออยู่ ๆ ญี่ปุ่นไป  ฉันได้มีโอกาสสังเกตุ scene ลักษณะเดียวกันนี้อีกบ่อยมากอย่างนับครั้งไม่ถ้วน  ทั้งตามสถานีรถไฟ  และตามร้านอาหาร 

 

กล่าวคือ เวลาที่ผู้ใหญ่จะกลับไปก่อน  และกลุ่มผู้น้อยจะพากันพรวดลุกขึ้นยืนระวังตรง

 

คอยส่งท่านเป็นหมู่คณะจนลับสายตาไปด้วยความเคารพ 

 

จะไม่มีใครหลุกหลิก แตกแถว หรือแม้แต่ละสายตาไปจากที่อื่นเลย 

 

จนกระทั่งท่านลับสายตาไปจริง ๆ แล้วนั่นแหละ

 

นอกจากนี้  มารยาทอื่น ๆ ที่ฉันสังเกตุอีกก็คือ

 

 

 

รวมทั้งในร้านอาหารด้วย  เพราะถือว่าเป็นการรบกวนผู้อื่น  เขาจะส่งแต่ข้อความกันเท่านั้น

 

 

 

และถ้าใครบ้าจี้จะใช้จริง ๆ ในรถไฟจะมีประกาศขอความร่วมมือให้ทำเป็นแบบเงียบ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องประกาศก็ได้เพราะไม่มีใครทำอยู่แล้ว นอกจากคนต่างชาติมั้ง  

 

และรู้ไหมว่า ระบบสั่น หรือ เงียบ ของมือถือในญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร?  เรียกว่า ระบบมารยาท ครับท่าน!! (Manner Mode) (マナーモダ)

 

 

 

คนที่ใช้เลนขวาไม่มีใครหยุดยืนเฉย ๆ เลย  ทุกคนรีบเดินหมด  หรือไม่ก็ปล่อยว่างไว้  ฉันชอบระบบนี้มาก  ทุกคนควบคุมตัวเอง อย่างมีระเบียบรู้ตัวทั่วพร้อมในทุกย่างก้าวดีจริง ๆ

 

ความจริงมีอีกเยอะ  แต่วันนี้ขอนำเสนอแค่นี้พอเป็นการเปิดประเด็นคุยกัน 

 

ส่วนตัวแล้วฉันอยากให้นำกม.การใช้มือถือและบันไดเลื่อนมาใช้เมืองไทยด้วย

ท่านคิดว่าคนไทยจะทำได้ไหม?

 

 

ว่าแล้วก็ขอฟังความเห็นท่านทั้งหลายเรื่องมารยาทสังคมของคนไทยที่ท่านพบเห็นในชีวิตประจำวันและประทับใจด้วย 

 

เช่น เวลาท่านเห็นคนไทยไหว้ทำความเคารพกัน กับเห็นคนญี่ปุ่นโค้งกันนั้น  ท่านรู้สึกเหมือนกันหรือไม่?  เพราะเหตุใด?

ท่านรู้สึกเหมือนฉันไหมว่า บางครั้งคนไทยยกมือไหว้เป็นมารยาทสังคม  แต่คนญี่ปุ่นตั้งใจโค้งจริง ๆ เพราะมันมาจากใจเขา

ไม่ต้องอะไรเลย  การโค้งของเขามีหลายองศามาก  ซึ่งจะยึดถือเป็นแบบอย่างที่ค่อนข้างสตริ๊คท์  

มีตั้งแต่ ๑๕ องศา  ๓๐ องศา  ๔๕  องศา  ๙๐ องศา  ไปจนถึง ๑๘๐ องศา คือ เวลานั่งแล้วโค้งแบบหมอบกราบไปกับพื้น

ดังนั้น ก่อนจะโค้ง เขาต้อง "ตั้งสติ" กันก่อน ว่านี่จะโค้งให้ใคร ในบริบทไหน

และการโค้งให้นอบน้อมและถูกต้อง มันต้องมาจากใจจริง ๆ
ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป หลังต้องตรงไม่งอโค้งเป็นกุ้งแบบเวลาคนไทยค้อมตัวเดินผ่านผู้ใหญ่

การโค้งต้องโค้งจากตรงเอวลงมาเท่านั้น  แล้วโค้งอย่างไรล่ะที่หลังตรงเป๊ะแต่ว่านุ่มนวลและสง่างามและถูกจังหวะจะโคน? 

ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงก็เห็นจะเป็นองค์พระจักรพรรดินี  เชิญไปอ่านบทความที่ฉันเขียนเรื่องไปเข้าเฝ้าถวายพระพรตอนต้นปีนี้ได้

สำหรับผู้ชายก็คงต้องดูองอาจผึ่งผายเป็นซามูไรยุคใหม่หน่อย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันต้องมาจากใจก่อนทั้งนั้น

นี่แค่เป็นเรื่องโค้งเรื่องเดียวเท่านั้นเองนะนี่

จริง ๆ แล้ว ที่เริ่มเขียนเรื่องมารยาท  เพราะสิ่งที่สังเกตชัดมากอย่างหนึ่งระหว่างมารยาทไทยกับญี่ปุ่นก็คือ  ภายนอกเผิน ๆ ดูเหมือนจะนุ่มนวล เรียบร้อยและขี้เกรงใจพอกัน  โดยญี่ปุ่นอาจจะแซงเราไปด้วยซ้ำเรื่องความเกรงใจ (โปรดติดตามอ่านตอนหน้าเรื่องความเกรงใจของคนญี่ปุ่น)

แต่สิ่งที่คนไทยแพ้คนญี่ปุ่นตั้งแต่ยังไม่ออกสต๊าร์ทเลยด้วยซ้ำ  ก็คือ เราไม่ค่อยจะมีจิตสำนึกทางสังคม หรือ จิตสำนึกสาธารณะเหมือนเขาเลยนั่นเอง

ตรงนี้แหละ ที่เป็นแก่นสำคัญ เป็นตัวหล่อหลอม และเป็นกระบวนทัศน์ในการคิด ในการตัดสินใจทุก ๆ อย่างในการทำงานของคนญี่ปุ่นเสมอ  ไม่เชื่อเชิญท่านไปถามเพื่อนร่วมงานของท่านได้

การนึกถึงส่วนรวมก่อนเสมอนี้ เป็น second nature ของคนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง  นั่นก็คือ เขาไม่ต้องหยุดคิดหรือฝืนใจตนเองเลยในการทำอะไรเพื่อส่วนรวม  แต่ทั้งหมด  ล้วนทำไปโดยธรรมชาติ  เพราะไม่อยากให้สังคมต้องมาเดือดร้อนเพราะตนเพียงคนเดียว  เขารู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ไม่ได้เสแสร้ง

ซึ่งค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับแนวคิดที่เราได้ยินกันมาเสมอว่า "ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้" พอสมควร ใช่ไหม?

แต่ที่เขียนนี้ ไม่ใช่ว่าเชิดชู ชมเชย ญี่ปุ่น แล้วว่าไทยไม่ดี  เพียงแต่ว่านี่เป็นสิ่งที่สะท้อนความสบายในสภาพภูมิประเทศและประวัติศาสตร์ของชาติเรามาโดยตลอดต่างหาก  เราไม่เคยต้องแก่งแย่งทรัพยากร หรืออยู่อย่างแร้นแค้น ปากกัด ตีนถีบ เราอยู่ด้วยความ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" กันแต่ไหนแต่ไร  ภัยธรรมชาติก็ไม่ค่อยจะเคยมี ดังนั้น เราจึงค่อนข้างจะทำตัวตามสบายกันจนเคยชินนั่นเอง

ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น  ที่ต้องขยันขันแข็ง เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ตลอดทั้ง ๔ ฤดู นั่นหมายถึง ต้องเก็บเกี่ยวอาหารเอาไว้ในยามที่ไม่มีผลผลิต และยามมีภัยธรรมชาติ  อีกทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นก็มีพลเมืองมากมาย ต้องแย่งกันอยู่อาศัยในพื้นที่คับแคบเมื่อเทียบกับประชากร  ยื่นเท้าออกไปหน่อยไม่ระวังก็เหยียบเท้าคนอื่นได้แล้ว ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะคิด จะทำ จะพูด จึงต้องระมัดระวังมาก  ไม่เช่นนั้น ทรัพยากรของส่วนรวมจะเสียหาย และคนอื่นจะลำบากกันหมด

นอกจากนั้น ความที่เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภารของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุก ๆ พระองค์มาโดยตลอดนั้น ทำให้เราไม่ต้องเผชิญภัยสงครามกลางเมืองมากเหมือนญี่ปุ่นนัก  ประเทศที่มีการรบพุ่งกันในแต่ละแคว้นมาเป็นเวลาร่วมพันปีอย่างญี่ปุ่น  ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จิตวิญญาณของสำนึกหน้าที่รับผิดชอบต่อ "หน่วยที่ตนสังกัด" คือ บ้าน ชุมชน และ เมือง นั้น ๆ ก็ย่อมเข้มข้นไปด้วย  พูดง่าย ๆ ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมทหารร่วมพันปีนั้น ย่อมทำให้ทุกคนมีความเสียสละต่อหมู่คณะเป็นที่ตั้งนั่นเอง

แต่กระนั้นก็ดี  ความคล้ายกันก็มีอยู่

ฉันชอบตั้งข้อสังเกตกับเพื่อน ๆ อย่างติดตลกเสมอว่า ดูประเทศไทยกับญี่ปุ่นซิ  อยู่เอเชียเหมือนกัน  มีวัฒนธรรมข้าวเหมือนกัน  ได้อิทธิพลจากพุทธศาสนาเหมือนกัน  มีการปกครองโดยกษัตริย์/องค์จักรพรรดิที่เป็น "สมมติเทพ" คล้าย ๆ กัน  แถมจะว่าไปแล้ว เรากับญี่ปุ่นก็รับการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบตะวันตกมาพร้อม ๆ กันอีกด้วย คือ สมัยล้นเกล้าฯ ร. ๕ กับ องค์จักรพรรดิเมจิ  เผลอ ๆ เริ่มมีรถไฟครั้งแรกปีใกล้เคียงกันด้วย  แล้วดูความแตกต่างของญี่ปุ่นกับไทยเดี๋ยวนี้ซิ  ไม่ต้องเอาอะไรเป็นตัวชี้วัดมาก  เอาแค่รถไฟอย่างเดียวก็ได้  เพราะเหตุใด?

ส่วนตัวฉันคิดว่า เพราะจิตสำนึกสาธารณะของคนญี่ปุ่นนั่นเอง  ที่เริ่มง่าย ๆ จากสิ่งใกล้ตัวที่ท่านเองก็สามารถสังเกตเห็นในรูปแบบของวัฒนธรรมญี่ปุ่น  นั่นก็คือ  มารยาทสังคมของชาวญี่ปุ่น  มันมีที่มาอย่างนี้  มันอยู่ที่จิตวิญญาณของเขา  มันไม่ใช่ "ปมมุมานะ" หรือ "ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี" หรือ "ความสามารถในการสร้างหุ่นยนต์ ฯลฯ หรือ อุตสหากรรม ฯลฯ"  หากท่านคิดอย่างนั้น ท่านกำลังหลงทาง  เพราะสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาแตกต่างจากคนอื่นที่แท้จริงแล้ว  คือ จิตวิญญาณญี่ปุ่น  ที่ไม่มีใครมาสอนท่าน  เพราะมันได้รับการเพาะบ่มอยู่ในสายเลือดเขาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ซึ่งเขาก็ได้สืบต่อกันมาด้วยการสังเกต

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราท่าน ที่จะต้องคอยสังเกตด้วยความตั้งใจ ด้วยสติ ด้วยความรอบคอบต่อไป ถึงมารยาทสังคมที่มีที่มาจากจิตสำนึกทางสังคมของชาวญี่ปุ่น  เพื่อที่ว่า  นอกจากท่านจะสามารถเสริมสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานของท่านได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว  ท่านและเขาจะยังสามารถช่วยให้องค์กรของท่านเติบโตขึ้นไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย 

อันจะนำมาสู่ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งของประเทศญี่ปุ่น และ ราชอาณาจักรไทย  ดังที่เคยเป็นไปมาแล้วในประวัติศาสตร์ อันนานแสนนานนี้

ขอบพระคุณอย่างยิ่งที่แวะมาอ่าน

 

どうもありがと ございました!

(Doumo arigato Gozaimashita!)

 

การฝึกการกราบแบบสติปัฏฐาน ๔ ทำให้ผู้เขียนระลึกรู้ได้ว่า การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ของไทย กับการโค้งคำนับของญี่ปุ่นในลักษณะท่านั่งหน้าผากจรดพื้นในจังหวะสุดท้ายตามภาพประกอบด้านบนแทบจะไม่ต่างกัน  ทั้งตอนขึ้น และ ตอนลง  สถานที่: มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ศูนย์    ภาพ: นิตยสาร Positioning เมื่อครั้งไปสัมภาษณ์ผู้เขียนเมื่อหลายปีที่แล้ว

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที