KC

ผู้เขียน : KC

อัพเดท: 06 มิ.ย. 2007 16.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 23096 ครั้ง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน คงเป็นที่ทราบดีกันแล้วว่ารัฐบาลไทยมีความประสงค์จะทำให้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi International Airport) เป็นจุดได้เปรียบเชิงแข่งขัน (competitive advantage) ของประเทศไทย โดยที่บริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ AOT ได้กำหนดให้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นประตูสู่เอเชีย ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนี้ไทยต้องแข่งขันในการให้บริการด้านการบินพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมเพรียงกับสนามบินนานาชาติชาง กี ของสิงค์โปร์ สนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok ของฮ่องกง และสนามบินนานาชาติ Beijing ของจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีสนามบินที่มีชื่อเสียงและมีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับมาตรฐานโลก ดังนั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจคู่ต่อสู้ของเราตามตำราพิชัยยุทธ์ของซุนหวู่ รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อย(หนึ่ง) ครั้ง ผมขออาสานำท่านผู้อ่านเที่ยวชมสนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok ตั้งแต่เริ่มวางแผนโครงการจนแล้วเสร็จใช้งาน การที่เลือกสนามบินแห่งนี้เพราะว่าฮ่องกงได้เปิด Hong Kong Disneyland ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ดังนั้นสนามบินนานาชาติแห่งนี้จึงเป็น HUB หรือจุดศูนย์กลางการบินที่น่าจับตามองไม่น้อยเลย ตามผมมาได้เลยครับ


อาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal Building) และ อาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse)

จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ

รูปที่ 4 : วิวจากมุมสูงมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นศูนย์กลางการขนส่ง (Ground Transportation Center : GTC) และอาคารปฏิบัติการ (Processing Building) อยู่ด้านหน้า

ในปี พ.ศ. 2534 แบบมาสเตอร์แพลนหรือแบบแผนผังหลักของสนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok ได้ถูกพัฒนาขึ้นประกอบด้วยรายละเอียดของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆทั้งหมดภายในสนามบิน รันเวย์จำนวนสองรันเวย์ ตำแหน่งและลักษณะการจัดวางของอาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal Building) และอาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse) การแบ่งโซนอาคารคลังสินค้า อาคารซ่อมบำรุงเครื่องบิน คลังน้ำมัน อาคาร Catering และกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ ทั้งนี้ภายในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน แบบมาสเตอร์แพลนก็พัฒนาแล้วเสร็จพร้อมรายละเอียดความต้องการด้านสถาปัตยกรรมซึ่งใช้เป็นข้อมูลขั้นต้นในการประกวดราคาหาผู้ออกแบบรายละเอียด (detailed design) ของอาคารผู้โดยสารและ อาคารเทียบเครื่องบินภายใต้แนวความคิดของ Gateway to Hong Kong หรือประตูสู่ฮ่องกง

 

แบบมาสเตอร์แพลนที่สัญญางานออกแบบใช้อ้างอิงนั้น ได้วางผังให้ Terminal Building รองรับผู้โดยสารในช่วงแรกไว้ที่ 35 ล้านคนต่อปี และสามารถขยายเพื่อรองรับผู้โดยสารสูงสุดที่ 87 ล้านคนต่อปี แผนผังนี้ได้กำหนดจำนวนจุดจอดเครื่องบิน ความต้องการหลักของพื้นที่ต่างๆ และการแบ่งเฟสของอาคารโดยมีส่วนประกอบหลักคือการเชื่อมต่อของศูนย์กลางการขนส่ง (Ground Transportation Center: GTC) อาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal Building) อาคารเทียบเครื่องบิน (Concourses) และระบบขนย้ายผู้โดยสารในอาคาร (Passenger transit system)

 

บริษัทวิศวกร/สถาปนิกที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวความคิดการออกแบบโดยคำนึงถึงการวางผังตามหน้าที่ ความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และความผสมผสานด้านสถาปัตยกรรม สำหรับการวางผังการใช้พื้นที่บริษัทที่ปรึกษาได้กำหนดแนวความคิดของอาคารแบบบนลงล่าง หรือ upside down building concept  โดยกำหนดให้ห้องเครื่องระบบไฟฟ้า-เครื่องกลและระบบสายพานลำเลียงสัมภาระและกระเป๋าเดินทางไว้ที่ชั้นล่างและมีชั้นสำหรับผู้โดยสารเหนือขึ้นไปอีก 2 ชั้นคือชั้นผู้โดยสารขาเข้า (Arrivals Level) และชั้นผู้โดยสารขาออก (Departures Level) โดยมีพื้นที่สำหรับห้องเครื่องต่างๆเพิ่มเติม สำนักงานของสายการบินต่างๆ และร้านค้าต่างๆไว้ที่ชั้นลอยซึ่งอยู่ระหว่างชั้นล่างกับชั้นผู้โดยสารขาเข้า อยู่ระหว่างชั้นผู้โดยสารขาเข้ากับชั้นผู้โดยสารขาออกและอยู่เหนือชั้นผู้โดยสารขาออก


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที