วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 18 ก.ค. 2007 21.45 น. บทความนี้มีผู้ชม: 102454 ครั้ง

ทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกคนที่เกิดมามีสิทธิแน่ๆคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วสิทธิหน้าที่ที่นอกเหนือจากสัจจะ ๔ ประการนั้นเป็นอย่างไรเรามาหาคำตอบด้วยกันครับ


สิทธิและหน้าที่ ทุกคนต้องควรหรืออยากจะมี

สิทธิและหน้าที่  ทุกคนต้องควรหรืออยากจะมี

 

วิกูล  โพธิ์นาง

pd_wikulp@hotmail.com

๑๕   กรกฎาคม   ๒๕๕๐

                ทสนทนาหนึ่ง

“หน้าที่ใครก็หน้าที่ใครซิครับ คุณไม่ควรมาเกี่ยวเป็นภาระเปล่าๆ"

“ต้องเกี่ยวเพราะผมมีสิทธิที่จะทำ หัวหน้าสั่งมา”

“ใช่...ผมสั่งเอง เป็นสิทธิและเป็นหน้าที่ของผมด้วยที่ต้องให้เขามาทำแทนผม เข้าใจหรือยัง”

                หรือ

“ไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ์”

                และ

“ชายไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องไปตรวจเลือกเพื่อเป็นทหาร”

                คำว่า “สิทธิ” และ “หน้าที่” จึงเป็นดังคำประกาศิตที่ติดตามเรามาตั้งแต่จำความได้ถึงแม้เมื่อยังเดียงสาจะยังไม่ทราบในรายละเอียดก็ตามที ประเทศไทยเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เราจึงมีทั้งสิทธิและหน้าที่ถ้วนทั่วทุกชนชั้น

                บางท่านอาจเกิดความสับสนอยู่มิใช่น้อยเกี่ยวกับทั้งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว  จึงขออาสาค้นหามานำเสนอให้กับทุกท่านเพื่อเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุขเรียบร้อยอันเป็นฐานคติของประชาธิปไตย ยังไว้ซึ่งความเสมอภาคไม่ผิดเพี้ยนเพื่อไม่ให้ในการนำมาอ้างอย่างไร้ความหมาย

                “สิทธิ” หมายถึง อำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายให้ความคุ้มครองให้ เช่น หากเรามีสิทธิในการซื้อสินค้าจากตลาดเมื่อชำระเงินให้แม่ค้า ชำระเงินแล้วผู้ใดจะบังคับมิให้เราเช่าซื้อได้ไม่ กฎหมายย่อมคุ้มครองการได้รับสิทธิตามกฎหมายนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ

                ในทางนิติศาสตร์และกฎหมาย  สิทธิ  หมายถึง  สิทธิตามกฎหมายหรือศีลธรรมที่จะทำหรือไม่ทำบางอย่าง  หรือที่จะได้รับหรือไม่ได้รับบางอย่างในสังคมอารยะ (Civil society) สิทธิทำหน้าที่เหมือนกฎในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ค้นคว้าจากวิกิพีเดีย)

                “หน้าที่” หมายถึง กิจที่จะต้องทำ กิจที่ควรทำ วงแห่งการงาน  ถ้าสิ่งใดที่มีข้อกำหนดว่า “ต้อง” นั่นคือต้องทำถ้าไม่ทำก็ไม่ทำตามหน้าที่ หน้าที่ที่เราต้องไปเลือกตั้ง ถ้าไม่ไปก็จะถูกตัดสิทธิบางอย่าง แต่ถ้าควรทำก็เป็นการใช้มโนธรรมแล้วที่ผู้นั้นจะดำเนินการอย่างไรไม่ทำก็ไม่ผิด แต่สังคมจะมองเชิงลบไป ทุกคนเกิดมาจึงมีหน้าที่ทุกคนตั้งแต่เกิดจนวายชน  หน้าที่มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ๑ หน้าที่โดยธรรมชาติ เช่น หน้าที่พ่อแม่  หน้าที่ลูก ครูอาจารย์ หรือลูกศิษย์ ต่างก็มีหน้าที่จะมากน้อยแล้วแต่ฐานะของตนในขณะนั้น   และ ๒ หน้าที่โดยได้รับมอบหมายเช่น หัวหน้า  ผู้จัดการ เป็นต้น

                เกี่ยวกับหน้าที่มีคำกลอนสอนว่า

                “หน้าที่ชาวประมง               คือหาปลา

                หน้าที่พ่อค้า            คือหาผลกำไร

                หน้าที่ศิลปิน          คือสร้างศิลปะ

                หน้าที่พระ              คือสอนธรรม”

                หน้า......เรา             คือ...............?

 

                หน้าที่เราคืออะไร? ก็ต้องตอบตนเองว่าเราคือใคร ทำหน้าที่อะไร ได้ทำหน้าที่หรือยัง ผู้ที่ทำอะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ตนเรียกว่า “ก้าวก่ายหน้าที่” การก้าวก่ายหน้าที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองกลุ่มและองค์กรตลอดถึงสังคมประเทศชาติเสมอ หน้าที่เป็นสิ่งชี้วัดว่าผู้ที่ทำหรือไม่ทำหน้าที่เป็นบุคคลเช่นไรมีคุณธรรมมากน้อยประการใด ใครทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ก็คือคนดีมีธรรมใครไม่ทำหน้าที่ละเลยสิ่งที่ตนเองควรทำหรือต้องทำคนนั้นไร้คุณธรรมเรียกอีกอย่างก็คือ “โมฆะบุรุษ” บุคคลผู้ไร้สาระแก่นสารหาประโยชน์มิได้ไม่ควรคบไม่ควรรักษาไว้ในองค์กร ดังพุทธทาสท่านสอนว่า “ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ” คนจะดีหรือไม่ดีก็ดูกันที่หน้าที่ได้

                เกี่ยวกับหน้าที่มีคำสอนไว้มากมายดังตัวอย่างที่จดจำมาว่า

                “หน้านอก             บอกความงาม

                หน้าใน                   บอกความดี

                หน้าที่                     บอกความสามารถ”

                นั่นก็เป็นอีกทัศนะหนึ่งที่ควรพิจารณา 

                เกี่ยวกับ “สิทธิ” และ “หน้าที่” นั้น หน้าที่ดูจะเกี่ยวข้องกับเราบ่อยสุด เป็นตัวแปรแห่งสังคมได้เลยทีเดียว คงประสบมาไช่ไหมในลักษณะของผู้ที่ทำงานด้วยชอบไปก้าวก่ายผู้อื่นงานตนเองไม่ทำ ผู้ที่ชอบไปก้าวก่ายผู้อื่นเมื่อมีโอกาสทำก็ทำได้ไม่ดีนานเข้าก็เบื่อไม่อยากทำอีก บุคคลเหล่านี้อย่าได้เสียดายหรือสงสารหากสอนแล้วไม่สามารถละลายพฤติกรรมให้ไปในเชิงบวกได้ก็ทำใจปล่อยเขาไปดีกว่าที่จะเป็นมะเร็งองค์กร

            มาร่วมกันปฏิบัติธรรมกันเถิดทำง่ายทำได้ตลอดชีวิต เพราะงานคือชีวิตชีวิตคืองานการทำหน้าที่ในงานคือการปฏิบัติธรรมหากยากไม่สะดวกเข้าวัดได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ก็ประหนึ่งว่าก้าวสู่เส้นทางสวรรค์แล้วหากไม่รู้หน้าที่ก้าวก่ายใครๆไปทุกๆวันแล้วก็คงหันหลังให้ธรรมแล้วอย่างนี้โลกจะสุขได้อย่างไร “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ” พิจารณาตามที่ปราชญ์ท่านสอนไว้ดู

                ดูแต่จักรวาลที่เราอยู่นี้ที่เราคุ้นเคยมี ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงอาทิตย์ก็ทำหน้าที่ของผู้ยิ่งใหญ่ให้แสงสว่างให้ความมืดสลับกันไปตามวาระ  ดวงจันทร์ก็คอยช่วยสนับสนุนยามค่ำคืนที่โลกตกอยู่ในความมืดก็มาปลอบใจให้โลกได้แสงนวลอ่อนบรรเทาความมืดมิดลงได้บ้างแม้จะไม่เท่าเทียมพระอาทิตย์แต่ก็ไม่เคยโคจรมาทาบรัศมีพระอาทิตย์หรือยามค่ำคืนก็ไม่เคยโพนทะนาว่าตนมีอำนาจมากกว่าถึงคราวที่พระอาทิตย์กลับมาก็คล้อยลาไปด้วยดีวันใดที่ดวงจันทร์ไม่พร้อมก็ยังมีดวงดาราที่นับล้านดวงพร้อมใจกันทำหน้าที่แทน

                 ทั้งก่อนหน้านี้หากเหล่าดวงดาวนั้นมาชุมนุ่มกันแล้วก็จะมีพลังมหาศาลก็หาทำไม่เพราะรู้ว่าสิทธิหน้าที่มีเพียงใด  นับแต่เกิดมาเราจึงไม่เห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว เกิดอยากเปลี่ยนวงโคจรมาทับเส้นกันไม่ ลองหลับตาดูวันใดที่เหล่าจักรวาลไม่รู้สิทธิหน้าที่ตนแล้วอะไรจะเกิดขึ้นรับรองยิ่งกว่าอาวุธร้ายแรงใดๆเสียอีก

            จึงขอฝากท้ายด้วยกลอนดีๆที่ตั้งใจหามาฝากว่า

                หน้าที่ดี                   ก็มีหน้า                   ชูราศรี

                หน้าตาดี                  แต่ขี้เกียจ                                คนเหยียดหยาม

                หน้าที่นั้น                สำคัญกว่า                คนหน้างาม

                หน้าตาดี                  หน้าที่ทราม             ไม่งามเอยฯ

 

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<O>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที