โกอิจิ โฮซูมิ คือใคร

ถ้าจะเอ่ยชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทย ด้านวิชาการ การพัฒนาประเทศ และการศึกษาแล้ว หลายท่านคงนึกถึง ศาสตราจารย์อิชิอิ โยเนโอ ซึ่งตอนเป็นหนุ่มอุตส่าห์สมัครรับทุนรัฐบาลไทย เข้าศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับทำงานประจำสถานทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ แล้วเดินทางกลับไปทำงานในกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต และท้ายที่สุดเป็นผู้อำนวยการสถาบันอิสระเพื่อการค้นคว้าเชิงมนุษยศาสตร์ ท่านได้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเอเชีย และได้แปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นหลายเล่ม ทำให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักประเทศไทยดีขึ้น

แต่ถ้าจะพูดถึงผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งผู้ฝึกอบรมในประเทศญี่ปุ่นที่มาจากประเทศกำลังพัฒนาแล้ว คงต้องยกให้ อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ ผู้อุทิศชั่วชีวิตของท่าน เพื่อผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้ถูกเอาเปรียบ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีอิสรเสรี ความเสมอภาค และความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งความรักความเมตตานี้ เริ่มจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เห็นคุณแม่ปฏิบัติต่อคนในชุมชนที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและความเท่าเทียมกัน ต่อมาท่านได้ศึกษาธรรมะในวัดพระพุทธศาสนาระหว่างเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ซึ่งได้กลายมาเป็นเสาหลักแรกของสามเสาหลักในการดำรงชีวิตของท่าน เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ในฐานะศิษย์ก้นกุฏิของศาสตราจารย์อูเอซูงิ ปรมาจารย์ด้านรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับช่วงการบริหารหอพักชิเกนเรียว แทนที่จะรับราชการหรือทำงานบริษัท เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างนักศึกษาญี่ปุ่นกับนักศึกษาชาวเอเชีย เป็นช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างนั้นท่านต่อต้านการรุกรานเกาหลีและจีน รวมทั้งสงครามเอเชียบูรพาจนถูกจับติดคุก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านเปลี่ยนชื่อหอพักเป็น หอพักชินเซกักกุเรียว (หอพักนักศึกษาดาวใหม่) และต่อมาได้สร้างหอพัก Asia Bunka Kaikan หรือ ABK (หอพักวัฒนธรรมเอเชีย) เพื่อรับนักศึกษาชาวเอเชียรวมทั้งไทยด้วย เข้าพักร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น ท่านรับเป็นผู้รับรองนักศึกษาต่างชาติหลายคนเพื่อให้สามารถศึกษาต่อจนจบมหาวิทยาลัย เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายขยายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไปยังอาเซียน และต้องรับช่างเทคนิคจำนวนมากมารับการฝึกอบรมที่ญี่ปุ่น จึงได้ขอให้ท่านจัดตั้ง Association for Overseas Technical Scholarship หรือ AOTS (สมาคมเพื่อทุนเทคนิคโพ้นทะเล) รับผู้ฝึกอบรมจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จนมีการเปิดศูนย์ AOTS ที่โตเกียว โยโกฮามา โอซากา นาโงยา และฮิโรชิมา มีผู้ฝึกอบรมที่ได้รับอานิสงส์นี้มากกว่าหนึ่งหมื่นคนทั่วโลก รวมถึงตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา จนมีการตั้งสมาคมศิษย์เก่า ABK และ AOTS ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย สืบเนื่องจากการประท้วงสินค้าญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นมีความกังวลใจมาก และเกรงว่าจะลุกลามไปทั่วอาเซียน จึงขอให้อาจารย์โฮซูมิ เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหาสาเหตุของการประท้วงและหาวิธีแก้ไข ซึ่งอาจารย์ได้พบปะศิษย์เก่าญี่ปุ่นและผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรม ได้ข้อสรุปว่า คนไทยอยากให้ญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรไทย เช่น การตั้งสถาบันเทคโนโลยี แต่เนื่องจากขณะนั้นทุกฝ่ายยังไม่พร้อม จึงเห็นควรให้ตั้งเป็น สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และดำเนินการฝึกอบรมโดยนำวิทยาการใหม่ ๆ ของญี่ปุ่นมาเผยแพร่ เช่น 3ส Kaizen Muda จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีส่วนช่วยในการยกขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง ต่อมา ส.ส.ท. ได้ทำให้เจตจำนงแรกเริ่มบรรลุความสำเร็จ คือ ได้สร้างสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ให้การศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

สิ่งที่น่าประทับใจในตัวท่าน คือ ท่านมีแนวคิด ปรัชญา และจิตวิญญาณที่อยู่เหนือความต้องการของพวกเรา ๆ คือ ท่านมุ่งให้เกิดความสุขความเจริญของทุกคนไม่เลือกชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ และฐานะทางสังคม ท่านทำเป็นตัวอย่างด้วยการมีชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย เข้าถึงทุกผู้คน และยึดมั่นในอุดมการณ์จนท้ายสุดของชีวิต ขอยกคำกลอนที่ท่านเขียนไว้ 1 เดือนก่อนญี่ปุ่นจะประกาศแพ้สงคราม เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณของท่านดังนี้

รักที่ไม่มีศรัทธาย่อมแตกสลาย
รักที่ไม่มีหลักการย่อมยุ่งเหยิง
รักที่ไม่มีคุณธรรมย่อมมลายสูญ
บทความของท่านได้มีการรวบรวมในหนังสือชื่อ "Naikanroku" (บันทึกอันตรวินิจ) ซึ่งพิมพ์ในวาระครบรอบ 2 ปีของการถึงแก่อนิจกรรมของท่านในปี ค.ศ.1981 ขอนำบางส่วนในหนังสือเล่มนี้มาแบ่งปันกันเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณของท่านดังต่อไปนี้

  1. การบ่มเพาะตัวเราเอง มีวิธีที่สำคัญ คือ อันตรวินิจ หรือ การพินิจพิจารณาตัวเอง
    อันตรวินิจ คือ การพิจารณาตัวเองอย่างไม่มีอคติ หรือที่เรียกว่า วัตถุวิสัยด้วยตนเองอย่างตรงไปตรงมา
    บรรพบุรุษของชาวตะวันออกได้สอนวิธีฝึกการทบทวนตัวเองวันละสามครั้ง แต่อันตรวินิจ คือ การจ้องมองเข้าไปภายในของตัวเองอย่างตรงไปตรงมามากกว่านั้น
  2. ทั้งหมู่บ้าน คนที่ให้เอตะ (คนชั้นสอง) เข้าบ้าน พูดคุย และมอบสิ่งของให้นั้น ก็มีแต่แม่คนเดียว เอตะก็มีความเกรงใจ กลางวันจะไม่มา คือมาเฉพาะหลังเวลาเย็น มีแม่คนเดียวที่พูดคุยด้วยโดยไม่ถือสาอะไรเลย และเป็นความจริงที่ในใจของเด็กอย่างผมตอนนั้นคิดว่าเป็นสิ่งที่สวยงามมีคุณค่าและรู้สึกภูมิใจ
  3. เอเชียบุงกะไคกัง เกิดจากการร้องขออย่างแรงกล้าของนักศึกษาต่างชาติของแต่ละประเทศ และสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1960 หอพักนี้จากชื่อที่ปรากฏแสดงว่า สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางด้าน "อิสรภาพและความเจริญรุ่งเรือง" ของเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เพราะฉะนั้นในสถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าปัจเจกชนใดหรือชาติใด ต่างมีภาวะอิสระและเท่าเทียมกัน
    สมาคมศิษย์เก่าเอเชียบุงกะไคกัง ไม่ได้เป็นการรวมตัวทางการเมือง แต่สิ่งที่มุ่งหวัง คือ เอกราชและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นจึงไม่ควรมีการหันหลังให้กับกิจกรรมต่าง ๆ นานาที่จะให้ได้มาซึ่ง "เอกราชและความเจริญรุ่งเรือง"
  4. ก่อนอื่นญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นจะต้องทบทวนตัวเองอย่างจริงจังกับต้องตั้งเงื่อนไขก่อนว่า จะพยายามปรับปรุงตนเอง ประเทศญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นในทุกวันนี้ ในสายตาของคนในประเทศกำลังพัฒนา พวกเขาเชื่อใจได้ยากจริง ๆ ประการที่สอง จะต้องไม่ละเลยในการแสวงหาอย่างถ่อมตัวว่า จะทำตัวให้เป็นประโยชน์อย่างไรในด้านการพึ่งตนเอง และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศกำลังพัฒนาต้องไม่ทำอะไรที่ให้ร้ายต่อภาวะอิสระ โดยไม่ใช่พูดว่า จะให้ความเคารพต่อสิ่งนี้ แต่กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม และจะต้องคอยติดตามดูอย่างเป็นรูปธรรมว่า ตัวเองทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าความเจริญรุ่งเรืองของพวกเขาหรือไม่
  5. อยากให้วารสารหอพักนี้ หลุดพ้นจากความอ่อนหัด หรือการทำแบบผักชีโรยหน้าโดยเร็ว แล้วทำให้มันยอดเยี่ยม
  6. เราต้องการอะไรจากชีวิต นั่นก็คือ อะไรคืออุดมคติของตนเองในชีวิต หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หากไม่มีความคิดที่หนักแน่นเกี่ยวกับทัศนคติต่อชีวิตของตนเองว่าคืออะไรแล้ว ก็เปรียบเสมือนการเดินเรือที่ไม่มีหางเสือ เพราะอาจจบลงแบบอยู่ก็เหมือนเมา ตายก็เหมือนฝัน ใช้ชีวิตไปวัน ๆ อย่างไร้ความหมาย
  7. จะว่าไป การขอรับบริจาคอย่างกว้างเพื่อการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมเอเชียเริ่มขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน การขอรับบริจาคเงินจากคนที่ไม่รู้จักเป็นเรื่องที่แค่คิดก็ยังไม่เคย แต่เมื่อได้สัมผัสกับความยากลำบากของเหล่านักศึกษาต่างชาติโดยตรง หากปล่อยทิ้งไว้จะเหมือนกับนักศึกษาต่างชาติชาวจีนช่วงก่อนสงคราม คิดว่าหลังกลับประเทศไป แทบจะทุกคนจะกลายเป็นพวกต่อต้านญี่ปุ่น ข้าพเจ้าจึงต้องยอมโอนอ่อนกับสิ่งที่ยึดมั่นมานานปี เพื่อตอบสนองเสียงคร่ำครวญอย่างจริงจังของพวกเขา จนถึงขนาดต้องไปเรี่ยไรเพื่อการก่อสร้างหอพัก เพื่อนและคนรู้จักเมื่อเห็นข้าพเจ้าเป็นเช่นนั้นก็ยังไม่เชื่อสายตาตัวเอง วิจารณ์กันว่า ราวกับพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก
  8. เพ่งพิศ
    คนไร้รูป สถิตอยู่ ในกายเรา
    เข้าออกผ่าน อายตนะจาก เช้ายันค่ำ
    ผู้บ่เคยพบ บ่เคยเห็น จงพิศดู
    โดยทั่วไป ถ้าไม่มีจิตใจที่ใฝ่รู้อย่างเพิ่งพิศ ก็จะมองไม่เห็น ถึงจะฟังก็ไม่ได้ยิน ถึงจะอ่านก็ไม่เข้าใจ พูดไปก็ไม่รู้เรื่อง ถึงจะทำก็เหมือนไม่ได้ทำ เพียงแต่เหมือนมีอะไรที่เข้าใกล้กับลำดับของความรู้สึก
    ถ้าพอใจกับลำดับของความรู้สึก ก็จะคล้ายกับว่ากำลังเรียนรู้ แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย แม้จะได้เรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้อะไรเป็นแก่นสาร หากผิดพลาดเล็กน้อยก็จะกลายเป็นมหันตภัย พอประสบเหตุการณ์ใหญ่ ก็จะเสียสติและทำอะไรไม่เป็น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีความเป็นอิสรเสรี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าดีเลิศ ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าอะไร ไม่สร้างนวัตกรรมแม้กึ่งหนึ่ง ในที่สุดก็ไม่สามารถทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้

ขอยกตัวอย่าง คำกล่าวของหลายท่านในหนังสือที่รำลึกถึงท่านในวาระต่าง ๆ ดังนี้

  1. อาจารย์โฮซูมิ เป็นหนึ่งในคนญี่ปุ่นสมัยใหม่เพียงไม่กี่คนที่แตกต่างจากคนทั่วไป คอยสนับสนุนช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เบื้องหลังมีทัศนคติการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายและเงียบสงบ ในชีวิตของอาจารย์ เป็นทั้งผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รักษามิตรภาพอันดีกับคนหนุ่มสาวหลากหลายเชื้อชาติกว่า 100 ประเทศทั่วโลก กับเป็นผู้มีจิตใจลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
    คิโยเสะ มิจิโต
    ประธานสมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-จีน
  2. เคยได้ยินคนพูดถึงโฮซูมิว่า เปรียบเสมือนโยชิดะ โชอิน (ค.ศ.1830-1859 ซามูไรแคว้นโชชู เป็นนักคิด นักการศึกษา ที่มีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวจำนวนมากในการฟื้นฟูสมัยเมจิ) ของยุคโชวะ จริง ๆ ก็เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริง นั่นก็เพราะเขาไม่สนใจชื่อเสียงและผลประโยชน์ คิดถึงแต่อนาคตของประเทศในเอเชีย โดยไม่ใส่ใจกับชีวิตในอนาคตของตัวเอง สอนและสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวด้วยความจริงใจ
    ซาซายามะ ทาดาโอ
    กรรมการบริหาร นิกเคเรน
  3. หลังสงครามที่ญี่ปุ่นมีความต้องการคนอย่างคุณโฮซูมิ โกอิจิ เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ข้าราชการญี่ปุ่นก็ไม่ได้เป็นเพียงข้าราชการแต่เป็นภาคธุรกิจ หรือที่จริงแล้วคือ ห้อยอยู่ใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น และในท้ายที่สุด ญี่ปุ่นที่เกิดใหม่ก็เกือบจะพังยับเยิน อย่างแรกคือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้เหยียบย่ำจิตวิญญาณของญี่ปุ่น ผู้ที่เข้ามาบอกว่า ให้หยุดก่อนต่อการโบกมือให้ตะแบงผ่าน ก็คือ โฮซูมิ โกอิจิ
    โอโคจิ คาซึโอะ
    อธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียว
    ประธานศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย
  4. การดำเนินชีวิตที่แน่วแน่ในเจตจำนงที่จะละประโยชน์และความต้องการส่วนตน ไม่หวังชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตตามตัวหนังสือนี้มาโดยตลอดอย่างซื่อสัตย์สุจริต คือ อาจารย์โฮซูมิ โกอิจิ
    มีคำสั่งเสียอย่างหนักแน่นของท่านว่า "ถ้าฉันตายจงจัดงานศพกันแต่เพียงคนในครอบครัว ห้ามประกาศสู่ภายนอกจนกว่าจะเสร็จงาน และห้ามจัดพิธีอำลาใด ๆ โดยเด็ดขาด"
    สำหรับคนในโลกสากล การลงมือปฏิบัติและความซื่อสัตย์สุจริต มีความสำคัญยิ่งไปกว่าความรู้ที่มากมาย
    ผมเคยได้ยินจากนักศึกษาต่างชาติชาวเอเชียบางคนที่มาศึกษาที่ญี่ปุ่นกล่าวว่า "คนญี่ปุ่นที่ควรเคารพและเชื่อถือได้มากที่สุด คือ อาจารย์โฮซูมิ"
    ทาคิตะ มิโนรุ
    ประธานสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น
  5. อาจารย์โฮซูมิเป็นผู้ที่แสดงให้เห็นว่า มโนธรรม ไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น หากเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวเอง ผมคิดว่าการศึกษาในต่างประเทศก็เปรียบเสมือนการจิบยาสมุนไพรจีน ซึ่งไม่อาจออกฤทธิ์ได้ในทันที แต่ระหว่างที่จิบไปเรื่อย ๆ นั้น ร่างกายก็จะค่อย ๆ แข็งแรงขึ้นจากฤทธิ์ยาที่ออกจากร่างกายเรานั่นเอง สิ่งนี้ต่างหากคือความหมายที่แท้จริงของการศึกษาในต่างประเทศ
    โอฮาระ โชอิจิโร
    ประธานบริษัทคุราเระ
  6. อาจารย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ด้วยวัย 79 ปี เราไม่ได้จัดงานศพเพื่อทำตามความประสงค์ที่ระบุในพินัยกรรมของท่าน หัวเรือใหญ่ของงานไม่ใช่คนญี่ปุ่น กลับเป็นคณะกรรมการจัดงานที่รวมนักศึกษาต่างชาติทั้งหลายและผู้เคยมาฝึกงานที่ญี่ปุ่น มีทั้งคนเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และอื่น ๆ อีก ผู้มาร่วมงานมีจำนวนถึง 600 คน และอย่างน้อยที่สุด 200 คน จากจำนวนนั้นคือนักศึกษา หรือผู้ฝึกงานชาวต่างชาติ งานไว้อาลัยยังจัดขึ้นอีกหลายครั้งที่ไทย บราซิล เกาหลีใต้ และปากีสถาน อาจารย์โฮซูมิเป็นที่รักของนักศึกษาต่างชาติ ถึงขนาดได้สมญาว่า "บิดาของนักศึกษาต่างชาติ"
    ในชีวิตของอาจารย์ มีหลักยึดที่ท่านตั้งชื่อให้เองว่า "สามเสาหลัก" ประกอบด้วย "สังวรแห่งชีวิต หรือจิตใจที่ยึดมั่นในศาสนา" "หัวคิดวิทยาศาสตร์" และ "ใจรักความเป็นญี่ปุ่น"
    นางาอิ มิจิโอ
    อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
  7. อาจารย์โฮซูมิเคยกล่าวไว้ว่า "หากอยากสร้างความสัมพันธ์กับคน ก็ไม่ควรเริ่มด้วยการเรียกร้องเอาจากอีกฝ่าย แต่เรา (ชาวญี่ปุ่น) เองต่างหากควรเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้" ผมว่านี่แหละคือสิ่งที่อาจารย์ได้เรียนรู้จากเหล่านักศึกษาต่างชาติ นี่แหละสอนเราว่า "ก่อนจะพยายามเรียนรู้เรื่องผู้อื่น จงเริ่มจากการสัมผัสผู้นั้นเสียก่อน"
    อิชิอิ โยเนโอ
    ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการค้นคว้าเชิงมนุษยศาสตร์

<< กลับหน้าแรก