“ความสามารถในการคิดหรือเฟ้นหาไอเดียอะไรสักอย่างเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้”
เคยสงสัยไหมว่า คนที่คิดเก่งหรือมีไอเดียเจ๋ง ๆ นำเสนอออกมาบ่อย ๆ ได้นั้นเขาต้องทำอย่างไร คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นความถนัดหรือไม่ก็เป็นความสามารถส่วนบุคคล ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง
แต่ความสามารถในการคิดหรือเฟ้นหาไอเดียอะไรสักอย่างเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้
แล้วการฝึกให้คนธรรมดากลายเป็นนักคิด นักวางแผน ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้ไม่รู้จบนั้นมีวิธีการอย่างไร
ข้อแรกที่จำเป็นสำหรับการเป็นนักสร้างไอเดียคือ ให้มองโจทย์ตรงหน้าแล้วตั้งคำถามสำคัญด้วยคำว่า “What = ทำอะไร” และ “How = ทำอย่างไร” แล้วคิดหาคำตอบสำหรับคำถามนี้โดยไม่สนใจว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือไม่ และไม่ต้องคำนึงถึงงบประมาณหรือข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น
ในขั้นแรกสิ่งสำคัญคือปริมาณ ยิ่งรวบรวมได้มากเท่าไรยิ่งได้เปรียบ เพราะไอเดียก็เปรียบเสมือนวัตถุดิบที่จะถูกนำไปปรับปรุงต่อยอดให้กลายเป็นแผนงานที่ดีในอนาคต
อีกอย่างหนึ่ง ไอเดียที่มองหาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จะเป็นการผสมผสานไอเดียเดิม เพิ่มตรงนั้น ลดตรงนี้ หรืออาจเป็นโนว์ฮาวธรรมดา ๆ ในวงการหนึ่ง แต่พอหยิบมาใช้กับอีกวงการแล้วแก้ปัญหาได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
วิธีนี้จะช่วยสร้างคลังไอเดียได้เป็นจำนวนมาก และเมื่อคิดออกมาแล้วให้จดบันทึกเอาไว้ให้หมดด้วย
ข้อต่อไปคือ การตรวจสอบรายละเอียดและคัดกรองความเป็นไปได้ ในขั้นนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนไอเดีย พร้อมกับพิจารณาว่าไอเดียไหนที่จะเก็บไว้หรือทิ้งไป
แน่นอน ย่อมมีไอเดียที่ตกไปจำนวนมาก แต่ไม่มีอะไรเสียเปล่า อย่างน้อยก็ได้ฝึกคิด และในชีวิตไม่ได้มีเพียงโจทย์เดียว ไอเดียเหล่านั้นอาจจะตอบโจทย์อื่น ๆ หรือนำมารีไซเคิลใหม่เพื่อแก้โจทย์ต่อไปก็ได้
จากนั้นให้เชื่อมโยงไอเดียต่าง ๆ ที่น่าสนใจและเป็นไปได้ ลองขยายความคิด เปลี่ยนมุมมองหรือขอบเขตให้กว้างออกไป แล้วโฟกัสใหม่ให้แคบลงในประเด็นสำคัญ การฝึกคิดแบบนี้จะเป็นการพัฒนาไอเดียที่นำไปสู่แผนงานที่เป็นรูปเป็นร่างและมีเป้าหมายชัดเจน
ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานของการคิดและการสร้างแผนงานที่ดี เป็นข้อมูลจากหนังสือ “เครื่องมือช่วยคิด ผลิตไอเดีย สู่สุดยอดแผนงาน”
ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานอะไรก็ต้องใช้ความคิด อย่างน้อยก็ต้องคิดวางแผน ปรับปรุงงาน หรือแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ ยิ่งถ้าอยู่ในแวดวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ การตลาด การออกแบบ ยิ่งมีการแข่งขันด้านไอเดียสูง ต้องคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ตลอดเวลา
หากเริ่มรู้สึกตื้อ ๆ คิดอะไรไม่ออก ลองค้นหาเทคนิคกระตุ้นความคิดที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นจากในหนังสือ “เครื่องมือช่วยคิด ผลิตไอเดีย สู่สุดยอดแผนงาน” เล่มนี้
จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเสียเวลาไปกับการคิด เพียงเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมและลองทำตามไปทีละขั้น ก็จะพบว่าทุกสิ่งรอบตัวล้วนนำมาสร้างสรรค์เป็นไอเดียที่เป็นประโยชน์กับงานของเราได้ทั้งสิ้น
“เครื่องมือช่วยคิด ผลิตไอเดีย สู่สุดยอดแผนงาน”
ผู้เขียน Masaharu Kato
ผู้แปล ดร.ศิริลักษณ์ ศิริมาจันทร์
224 หน้า / 195 บาท