ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 61131 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........สถาพร สงวนวงษ์

1 ปีกับประสบการณ์ล้ำค่าด้าน Embedded Systems ในประเทศญี่ปุ่น

 

ผ่านมาแล้ว ท่านนี้ก็เป็นท่านที่ 8 แล้วนะคะ  สำหรับท่านนี้ คือ นายสถาพร  สงวนวงษ์  ถือได้ว่าเป็นความใฝ่ฝันของเขาเลยก็ว่าได้  สำหรับการเข้าสู่วงการ Embedded Systems  จากนี้ไปเขาจะมาเล่าถึงความเป็นมาเป็นไป  สิ่งที่ได้รับจากการไปฝึกงาน รวมทั้งแผนงานในอนาคต 

 

เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวก่อน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่ ๆ ทีมงานของ ส.ส.ท. นะครับที่ให้เกียรติผมได้มีส่วนร่วมในการเขียนบทความนี้ แม้จะเป็นบทความสั้น ๆ แต่ผมก็รู้สึกยินดีและจะตั้งใจถ่ายทอดประสบการณ์ และ ให้คำแนะนำที่เกิดประโยชน์มากที่สุด เข้าเรื่องเลยนะครับผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น  จากการเข้าร่วมกับโครงการ ESTATE ภายใต้การดูแลของ 3 หน่วยงานหลัก คือ เจโทร กรุงเทพฯ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย  และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เหตุผลในการเข้าร่วมโครงการนี้ก็คงเหมือนกับหลาย ๆ ท่านที่เข้าร่วมโครงการ คือ อยากสัมผัสกับประเทศญี่ปุ่น และ อยากมีโอกาสพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับ  ก่อนหน้านี้ผมทำงานทางด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่ก็มีความสนใจงานทางด้านพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว  ด้วยเหตุที่เป็นนักอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว และมองเห็นโอกาสที่จะมีขึ้นในอนาคต ก็ต้องขอขอบคุณ ผู้บริหารโครงงาน ESTATE ทุกท่านด้วยนะครับที่ให้โอกาสผม  แม้ว่าประสบการณ์จะไม่ตรงกับทางด้าน Embedded systems ซะทีเดียว

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

ผมได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัท Profix Inc. Japan  ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีสินค้าหลัก เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้งานในเครื่องจักรสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ และ เขียนซอฟต์แวร์ให้กับบริษัท Citizen ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก  แต่ก็ยังมีสายงานด้านอื่นด้วยแต่เป็นส่วนน้อย  สาเหตุที่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีขนาดเล็กนั้น จากการสอบถามท่านประธาน คือ  Mr. Yamamori ว่าทำไมไม่ทำการขยายตลาดหรือผลิตสินค้าใหม่ ๆ  เพื่อจะได้ขยายกิจการออกไปอีก ก็ได้คำตอบว่า งานมีเท่านี้ก็ดูแลไม่ไหวแล้ว และ ก็พอใจกับงานและปริมาณรายได้ที่เป็นอยู่แล้ว  ซึ่งทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็นอยู่ที่พอเพียงจริง ๆ  ธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะคล้ายแบบนี้ คือ เป็นธุรกิจเชิงเดี่ยวและจะทำกันหลายปีจนมีชื่อ และคนญี่ปุ่นก็จะสนับสนุนใช้บริการกันเอง เป็นแนวคิดที่น่าเอาอย่างแต่ไม่รู้จะใช้ได้ผลกับประเทศไทยแค่ไหน

 

เป้าหมายในการไปฝึกงาน

เป้าหมายหลักของการไปฝึกงานครั้งนี้เหมือนกับที่ผมกล่าวไปแล้ว คือ ต้องการเรียนรู้แนวคิดและวิธีการทำงานของคนญี่ปุ่น หรือหวังจะได้พบกับเทคโนโลยีไหม่ๆ และมีโอกาสได้ทดลองทำงานจริงๆ   ซึ่งนับว่าโชคดีที่ผมได้มีโอกาสได้ทำงานกับสินค้าของบริษัท  แม้ผมจะรับผิดชอบสินค้าเพียงชนิดเดียว และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พัฒนาเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนเดียวของสินค้านั้น ก็สามารถสร้างความภูมิใจเล็ก ๆ ให้กับตัวเองได้ว่าเราได้มีโอกาสสร้างผลงานในประเทศญี่ปุ่น และผลงานของเราก็จะถูกใช้งานกับโรงงานผลิตเครื่องจักรชั้นนำของญี่ปุ่นด้วย  สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ระหว่างการฝึกงานนี้ ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่เป็นทางด้านเทคนิคเท่านั้นในส่วนของการเรียนภาษาญี่ปุ่นนั้น ผมถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว งานหลัก ๆ ของผมสามารถแบ่งเป็นช่วงคร่าวๆ ได้ดังนี้

   

ช่วงเรียนรู้ (ใช้เวลา 3 เดือน)

        - เรียนรู้การใช้งานและสร้าง Windows Embedded Systems (ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ Windows เป็นระบบปฏิบัติการ)

        - เรียนรู้การใช้งานและสร้าง Linux Embedded Systems (ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ Linux เป็นระบบปฎิบัติการ)

        - ทบทวนการเขียนโปรแกรม โดยทางบริษัท Profix ได้มอบหมายให้ผมเขียนโปรแกรมสำหรับทดสอบสินค้าของบริษัทที่มีชื่อว่า PDLOG System (เป็นเครื่องที่ใช้งานในเครื่องจักรสำหรับโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่น)

 

ช่วงปฎิบัติงานจริง (ใช้เวลา 6 เดือน)

        - ทดสอบเครื่อง PDLOG ด้วยโปรแกรมที่เขียนขึ้น เพื่อเป็นทดสอบจริงก่อนส่งมอบให้แก่ลูกค้า

        - ปรับปรุงสินค้าของบริษัท ที่มีชื่อว่า PDLOG และ PRC (เครื่องสำหรับพิมพ์ฉลากจัดส่งหนังสือพิมพ์) โดยผมได้รับมอบหมายให้ปรับปรุง version ของระบบปฏิบัติการ Linux ที่ใช้อยู่เดิม และ เพิ่มส่วน web interface เข้าไปในระบบเพื่อสะดวกในการดูแลระบบ พร้อมกับจัดทำเอกสารวิธีการติดตั้งระบบใหม่ดังกล่าว

        - ทดสอบการทำงานของระบบ และ ได้มีโอกาสติดตั้ง และ ทดลองใช้งานจริงกับเครื่องจักรของ บริษัท ichiro ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรสำหรับโรงพิมพ์ ชั้นนำแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

 

ข้อแนะนำในการทำงานกับคนญี่ปุ่น

สิ่งสำคัญที่ใช้ในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นนั้น  ผมคงมีความเห็นเหมือนกับหลายๆท่านว่า เรื่องภาษา เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะคนญี่ปุ่นนั้นจะไม่ถนัดพูดภาษาต่างชาติ (ข้อมูลจาก AOTS) สิ่งต่อมา คือ ความขยันและความตั้งใจรับการฝึกงานก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าระเบียบของการฝึกงานนั้นจะไม่อนุญาตให้ผู้ฝึกงานกลับบ้านดึกได้ก็ตาม แต่ผู้ฝึกงานก็ควรแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานให้มากที่สุด

สิ่งที่ส่งเสริมการฝึกงานอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากภาษาและความขยันก็ คือ ความช่างพูด ความสนิทสนม และ ความมีน้ำใจ  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของสังคมทั่วไป การเข้าสังคมเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน  เพราะเราไม่สามารถฝึกงานคนเดียวได้ โดยรับงานมาแล้วก็นั่งทำอย่างเดียวโดยไม่พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเลย คุณอาจจะได้ความรู้ในงาน แต่คุณอาจจะไม่ได้ความรู้นอกเหนือจากนั้นอีก การเป็นคนช่างพูดนั้นนอกเหนือจากเป็นการฝึกภาษาไปในตัว แล้วยังเป็นการสร้างความรู้สึกดี ๆ ต่อคนสอนงาน หัวหน้างาน และ คนอื่น ๆ ในบริษัทให้มีมากขึ้นด้วย เรื่องของความสนิทสนมก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงาน และ การใช้ชีวิตในแต่ละวัน เพราะเราจะได้รู้เรื่องอื่นๆที่นอกเหนือจากความรู้ทั่วไปก็เพราะความสนิทสนมนี่แหละ

ในสังคมญี่ปุ่นจะมีคำศัพท์เกี่ยวกับระดับความสนิทสนมอยู่ 2 คำ คือ คนใน และ คนนอก  คำว่าคนในนั้นมีความหมายหลัก ๆว่าเป็นความรู้สึกที่คนญี่ปุ่นมีต่อคนญี่ปุ่นด้วยกันหรือเป็นคนที่สนิทกันมาก การเป็นคนในนั้นมีประโยชน์ในการติดต่อประสานงาน การพูดคุยทางธุรกิจ เพราะไม่ต้องพูดกันมากก็สามารถเข้าใจกันได้ ส่วนคำว่าคนนอกนั้นมีความหมายเหมือนเป็นแขก ลูกค้า หรือ ชาวต่างชาติ   ซึ่งคนญี่ปุ่นก็จะปฎิบัติกับคนนอกอีกรูปแบบ จะออกไปทางให้เกียรติ และ ประนีประนอม มากกว่าคนใน ดังนั้น การพยายามสร้างความสนิทสนมกับคนญี่ปุ่นนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ  แม้จะไม่สามารถเป็นคนในได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ขอให้ขยับเข้าไปให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ต่างๆ

ส่วนความมีน้ำใจนั้นถือว่าเป็นของแถมเพราะความมีน้ำใจนั้นจะทำให้เราดูดีขึ้นทันที แม้ว่าเรื่องที่เราช่วยเหลือเขานั้นจะเล็กน้อยก็ตาม จากประสบการณ์ตรงที่ผมสัมผัสมา การมีน้ำใจเพียงเล็กน้อยก็สร้างความประทับใจให้คนญี่ปุ่นได้มากทีเดียว และสิ่งที่จะย้อนกลับมาหาเรา ก็จะเป็นน้ำใจจากคนญี่ปุ่นเช่นกัน

 

ชีวิตความเป็นอยู่

เรื่องสภาพความเป็นอยู่นั้น ผมคงจะไม่สามารถสะท้อนปัญหา หรือ ให้คำแนะนำอะไรได้มากนักเพราะผมอาศัยอยู่กับศูนย์ฝึกอบรมของ AOTS ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี โดยสภาพโดยรวมของศูนย์ฯ นั้นก็เปรียบได้กับโรงแรมชั้น 1 ของญี่ปุ่นเลยทีเดียวแม้ห้องหับจะเล็กไปหน่อยแต่ก็เรียบร้อยตามแบบญี่ปุ่นสมัยใหม่  เรื่องอาหารการกินก็ไม่มีปัญหาเพราะกินฟรีอยู่ใน AOTS ทั้งเช้าและเย็น ความอร่อยก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว ส่วนมื้อกลางวันนั้นกินกันเองตามอัธยาศัย ผมได้รับเงินค่าข้าวกลางวันวันละ 800 เยน หรือประมาณ 280 บาท แต่ใช้เกินงบทุกวัน เพราะต้องไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขาชอบพาไปกินของอร่อยๆ แปลกๆ ซึ่งก็แลกมาด้วยราคาที่ไม่ต่ำกว่า 900 เยน บางวันก็อาจถึง 1100 เยน ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างธรรมดาสำหรับคนญี่ปุ่น แต่สำหรับท่านที่มีความรู้สึกว่าแพง ถ้ามองในมุมของคนไทย ก็ขอให้ท่านลองคิดดูว่า นี่เราได้มีโอกาสมากินอาหารถึงญี่ปุ่น ได้นั่งอยู่ในบรรยากาศญี่ปุ่นขนานแท้ และ ได้นั่งมองสาว ๆ ญี่ปุ่นด้วย ก็จะทำให้รู้สึกว่าราคาอาหารถูกลงในทันที  ในส่วนเรื่องการเดินทางก็เป็นสีสันหนึ่งที่เป็นญี่ปุ่นจริงๆ ผมเป็นอีกคนที่ได้มีโอกาสอยู่ในโตเกียว ได้มีโอกาสโดยสารบนรถไฟฟ้าที่ถือได้ว่าตรงต่อเวลามากที่สุดในโลกขบวนหนึ่ง การได้เบียดเสียดกับผู้คนแบบปลากระป๋องจริงๆ เป็นความรู้สึกที่ทั้งสนุกและทุกข์ ในเวลาเดียวกันแต่ก็อีกนั่นแหละ คิดซะว่านี่เรามาเบียดคนญี่ปุ่นถึงบนรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นเชียวน้า ก็ทำให้มีกำลังใจขึ้นเป็นกองทุกครั้งไป

 

ได้อะไรกลับมาบ้างจากการไปญี่ปุ่นครั้งนี้

ประโยชน์ที่ได้ นอกเหนือจาก ความรู้ทางด้านเทคนิค การได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ และ การได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่แบบญี่ปุ่นแล้ว ประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับ ส่วนใหญ่จะเป็น พวกแนวคิด หรือ ปรัชญาในการทำงาน ที่เกิดจากการได้พูดคุยเสียเป็นส่วนใหญ่  ตัวอย่างเช่น คำแนะนำของท่านประธาน Mr. Yamamori  กล่าวว่า "การที่คุณจะทำสินค้าให้ขายได้คุณจะต้องหาความแตกต่างและสร้างมันออกมาให้ทำงานให้ดีให้ได้ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า" ซึ่งก็ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิตสินค้าของตัวเองให้ได้ หรือ คำแนะนำจาก ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา Mr. Haari  กล่าวว่า "โปรแกรมที่คุณว่าทำงานดีอยู่แล้ว ถ้าลองมองในรูปแบบภาษา Assembly แล้วลองสร้างมันขึ้นมาใหม่ด้วยภาษา Assembly บางครั้งเราอาจจะได้โปรแกรมที่ทำงานเร็วกว่าเดิมเป็น 10 เท่า" นี่ก็เป็นกระตุ้นให้ผมมีความละเอียดและรอบคอบในการทำงานมากขึ้น เป็นต้น หรือในการใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นเองก็มีรูปแบบที่น่าสนใจ  เช่น การขึ้นบันไดเลื่อนก็จะแบ่งช่องคนที่ต้องการยืนเฉย ๆ จะอยู่ด้านซ้ายและคนที่ต้องการเดินขึ้นจะอยู่ด้านขวา ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเขาปลูกฝังพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร ถ้ามองจากคนนอกอาจจะดูเหมือนต้องมีระเบียบมากน่ารำคาญ แต่พอทุกอย่างถูกทำเป็นนิสัยแล้ว เราก็จะไม่รู้สึกรำคาญ แต่จะรู้สึกถึงความสะดวก มีเจตนารมณ์ชัดเจน แม้จะเป็นเพียงบันไดเลื่อนตัวเดียวก็ตาม นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ได้จากการฝึกงานครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นลักษณะการทำงานว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีความละเอียดทางความคิด ทำให้ทราบว่าเขาเจริญได้อย่างไร แมัว่าเมื่อก่อน ญี่ปุ่นอาจเคยผลิตสินค้าเลียนแบบประเทศตะวันตก แต่การเลียนแบบนั้นเป็นการเลียนแบบ แบบต่อยอดไม่ใช้เลียนแบบเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการใส่วัฒนธรรม และความคิดของตัวเองลงไปด้วย จึงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม เช่นทุกวันนี้

 

จะทำอะไรต่อไปในอนาคต

สิ่งที่ผมต้องการทำต่อไปในอนาคตนั้น ในช่วงแรกผมวางแผนที่จะหาประสบการณ์เพิ่มเติม และ สร้างเครือข่ายทางด้าน Embedded systems ไว้เป็นทุน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายหลัก คือ มีบริษัทเป็นของตัวเอง โดยบริษัทที่ผมตั้งใจจะทำ อาจเป็นการรับทำ ซอพท์แวร์ทั้งในและนอกประเทศ หรือ อาจจะผลิตสินค้าของตัวเองซึ่งก็ต้องเป็นสินค้าที่ยังไม่มีอยู่ในตลาด หรือ เป็นสินค้าที่ถูกปรับปรุงคุณภาพให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงสร้างธุรกิจให้กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้าน Embedded systems ในประเทศไทยด้วย

สุดท้ายก็คงต้องขอขอบคุณโครงการ ESTATE อีกครั้งที่ให้โอกาสผมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะ ดร. วิวัฒน์ และ พี่แดง ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตลอดมา และต้องขอขอบคุณพี่ ๆ ที่ ส.ส.ท. โดยเฉพาะ พี่หนึ่ง ที่ให้ความช่วยเหลือในช่วงการเตรียมตัวก่อนไปญี่ปุ่น รวมถึงขอขอบคุณ Mr. Yamamori ที่ให้โอกาสผมได้เข้าฝึกงานในบริษัท ขอขอบคุณ Mr. Haari ที่ให้ความช่วยเหลือดูแลทุกเรื่องขณะที่อยู่ที่ญี่ปุ่น และก็ต้องขอขอบคุณ Mr. Son ที่ให้ความรู้และคำแนะนำด้านเทคนิคต่างๆ มากมาย ขอกล่าวเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “kokoro kara kansha itashimasu” (ขอแสดงความขอบคุณจากใจจริงๆ)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที