ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63345 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


ผู้นำ กับ การเปิดใจรับฟัง (1)


5197_tt0121675.jpg



ผู้นำ กับ การเปิดใจรับฟัง (1)


หัวหน้าที่ดี ต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วย.  อย่างไรก็ตาม เราคงฟังได้ไม่ถนัด หากเราเอาแต่พูด.
(An effective leader is very good at listening. And it’s difficult to listen when you’re talking. ) John Wooden
 

การเป็นผู้พร้อมรับฟังเป็นกุญแจเปิดหัวใจสู่การสื่อสารที่ดี

คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่ง ของผู้นำ ก็คือ การเป็นผู้ซึ่งพร้อมเปิดใจรับฟัง มีจิตใจที่เปิดกว้าง ต่อความเห็นที่แตกต่าง แม้แต่จากผู้ใต้บังคับบัญชา.
ผู้บริหารส่วนใหญ่ซึ่งประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับ ต่างเป็นนักฟังที่ดี.
ดรักเกอร์ ซึ่งเป็นบิดาของการบริหารสมัยใหม่เคยกล่าวไว้ว่า “ ในบรรดาความสามารถพื้นฐาน สำคัญของผู้นำ สิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นก็คือ ความตั้งใจ ความสามารถ และ วินัย ในการรับฟังของเขาเหล่านั้น. (Of the major, basic competencies of a leader, the first is the willingness, ability and self-discipline to listen.)


เงื่อนไขสำคัญ ที่เราจะสามารถดำรงความเป็นผู้นำได้นั้น  ก็คือ การที่เรา สามารถสร้าง ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และ ความศรัทธา ของผู้ใต้บังคับบัญชา.
การสร้างความไว้วางใจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะบรรลุได้ง่ายๆ.
คนบางคนรู้จักกันมานานนับปี แต่ก็ยังไม่เคยวางใจกันเลย.
แต่บางครั้ง เรารู้จักคนบางคนเพียงไม่ถึงชั่วโมง ก็สามารถมีความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อกันได้.
จุดเริ่มต้น ที่ทำให้ ความเชื่อถือวางใจเกิดขึ้น ก็เพราะฝ่ายหนึ่งมีความรู้สึกว่า อีกฝ่ายใส่ใจ ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับตนเอง.
หนทางที่รวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจ ให้ความสำคัญ ก็คือ การพร้อมที่จะรับฟัง อย่างจริงใจ.
การรับฟัง แตกต่างจากเพียงการฟังธรรมดา และ ยิ่งแตกต่างจากการเพียงได้ยิน.


ทุกท่านลองรำลึก ถึงประสบการณ์ของตนเองดู ว่า คราใด ที่หัวหน้า “ฟัง” สิ่งที่เราพูด หรือ นำเสนอ อย่างจริงจัง และ จริงใจ. พร้อมกันนั้น หัวหน้าก็นำสิ่งที่เสนอ ไปสู่การปฏิบัติ.
ในบางครั้ง หัวหน้าก็พร้อมที่จะอธิบายให้เราเข้าใจว่า ทำไม บางเรื่องถึงทำไม่ได้.
ลูกน้อง ที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมมีความเคารพ ความศรัทธา และ มีความไว้วางใจ ต่อหัวหน้าอย่างหมดใจ.


การเปิดใจรับฟัง จึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่เปิดประตูหัวใจของผู้เป็นลูกน้อง.
เมื่อไร ที่หัวหน้าแสดงความพร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะนำความเห็นที่ดี และปฏิบัติได้ ไปดำเนินการ เราก็จะมีโอกาส ได้รับฟังความเห็นใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ.
ในระยะแรก ผู้ใต้บังคับบัญชา อาจจะยังไม่กล้า พูดจึง จุดอ่อนของบริษัท หรือ จุดอ่อนของตัวหัวหน้าเอง.
แต่เมื่อใด ที่ความยอมรับ ความไว้วางใจเกิดขึ้น. ผู้ใต้บังคับบัญชา ก็จะค่อยๆกล้า ที่จะแสดง หรือสะท้อนภาพ ซึ่งตัวเราเองอาจจะมองไม่เห็น. การกล้าให้คำแนะนำเช่นนี้แหละ ที่ช่วยผู้นำ ในการปรับปรุงตนเอง และ ปรับปรุงจุดอ่อนของบริษัท.
อย่าลืมว่า หัวหน้าแต่ผู้เดียว ไม่มีทางที่จะรับรู้ ทุกปัญหา ที่มีอยู่ และเกิดขึ้นในองค์กร.
ดังนั้น หากเมื่อใด ผู้ใต้บังคับบัญชา มีความมั่นใจ ว่าหัวหน้าพร้อมจะรับฟัง. เราก็จะมีตา มีหู  ที่ช่วยเราสอดส่อง เห็นข้อบกพร้อง และ จุดอ่อนต่างๆ ได้มากมาย.


การฟังเป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลปะ. เราอาจจะแบ่งขีดขั้น การฟังออกคร่าวๆเป็นสามระดับ คือ
• การเพียงได้ยิน ซึ่งเป็นการฟัง ที่ไม่ให้ความสนใจ เป็นไปอย่างขอไปที ซึ่งมักเป็นพฤติกรรม ที่หัวหน้าที่แย่ ปฏิบัติกับลูกน้องของตน
• การฟังเฉยๆ เป็นการฟังที่แสดงความสนใจเพิ่มขึ้น  แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญสูงสุด หลายครั้ง ผู้ฟังอาจจะนั่งทำอย่างอื่น หรือ แสดงความสนใจสิ่งอื่น ในขณะฟัง
• การฟังอย่างกระตือรือร้น (active listening) เป็นการฟังที่แสดงความตั้งใจที่แท้จริง ที่จะรับฟัง และเข้าใจผู้พูด

5197_listener.gif

การฟังอย่างกระตือรือร้น (active listening) ไม่ใช่เพียงการนั่งรับฟัง แต่ยังรวมไปถึง การใช้ภาษากาย เช่น การประสานสายตา การเอนกายเข้าหาผู้พูด เพื่อให้เห็นถึงความใส่ใจ รวมไปถึงการตั้งคำถาม การพยายามทวนประเด็น ระหว่างการสนทนา เป็นต้น.

กุญแจของการฟังที่ดีคืออะไร  ก่อนอื่น หัวหน้าต้องมีความ ”ต้องการ” ที่รับฟังสิ่งที่อีกฝ่ายจะพูดก่อน. 
ผู้ฟังที่ดี จะเริ่มต้นจากทัศนคติที่ว่า ตนกำลังรับฟังอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ กำลังจะเรียนรู้อะใหม่ๆ
ขณะที่ ผู้ฟังที่แย่มีความปักใจแต่ต้น ว่าอีกฝ่าย ไม่มีสาระอะไรที่จะมาเสนอ และ ผู้บริหาร ที่เริ่มต้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ มักจบการสนทนาลง โดยไม่ได้อะไรเป็นสาระสำคัญเลย. ทั้งนี้เพราะ เขาไม่ได้ตั้งใจ ที่จะฟังเอาเสียเลย.


ผู้ฟังที่ดี  จะพยายามเข้าใจ ว่าผู้พูด ต้องการสื่อสารอะไร ก่อนที่เราจะมีปฏิกิริยา หรือ พูดตอบกลับไป.
ผู้ฟังที่แย่ ชอบที่จะบรรลุข้อสรุป ก่อนที่ผู้พูดจะจบสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอ.
ผู้ฟังที่ดี นอกจาก รอฟังผู้พูดจนจบความแล้ว เขายังมีความพยายาม ที่จะค้นหา สอบถาม และ ยืนยัน ว่าเขาเข้าใจประเด็นของผู้พูดได้ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่.

(ติดตามตอนจบ คราวหน้าครับ)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที