ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63349 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


เขาไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อทำตามคำสั่ง (2)

เขาไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อทำตามคำสั่ง (2)

 

ผมขอเวลา พูดคุยเรื่องนี้ ต่ออีกตอนนะครับ.

ก่อนจะเริ่มเข้าเรื่อง ผมขอนำเอาคำพูดของอดีตประธานาธิบดี สหรัฐฯ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับเรื่องที่จะกล่าวถึงในวันนี้ โดยประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ กล่าวไว้ว่า

"The best executive is the one who has sense enough to pick good men to do what he wants done, and self-restraint enough to keep from meddling with them while they do it." --Theodore Roosevelt

 

ซึ่งผมขอถอดเอาความเป็นภาษาไทย ว่า “ผู้บริหารที่ดีที่สุด คือผู้ซึ่งมีความสามารถในการวินิจฉัยดีพอ ที่จะหยิบเลือกเอาคนดีๆ มาทำในสิ่งที่เขาต้องการให้เสร็จ. ขณะเดียวกัน เขาก็จะมีความสามารถควบคุมตัวเองเพียงพอ ที่จะไม่เข้าไปยุ่มย่ามกับผู้คนที่เขามอบหมาย ในขณะที่เขาเหล่านั้นกำลังทำงานอยู่”

 

กล่าวโดยสรุป ผู้บริหาร หรือ หัวหน้าที่ดีนั้น ควรเป็นผู้ทำให้งานเสร็จ โดยการเลือกหาคนดีมาช่วย ทำงานที่ตัวเองต้องการให้เสร็จ. ทั้งนี้ เมื่อมอบหมายไปแล้ว หัวหน้าพึงต้องให้อิสระกับผู้ทำงานเพียงพอ เพื่อที่เขาจะสามารถ “แสดงฝีมือ” ออกมาได้.

 

หัวหน้าส่วนใหญ่ ต้องการที่จะถ่ายทอดงาน ให้ลูกน้องไปทำ แต่ก็ยังกังวล ว่าลูกน้องจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามประสงค์. กับทั้ง หากเกิดล้มเหลว หรือ ผิดพลาดขึ้นมา ก็ซวยละซิ.. ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ แต่หากหัวหน้ากังวลแต่เฉพาะสิ่งนี้ ขอบเขตการทำงานของตน ก็ไม่น่าจะเพิ่มขยายได้. เพราะเขาแทบไม่ได้พึ่งพา “สมอง” ของลูกน้องมากมายนัก.

 

ลองมาพิจารณาดู ว่าการมอบหมายงาน และ อำนาจตัดสินใจแก่ลูกน้อง เป็นคุณเป็นประโยชน์ ต่อลูกน้อง ต่อตัวเรา และ ต่อองค์กร อย่างไร.

 

สำหรับลูกน้อง สิ่งแรก ที่ผมมั่นใจว่าเขาจะรู้สึก ก็คือ “เป็นปลื้ม”. เขาคงภูมิใจ ที่หัวหน้าให้ความวางใจเขาเพิ่มขึ้น. จากจุดนี้ การมีส่วนรวม การเป็นเจ้าของงาน ความรับผิดชอบต่องาน ก็น่าจะเพิ่มทวีขึ้น ประกายตา ของลูกน้องคนนี้ น่าจะเปลี่ยนไป !!!

 

สำหรับตัวคุณ สิ่งแรกที่คุณน่าจะได้ ก็คือ ลูกน้องที่เก่งขึ้น เอาการเอางานขึ้น. ขณะเดียวกัน คุณก็น่าจะมีเวลามากขึ้น ในการที่จะคิด และ พิจารณา ผลักดันงานให้ก้าวหน้าไป. คุณควรจะมีเวลา มามองภาพรวม มาคิดเชิงกลยุทธ์ มาศึกษาคู่แข่ง เป็นต้น. เมื่อคุณพัฒนาลูกน้อง ให้เก่งขึ้นได้ คุณก็น่าจะสามารถทำงานใหม่ๆเพิ่มขึ้น ความก้าวหน้าทางการงานก็ควรจะสดใสขึ้น.

 

สำหรับองค์กร เมื่อพนักงานในบริษัท หรือหน่วยงาน มีพัฒนาการ ทั้งในแง่ความเป็นเจ้าของงาน และ ประสบการณ์ทำงาน ผลิตภาพโดยรวมขององค์กร ก็น่าจะดีขึ้น.

 

ผมเชื่อว่า แนวคิด PDCA cycle  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในการบริหารงานกับลูกน้องกรณีเช่นนี้ได้. ผมขอไล่เรียงตามลำดับ ประกอบกับประสบการณ์ของผม ดังนี้ครับ

           

Plan  เป็นการวางแผน ที่จะพัฒนาศักยภาพ ของลูกน้องของเรา. ทั้งนี้ ภายหลัง การสังเกต พิจารณาความสามารถ บุคลิกภาพ และความเหมาะสม

 

Do เป็นการมอบหมาย งานที่ยาก หรือ ซับซ้อน เพื่อทดสอบศักยภาพ ความสามารถ.

 

Check การกำหนดให้มีการรายงานความคืบหน้า เป็นระยะ โดยให้สอดคล้อง กับระดับความไว้วางใจได้ ของพนักงาน และ เหมาะสมกับ ความสำคัญ และ ระดับความเสี่ยงของงาน.

 

Action ภายหลังการทดสอบ ศักยภาพ ความสามารถในการทำงาน ทักษะในการตัดสิน ใจ เป็นต้น หัวหน้าก็สามารถให้คำแนะนำ เพื่อแก้ไขปรับปรุงแก่ลูกน้อง. ในบางกรณี ก็อาจส่งไปรับการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา แก้ไขจุดอ่อนที่พบ. ต่อจากนั้น หัวหน้าก็ควรจะกำหนด มอบหมายงานใหม่ๆ ที่สามารถทดสอบ หรือ ท้าทายความสามารถ ของบุคลากรเพิ่มมากขึ้น เพื่อดึงเอาศักยภาพให้ออกมาได้เต็มที่.

 

            เมื่อลูกน้อง สามารถผ่านงานยาก งานท้าทาย ได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว หัวหน้าก็พึงพิจารณา ตบรางวัล หรือ ปรับเลื่อนตำแหน่ง ตามความเหมาะสม.

 

            การมอบหมาย ถ่ายทอดอำนาจการตัดสินใจ ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา จะประสบความสำเร็จ และ มีประสิทธิผลเต็มที่ได้  จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญสองประการ. ประการแรกก็คือ หน่วยงานต่างๆเหล่านั้น จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี และ มีความชัดเจน. ประการต่อมา ก็คือ กระบวนการสื่อสารภายในองค์การต้องมีประสิทธิภาพ. พนักงานทุกคน ต้องสามารถรับรู้ และ เข้าใจ ถึงวิสัยทัศน์ และ ทิศทาง ที่องค์การจะก้าวเดินต่อไป.

 

            ผมจะพูดถึงประเด็นสำคัญเหล่านี้ ในโอกาสต่อไปครับ.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที