ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63490 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


หัวหน้าต้องสื่อสารวิสัยทัศน์แก่ลูกน้อง (2)

การสื่อสารให้กับลูกน้อง (communication)

 

Lee Iacocca นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก เคยกล่าวไว้ว่า

“You can have brilliant ideas, but if you can't get them across, your ideas won't get you anywhere.” 

(คุณสามารถมีแนวความคิดสุดยอดมากมาย แต่หากคุณไม่สามารถสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจได้  แนวคิดดีๆเหล่านั้น ก็ไม่อาจเกิดผลอันใดเลย).

คำพูดดังกล่าว บ่งชี้ ถึงความสำคัญประการหนึ่งของ “การสื่อสาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารของหัวหน้า.  

หากจะนำข้อความเดียวกัน แล้วเปลี่ยนมาพูดเสียใหม่ ก็อาจจะได้ทำนองว่า

“ไม่ว่าหัวหน้า จะมีวิสัยทัศน์ มีกลยุทธ์ หรือ นโยบายวิเศษอันใด แต่หากหัวหน้า ไม่สามารถทำให้ลูกน้องรับรู้เข้าใจได้ สิ่งต่างๆเหล่านั้น ก็หาประโยชน์อันใดไม่.”

 

“การสื่อสาร” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการนำ  “วิสัยทัศน์ และ กลยุทธ์ที่ดี”  เปลี่ยนไปเป็น “การปฏิบัติ” ได้อย่างมีประสิทธิผล.

ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการสื่อสาร จึงถือเป็นทักษะสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ของหัวหน้า.

หัวหน้าที่ดี ต้องฉกฉวยโอกาสที่จะ “สื่อสาร” กับลูกน้อง โดยผ่านช่องทางต่างๆที่มีอยู่ ทั้งการประชุม สื่อสิ่งพิมพ์ภายใน โปสเตอร์ หรือถ้าทันสมัยหน่อย ก็อาจจะมี blog ในอินเตอร์เนตของหัวหน้าเอง.

บทบาทเช่นนี้ ไม่มีใครทำได้ดีกว่าหัวหน้า เพราะหัวหน้าเป็นผู้ที่ควรจะรู้เรื่องดีที่สุด ขณะเดียวกัน การสื่อสารโดยตรงของหัวหน้า ย่อมสร้างโอกาส ที่จะได้รับฟังความเห็นนานาชนิด จากลูกน้อง ซึ่งเป็นผู้ต้องลงมือปฏิบัติจริง.

ความเห็นเหล่านั้น ย่อมเป็นประโยชน์ สำหรับหัวหน้า ในการนำกลับไปใช้ ในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป.

 

การสื่อสารของหัวหน้า ต่อลูกน้อง คงมีเนื้อหาสาระครอบคลุมได้กว้างขวาง.

วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ อาจจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่หัวหน้าพึงนำไปพูดจา อธิบาย แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา.

การรับรู้ที่ชัดเจนของลูกน้อง จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงาน เข้าใจได้ ถึงเป้าหมาย ที่หน่วยงาน หรือ องค์การ มุ่งจะไป. ขณะเดียวกัน วิสัยทัศน์ที่ดี ก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้ปฏิบัติได้.

วัฒนธรรมองค์กร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่หัวหน้าต้องสื่อสารให้กับลูกน้อง. ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานทุกคน มีความเข้าใจร่วมกัน ถึง “คุณค่า” ที่องค์การให้ความสำคัญ และยึดมั่น.

ดังเช่น อุดมการณ์การดำเนินธุรกิจ ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ว่า

·       ตั้งมั่นในความเป็นธรรม

·       มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ

·       เชื่อมั่นในคุณค่าของคน

·       ตั้งมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม

นโยบาย เป็นกรอบสำคัญ สำหรับให้พนักงาน สามารถปฏิบัติงาน ให้เป็นไปในทิศทาง ที่สอดคล้อง กับวิสัยทัศน์ และ กลยุทธ์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ขัดแย้งกับ วัฒนธรรมขององค์การ.

เมื่อมีการสื่อสาร ทำความเข้าในองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ กับลูกน้อง ก็ย่อมช่วยให้เขาเหล่านั้น มีทิศทาง และกรอบการทำงานที่ชัดเจน ทำให้การให้อำนาจแก่พนักงาน (empowerment) เป็นไปได้ อย่างมีประสิทธิผล.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที