สมองก็เป็นเช่นเดียวกับร่างกายส่วนอื่นๆของมนุษย์ ที่มีวัฏจักรของการ เกิด แก่ เจ็บ และ ตายไป. อย่างไรก็ตาม สมองมีลักษณะที่แตกต่าง จากอวัยวะส่วนอื่นๆ ในบางประการ. กล่าวคือ สมองมี ความสามารถ ในการปรับเปลี่ยนตัวเองได้ หากมีการกระตุ้นจากภายนอก. ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าว เกิดขึ้นได้ แม้เมื่อเราย่างเข้าสู่วัยชรา. ดังนั้น หากเราเข้าใจกระบวนการนี้ และ นำความรู้ดังกล่าว ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เราจะสามารถดูแลรักษาอวัยวะนี้ ให้มีอายุใช้งานอย่างทรงประสิทธิภาพ ตราบชั่วอายุขัยของเรา.
สมองเรียนรู้ และ ปรับเปลี่ยนอย่างไร
การศึกษาด้านประสาทวิทยา (neuroscience) พบว่า เซลล์ประสาท (neuron) ในสมองของมนุษย์ มีจำนวนประมาณ ห้าหมื่น ถึง หนึ่งแสนล้านเซลล์ [1] . ขณะเดียวกัน ก็พบว่า แม้สมองของเด็กแรกเกิด จะมีน้ำหนักประมาณ 40-50% ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ แต่เซลล์ประสาทเด็กแรกเกิด กับของผู้ใหญ่ มีจำนวนไม่แตกต่างกันนัก. กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ก็คือ เด็กพกเอาเซลล์ประสาท จำนวนเท่าๆกันนี้ มากับตัวตั้งแต่แรกเกิด. ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า ทั้งที่ จำนวนเซลล์ประสาทมีไม่แตกต่างกันเลย อะไรเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับสมองของผู้ใหญ่ เมื่อเทียบกับเด็ก.
มีการเปรียบเทียบ การทำงานของคอมพิวเตอร์ ว่ามีลักษณะการทำงานคล้ายกับสมองของมนุษย์. กล่าวคือ คอมพิวเตอร์ มีหน่วยประเมินผล มีหน่วยความจำ. หน่วยประเมินผลของคอมพิวเตอร์ ได้รับการพัฒนา ให้มีสมรรถนะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว. ในการคำนวณ และ การทำงาน ที่มีรูปแบบที่ชัดเจน แน่นอน คอมพิวเตอร์ จะมีสมรรถนะในการประเมินผลดีกว่าสมองมนุษย์มากมาย. อย่างไรก็ตาม จุดเด่นประการสำคัญ ของสมองมนุษย์ ก็คือ สมองมีความสามารถ ในการปรับเปลี่ยน และ พัฒนาได้ตลอดเวลา. สมองสามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง ได้ดุจดังการปรับเปลี่ยนวงจรอิเล็กตรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้อง กับหน้าที่การทำงาน หรือ ทักษะที่ต้องการ. ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ การปรับเปลี่ยนของสมองนั้น ดำเนินการ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ ประสบการณ์ การสัมผัสผ่านประสาทสำคัญต่างๆ อาทิ มือ ผิวหนัง ตา หู จมูก เป็นต้น. กระบวน การทั้งหมดเหล่านี้ มนุษย์สามารถกำหนดควบคุมเองได้. ดังนั้น เราสามารถพัฒนาสมอง อย่างต่อเนื่องไปได้ มากตราบเท่าที่ความตั้งใจ และ ความพยายามของเรามีอยู่.
การศึกษาด้านประสาทวิทยา ที่ค้นพบว่า
· สมองสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตลอดเวลา
· มนุษย์ สามารถสร้างเงื่อนไขให้เกิดการปรับเปลี่ยนนั้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ประสบการณ์ ระบบสัมผัสต่างๆ
ทำให้เราเข้าใจกลไก ที่เราแต่ละคนสามารถช่วยกัน บำรุงสมอง ของตนเองได้. กรรมวิธีดังกล่าว มีได้ตั้งแต่ การทดลอง ทดสอบตัวเอง กับประสบการณ์ใหม่ๆ การทำงานที่มีอยู่เดิมโดยวิธีที่แตกต่างไป เป็นต้น. ผมจะนำเทคนิค เหล่านี้ มาเล่าสู่กันฟัง ในตอนต่อไปครับ.
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที