editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653505 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


ทายาทเอไอ

ตอนที่ผมไปช่วย Prof. Ossama Khatib จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด บรรยาย เรื่องแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคตนั้น ท่านได้บอกว่า Prof. Hiroshi Ishiguru แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา ผู้ให้กำเนิดหุ่นยนต์ Repliee Q1 ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนกับภรรยาตนเอง ท่านคงรักภรรยามากหรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดไม่ทราบได้ครับ
       
       Repliee Q1 ปรากฏต่อครั้งแรกต่อสายตาสาธารณะที่งาน “เอ็กซโป” ปีที่แล้ว สามารถแสดงท่าทางเชื้อเชิญได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ใบหน้าทำจากส่วนผสมของยางธรรมชาติและซิลิโคนคล้ายผิวหนังของคนเรา เพื่อให้แสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างอ่อนโยน กะพริบตาเป็นจังหวะหรือส่งสายตาเป็นเชิงตำหนิและชื่นชมต่อผู้ใกล้ชิด เจรจาบางคำพูดง่ายๆได้ และแม้กระทั่งมีการเคลื่อนไหวขึ้น-ลง ของหน้าอกและช่องท้องในลักษณะการหายใจเข้า-ออก ทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่เหมือนกับหุ่นยนต์รุ่นพี่ที่ทำมาจากโลหะและการเคลื่อนไหวยังกระโดกกระเดกไม่นิ่มนวล เฉพาะท่อนบนของ Repliee Q1 ประกอบไปด้วย 34 องศาอิสระ (Degree of Freedom) รวดเร็วพอที่เอามือมาป้องกันการจู่โจมอย่างไม่ได้ตั้งตัวจากคนข้างเคียง น้องๆที่ศึกษาด้านกลไกคงรู้ทันทีว่าการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ตัวนี้จึง “เนียน” มากๆ และแน่นอนการคำนวณรวมทั้งการควบคุมก็ซับซ้อนขึ้น ต้นกำลังนั้นใช้ระบบลม Pneumatics จากคอมเพรสเซอร์เคลื่อนที่
       
       นักวิจัยคาดการณ์คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ในการพัฒนาให้ Repliee Q1 ไปถึง “แอนดรอยด์” เต็มรูปแบบ ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับหรือไกด์นำเที่ยวได้ งานวิจัยในแนวทางนี้เกิดจากความเชื่อว่าหากหุ่นยนต์ยิ่งมีลักษณะรูปร่างและการทำงานใกล้เคียงมนุษย์เท่าไหร่ การยอมรับให้หุ่นยนต์มาอยู่ในสังคมชีวิตประจำวันของเราก็มีมากขึ้นเท่านั้น
       
       ในขณะที่ขบวนการคิดของหุ่นยนต์ อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนมนุษย์นั้นกลับได้รับความสนใจจากสาธารณชนค่อนข้างน้อย แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่นักวิจัยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์-เอไอ ทั่วโลกพยายามค้นหาทั้ง “ในและนอก” กรอบวิธีคิดแบบเดิมๆ ทั้งนี้เพื่อให้ “ทายาทเอไอ” ของเรามีความสมบูรณ์ที่สุดและต้องรับสิ่งที่ดีๆจากสายพันธ์มนุษย์ไปเท่านั้น
       
       Artificial Intelligence และ Computing Intelligence หลายครั้งที่ผมใช้คำสองนี้กลับไปมาในความหมายเดียวกัน อาจเป็นเพราะพวกเราที่ทำงานวิจัยในสาขานี้คุ้นเคยกับการคำนวณและการจำลองสถานการณ์บนแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ข้ออ้างที่สำคัญคือ การจำลองเชิงคำนวณที่เราใช้เพื่อศึกษาขบวนการคิดของหุ่นยนต์ดังกล่าวนั้น โดยตัวของมันเองก็เป็นสมมติฐานอยู่ในขบวนการเดียวกันนั่นเอง ดูไปคล้ายๆกับ Circular Reasoning ที่ท่านผู้รู้ด้านปรัชญาเคยแนะนำผมในบทความก่อนๆ ครั้งที่ผมกล่าวถึงว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนในการทำให้ตัวตนเองนั้นไม่มีตัวตนคือวางตัวตนและ “ขัณธ์ห้า” ลงไปให้หมดเหลือแต่พุทธปฏิบัติแบบ “ยึดแต่ไม่ให้มั่น”
       

       ผมเชื่อว่าแม้ปัญญาประดิษฐ์มีรากเหง้ามาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และกระบวนการคิดของมนุษย์ก็สามารถอธิบายโดยแบบจำลองเดียวกันตามที่อาจารย์ของผมคือ Prof. Herb Simon, นักวิทยาศาสตร์โนเบลไพร์ส ได้ศึกษาไว้นั้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ได้ไปปิดกั้นจนทำให้เอไอไปไม่ถึงเป้าหมายหรอกครับ การพัฒนาอัจฉริยภาพจึงน่าจะอยู่ที่การปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้จากสิ่งรอบข้างและธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งที่แสดงความเป็น “อัจฉริยะ” ออกมา เม่งจื้อกล่าวไว้นับพันปีมาแล้วว่า “คนเรามีค่าเมื่อรู้จักกัน คนรู้จักกันมีค่าเมื่อรู้ใจกัน”
       
       ข้อโต้แย้งที่ว่ากระบวนการคิดของมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสังคมอยู่มากพอสมควร ทำให้กระบวนการมีโครงสร้างมากไปกว่าเพียงแค่หน้าที่ Dr. Humphrey (1984) ชี้ว่า นิสัยใจคอและลักษณะทางจิตศาสตร์ พัฒนาขึ้นมาจากแรงกดดันจากเงื่อนไขในสังคม ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าความอยู่ดีกินดีและอยู่แบบเอื้ออาทรของคนในสังคมไทยตั้งแต่อดีต ส่งผลให้คนไทยมีความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาตนเองหลงเข้าไป “ปรนเปรอ” วัตถุจนเกินไป บ่อยครั้งที่ผมเพ่งพิจารณาพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย จิตจะตกภวังค์เหมือนได้ไปสัมผัสความอ่อนโยนและลุ่มลึกของสังคมบรรพบุรุษไทย
       
       เอไอในมิติข้างตนไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญครับ อาจจะดีเสียอีกเพราะ “ทายาทเอไอ” ของเราไม่ต้องไปเปลี่ยนพฤติกรรมและอุปนิสัยไปทางเลวลงเมื่อหลุดไปอยู่สังคมที่มีเงื่อนไขเชิงลบภายใต้แรงกดดันมากๆ เป็นระบบคุ้มกันได้อย่างดี ในอนาคต มนุษย์ควรพยายามบูรณาการ สิ่งที่เป็นบุคลิกภาพด้านบวก เข้าไป Cognitive Simulation ที่พวกเราต้องใช้ความคิดมากๆ คือ เรื่องความจำเป็น มาตรวัดความพึงพอใจ รูปแบบการบูรณาการด้านข้อมูล ความสามารถในการเชื่อมโยงปัญหาและตีความหมาย และที่สำคัญที่สุดคือเป้าหมายรวมของการพัฒนาที่ต้องเน้นการสร้างประโยชน์มากกว่าทำลายล้าง อย่าคิดและพัฒนาตามที่เห็นจากภาพยนตร์จนละเลยความจริงของชีวิต
       
       น้องๆ นักศึกษาที่มุ่งงานวิจัยด้านเอไอ ต้องทำไปด้วย “ปัญญา” จริงของท่าน หากหลงเอา “สัญญาขัณธ์” เท่าที่นักหุ่นยนต์รุ่นผมมีอยู่นำทาง จะไม่ไปถึงไหนแน่นอนครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที