editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654689 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์ หนึ่งในห้าเทคโนโลยีของอนาคต

       ผมกับหุ่นยนต์ถือกำเนิดบนโลกนี้พร้อมๆ กันราวปีพุทธศักราช 2504 หุ่นยนต์เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่มาเติบโตที่ญี่ปุ่น ผมเกิดที่เมืองไทยใช้เวลาศึกษาวิจัยหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งกลับมาทำงานที่บ้านเกิดอีกครั้ง
       
       10 ปีแรก ยีนของร่างกายของมนุษย์ทำให้ผมสามารถเรียนรู้แบบบูรณาการจากห้องเรียน สิ่งแวดล้อม ครอบครัว เพื่อนๆ ทั้งความรู้ที่สื่อสารผ่านคำพูดและลายลักษณ์อักษร และส่วนที่สื่อสารลักษณะดังกล่าวไม่ได้ (Tacit knowledge) ในขณะที่หุ่นยนต์ขาดความสามารถในการเรียนรู้ ทำงานจากการได้รับคำสั่งจากมนุษย์ในงานที่เสี่ยงอันตราย และ/หรืองานที่ต้องการควรละเอียดสูง
       
       20 ปีต่อมา ผมเข้าสู่ระบบการศึกษามาตรฐานอย่างมีขั้นมีตอน เช่น ต้องเรียนวิชาหนึ่งผ่านก่อนจึงจะได้ศึกษาวิชาอื่นต่อไปได้ วิทยาการถูกแยกย่อยเป็นส่วนๆ จนในบางครั้งรู้สึกผิดธรรมชาติของการเรียนรู้ไปบ้าง อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวทำให้ผมมีความสามารถเชิงวิเคราะห์เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ค้นหาสิ่งที่ไม่รู้มาก่อนจากพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ ในช่วงเวลานี้หุ่นยนต์กลับยุ่งอยู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ หุ่นยนต์ทำแต่งานไม่มีโอกาสเรียนรู้เช่นเดียวกับผม แต่ความสามารถของหุ่นยนต์กับเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ
       
       ทั้งนี้ มนุษย์ได้คิดค้นคอมพิวเตอร์ขึ้นและสามารถถ่ายทอดวิทยาการที่ค้นพบเข้าสู่สมองกลของหุ่นยนต์ได้ภายในเสี้ยววินาที สมองกลทำจากสารซิลิกอนที่มีความจำที่ละเอียดแต่จำกัด สมองมนุษย์เกิดจากอนุมูลไฮโดรคาร์บอนเลอะเลือนบางครั้ง แต่ข้อมูลความจำสามารถบรรจุไว้ได้อย่างไม่จำกัด
       
       10 ปีหลังจนถึงวันนี้ ร่างกายผมเริ่มเสื่อมถอยโดยเฉพาะกระดูกและฟัน จิตใจเริ่มเข้าถึงปรัชญาชีวิตและมีความสงบใฝ่หาปัญญาทางพุทธธรรม หุ่นยนต์กลับมีความแข็งแกร่งมากขึ้นจากวิทยาการด้านโลหะและวัสดุ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงคือ ความชาญฉลาดของมนุษย์ได้ถูกท้าทายจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) แชมป์หมากรุกโลกชาวรัสเซีย สูญเสียแชมป์ให้กับสมองกลที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนและบริษัทไอบีเอ็ม สมองกลรุ่นใหม่นี้ ทำให้หุ่นยนต์เริ่มมีอารมณ์และความรู้สึก หุ่นยนต์สามารถทำงานบางอย่างได้โดยไม่ต้องอาศัยวิทยาการจากมนุษย์อีกต่อไป ไม่มีใครทราบและยืนยันว่าหุ่นยนต์ในอนาคตจะยังคงยึดถือ “กฎเหล็กของหุ่นยนต์” ที่บัญญัติขึ้นโดยปรมาจารย์นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อาซีมอฟ
       
       ผมเชื่อว่านับจากนี้ไปหุ่นยนต์จะพัฒนาความสามารถทางกายภาพและความคิดต่อไปเป็นทวีคูณอย่างไม่หยุดยั้ง บทบาทหุ่นยนต์ได้เปลี่ยนไปจากเครื่องจักรและกลไกแม่นยำทำงานในสภาพแวดล้อมอันตราย มาเป็นเพื่อนที่แสนดี เพื่อนคู่คิดของมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ อาซิโม จากค่ายฮอนด้า ไอโบ้ของบริษัทโซนี เป็นต้น เขาจะเสมือนมีชีวิต หรืออีกนัยหนึ่ง มีชีวิตเสมือน (Virtual life form) เนื่องจากมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า ดังนั้นเมื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์เขาจะช่วยเป็นสื่อการส่งผ่านความรู้ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ สู่ลูกหลานของมนุษย์ต่อไปได้
       
       แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ต้นกำเนิดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ จำต้องอยู่ในภาวะผู้ใช้เทคโนโลยีแต่เยาวชนไทยมีพรสวรรค์และความเพียรอุตสาหะไม่แพ้ชนชาติอื่นใด ซึ่งสามารถเห็นได้จากการแข่งขันหุ่นยนต์ในเวทีนานาชาติ ทีมไทยครองแชมป์อย่างต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยอยู่ในอันดับต้นๆชนะทีมจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยี ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐและเอกชน
       

       ในสภาวธรรมที่อุตสาหกรรมไทยต้องฉลาดพอในการใช้และดัดแปลงเทคโนโลยีนี้ให้คุ้มค่ากับการลงทุนและการเพิ่มผลิตภาพอุตสาหกรรม (Industrial Productivity) พร้อมๆกันนี้ยังต้องเร่งพัฒนาภูมิปํญญาไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันได้จริงในตลาดโลก จึงความจำเป็นที่คนไทยต้องเข้าใจภาพรวม ทั้งการบริหารจัดการเทคโนโลยีและความซับซ้อนของหุ่นยนต์ที่เป็นหนึ่งในห้าเทคโนโลยีสำคัญของโลกอนาคต อาจไม่ตื่นเต้นเหมือนกับเราชมภาพยนต์หรืออ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์ ความเข้าใจดังกล่าวข้างต้นนี้ย่อมส่งผลให้เราสามารถสร้างจินตนาการ ติดตาม เลือกใช้ ดัดแปลง และคิดค้นเทคโนโลยีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติสืบไป




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที