editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653580 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์เริ่มคิดเอง

เห็นโปสเตอร์หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์โครงสร้างมนุษย์ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์หันมาตำหนิลูกน้อยหุ่นยนต์ไซบอร์ก (CYBORG= CYBernatics + ORganics) ที่กำลังซนเหลือกำลังว่า “สมัยพ่อเด็กๆไม่เห็นซนเหมือนแกเลย หุ่นยนต์รุ่นพ่อว่านอนสอนง่ายทำตามที่ได้รับคำสั่งเท่านั้น” เจ้าไซบอร์กตัวเล็กตีลังกาไปตอบพ่อไปด้วยทันที “แต่ตอนนี้ผมไม่ได้เหมือนพ่อนี่ครับ ผมคิดได้เองแล้ว....”
       
       ยังครับ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตื่นเต้นไป โปสเตอร์ข้างต้นยังไม่เป็นความจริงความ สามารถของหุ่นยนต์ยังเทียบไม่ได้กับ “ผึ้งน้อย” ตัวเล็กๆตัวหนึ่งเลย อย่างไรก็ตามการที่หุ่นยนต์จะคิดได้นั้น หุ่นยนต์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ในลักษณะสมองกลเพื่อการคำนวณเพียงอย่างเดียว หากแต่มีโปรแกรมทำงานเสมือน “จิตใจ” ที่สร้างความคิดได้
       
       ระดับการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ผมกล่าวถึงนี้จึงมากกว่าการควบคุมการหมุนของมอเตอร์ที่ข้อหมุนหุ่นยนต์ เปรียบดังสมองมนุษย์ที่ต้องประมวลสัญญาณคลื่นสมองจากกลุ่มจุดประสาท โดยใช้เวลาประมวลผลอย่างน้อย 100 มิลลิวินาที ขึ้นไป
       
       หลายคนอาจแย้งว่าสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ คงเป็นเพียงการนำคอมพิวเตอร์มาจำลองสถานการณ์และ simulation ซึ่งตอนท้ายก็ได้คำตอบทางคณิตศาสตร์แสดงออกมาทางรูปภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น เช่นการทำ simulation ให้แชมป์มวยระดับโลกคนละสมัยต่างยุคกัน 50 ปี มาชกกันเพื่อคาดคะเนผลว่าใครจะชนะ ซึ่งไม่มีความเป็นจริงอยู่เลยหรือจะเกิดขึ้นได้เลย นักมวยคนหนึ่งอาจจะตายไปแล้วหรือแก่เกินไปที่จะขึ้นเวทีชกได้ จึงไม่มีใครฟกช้ำดำเขียวเลยเพราะไม่มีการชกจริง
       
       ผมศึกษาวิชาปัญญาประดิษฐ์ กับท่านอาจารย์ เฮิร์บ ไซมอน (Prof. Herb Simon) ปรมาจารย์แห่งวิทยาการสาขานี้และนักวิทยาศาสตร์โนเบลไพรส์ ท่านชี้แนะให้เห็นว่า ในการใช้คอมพิวเตอร์มา simulate สร้างความคิดนั้น คอมพิวเตอร์ นั้น “คิด” จริงเหมือนมนุษย์คิด เนื่องจากกระบวนการคิดของสมองมนุษย์ได้สร้างโครงสร้างทางสัญลักษณ์ เพื่ออธิบายปัญหาที่กำลังขบคิดอยู่จนแปรเปลี่ยนไปเป็นคำตอบที่อธิบายได้ในโครงสร้างนี้เช่นเดียวกัน คอมพิวเตอร์สามารถประยุกต์ใช้โครงสร้างนี้ได้ทันที สื่อให้เข้าใจได้ว่าอะไรคือปัญหา-อะไรคือคำตอบ อีกทั้งระบุชนิดของสสารได้หมดรวมทั้ง จุดประสาทและไมโครชิป! ดร. ทูลิง (Dr. Turing, 1950) ได้ค้นพบความจริงเรื่องนี้กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว
       
       มีสองแนวความคิดในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ ทางหนึ่งสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ชาญฉลาดมากๆ โดยไม่ต้องไปสนใจการเลียนแบบกระบวนการของปัญญามนุษย์ ทำการ simulate หาคำตอบผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่มีสมรรถนะสูงสุดในปัจจุบันเหนือมนุษย์ทั้งทางด้านความเร็วและความจุหน่วยความจำ เรียกว่า อัดพลังไปเต็มที่ เป็นปัญญาเทียมจริงๆ
       
       ตัวอย่างหนึ่งตอนผมไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน มีการประลองหมากรุกระหว่างแชมป์โลกชาวรัสเซีย โปรแกรม DEEPTHOUGHT สร้างขึ้นมาในแนวทางนี้ จึงสามารถค้นหาคำตอบที่ถูกต้องผ่านเส้นทางที่เป็นไปได้ (Game tree) มากกว่า “10 ล้านคำตอบ” นั่นคือ DEEPTHOUGHT สำรวจความเป็นไปได้ ถึง 1040 มากกว่าที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะทำได้ถึง 1,040 เท่า ในขณะที่มีการทำวิจัยรายงานผล (Groots 1965) ว่า แชมป์หมากรุก นานๆทีถึงจำเป็นต้องค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดจากความเป็นไปได้เพียง “100 คำตอบ” เท่านั้น
       
       อย่างไรก็ตาม การแข่งขันครั้งแรก DEEPTHOUGHT แพ้จากการที่โปรแกรม “แฮงก์” คำนวณวกวนไปมาหลังจากการแข่งขันดำเนินไปประมาณสามชั่วโมง สี่ปีต่อมาพบกันอีกที คราวนี้ DEEPTHOUGHT เอาชนะมนุษย์ไปได้ภายในเวลาเพียง 17 นาที
       
       อีกแนวทางหนึ่ง คือการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ชาญฉลาดเช่นกันและเลียนแบบกระบวนการคิดของมนุษย์ ปรับให้คอมพิวเตอร์มีความเร็วลดลงมาให้ใกล้เคียงกับมนุษย์ แล้วดูว่าคอมพิวเตอร์ สามารถแสดงอาการตอบสนองที่มีนัยความฉลาดได้หรือไม่? ท่านอาจารย์เฮิร์บ ได้สร้างโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะนี้ (MATER 1966) แม้ไม่มีพละกำลังด้านการคำนวณเทียบเท่า DEEPTHOUGHT แต่ MATER สามารถลอกเลียนแบบวิธีการเล่นของมนุษย์ เช่น ต้องเดินหมากไปยังตำแหน่งสำคัญเสียก่อน และตำแหน่งสำคัญนี้ก็คือจุดที่ทำให้คู่ต่อสู้ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก
       
       วิธีคิดเชิงสัญชาตญาณเช่นนี้ถูกกำหนดเป็นกฎพื้นฐานใน MATER ทำให้มีความจำเป็นในการค้นหาคำตอบน้อยกว่า “100 คำตอบ” น้อยกว่ามนุษย์เสียอีก
       
       ปัจจุบันนี้งานวิจัยทั้งสองแนวทางเป็นไปอย่างเข้มข้น พูดยากว่าแนวทางไหนเด่นกว่ากัน กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดก็ได้ แต่ควรยึดหลักสมรรถนะไว้ มิฉะนั้นเราคงได้เห็นมีเครื่องบินกระพือปีกเป็นแน่แท้
       
       สมัยผมสอนหนังสืออยู่ที่อเมริกา ให้การบ้านนักศึกษาไปออกแบบหุ่นยนต์ล้างจาน เกือบทุกคนออกแบบมาเป็นแขนหุ่นยนต์สองแขนมีระบบตาหุ่นยนต์ มูลค่ากว่า 200,000 $ US ดอลลาร์ มีมือหนึ่งจับจาน อีกมือจับฟองน้ำล้างจานเช่นเดียวกับมนุษย์ล้างจานเลย แต่มีนักศึกษาท่านหนึ่ง ผมให้ A เพราะเขียนมาสองประโยค ขอเงิน 120 $ US ดอลลาร์ ไปซื้อเครื่องล้างจานมาใช้ เพราะประสิทธิภาพในการล้างดีกว่าหลายเท่า และถูกสตางค์กว่าด้วย
       
       ที่ผมกล่าวถึงมาทั้งหมดนี้นี้ยังไม่รวม การรู้ที่อยู่เหนือการคิดของมนุษย์ ซึ่งเสมือนว่าเป็นกระบวนการทำงานขนานกันไปและกำกับกระบวนการคิดดีและชั่วทั้งหลายของมนุษย์ วิทยาการสาขานี้ในทางโลก ไม่ไคร่ชัดเจนนักและไม่มีผู้รู้จริงว่า “รู้” เกิดขึ้นได้อย่างไร?
       
       แต่ในทางพุทธธรรม องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเมตตาสั่งสอนให้เราอยู่กับรู้ตามสภาวธรรมจริงอยู่ตลอดเวลา เพื่อการ “พ้นทุกข์” จึงเข้าใจว่าสิ่งใดคือสมมุติแลวิมุตติ เห็นความเป็นไปตามความจริงของอริยสัจสี่ ความเป็นไตรลักษณ์ของธรรมชาติรอบข้างที่ล้วนประกอบไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การอยู่กับรู้ มิใช่หลงไปอยู่ในรู้ แต่ต้องรู้ “อยู่ที่รู้” ที่เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา หลวงปู่ดูลย์ ยังได้ให้วรรคทอง สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมว่า “คิดเท่าไหร่ๆก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละ ถึงได้รู้”




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที