editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654462 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์สายพันธุ์ปัญญาไทย

       คอลัมน์...สมองคนสู่สมองกลอัจฉริยะ โดย ชิต เหล่าวัฒนา
       
       ผมได้ตอบอีเมลจำนวนมากแก่น้องๆ นักเรียนนักศึกษาที่สนใจอยากเรียนต่อทางด้านหุ่นยนต์ว่า อย่าเพิ่งไปปักใจเชื่อว่าต้องมีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และหรือวิทยาศาสตร์กายภาพฟิสิกส์ดีพอ จึงจะเข้าใจศาสตร์นี้ได้ ในเมื่อสาขานี้ค่อนข้างใหม่ มีงานวิจัยออกมาเป็นหมื่นเป็นแสนบทความต่อปี มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวอย่างบางสาขา มีการค้นคว้าวิธีการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เราจึงสามารถใช้หลักการและปัญญาในรูปแบบที่ต่างจากเดิม วิเคราะห์และตีความหมายอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกได้
       ดังนั้น การเตรียมตัวศึกษาวิชาการหุ่นยนต์ ผมอยากให้น้องเตรียม “ใจ” และสร้างความเชื่อมั่นตนเองจากการคิดค้นและปฏิบัติจนรู้จริงเห็นจริงได้ อย่าเชื่อตำราหรือบทความวิจัยของผู้อื่นมากเกินไป แม้กระทั่งเชื่อคำสั่งสอนของอาจารย์อย่างพวกผมด้วยความศรัทธาเบื้องต้นนั้นพอยอมรับได้ ครั้นตนได้ทดลองดูด้วยตนเองจนบรรลุผลจริงก็เชื่อตนนั่นแหละเป็นตัวศรัทธาแท้ ถ้ายังอาศัยเชื่อแต่บุคคลอื่นรวมทั้งอาจารย์ก็ยังไม่นับว่าเข้าถึง “วิชาการหุ่นยนต์” อย่างแท้จริง
       
       เมื่อปีพุทธศักราช 2529 ผมได้รับทุนการศึกษามอมบูโชจากรัฐบาลญี่ปุ่น ศึกษาและทำงานวิจัยด้านหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติที่มหาวิทยาลัยเกียวโต สถาบันการศึกษาที่บ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์ระดับโนเบลไพรซ์ของญี่ปุ่น ผมมีโอกาสทำงานวิจัยหุ่นยนต์กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านนี้ของญี่ปุ่น คือ ท่านอาจารย์ซึเนโอะ โยชิกาวา ซึ่งท่านเอ็นดูและกรุณาต่อผมมาก พร้อมเสมอในการชี้แนวทางการวิจัยตลอดจนเกียรติและวินัยของนักวิจัยพื้นฐาน ทำงานเพื่อค้นหาความจริงทางวิทยาการหุ่นยนต์
       
       ครั้งหนึ่ง ผมหมกมุ่นอยู่ในห้องทดลองเกือบ 4 เดือน เพื่อหาหัวข้อวิจัยด้วยตนเอง ยิ่งค้นยิ่งพบว่ามีนักวิจัยทำงานด้านนี้อยู่มากและไม่เหลือหัวข้อที่น่าสนใจอยู่เลย ท่านเหมือนกับรู้ จึงเรียกผมไปพบเพื่อสอบถามความก้าวหน้า ท่านพูดน้อย แต่คำพูดท่านล้วนมีความหมายลึกซึ้งเชิงพุทธศาสตร์แบบเซน (Zen) โดยแนะนำว่าในจักรวาลนี้ยังมีเรื่องที่มนุษย์ไม่รู้อีกมาก ขอให้ “ละ” วิธีคิดของนักวิจัยท่านอื่นๆ (รวมทั้งของตัวท่านเอง) ก็สามารถค้นพบได้โดยไร้ขอบเขต
       
       นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเน้นว่างานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันมีช่องทางให้ปรับปรุงเพิ่มขึ้นได้เสมอ
       
       ช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ในญี่ปุ่นนี้ผมมีโอกาสฝึกความเข้มแข็งมิให้ “จิตไหว ใจเคลื่อน” ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากใจ แนวทางของชีวิต แม้กระทั่งงานวิจัยก็อยู่ที่ใจ ผมได้รับโอกาส “คิด” อย่างเสรี และวางความเชื่อที่เชื่อตามๆ กันมา หันมาสังเกตและทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกายภาพและนามธรรม แก้ไขปรับปรุงมุมมองงานวิจัย ด้วยเหตุการณ์ (จากการทดลอง) ด้วยเหตุผล (จากคณิตศาสตร์) แม้กระทั่งด้วย “ใจ”
       
       หลายท่านทราบดีว่า เมื่อจิตใจนิ่งแล้ว อายตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะสามารถรับข้อมูลได้อย่างเต็มที่ ทำให้การค้นหาความจริง (สัจญาณ) เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนการบริหารความจริง (กิจญาณ) และการนำผลปฏิบัติมาสร้างปัญญา (กตญาณ) มีความต่อเนื่อง หลักการพุทธศาสนานี้ สาขาใหม่ เช่นวิทยาการคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้าน Perception – Cognition – Actuation ได้เป็นอย่างดี
       น้องๆที่สนใจเรียนทางด้านหุ่นยนต์ หากได้เตรียมตัวเตรียมใจดังกล่าวข้างต้น จะเป็นพื้นฐานกลไกที่สำคัญในการหาความรู้ยิ่งกว่าตัวความรู้เสียอีก ทั้งนี้เรื่องของหุ่นยนต์ก็เหมือนกับเทคโนโลยีสาขาอื่นๆที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้งานได้สอดคล้องกับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือ “โจทย์” การใช้งานจริงในสภาวะแวดล้อมของสังคมไทย
       
       มีหลายกรณีที่เรารับเทคโนโลยีมาทั้งหมดโดยมิได้ผสมผสาน “ภูมิปัญญาไทย” ทำให้เกิดผลเสียต่อเนื่องมาก เพิ่มเติมจากการเสียค่า “โง่” ทางเทคโนโลยีที่มีราคาค่อนข้างแพงในตอนแรกที่ซื้อมา
       
       ผมมีความหวังในเยาวชนไทยที่สนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้ว่าจะช่วยกันปลด “แอก” ทางเทคโนโลยีบางสาขาที่คนรุ่นผมยังทำไม่สำเร็จ
       
       มีนักศึกษาภายใต้โครงการอัจฉริยภาพ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มาทำงานวิจัยที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ผมชื่นชมน้องคนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ปีนต้นมะพร้าว โดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอก เป็นความสนใจส่วนตัวจริงๆ แม้ว่าหุ่นยนต์ยังเตาะแตะ ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าใดนัก แต่ขบวนการคิดที่เอาโจทย์ในสภาวะแวดล้อมการใช้งานจริงมาเป็นตัวตั้งนั้นต้องถือว่าสุดยอด
       
       อันที่จริงก่อนหน้ามีบริษัทใหญ่ผลิตน้ำมันปาล์มมาติดต่อให้ทางฟีโบ้สร้างหุ่นยนต์ปีนขึ้นไปเก็บลูกปาล์มจากต้นที่สูงเกิน 17 เมตร เพราะทั้งคนและลิงขึ้นไปได้ลำบากมาก จึงต้องโค่นทิ้งเสียทั้งๆที่ยังมีผลผลิตที่ดีต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ทางทีมงานไปดูที่สวนปาล์มจริงมา ต้องยอมรับว่ายุ่งยากมาก ปัจจุบันยังไม่สำเร็จเรายังไม่มีแนวทางที่ดีพอและมั่นใจได้ว่าหุ่นยนต์ที่คิดออกแบบไว้จะทำงานได้ดี
       
       ผมขอเชิญชวนผู้สนใจ “หุ่นยนต์สายพันธุ์ปัญญาไทย” เหล่านี้ มางาน “10 ปีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทย ” ในระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. 2548 ณ. อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ครูและนักเรียนที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถจองเวลาไดที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2470-9339 และ 0-2470-9691. หากอยากรู้ข้อมูลล่วงหน้าก่อนมาเยี่ยมชม กรุณาเข้าไปที่ Homepage: http://fibo.kmutt.ac.th
       
       งานนี้โชว์ผลงานและนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยทางวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากอดีตสู่ปัจจุบันของฟีโบ้ อาทิเช่น หุ่นยนต์ Humanoid “ ใจดี ”หุ่นยนต์ล้อแขนแปลงร่าง ระบบความจริงเสริม หุ่นยนต์สามขา ระบบอัตโนมัติเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรม Robocup นัดกระชับมิตร การแข่งขันหุ่นยนต์ FIBO Junior , ผลงานของชมรม TRCC แนะนำหลักสูตร ป.โท วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที