editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654461 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


อี-โหวตติ้ง

       เทศกาลเลือกตั้งมาอีกแล้วครับ ทุกๆครั้งปรากฏข้อโต้แย้งและการประท้วงจากผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าการนับคะแนนไม่ถูกต้องบ้าง ล่าช้าบ้าง บางครั้งจะมี “ผี” มาช่วยลงคะแนนแทนพวกเราที่ไม่ยอมไปใช้สิทธิ์ด้วย ดังนั้น ช่วยกันออกไปเลือกตั้งมากๆนะครับ จะเลือกใคร พรรคใด แล้วแต่ความชอบ ความเชื่อ และเหตุผลของแต่ละท่าน
       “โลกียะ” นั้นอุดมไปด้วยรัก ชอบ โกรธ หลง ที่ปิดกั้นความจริงของชีวิต ผมหวังว่าปุถุชนเช่นพวกเรามีดุลยภาพในการใช้ประโยชน์จาก “สมองซีกซ้าย” ด้านเหตุผลและตรรกะ จาก “สมองซีกขวา” ด้านอารมณ์และความเชื่อตามๆกันมา เรื่องทางโลกทำให้เราแบ่งขั้วกันจนเคยชิน พุทธศาสนิกชนที่ดำเนินชีวิตในทางสายกลางนั้นควรกำหนดรู้ทุกข์และดับที่สาเหตุของทุกข์นั้นได้ ในหลายกรณี ความถูกต้องไม่ใช่ความดี ความผิดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความชั่วเสมอไป การยึดมั่นถือมั่นและ การ “ติดดี” ทำให้เกิดทุกข์ชั้นละเอียดโดยไม่จำเป็นเลย
       
       นักเทคโนโลยีอย่างผมและเพื่อนๆที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม “ฟีโบ้” ได้รับการฝึกฝนให้ใช้สมองซีกซ้ายอยู่ตลอดเวลาจนรู้สึกว่าเริ่มมีขนาดใหญ่กว่าซีกขวา เจอปัญหาอะไรมักอ้างกรอบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ กิเลสที่ชอบคิดแบบเหตุผลติดกับสมมุติบัญญัติดังเดิมทำให้การปฏิบัติ “จิตตภาวนา” ไม่ก้าวหน้า แม้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่ก็ยัง “เพลิดเพลิน” กับงานที่ทำอยู่ และนี่เองคือที่มาของการศึกษา นำเทคโนโลยีสารสนเทศและอัตโนมัติมาช่วยในขบวนการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
       
       ฟีโบ้ได้ดำเนินการออกแบบ หีบบัตรเลือกตั้งไฮเทคและระบบอี-โหวตติ้ง ภายใต้แนวความคิด: “เพื่อปกป้องสิทธิของผู้เลือกตั้ง มีความรวดเร็วถูกต้องแม่นยำ การออกแบบระบบจะใช้หลักการของการบันทึกข้อมูลขณะหย่อนบัตรแต่ไม่
       สามารถโยงใยผลการเลือกตั้งถึง ผู้เลือกตั้งเป็นรายบุคคลได้ และมีการเข้ารหัสที่สามารถอ่านได้จากส่วน กลางในเวลาที่สิ้นสุดการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น”
       

       ระบบและอุปกรณ์ที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา และยุโรปใช้เทคโนโลยีไฮเทคเกินไปและต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารที่สมบูรณ์ ดังนั้น ทีมงานออกแบบของฟีโบ้ จึงได้กำหนดคุณลักษณะทางเทคนิคให้สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานจริงสำหรับการเลือกตั้งประเทศไทยที่ต้องคำนึงถึงภูมิประเทศ การคมนาคมและวัฒนธรรมดังนี้
       
       *สามารถยืนยันจำนวนบัตรเลือกตั้งที่หย่อนลงคะแนนภายในเวลาเลือกตั้ง
       *เก็บข้อมูลการเลือกตั้งแบบไม่เรียงลำดับจากการสุ่มตัวเลขจากนาฬิกาและเข้ารหัสจากส่วน กลาง
       *ใช้พลังงานน้อยทำงานได้อย่างน้อย ทำงานได้ 1 เดือน มีอายุการใช้งาน 5 ปี
       *ส่วนของการเก็บข้อมูลสามรถทนอุณหภูมิสูงและกันน้ำได้และไม่ต้องการพลังงานไฟฟ้า
       *สามารถนำไปอ่านโดยเครื่องอ่านที่เหมือนกันได้เมื่อมีการเรียกรหัสได้ถูกต้อง
       *สามารถส่งข้อมูลผ่านชุมสายโทรศัพท์ ไปยังส่วนกลางได้โดยอัตโนมัติ
       *สามารถตั้งรหัสใหม่ที่เป็นความลับเฉพาะจากส่วนกลาง
       จากข้อกำหนดทางเทคนิคข้างต้น จึงจำเป็นต้องมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนเจาะหมายเลขเลือกตั้ง/บัตร ส่วนบันทึก/นับบัตร/หีบบัตร และคอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่มีโปรแกรมประมวลผลข้อมูล ผมขอให้รายละเอียดคร่าวๆเพราะคอลัมน์มีเนื้อที่จำกัด
       
       ส่วนเจาะหมายเลขเลือกตั้งและบัตร:เป็นกลไกที่ไม่ต้องการไฟฟ้าทำการเจาะรูในตำแหน่งกากะบาท เห็นได้ด้วยตาของผู้ลงคะแนน เป็นอุปกรณ์ “ออโตมือ” ไม่ใช่อุปกรณ์อัตโนมัติ บัตรที่ใช้เป็นกระดาษที่มีรูปแบบเหมือนบัตรเลือกตั้ง ต้องมีการระบุตำแหน่งบังคับในการวางลงในเครื่องเจาะอย่างชัดเจน
       
       ส่วนเครื่องบันทึกนับบัตรและหีบบัตร:มีหน่วยความจำที่ทนต่อความร้อนและน้ำ ไม่ต้องการพลังงานและแยกส่วนออกมาใส่ในเครื่องอื่นได้ ที่สำคัญต้องมีรหัสส่วนตัวของหน่วยความจำแต่ละหน่วย มีกลไกใช้พลังงานจากคนหย่อนบัตรในการ คลี่บัตร ป้อนสู่เครื่องนับ พับบัตร และทิ้งลงหีบ บันทึกเวลากิจกรรม การหย่อนบัตรและเวลาเปิด ปิด หีบ และระบบปิดรับบัตรเมื่อไม่อยู่ในเวลาเลือกตั้ง บันทึกผลคะแนนแบบไม่ได้เรียงลำดับลงในหน่วยความจำอย่างมีการเข้ารหัส สามารถต่อโทรศัพท์ไปยังคอมพิวเตอร์ส่วนกลางและรอรหัสส่งข้อมูล เมื่อพ้นเวลาปิดหีบเลือกตั้ง และสามารถส่งข้อมูลได้ภายใน 15 วินาที สามารถอ่านบัตรได้ทั้งจากหน้าหลังและตรวจแยกบัตรเลือกตั้งจริงได้
       
       คอมพิวเตอร์ส่วนกลางและโปรแกรมประมวลผลข้อมูล:มีส่วนโปรแกรม ติดต่อ และสามารถส่งรหัส อ่านข้อมูลจากเครื่อง เลือกตั้งแบบอัตโนมัติ เมื่อมีการติดต่อเข้ามาจากเครื่องนับภายนอก บันทึกข้อมูล ในรูปแบบของแต่ละหน่วยเลือกตั้งสามารถตรวจสอบ การส่งข้อมูลให้ถูกต้อง เช่นข้อมูลส่งซ้ำ หรือไม่? มีฐานข้อมูล ของผู้สมัคร เขตการเลือกตั้ง จำนวนผู้มีสิทธิ บัตรเสีย ตลอดจนแสดงผลได้ทั้งแบบรูปภาพและตัวอักษร และท้ายที่สุดระบบสามารถประกาศผลผ่านอินเทอร์เน็ตได้
       
       งบประมาณต้นแบบสำหรับเครื่องนับบัตร หีบบัตร และ เครื่องเจาะบัตร 3 ตัว ต่อ 1 คูหาเลือกตั้ง ไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนกลางและ โปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูล และฐานข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 30,000,000 บาท
       
       ระบบที่ออกแบบขึ้นมานี้เป็นทางสายกลางมีลักษณะเป็นลูกผสมระหว่าง ดิจิตอลกับอนาลอกเทคโนโลยี และออโตมือกับอัตโนมัติ ตรวจสอบกลับไปมาได้ ทำให้ความผิดพลาดลดน้อยลง




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที