editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654734 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


คนไทยเป็นแชมป์หุ่นยนต์โลก

คนไทยเป็นแชมป์หุ่นยนต์โลก

ทีมหุ่นยนต์ไทยในการแข่งขันชิงแชมป์โลกโรโบคัพ ปี 2008 ณ เมืองซูโจว ประเทศจีน

สองวันก่อนผมไปร่วมประชุมเพื่อวางกลยุทธ์ขั้นต่อไปของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย หลังจากที่บุกเบิกมาเกือบ 10 ปี ให้นักศึกษาไทยไปแสดงศักยภาพในเวทีนานาชาติ กระทั่งล่าสุดได้เป็นแชมป์โลกในงานแข่งขัน World RoboCup 2008 ผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญท่านหนึ่งสำหรับความสำเร็จนี้คือ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย คนปัจจุบัน กระผมได้ขอให้ ดร.จักรกฤษณ์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และบรรยากาศจริงของการแข่งขันสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจดังต่อไปนี้ครับ

การแข่งขันชิงแชมป์โลกโรโบคัพ (RoboCup 2008) ในปีนี้ได้จัดขึ้นที่เมือง ซูโจว ประเทศจีน โดยได้ทางผู้จัดได้ใช้ศูนย์ประชุม ซูโจวเอ็กซ์โป ในบริเวณส่วนเมืองใหม่เป็นที่จัดการแข่งขัน การแข่งขันโรโบคัพ มีลีกการแข่งขันหลายส่วนเพื่อจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2550 ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ จะมีความสามารถในการแข่งขันฟุตบอลกับทีมแชมป์โลก ณ เวลานั้นได้ ลีกต่างๆ ในการแข่งขันในโรโบคัพประกอบด้วย ลีกการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก (Small-Sized League) ลีกการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดกลาง (Medium-Sized League) ลีกหุ่นยนต์เหมือนคนในขนาดต่างๆ (Humanoid League) ลีกการจำลองคอมพิวเตอร์ต่างๆ (Simulation Leagues) ลีกหุ่นยนต์โปโลน้ำ ลีกหุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue League) ลีกหุ่นยนต์ใช้งานในบ้าน (Robot at Home League) และ อีกส่วนหนึ่ง คือ การจัดการแข่งโรโบคัพจูเนียร์ (Junior RoboCup League) สำหรับ น้องๆ นักเรียน ตั้งแต่ระดับประถม จนถึงมัธยม

สำหรับรายละเอียดในแต่ละลีกการแข่งขันที่ทีมจากประเทศไทยได้เข้าร่วมแข่งขัน คือ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก (Small-Sized League) การแข่งขันนี้ หุ่นยนต์จะมีขนาดเล็ก ซึ่งมีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างคล้องแคร่วรวดเร็ว ทำให้ผู้เข้าชมจะมีความสนุกสนานในการชมการแข่งขันเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ ทีมต่างๆ จะใช้กล้องติดตั้งบนคานสูงด้านบนของสนามเพื่อมองลงมาในสนาม เป็นเทคนิคที่เรียกว่า กล้องภาพรวม (Global Camera) โดยที่ตัวหุ่นยนต์แต่ละทีมจะมีสัญลักษณ์สี เพื่อบอกว่าใครเป็นใคร จากนั้นกล้องก็จะส่งข้อมูลภาพ ไปที่คอมพิวเตอร์ประมวลผล เพื่อใช้เทคนิคทางการประมวลผลภาพ (Image Processing) ในการแยกแยะหุ่นยนต์ สนาม ลูกบอล และส่งข้อมูลเชิงตำแหน่งต่อไปให้คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผล เชิงปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมักจะเรียกทับศัพท์ว่า เอ.ไอ. (Artificial Intelligent) ระบบ เอ.ไอ. จะประมวลผลโดยอัตโนมัติ และติดต่อสั่งงานผ่านระบบไร้สายไปที่หุ่นยนต์แต่ละตัวในทีมของตัวเอง เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำโดยไม่ต้องมีคนบังคับ ทั้งนี้ในเทคโนโลยีปัจจุบัน ขั้นตอนต่างๆ ได้ถูกพัฒนามาจนถึงขั้นที่ว่า มีความเสถียรสูงมากๆ แล้ว ดังนั้น โลกของการแข่งขัน คือโลกของการแข่งขันกลยุทธ์ของเกมฟุตบอล ซึ่งเปรียบได้ดั่งกับว่า ผู้ควบคุมทีมเหมือนเป็นโค้ชทีมฟุตบอลเพื่อวางแผนคว้าชัยชนะเสียมากกว่า

สำหรับการแข่งขันภายในประเทศไทยของเราที่มีความสอดคล้องกับการ แข่งขันในลีกนี้ คือ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยร่วมกับ บริษัท ซีเกท (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดการแข่งขันมาเป็นเวลาถึง 6 ปี แล้ว เพื่อค้นหาตัวแทนจากประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันในลีกนี้ เหมือนว่าเป็นดั่ง ทีมชาติไทย ทั้งนี้เนื่องจากในปีนี้ ระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยนั้น ทีมต่างๆ ที่เข้าร่วมมีระดับมาตรฐานการแข่งที่เรียกได้ว่าทัดเทียมในระดับนานาชาติเป็นอย่างมาก ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์จึงร่วมกับบริษัทซีเกทฯ ได้จัดส่งทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศทั้งลำดับที่ 1 ลำดับที่ 2 และลำดับที่ 3 ไปเข้าร่วมการแข่งขันโรโบคัพ ณ ประเทศจีนครั้งนี้ด้วย เพื่อได้เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในระดับโลก รวมไปจนถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ทีมจากประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 3 ทีม คือทีม พลาสมา-ซี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมสกูบ้า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 ทีมได้ผ่านเข้ารอบลึกในการแข่งขันโรโบคัพ ที่ประเทศจีน และในที่สุดทีมจากประเทศไทยคือ ทีมพลาสมา-ซี ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และได้รางวัลชนะเลิศโดยชนะ ทีม ซี เอ็ม ดราก้อน จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมล่อน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ครองตำแหน่งแชมป์โลกมาหลายสมัย โดยในนัดชิง สามารถทำประตูชนะไปได้ถึง 4 ประตู ต่อ 2 ซึ่งเป็นเกมที่สนุกตื่นเต็นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ต้องขอชมเชยน้องๆ ทีมพลาสมา-ซี ที่มีทีมเวิร์คในการดูแลหุ่นยนต์ และเข้าแก้เกมได้อย่างทันเวลา โดยในครึ่งแรกของการแข่งขัน (เวลาครึ่งละ 15 นาที) ทีมไทยยิง เข้าไปได้ก่อน 1 ประตู ต่อ 0 และพับสนามบุกตลอดเวลา เมื่อเริ่มครึ่งหลังขึ้นมา ทีม ซี เอ็ม ดราก้อน ตีเสมอได้ทันที ที่เขี่ยลูก และยิงนำเป็น 2 ประตู ต่อ 1 จนเหลือเวลาอีกเพียง 3 นาทีกว่าๆ ทางทีมไทยก็สามารถตีเสมอได้ และน้องๆ ทีมพลาสมา-ซี ก็ได้ขอเวลา เพื่อเปลี่ยนกลยุทธ์การเล่น ในระบบ เอ.ไอ. จนทำให้ ทีมไทยได้ประตูเพิ่มอีก 2 ประตูก่อนจะได้ผลชนะเป็น 4 ประตู ต่อ 2 และได้รับตำแหน่งแชมป์โลกในที่สุด

สำหรับทีมสกูบ้า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็สามารถผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้าย ก่อนจะแพ้ทีมจากไทยด้วยกันเอง คือ ทีมพลาสมา-ซี และได้เข้าชิงตำแหน่งที่ 3 โดยในที่สุดได้เอาชนะทีมจากประเทศจีน และคว้ารางวันอันดับ 3 ของการแข่งในลีกนี้ ณ เมืองซูโจว ประเทศจีน ทั้งนี้ ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์จากประเทศไทยได้ประกาศศักดาไว้อย่างน่าภาคภูมิใจในวงการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก

ในลีกต่อมาที่กล่าวถึงสั้นๆ คือ ลีกหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ หรือ Humanoid League ซึ่งทีมหุ่นยนต์จาก ‘ฟีโบ้’ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน เป็นประจำมาหลายปี ในปีนี้ทางทีมได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อส่งเข้าแข่งขัน แต่ทั้งนี้ทางทีมอาจจะโชคไม่ค่อยดีนัก ที่ต้องใช้เวลาปรับแต่งหุ่นยนต์เป็นเวลานานกว่าจะเข้าที่ทำให้ ทางทีมจึงไม่สามารถ ผ่านเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศได้ ทั้งนี้ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการจะได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน ในส่วนของ Humanoid League จึงได้มีแนวทางที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์เหมือนคนภายในประเทศขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้น และยกระดับการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เหมือนคนขึ้น ทั้งนี้ทางสมาคมฯ จะพยายามจับมือกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดการแข่งขันดังกล่าว โดยจะเริ่มในปีนี้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สำหรับลีกยอดนิยมของคนไทย อีกลีกหนึ่งคือ หุ่นยนต์กู้ภัย หรือ RoboCup Rescue ปีนี้มีทีมจากประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมการแข่งขันอย่างคึกคัก ถ้าทุกคนจำได้ทีม อินดิเพนเด้นท์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ได้คว้าแชมป์โลกในรายการนี้ถึง 2 สมัยต่อเนื่องกัน คือ เมื่อปี 2006 ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี และปี 2007 ที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนี้ตัวแทนของประเทศไทย คือ ทีม พลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ต้องกล่าวท้าวความถึง การจัดการแข่งขันเพื่อชิงตัวแทนของประเทศไทยก่อน

ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย หรือ เอส.ซี.จี. (SCG) เพื่อจัดการแข่งขันมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย คือ การจำลองสถานการณ์ การเกิดภัยภิบัติ และตึกถล่ม ทำให้ต้องใช้หุ่นยนต์กู้ภัย เข้าไปค้นหาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายซึ่งอาจจะติดอยู่ในบริเวณซากปรักหักพังที่อาจจะอันตรายสำหรับหน่วยกู้ภัยและผู้ค้นหา และอาจจะเป็นบริเวณที่เข้าไปได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้นการแข่งขันหุ่นยนต์ดังกล่าวจะประกอบไปด้วยหุ่นยนต์ 2 ประเภท คือ หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล ที่ต้องมีความสามารถในการปีนป่ายหรือบุกผ่านบริเวณพื้นที่ยากลำบากได้ดี สามารถควบคุมระยะไกลผ่านระบบไร้สายได้ และหุ่นยนต์แบบที่ 2 คือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ คือ หุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ สามารถหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างดี ทั้งนี้หุ่นยนต์ต่างๆ ต้องมีความสามารถในการสร้างแผนที่อัตโนมัติเพื่อบอกตำแหน่งของเหยื่อเคราะห์ร้าย และเส้นทางต่างๆ ได้ นอกจากนี้หุ่นยนต์ต้องสามารถส่งข้อมูลของเหยื่อมาให้ที่ศูนย์ควบคุมได้ เช่น รูปแบบของเหยื่อ เสียงเรียก อุณหภูมิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแสดงการหายใจ เป็นต้น โดยการจัดการแข่งในประเทศไทยในปีแรก ทีม อินซี วี.วัน (InSE V.1) ซึ่งในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น อินดิเพนเด้นท์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ชนะเลิศการแข่งขันภายในประเทศไทย และได้เข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Rescue ที่จัดขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น จนได้เข้ารอบรองชนะเลิศ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในปีแรกเป็นอย่างดี ในปีต่อมาทีม อินดิเพนเด้นท์ สามารถป้องกันแชมป์ประเทศไทยได้ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน ณ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี จนสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นครั้งแรกของประเทศไทยได้ โดยครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมทำหน้าที่เป็นโค้ชผู้ดูแลทีมทางเทคนิค และได้สร้างความภาคภูมิใจดังกล่าวให้แก่ประเทศ ทั้งนี้ในปีต่อมาทางผู้สนับสนุนหลักของการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย คือ เครือซิเมนต์ไทย ได้ปรึกษาหารือกับทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และได้จัดสิทธิพิเศษให้ทางทีม อินดิเพนเด้นท์ ได้เป็นตัวแทนประเทศอีกทีมหนึ่งในปีนั้น นอกเหนือจากแชมป์ประเทศไทยในปีนั้นเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก ที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ในปีนี้แชมป์ประเทศไทยได้แก่ทีม ไอเดียล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เช่นกัน

ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก ที่เมืองแอตแลนต้า ทีมจากประเทศไทยก็ได้แสดงศักยภาพอีกครั้งโดยผลัดกันขึ้นเป็นผู้นำในแต่ละช่วงการแข่งขัน จนกระทั่ง ทีม อินดิเพนเด้นท์ ได้กลับขึ้นมานำ และคว้าตำแหน่งแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันไปจนได้ โดยเฉือนชนะทีมคู่แข่งที่น่ากลัว คือ ทีม Pelican United จากประเทศญี่ปุ่นไปได้ ทั้งนี้ผมก็ยังได้มีโอกาสรับใช้ชาติ ไปดูแลทีมในฐานะโค้ชอีกเช่นเคย

มาในปีล่าสุดนี้ ในการแข่งขันที่ประเทศจีนที่ผ่านมาหมาดๆ ทีมพลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ รับหน้าที่มาป้องกันแชมป์โลกในสมัยที่ 3 ของทีมตัวแทนของประเทศไทย หรือทีมชาติไทยนั่นเอง ผมก็ยังมีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากทั้งกรรมการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และผู้สนับสนุนหลักคือ เครือซิเมนต์ไทย ให้มาทำหน้าที่เป็นโค้ช เช่นเคย เมื่อเดินทางมาถึงซูโจว ทีมพลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันภายในประเทศไทยมา ด้วยความสามารถที่โดดเด่นของหุ่นยนต์ในระบบอัตโนมัติ ในขณะนี้กำลังเตรียมความพร้อมในหุ่นยนต์ทั้งแบบควบคุมระยะไกล และหุ่นยนต์อัตโนมัติ ในฐานะโค้ชที่มีประสบการณ์คว้าแชมป์โลกมาได้แล้ว 2 สมัย ต้องขอบอกว่า ‘หนักใจ’ ทีมหุ่นยนต์และหุ่นยนต์ของเรา ยังไม่ค่อยพร้อมในวันแรกๆ ทั้งนี้คงต้องบอกว่า เพราะประสบการณ์ในสนามหุ่นยนต์กู้ภัยยังน้อยอยู่ แต่ถึงกระนั้น น้องๆ ในทีม ก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ที่ไหน ก็เป็นรุ่นพี่ของทีม พลาสมา-ซี ที่ได้สร้างทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ มาจนถึงระดับสูงสุดแล้ว ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องดึงศักยภาพของเด็กเหล่านี้ออกมาให้ได้ในเวลาที่จำกัด

น้องๆ ทีม พลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ มีลักษณะการทำงานที่เป็นระบบดี และมีลักษณะนิสัยใจคอที่แตกต่าง จากน้องๆ ทีม อินดิเพนเด้นท์ โดยสิ้นเชิง ทำให้ผมเลือกที่จะทำงานอยู่ห่างๆ ให้เวลาน้องๆ ได้มีเวลาทำงานเป็นส่วนตัวพอสมควร ผมก็ได้แวะเวียนเข้าไปแนะนำ เป็นช่วงๆ ในแต่ละวัน ในเวลาเดียวกัน ประธานผู้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก Mr. Adam Jacoff จาก สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยกับผมเป็นอย่างดีในฐานะผู้นำทีมไทยมาคว้าแชมป์โลก 2 สมัยแล้ว ก็เข้ามาพูดคุยทาบทาม และขอความช่วยเหลือในการจัดการของการแข่งขันในปีนี้ ผมยังได้นำภาพบรรยากาศการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาให้ Mr. Adam ได้ดู เขาถึงกับต้องทึ่งถึงความพร้อมของสนาม การจัดการแข่งขันที่เป็นระบบ และจำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันกว่า ร้อย ทีม และนอกจากนี้ด้วยความที่ ทีมตัวแทนจากประเทศไทย คือ ทีม อินดิเพนเด้นท์ ได้เข้ามาร่วมการแข่งขันและครองตำแหน่งแชมป์ถึง 2 ครั้ง อย่างขาวสะอาด ปราศจากข้อครหาหรือส่อการทำผิดใดๆ อย่างสิ้นเชิง ทำให้ผม และทีมจากประเทศไทย ได้รับความยอมรับเรื่องศักดิ์ศรีทีมที่ขาวสะอาดเป็นอย่างสูง

ในวันต่อมาผมก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมธิการทางเทคนิค (Technical Committee) ของการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก โดยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างขาดลอย ทั้งนี้ในเวลาเดียวกันทีมพลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ ก็สามารถปรับตัวให้พร้อมขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ จนในที่สุดในวันสุดท้ายของรอบตัดตัว (Preliminary Round) ก็สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้เป็นทีมที่ 1 โดยมีจำนวนเหยื่อเคราะห์ร้ายที่หาได้สูงสุดถึง 11 เหยื่อ ทั้งนี้ได้เกิดความผิดพลาดบางอย่าง ทางกรรมการจึงยังไม่นำคะแนน แผนที่อัตโนมัติมาคิด ทีมที่เข้ารอบตามมา คือ ทีม เอ็ม.อาร์.แอล จากประเทศอิหร่าน ที่ยกโขยงทีมมาแข่งกันอย่างใหญ่โต และยังเป็นแชมป์ภายในของประเทศอิหร่านด้วย ทีมนิวเทค-อาร์ แชมป์ เจแปนโอเพ่น ทีมรวมจากทีมเรสโก้ ประเทศเยอรมนี และทีมเรสเควก ประเทศอิหร่าน ทีมนี้น่ากลัวสุดๆ เพราะเรสโก้ คือ ทีมแชมป์ตลอดกาลสำหรับหุ่นยนต์อัตโนมัติ และการสร้างแผนที่ 2 มิติ ที่แม่นยำที่สุด และทีมเรสเควก ที่มีหุ่นยนต์บังคับระยะไกลที่มีสมรรถนะสุดยอดแม้แต่สามารถปีนกำแพงแนวตั้งได้สูงเกือบหนึ่งเมตร และที่ขาดไม่ได้ก็คือทีม Pelican United ที่เป็นยอดทีมตลอดกาล ก่อนที่ทีมจากประเทศไทยจะมาเข้าร่วม สำหรับทีมอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาด้วยก็ไม่น่าไว้วางใจเช่นกัน

ในที่สุดในรอบชิงชนะเลิศ ก็ถูกคัดเหลือเพียง 4 ทีม คือ ทีมพลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ ทีมเรสโก้/เรสเควก ทีม เอ็ม. อาร์. แอล. และทีมนิวเทค-อาร์ ซึ่งคะแนนในรอบชิงชนะเลิศจะนำคะแนนในรอบรองชนะเลิศมารวมด้วย และในที่สุดความฝันของคนไทยก็เป็นจริงเมื่อทีมพลาสมา-อาร์ เอ็กซ์ สามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก เป็นสมัยที่ 3 ให้ทีมจากเมืองไทยได้ นับเป็นเกียรติประวัติ ความภาคภูมิใจสูงสุดของวงการหุ่นยนต์ไทยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับในภาพรวมของวงการหุ่นยนต์ของประเทศไทย การที่ทีมหุ่นยนต์จากประเทศไทยได้ผงาดขึ้นมายืนในตำแหน่งชั้นนำของการแข่งขันในระดับโลก ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า ตำแหน่งที่ได้มา ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่มันหมายถึงศักยภาพจริงของบุคลากรในประเทศไทยที่มีความสามารถสูงขนาดนี้ ซึ่งบุคลากรที่วงการหุ่นยนต์ไทย และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และจัดเวทีเพื่อแสดงศักยภาพดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้บุคคลเหล่านี้ เป็น วิศกรไทยพันธุ์ใหม่ ที่มีความอุตสาหะ รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ และรู้จักการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เพื่อนสู่เพื่อน ทั้งภายในสถาบันการศึกษาเดียวกัน และต่างสถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผลงานของทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยนี้ ผมขอมอบไว้เป็นความภูมิใจของสังคมไทย และมีความหวังว่าจะมีผู้ใหญ่ในประเทศ ได้หันมาหยิบยื่นโอกาสให้เด็กๆ ไทย ได้นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ต่อไป


ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th


drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไป รู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้าน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการ ลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมี ประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที