ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 56907 ครั้ง

ชัชวาลย์ ทัตศิวัช
นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง


บทความนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากบทความทางวิชาการซึ่งผู้เขียนนำเสนอและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 1 ปะจำปี พ.ศ.2552 สาระสำคัญเชิงเนื้อหาของบทความที่ผู้เขียนได้นำมาแบ่งเป็นหลายตอนนี้ ได้นำเสนอองค์ความรู้เชิงแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน รวมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์การ อันจะช่วยโน้มนำหรือเปิดโลกทัศน์ใหม่ในเชิงการรับรู้เครื่องมือของการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์การของผู้สนใจทั่วไปอีกทางหนึ่งด้วย


คุณลักษณะขององค์การสุขภาพดี/สุขภาพไม่ดี

คุณลักษณะขององค์การสุขภาพดี/สุขภาพไม่ดี


ในแง่คุณลักษณะขององค์การสุขภาพดีว่าเป็นอย่างไรนั้น  สามารถพิจารณาได้จากมุมมองและแนวคิดของนักวิชาการหลายท่านทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้แก่ ไมลส์ (
Miles, 1969: 378) ซึ่งอธิบายว่า องค์การที่มีสุขภาพดีนั้น ไม่เพียงแต่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ยังคงเป็นองค์การที่สามารหากแต่ยังคงเป็นองค์การที่สามารดำรงอยู่ได้ในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งสามารถขีดความสามารถในการอยู่รอดนั้นต่อไปได้อีกด้วย  ตามกรอบแนวคิดของไมลส์ (Miles) นี้ องค์การสุขภาพดี จะแสดงออกมาในหลายมิติซึ่งประกอบด้วย มิติความต้องการในงานที่รับผิดชอบ (Task Needs)  มิติความต้องการบำรุงรักษาองค์การ (Maintenance Needs) และความต้องการเติบโตของระบบ (Growth Needs of the System) คุณลักษณะขององค์การสุขภาพหรือสุขภาพองค์การตามข้อเสนอของไมลส์นี้ เป็นกรอบแนวคิดที่มององค์การในฐานะที่เป็นระบบเปิดทางสังคม (Open Social System)


ส่วนคาเมรอน (
Camaeron, 1978: 614) ได้เสนอไว้ว่า สุขภาพองค์การที่ดีสะท้อนถึงสภาพที่องค์การมีชื่อเสียง  มีคุณค่า  และมีกระบวนการบริหารงานภายในที่ราบรื่น ไม่มีความตึงเครียด รวมทั้งมีความมั่นคงด้วย  รวมทั้งมีความสามารถในการปรับตัว มีความตระหนักในเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความสามารถในการทดสอบสภาพความเป็นจริงในสังคม และสุขภาพขององค์การนี้เอง  เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสามารถในการบริหารงานให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้ระบบการบริหารจัดการและการตัดสินใจที่มีข้อมูล  มีการสื่อสารที่ดี มีความขัดแย้งน้อย และองค์การเป็นระบบเปิดที่สมาชิกมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นสูง  มีความแตกต่างระหว่างบุคคลน้อย (McFarland, 1979: 4385-439) สมาชิกมีการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนช่วยเหลือให้องค์การมีความมั่นคงอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถเป็นไปได้  (Wexley & Yukl, 1984: 384) องค์การที่มีสุขภาพดีจึงมีลักษณะที่ต้องมีความสามารถในการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการผลิต  (Mott, 1972) หากองค์การขาดการมีสุขภาพที่ดีแล้ว จะมีความเสี่ยงต่อการทำงานให้เกิดประสิทธิผลในระยะยาว รวมทั้งความอยู่รอดขององค์การด้วย (Quick & Quick, 1984: 80-82)


ฟอร์เยอร์ และเวลล์
(Foryer & Well, 1971  อ้างถึงในนิภา แสงรัตน์, 2544: 12-16; พิพัฒน์ ศรีตะวัน, 2547: 12-17-ปรับปรุงเนื้อหาให้กระชับโดยผู้เขียน)  ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับรูปแบบขององค์การ 2 ประเภทซึ่งจำแนกตามคุณลักษณะการมีสุขภาพดีหรือไม่ดีขององค์การ เรียกว่า องค์การสุขภาพสมบูรณ์  และองค์การสุขภาพไม่สมบูรณ์ โดยคุณลักษณะขององค์การแต่ละประเภทสรุปได้ดังต่อไปนี้    


   ก. องค์การสุขภาพสมบูรณ์ 


   1) สมาชิกในองค์การ มีส่วนในการกำหนดวัตถุประสงค์การปฏิบัติงานขององค์การ และสามารถใช้ศักยภาพของตนในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว รวมทั้งมีความรู้สึกผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ


   
2) สมาชิกในองค์การ ร่วมรับผิดชอบต่อปัญหา หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น โดยมีความเชื่อว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้โดยการร่วมแรงร่วมใจกัน


   3) สมาชิกสามารถแก้ไขปัญหาด้วยกันอย่างเป็นกันเอง  ไม่มีการกีดกันฐานะทางสังคมหรือหน้าที่รับผิดชอบ  ผู้บังคับบัญชาเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง มีการทำงานเป็นกลุ่ม


   4) สมาชิกแสดงความรับผิดชอบต่อองค์การ ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสาร ปริมาณงาน เวลา  ทักษะความชำนาญในอาชีพ และหลักการพัฒนาการบริหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการวินิจฉัยสั่งการ  ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายลูกน้องเสมอต้นเสมอปลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง


   5)  มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน และรับผิดชอบร่วมกันเป็นหมู่คณะ


   6) มีการยอมรับรับถือความคิดของผู้บริหารระดับรองลงมา  องค์การรู้จักเลือกใช้คนเก่ง และนำความสามารถเหล่านั้นมาผนึกกำลัง (Synergy)


   7) การพิจารณาปัญหาใดใดคำนึงถึงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และความต้องการของบุคคล ซึ่งมีส่วนเอื้ออำนวยให้เกิดผลสำเร็จของงาน


   8) นำหลักการความร่วมมือมาใช้อย่างเสรี  ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน  ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  แม้จะมีการแข่งขันกันบ้างระหว่างบุคคล


   9) เมื่อเกิดวิกฤติ ทุกคนร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ปัญหา 


   10) เมื่อเกิดความขัดแย้ ก็สามารถนำความขัดแย้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน


   11) มีการให้ข้อมูลข่าวสารย้อนกลับ  ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและดัน นำคำแนะนำจากผู้อื่นมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหา


   12) มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความก้าวหน้าในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานของกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข


   13) สมาชิกทำงานอย่างมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน


   14) สมาชิกในองค์การสมองโลกในแง่ดี  มีเสรีภาพในการทำงานอย่างเต็มที่


   15) ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำ มีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สอดรับกับสถานการณ์


   16) สมาชิกมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และแต่ละคนมีความเชื่อมมั่นในตนเองในทางที่ถูกต้อง


   17) ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง ว่าเป็นเงื่อนไขของการเจริญเติบโต


   18) สมาชิกในองค์การ ยึดมั่นหลักการเรียนรู้จากการผิดพลาด


   19) ร่วมกันค้นหาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน


   20) โครงสร้างองค์การ ระเบียบแบบแผน ระเบียบข้อบังคับเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติช่วยปกป้องให้องค์การเติบโตได้ โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสมาชิก


   21) สมาชิกในความสำนึกต่อองค์การส่วนรวม  มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาองค์การ


   22) องค์การมีลักษณะพลวัต ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับสถานการณ์แวดล้อม


   23) สมาชิกในองค์การ ร่วมกันเผชิญปัญหา ในสภาพการณ์ที่องค์การเกิดภาวะวิกฤต


สรุปก็คือ  องค์การที่มีสุขภาพสมบูรณ์   มีลักษณะที่สมาชิกในองค์การมีส่วนร่วมในการทำงาน  มีบรรยากาศในการทำงานที่ดี คนทำงานมีขวัญกำลังใจ ผู้บริหารเปิดกว้างต่อการบริหารแบบมีส่วนร่วม คนทำงานทำงานอย่างมีความสุข  สามารถทำงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ  สมาชิกมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และมีผลผลิตขององค์การสูง


    ข. องค์การสุขภาพไม่สมบูรณ์


   1) การอุทิศตนต่อองค์การของสมาชิกมีน้อย ยกเว้นบุคคลที่อยู่ในระดับสูง


   2) ผู้ทำงานปิดบังซ่อนเร้นปัญหา ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน พูดแต่เรื่องราวความยุ่งยากต่าง ๆ ในที่ทำงาน


   3) ความสัมพันธ์ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาของสมาชิกในองค์การเป็นไปอย่างผิวเผิน ไม่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน


   4) บุคคลที่ทำงานในระดับสูง มุ่งแต่วินิจฉัยสั่งการโดยอำนาจจองตนเองทางเดียว  โดยที่มีข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ  ในขณะที่คนทำงานบ้านเรื่องการตัดสินใจของผู้บริหารที่ไม่ตรงตามเป้าหมาย


   5) ผู้บริหารรู้สึกโดดเดี่ยวในความพยายามทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินไปได้ด้วยดี การทำงานตามกระบวนการ ระเบียบหรือวิธีการปฏิบัติตามนโยบายไม่ได้รับการตอบสนอง


   6) การใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาในองค์การไม่ได้รับการยอมรับนับถือหรือมีก็เพียงในวงแคบ ๆ


   7) ความต้องการส่วนบุคคลและความรู้สึกต่างๆ ได้รับการพิจารณาว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ  


   8) ผู้ทำงานเกิดความริษยากัน เกี่ยงกันรับผิดชอบงานที่ต้องกระทำร่วมกัน  ขาดการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


   9) ทุกคนถอนตัวออกเมื่อองค์การเกิดวิกฤต


   10) มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ มีความขัดแย้งระหว่างกันแต่ถูกเก็บไว้ในใจ  ไม่มีจุดจบ


   11) สร้างการเรียนรู้ได้อย่างยากลำบาก ขาดการประสานการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน


   12) ขาดการให้และใช้ข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน


   13) สมาชิกในองค์การมีความสัมพันธ์แบบไม่จริงใจต่อกันด่าทอกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง


   14) ผู้ทำงานเกิดความรู้สึกถูกจำกัดในการทำงานของตนเอง


   15) ผู้บริหารเคร่งครัดในกรอบประเพณี  ไม่ยอมรับความคิดคนอื่น


   16) ผู้บริหารลงมาควบคุมแม้ในเรื่องเล็กน้อยอย่างเด็ดขาด ไม่เปิดต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์


   17) การยอมรับในความเสี่ยงต่อการทำงานต่ำ


   18) ทำความผิดครั้งเดียวถูกไล่ออก


   19) การปฏิบัติงานไม่ได้รับการยกย่อง แม้ว่าจะทำงานดี


   20) สมาชิกไม่รู้นโยบาย ทิศทางและเป้าหมายขององค์การ


   21) องค์การมีระเบียบเคร่งครัด  ขาดการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม


   22) การปฏิบัติงานตามแบบแผนใหม่ไม่ได้แพร่หลายในองค์การ  มีการหวงวิชากัน


   23) ผู้ทำงานต้องกล้ำกลืนความไม่สมหวังเอาไว้ ไม่รู้สึกว่าตนเองจะต้องรับผิดชอบในความอยู่รอดขององค์การ


กล่าวโดยสรุปได้ว่า องค์การที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์นั้น มีลักษณะที่สมาชิกในองค์การขาดการมีส่วนร่วมในการทำงาน  บรรยากาศในการทำงานไม่เอื้ออำนวยให้เกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน  ในส่วนของผู้บริหารก็เข้มงวดเกินไปกระทั่งไม่เปิดต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน  และเกิดความไม่ใส่ใจต่อการทำงาน  ซึ่งส่งผลให้องค์การมีผลิตภาพต่ำ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที